ความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่อคะแนนการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 (กลุ่มวิชาพรีคลินิก)ของนิสิตทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยทางสถิติ กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 โดยเกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 เป็นปัจจัยเดียวที่สามารถทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทั้ง 3 กลุ่มวิชา

ความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่อคะแนนการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 (กลุ่มวิชาพรีคลินิก)ของนิสิตทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ณัฐวุธ   แก้วสุทธา , เสรีนา สิรรัตน์ สกุลณะมรรคา

บทคัดย่อ

            การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ ที่มีผลต่อการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่1(กลุ่มวิชาพรีคลินิก) ของนิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจำนวน 65 คน  โดยทำการรวบรวมปัจจัยทางการศึกษาจากฝ่ายบริการการศึกษา ประกอบด้วย (1)ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ ภูมิลำเนา (2)ปัจจัยคัดเลือกเข้าศึกษา ได้แก่ รูปแบบการเข้าศึกษา เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย (3)ปัจจัยระหว่างการศึกษา ได้แก่ เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่1  และเกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิกที่ใช้สอบ และ (4)ปัจจัยด้านการเตรียมตัวก่อนสอบ ได้แก่ คะแนนสอบเพื่อเตรียมความพร้อม การทบทวนบทเรียน และการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ปัจจัยทั้งหมดจะถูกวิเคราะห์โดยการใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียน เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 โดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สันและสมการถดถอยเชิงเส้นอย่างง่าย      ใช้สถิติ R-squared ในการทดสอบอำนาจในการทำนายที่นัยสถิติ p-value<0.05  ผลการศึกษา พบว่า คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยทางสถิติ กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 โดยเกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1  เป็นปัจจัยเดียวที่สามารถทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทั้ง 3 กลุ่มวิชา 


คำสำคัญ: การสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ปัจจัยทางการศึกษา นิสิตทันตแพทย์

 

บทนำ

การสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้น จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2551 เพื่อให้มีการควบคุมเรื่องมาตรฐานการศึกษาอย่างเข้มงวด  อีกทั้งวิชาชีพข้างเคียงทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัช ได้จัดให้มีการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพมาก่อนหน้านี้แล้ว [1] ทั้งนี้การสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในส่วนที่1 ประกอบด้วย 3 กลุ่มรายวิชา ได้แก่กลุ่มที่ 1. สรีรวิทยาประสาทวิทยาและจุลกายวิภาคศาสตร์เนื้อเยื่อ กลุ่มที่ 2  สรีรวิทยาและชีวเคมีจุลชีววิทยา และกลุ่มที่ 3 ภูมิคุ้มกันวิทยาและพยาธิวิทยา โดยผลการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่1 พบว่า จากผู้เข้าสอบ 731 คน มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ 652 คน (89.19%) มีผู้สอบไม่ผ่าน 1 กลุ่มจำนวน 55 คน (7.52%) มีผู้สอบไม่ผ่าน 2 กลุ่มจำนวน 19 คน (2.60%) มีผู้สอบไม่ผ่าน 3 กลุ่มจำนวน 5 คน (0.68%) [2] ซึ่งเป็นที่มาของการวิจัยในครั้งนี้เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆที่มีอิทธิพลต่อคะแนนการสอบดังกล่าว

            จากการศึกษาของ Sang EP และคณะ [3] ซึ่งศึกษาหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม(National Board Dental Examination)ของประเทศอเมริกา ในส่วนของรายวิชาพรีคลินิกของนิสิตทันตแพทย์ 84 คน ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย Harvard School of Dental Medicine ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2546 พบว่า เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย(GPAs) คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย และคะแนนการทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสอบจริง มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่1  ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Adam VB และคณะ[4]  ที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้ ในนิสิตทันตแพทย์ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard School of Dental Medicine ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2547 จำนวน 244 คน ซึ่งพบความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย และ คะแนนสอบการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่1 โดยเฉพาะเกรดในวิชาเคมีระดับก่อนศึกษาในมหาวิทยาลัย มีความสัมพันธ์กันอย่างมากกับคะแนนสอบการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันต กรรมส่วนที่1 กลุ่มรายวิชาจุลชีววิทยาและพยาธิวิทยา และการศึกษาของ Pamela LS และคณะ[5]  ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยแรกเข้ากับความสามารถทางด้านทันตกรรม โดยทำการศึกษาในกลุ่มนิสิตทันตแพทย์จำนวน 459 คน ที่ศึกษาใน University of Florida College of Dentistry (UFCD) พบว่า เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย เกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิกที่ใช้สอบ และคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม สอดคล้องกับผลการศึกษาของ James PS [6] ซึ่งพบว่าคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับ คะแนนสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมมากกว่าปัจจัยอื่นๆ สอดคล้องกับอีกหลายการศึกษา [7-9] ซึ่งพบความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยกับคะแนนสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมทั้งส่วนที่1 และส่วนที่2

สรุปจากการทบทวนวรรณกรรมทั้งหมด [7-9] พบว่า เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย เกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิก และ  คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม แม้ว่ามีบางการศึกษาที่ขัดแย้งกับผลการศึกษาดังกล่าวบ้าง เช่นการศึกษาของ GrahamDS และ John MW[10] ศึกษาในนิสิตทันตแพทย์หลักสูตรนานาชาติ 171 คน ของมหาวิทยาลัย Loma Linda University พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่าง เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย  เกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิก  คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย กับ คะแนนสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เช่นเดียวกับผลการศึกษาของ GeneAK [11]  ซึ่งพบว่า คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม

การศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาปัจจัยทางการศึกษาต่างๆประกอบด้วย (1)ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ ภูมิลำเนา (2)ปัจจัยคัดเลือกเข้าศึกษา ได้แก่ รูปแบบการเข้าศึกษา เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAs) คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย (3) ปัจจัยระหว่างการศึกษา ได้แก่ เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่1 และเกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิกที่ใช้สอบ และ (4) ปัจจัยด้านการเตรียมตัวก่อนสอบ ได้แก่ คะแนนการทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสอบจริง และการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อใช้ในการทำนายความสัมพันธ์กับคะแนนการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่1 เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบเป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอน และปรับปรุงเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในคณะทันตแพทยศาสตร์ต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของงานวิจัย

            ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆที่เกี่ยวข้อง กับ คะแนนการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 (กลุ่มวิชาพรีคลินิก)ของนิสิตทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

อุปกรณ์และวิธีดำเนินการวิจัย

งานวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์ศึกษา ที่มีลักษณะเป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ (Action Research) เพื่อทำการศึกษาเบื้องต้นในการหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ ที่มีผลต่อการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 โดยรวบรวมข้อมูลทางการศึกษาของนิสิตทันตแพทย์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวน 65 คน  ที่ลงทะเบียนเข้าสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมครั้งที่ 1  ประกอบด้วย ข้อมูลทะเบียนประวัติของนิสิต ผลการเรียนในหลักสูตรจากฝ่ายบริการการศึกษา และคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 จากทันตแพทยสภา โดยปัจจัยที่ศึกษาประกอบด้วย เพศ ภูมิลำเนา รูปแบบการเข้าศึกษา เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่1 และเกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิกที่ใช้สอบ คะแนนสอบเพื่อเตรียมความพร้อม การทบทวนบทเรียน และการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยทำการศึกษาปัจจัยทั้งหมดเพื่อหาความสัมพันธ์ กับผลการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมครั้งที่ 1 จากทันตแพทยสภา ในทั้ง 3 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาที่ 1 สรีรวิทยาประสาทวิทยาและจุลกายวิภาคศาสตร์เนื้อเยื่อ กลุ่มวิชาที่ 2 สรีรวิทยาและชีวเคมีจุลชีววิทยา และกลุ่มวิชาที่ 3 ภูมิคุ้มกันวิทยา และพยาธิวิทยา

                การวิเคราะห์ทางสถิติ

วิเคราะห์สถิติโดยใช้โปรแกรมสถิติ SPSS version11.5 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson’s Correlation) และสมการถดถอยเชิงเส้นอย่างง่าย (Simple Linear Regression Model) ใช้สถิติ R-squared ในการทดสอบอำนาจของการทำนายที่นัยสถิติ p-value<0.05

 

ผลการวิจัย

            ข้อมูลเชิงพรรณนาของตัวแปรต่างๆ จำแนกตามกลุ่มปัจจัย ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ปัจจัยคัดเลือกเข้าศึกษา ปัจจัยระหว่างศึกษา และปัจจัยด้านการเตรียมตัวก่อนสอบ แสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ จำแนกตามกลุ่มปัจจัยทางการศึกษาของนิสิตทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 65 คน

ปัจจัยทางการศึกษา

จำนวน (ร้อยละ)

ค่าเฉลี่ย +ส่วนเบี่ยง เบนมาตรฐาน

  1. ข้อมูลทั่วไป
  • เพศ

-          ชาย

-          หญิง

  • ภูมิลำเนา

-          กรุงเทพมหานคร

-          ต่างจังหวัด

 

 

11 (16.9 %)

54 (83.1%)

 

32 (49.2%)

33 (50.8%)

 

 

 

 

  1. ปัจจัยคัดเลือกเข้าศึกษา
  • รูปแบบการเข้าศึกษา

-          ระบบ Admission กลาง

-          ระบบสอบตรง มศว

  • เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย
  • คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

 

 

42 (64.6%)

23 (35.4%)

 

 

 

 

 

 3.73 + 0.20

459.10 + 87.21

  1. ปัจจัยระหว่างศึกษา
  • เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1
  • เกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิกที่ใช้สอบ

-          เกรดเฉลี่ยรายวิชา กลุ่มวิชาที่ 1

-          เกรดเฉลี่ยรายวิชา กลุ่มวิชาที่ 2

-          เกรดเฉลี่ยรายวิชา กลุ่มวิชาที่ 3

 

 

3.3    + 0.5

 

  1. 1 + 0.6

2.9 + 0.6

2.5 + 0.8

  1. ปัจจัยด้านการเตรียมตัวก่อนสอบ
  • คะแนนการทดสอบเตรียมความพร้อมก่อนสอบ

-          คะแนนสอบเตรียมความพร้อมกลุ่มวิชาที่ 1

-          คะแนนสอบเตรียมความพร้อมกลุ่มวิชาที่ 2

-          คะแนนสอบเตรียมความพร้อมกลุ่มวิชาที่ 3

  • การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร

-          ทำกิจกรรมนอกหลักสูตรประจำ

-          ไม่ทำกิจกรรมนอกหลักสูตร

  • การทบทวนบทเรียน

-          ครบตามเนื้อหาที่สอบ

-          ไม่ครบตามเนื้อหาที่สอบ

 

 

 

 

 

 

21 (32.3%)

44 (67.7%)

 

62 (95.4%)

3 (4.6%)

 

 

26.8 + 9.9

25.1 + 10.7

24.5 + 10.9

 

 

 

ผลการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ส่วนที่ 1

ผลการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่1 (พรีคลินิก) ของนิสิตทันตแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวน 65 คน จากคะแนนสอบทั้ง 3 กลุ่มรายวิชา ปรากฏผลดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงค่าสูงสุด ต่ำสุด ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมของนิสิตทันตแพทย์ จำนวน 65 คน

 

ต่ำสุด

สูงสุด

ค่าเฉลี่ย

ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

คะแนนสอบกลุ่มวิชาที่ 1

68

123

97.9

10.4

คะแนนสอบกลุ่มวิชาที่ 2

42

77

61.2

7.6

คะแนนสอบกลุ่มวิชาที่ 3

60

85

72.2

5.7

 

ทันตแพทยสภากำหนดให้เกณฑ์ขั้นต่ำในการสอบผ่านของกลุ่มวิชาที่ 1ที่เกณฑ์ร้อยละ 75 ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 กำหนดที่ร้อยละ 50 ซึ่งผลการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 (พรีคลินิก) ของนิสิตทันตแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พบว่ากลุ่มวิชาที่ 1มีผู้สอบไม่ผ่านจำนวน 2 คน (ร้อยละ 3.1)  และกลุ่มวิชาที่ 2 มีผู้สอบไม่ผ่าน 5 คน (ร้อยละ 7.7)  ส่วนในกลุ่มวิชาที่ 3 สอบผ่านทั้งหมด

 

ความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ กับคะแนนสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ส่วนที่ 1

การทดสอบหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ ได้แก่ (1)ข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วย เพศ ภูมิลำเนา (2)ปัจจัยคัดเลือกเข้าศึกษา ประกอบด้วย รูปแบบการเข้าศึกษา เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAs) คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย (3)ปัจจัยระหว่างการศึกษา ประกอบด้วย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่1 และเกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิกที่ใช้สอบ และ (4)ปัจจัยด้านการเตรียมตัวก่อนสอบ ประกอบด้วย คะแนนการทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสอบจริง การทบทวนบทเรียน และการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร  กับคะแนนการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่1 ในแต่ละกลุ่มวิชาโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียรสันที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ได้ผลดังนี้

กลุ่มวิชาที่ 1 กลุ่มสรีรวิทยาประสาทวิทยาและจุลกายวิภาคศาสตร์เนื้อเยื่อ

            จากการทดสอบหาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียรสัน พบว่า ภูมิลำเนา รูปแบบการเข้าศึกษา คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่1  เกรดจำแนกรายกลุ่มวิชาที่1มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในกลุ่มรายวิชาที่ 1 โดยปัจจัยต่างๆที่มีความสัมพันธ์จะถูกนำมาทดสอบเพื่อสร้างสมการทำนายโดยใช้สมการถดถอยเชิงเส้น พบว่า ปัจจัยที่สามารถทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในกลุ่มรายวิชาที่ 1 ได้แก่คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่1 เกรดจำแนกรายวิชากลุ่มวิชาที่1ซึ่งมีค่า R-Square =0.55 ซึ่งถือว่ามีอำนาจในการทำนายในระดับสูง ข้อมูลแสดงดังตารางที่ 3

 

ตารางที่ 3 แสดงสมการทำนายระหว่างปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ กับ คะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมกลุ่มวิชาที่ 1 ของนิสิตทันตแพทย์ จำนวน 65 คน

ตัวแปร

Coeficience

t-statistic

p-value

ภูมิลำเนา

 

2.49

0.54

0.589

รูปแบบการเข้าศึกษา

 

4.26

1.04

0.304

คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย *

 

0.05

2.95

0.005

เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 *

10.73

2.23

0.030

เกรดจำแนกวิชากลุ่มวิชาที่1*

 

6.30

2.46

0.017

Constant

 

12.43

0.86

0.394

 

Sum of Squares

Df

F-statistic

P-value

Regression

      3871.13

9

7.60

<0.0001

Residual

3112.31

55

 

 

Total

  6983.45

64

 

 

 

R

 

R -square

 

 

0.75

 

0.55

 

*มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95

 

กลุ่มวิชาที่ 2 กลุ่มสรีรวิทยาและชีวเคมีจุลชีววิทยา

จากการทดสอบหาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียรสัน พบว่า ภูมิลำเนา รูปแบบการเข้าศึกษา คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 เกรดจำแนกรายวิชา กลุ่มวิชาที่ 2และ คะแนนสอบเพื่อเตรียมความพร้อมมีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียน เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในกลุ่มวิชาที่ 2

ปัจจัยต่างๆที่มีความสัมพันธ์ในขั้นแรกจะถูกนำมาทดสอบ เพื่อสร้างสมการทำนายโดยใช้สมการถดถอยเชิงเส้น พบว่า คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 เป็นปัจจัยที่สามารถทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในกลุ่มรายวิชาที่ 2  โดยมีค่า R-Square =0.59 ซึ่งถือว่ามีอำนาจในการทำนายในระดับสูง ข้อมูลแสดงดังตารางที่ 4

 

ตารางที่ 4 แสดงสมการทำนายระหว่างปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ กับ คะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมกลุ่มวิชาที่ 2 ของนิสิตทันตแพทย์ จำนวน 65 คน

Variable

Coeficience

t-statistic

p-value

ภูมิลำเนา

 

-3.86

-1.24

0.219

รูปแบบการเข้าศึกษา

 

2.91

1.01

0.317

คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย *

 

0.03

2.15

0.036

เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่1*

 

10.78

3.33

0.002

เกรดจำแนกรายวิชากลุ่มวิชาที่ 2

 

1.21

0.93

0.358

คะแนนสอบเพื่อเตรียมความพร้อม

 

0.08

1.29

0.202

Constant

 

7.08

0.68

0.500

 

Sum of Squares

Df

F-statistic

P-value

Regression

2149.09

9

8.69

<0.0001

Residual

1510.05

55

 

 

Total

3659.14

64

 

 

 

R

 

R -square

 

 

0.77

 

0.59

 

 

 

 

 

 

*มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95

 

กลุ่มวิชาที่ 3 ภูมิคุ้มกันวิทยา และพยาธิวิทยา

จากการทดสอบหาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางการศึกษาต่างๆโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียรสัน พบว่า คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 เกรดจำแนกรายวิชากลุ่มวิชาที่ 3การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในกลุ่มรายวิชาที่ 3

ปัจจัยต่างๆที่มีความสัมพันธ์ในขั้นแรกจะถูกนำมาทดสอบ เพื่อสร้างสมการทำนายโดยใช้สมการถดถอยเชิงเส้น พบว่า เกรดเฉลี่ยสะสมในปีชั้นปีที่ 1 เป็นปัจจัยเดียวที่สามารถทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในกลุ่มวิชาที่ 3 โดยมีค่า R-Square =0.39 ซึ่งถือว่ามีอำนาจในการทำนายในระดับพอใช้ ดังตารางที่ 5

ตารางที่ 5 แสดงสมการทำนายระหว่างปัจจัยทางการศึกษาต่างๆ กับ คะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมกลุ่มวิชาที่ 3 ของนิสิตทันตแพทย์ จำนวน 65 คน

ตัวแปร

Coeficience

t-statistic

p-value

คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

0.01

0.41

0.684

เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1*

5.69

2.13

0.038

เกรดจำแนกรายวิชากลุมวิชาที่ 3 

1.71

1.65

0.104

การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร

-4.41

-1.99

0.052

Constant

 

47.22

5.78

<0.001

 

Sum of Squares

df

F-statistic

P-value

Regression

800.03

6

6.18

<0.001

Residual

1249.51

58

 

 

Total

2049.54

64

 

 

 

R

 

R -square

 

 

0.62

 

0.39

 

*มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95

 

สรุปและอภิปรายผล/Conclusion and Discussion

จากผลการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พบว่า คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยทางสถิติ กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมส่วนที่ 1 โดยพบว่าคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย สามารถทำนายคะแนนสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้เฉพาะกลุ่มวิชาที่ 1 และ 2 เท่านั้น ในขณะที่เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 เป็นปัจจัยเดียวที่สามารถทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทั้ง 3 กลุ่มวิชา ซึ่งมีอำนาจทำนายร้อยละ1-5 ของปัจจัยทั่วไป ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า R-Square อยู่ระหว่าง 0.39-0.55 ซึ่งถือว่ามีอำนาจในการทำนายในระดับที่สามารถอธิบายได้

อภิปรายผลการศึกษา

            จากผลการศึกษาที่พบว่า เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 และ คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยที่สามารถใช้ทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ได้สอดคล้องกับการศึกษาของ Pamela LS และคณะ [5] ที่ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับนิสิตทันตแพทย์ จำนวน 459 คน ของ University of Florida Colledge of Dentistry ซึ่งพบว่า คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม แต่การศึกษาดังกล่าวไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างเกรดเฉลี่ยสะสมกับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม

            งานวิจัยที่สนับสนุนว่าปัจจัยทางด้านเกรดเฉลี่ยสะสมในมหาวิทยาลัยนั้น มีผลต่อคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม  คือ งานวิจัยของ WilliamWW และคณะ [8] ศึกษากับนิสิตทันตแพทย์ จำนวน 312 คน ของ University of British Columbia  พบว่า  เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1และเกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิก สามารถทำนายคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ สอดคล้องกับการศึกษาของ Gene AK [11] ซึ่งผลการศึกษายืนยันความสัมพันธ์ระหว่าง คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย  และเกรดจำแนกรายวิชาพรีคลินิก มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม อย่างไรก็ตามคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความสามารถในการทำนายจำกัดเมื่อแยกเป็นกลุ่มรายวิชา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการศึกษาของ Gerrard CK และ Leon D [7] ที่พบว่าคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมแต่มีอำนาจการทำนายต่ำ คือ มีค่า R - squared เพียง  0.30 และมีอำนาจทำนายเพียงร้อยละ9 ของปัจจัยทั่วไป

 ข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษาที่ได้แสดงให้เห็นว่า เกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นปีที่ 1 และ คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย  มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม รวมถึงยังสามารถใช้เป็นปัจจัยทำนายคะแนนสอบดังกล่าวได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผลความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเพียงผลการศึกษาที่ศึกษาในกลุ่มประชากรเฉพาะ คือ นิสิตทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 65 คน เท่านั้น การขยายผลเพื่อนำข้อสรุปไปใช้ในวงกว้างจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป โดยคณะผู้วิจัย มีข้อเสนอแนะว่า ในโอกาสต่อไปควรมีความร่วมมือระหว่างคณะทันตแพทย์ทั้ง 9 สถาบัน ในการทำงานวิจัยในลักษณะนี้ร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเพื่อเป็นประโยชน์ในการเป็นข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ เพื่อใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในคณะทันตแพทย์ ตลอดจนการปรับปรุงหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงในประเทศไทยต่อไป.

 

กิตติกรรมประกาศ/Acknowledgement

            งานวิจัยนี้ได้รับได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย (คณะทันตแพทยศาสตร์) ประจำปี 2552

 

เอกสารอ้างอิง/References

[1] ทันตแพทยสภา. (2551). ระเบียบทันตแพทยสภาว่าด้วยการปฏิบัติในการสอบความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2551. นนทบุรี : ทันตแพทยสภา.

[2] ทันตแพทยสภา. (2551) .ประกาศผลสอบวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ครั้งที่ 1 /2551. นนทบุรี : ทันตแพทยสภา.

[3] Sang E Park, Srinivas M Susarla, Ward Massey. (2006,May). Do Admission Data and NBDE Part I    Scores Predict Clinical Preformance Among Dental Student?. Journal of Dental Education. 2006        (70):518-524.

[4] Adam V Bergman, Srinivas M Susarla, Madeem Y Kalimbux. (2006,April). DentaL Admission Test     Scores and Performance on NBDE Part I, Revisited. Journal of Dental Education.  2006(70): 258-  262.

[5] Pamela L Sandow, Anne C Jones, Chuck W Peek, Franck J Courts, Ronald E Watson. (2002,March). Correlation of admission Criteria with Dental School Performance and Attrition. Journal of Education. 2002(66):385-392.

[6] James P Scheetz. (1987,May). Predicting Graduation from Dental School Using Admission Data. Journal of Dental Education.1987(51):250-251.

[7] Gerrard C Kress , Leon Dogon. (1981,April). A Correlational study of Preadmission Predictor Variables and Dental School Performance. Journal of Dental Education.  1981(45):207-210

[8] William W. Wood. (1979,November). Grade Averages and DAT Scores as Predictors of Performance in Dental school. Journal of Dental Education. 1979(43):630-632.

[9] Grant T Phipps , Ross Fishman, Russel H Scott. (1968,February). Prediction of Success in a DentalSchool. Journal of Dental Education.  1968(32):161-167.

[10] Graham D Stacey, John M Whittaker. (2005,February). Predicting Academic Performance and      Clinical Competency for International Dental Student:Seek the Most Efficient and Effective       Measures.  Journal of Dental Education. 2005(69):270-280.

[11] Gene A Kramer.  (1986,September).  Predictive Validity of Dental Admission Test. Journal of Dental Education. 1986(50):526-531.

 

หมายเลขบันทึก: 562805เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท