ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น


จากการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น แสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น 5 กลุ่มปัจจัย ประกอบด้วย 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ 5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอันได้แก่ โรคฟันผุและเหงือกอักเสบ ดังนั้น การจะแก้ปัญหาและลดผลกระทบทางสุขภาพดังกล่าว จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดอิทธิผลของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ขัดขวางพฤติกรรม และเพิ่มความเข้มแข็งให้ปัจจัยทางจิตบางประการ ดังเช่น การให้ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากสอดแทรกไปในรายวิชาปกติในชั้นเรียน การปรับเปลี่ยนเจตคติของนักเรียนให้มีความรู้สึกชอบเห็นคุณค่าของการดูแลอนามัยช่องปาก การทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบและภัยคุกคามต่อสุขภาพช่องปากอันเกิดจากการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การส่งเสริมให้ครอบครัว-เพื่อนและครูให้มีบทบาทที่สำคัญในการชักจูงให้วัยรุ่นตอนต้นสนใจการดูแลอนามัยช่องปาก รวมถึงการจัดกิจกรรมเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนเองและควบคุมตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก

ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

ณัฐวุธ แก้วสุทธา 

 

บทคัดย่อ

 

ปัญหาโรคฟันผุและเหงือกอักเสบในวัยรุ่นตอนต้นยังคงเป็นปัญหาทางทันตสุขภาพที่มีความสำคัญอันดับแรก ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการบริการทางทันตสาธารณสุข การขยายระบบบริการทั้งในภาครัฐและเอกชน หรือการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทางทันตกรรมในการบำบัดและรักษาฟื้นฟูสภาพในช่องปาก ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาทันตสุขภาพดังกล่าวลดน้อยลง ทั้งนี้ เนื่องจากศาสตร์การดูแลทันตสุขภาพเท่าที่ผ่านมามักจะเน้นเฉพาะศาสตร์ทางชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้สนใจศึกษาทำความเข้าใจปัจจัยทางสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งที่ปัจจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากมาก ซึ่งบทความนี้เป็นการประมวลงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเชิงสาเหตุทางสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น ผลการประมวลงานวิจัยปรากฏข้อค้นพบว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งผลทางบวกต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น ดังนั้น การจะแก้ปัญหาและลดผลกระทบทางสุขภาพดังกล่าว จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดอิทธิผลของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ขัดขวางพฤติกรรม และเพิ่มความเข้มแข็งให้ปัจจัยทางจิตบางประการ โดยควรมีการวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นที่มีประสิทธิภาพต่อไป

คำสำคัญ  ปัจจัยเชิงสาเหตุ พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก วัยรุ่นตอนต้น

บทนำ

ปัญหาทางสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและทำลายสุขภาพของประชาชน โดยโรคในช่องปากที่พบมากและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญสองอันดับแรกในวัยรุ่นตอนต้น ได้แก่ โรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ  จากรายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติที่ทำการสำรวจทุก 5 ปี ครั้งล่าสุด พ.ศ. 2555 พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญทางระบาดวิทยา เนื่องจากเป็นอายุที่มีฟันแท้ขึ้นครบ 28 ซี่ในช่องปาก ซึ่งอัตราการเกิดโรคฟันผุในวัยนี้ จะใช้เพื่อทำนายแนวโน้มการเกิดโรคฟันผุในวัยผู้ใหญ่  จากการสำรวจสภาวะโรคฟันผุในฟันแท้ในกลุ่มอายุ 12 ปี พบว่า ร้อยละ 52.3 ของเด็กมีประสบการณ์การเป็นโรคฟันผุ ค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด (DMFT) เท่ากับ 1.3 ซี่/คน ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ปัญหาสภาวะเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ในวัยรุ่นตอนต้น พบว่า มีเด็กอายุ 12 ปีเพียงร้อยละ 29.9 ที่มีเหงือกปรกติ ในขณะที่ร้อยละ 50.3 ของเด็กอายุ 12 ปีมีเหงือกอักเสบ เฉลี่ย 1.2 ส่วนจาก 6 ส่วน (Sextant) ทั้งนี้ร้อยละ 20.7 จะมีหินน้ำลายร่วมด้วย ทั้งนี้ยังคงมีเด็กอีกร้อยละ 19.9 ที่มีหินน้ำลายในช่องปากโดยไม่มีการอักเสบของเหงือก ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการขูดหินปูนด้วยเนื่องจากเด็กเหล่านี้มีโอกาสที่จะพัฒนาเกิดเป็นเหงือกอักเสบได้ (กองทันตสาธารณสุข, 2556) ซึ่งโรคในช่องปากดังกล่าว นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว ยังยากที่จะบำบัดรักษาฟื้นฟูให้ดีดังเดิม นอกจากนี้ปัญหาทางทันตสุขภาพยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในระดับส่วนตัวและระดับส่วนรวม ซึ่งข้อมูลการจัดสรรค่าใช้จ่ายทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน พ.ศ. 2556 พบว่ารัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณของงานทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน ถึงกว่า 3,231 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อใช้

จ่ายในการบรรเทาและแก้ปัญหาทันตสาธารณสุข (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, 2556)

เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการว่า การป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบที่มีประสิทธิภาพนั้น คือ การดูแลอนามัยช่องปากของตนเอง(เพ็ญแข ลาภยิ่ง,   2555)แต่ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นตอนต้นไทยยังคงมีพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดีนัก โดยยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม และยังมีพฤติกรรมการทำความสะอาดช่องปากที่ไม่ดีนัก (กองทันตสาธารณสุข, 2556) การนำเสนอในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น และปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ทั้งที่เป็นแนวคิดและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทันตแพทย์ ทันตบุคลากร และผู้สนใจที่จะศึกษาพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวในวัยผู้ใหญ่และลดภาระของใช้จ่ายด้านทันตสุขภาพในระดับบุคคลและภาพรวมระดับประเทศต่อ

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

          พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก หมายถึง การปฏิบัติหรือการกระทำในสภาวะปกติที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคในช่องปากและส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ซึ่งบุคคลได้เลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งนี้ องค์ประกอบของพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากอาจประกอบด้วยพฤติกรรมย่อยๆ ได้แก่ การหาความรู้เรื่องโรคฟันผุและเหงือกอักเสบ การเลือกใช้แปรงสีฟันและยาสีฟัน การตรวจสภาวะช่องปากด้วยตนเอง การปฏิบัติตนในด้านการ

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การใช้ฟลูออไรด์ และการไปพบทันตบุคลากร (นฤมล สีประโค, 2550) ทั้งนี้ พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากจะมี ความจำเพาะลงไปในส่วนกิจกรรมการดูแลทันตสุขภาพในระดับบุคคลที่ไม่ครอบคลุมในส่วนการไปพบทันตบุคลากรหรือการรักษาโรคในช่องปาก (เมธินี คุปพิทยานันท์, 2546) สำหรับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่กองทันตสาธารณสุขเก็บรวบรวมทุก 5 ปี ในการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ จะประกอบด้วย พฤติกรรมการแปรงฟันในช่วงเวลาต่างๆ พฤติกรรมการแปรงฟันก่อนนอนแล้วเข้านอนทันที การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ การเลือกใช้ขนแปรงสีฟัน การบ้วนน้ำได้การแปรงฟันแต่ละครั้ง พฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลม พฤติกรรมการดื่มน้ำหวานและน้ำผลไม้ พฤติกรรมการกินลูกอม พฤติกรรมการกินขนมกรุบกรอบ (กองทันตสาธารณสุข, 2556) จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมอนามัยช่องปาก สามารถแบ่งได้เป็นสองพฤติกรรมย่อย คือพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่ออนามัยช่องปาก และพฤติกรรมการทำความสะอาดช่องปาก

สถานการณ์พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้นไทยในปัจจุบัน พบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดีนัก จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากวัยรุ่นตอนต้นไทยครั้งล่าสุด ได้รวบรวมผลสัมภาษณ์เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเกี่ยวกับพฤติกรรมดูแลอนามัยช่องปาก พบว่า ส่วนใหญ่จะแปรงฟันเพียงวันละ 2 ครั้ง โดยหลังอาหารกลางวันจะมีผู้แปรงฟันเพียงร้อยละ 17.8 เคยรับประทานอาหารแล้วนอนโดยลืมแปรงฟันมากถึงร้อยละ 41.8 ทั้งนี้ มีพฤติกรรมการแปรงฟันที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 38.1 และพบว่านักเรียนแปรงฟันที่โรงเรียนลดลง และแปรงฟันสม่ำเสมอลดลง นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เอื้อต่อทันตสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยพบว่าเด็กอายุ 12 ปีมีพฤติกรรมดื่มน้ำอัดลมร้อยละ 58.5 น้ำหวานและน้ำผลไม้ร้อยละ 62.0 มีแนวโน้มกินขนมมากขึ้นแต่กินอาหารมีเส้นใยลดลง โดยพบว่ากินลูกอมเป็นประจำร้อยละ 51.6 กินขนมถุงกรุบกรอบร้อยละ 82.3 และพบว่ามีแนวโน้มใช้เงินเพื่อซื้อขนมกรุบกรอบมากยิ่งขึ้นโดยพบว่า ใช้เงินค่าขนมเฉลี่ยวันละ 25.27 บาท  ในการซื้อขนมกินเฉลี่ยวันละ 3-5 ครั้ง (กองทันตสาธารณสุข, 2556)

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการมีพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่เหมาะสมในกลุ่มวัยดังกล่าว ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีปัญหาทันตสุขภาพที่มีความเสี่ยงสูง และภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่จากข้อมูลทางวิชาการที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า องค์ความรู้ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดองค์ความรู้ในการศึกษาทางพฤติกรรมศาสตร์ที่แท้จริงเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น จึงทำให้ที่ผ่านมาจึงไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นได้มากนัก

ปัจจัยเชิงเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นมีปัจจัยเชิงเหตุที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย โดยอาจเกิดจากอิทธิพลของปัจจัยภายในตัวบุคคล  หรือปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัจจัยจากแนวคิดเกี่ยวกับความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ (KAP) ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) ของเบกเกอร์ (Becker, 1975) และแนวคิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม (Social Cognitive Learning Theory) ของแบนดูรา (Bandura, 1977) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก โดยจากการทบทวนงานวิจัยในอดีตทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ความรู้ เจตคติ มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในหลายการศึกษาดังการศึกษาของ คาสเซมและคณะ (Kassem et al., 2003)  แบคแมนและคณะ (Backman et al., 2002) และการศึกษาของ       ศิริวรรณ โพธิ์วัน(2546) กฤษณา วุฒิสินธ์ (2546) ซึ่งต่างพบว่า ความรู้และเจตคติมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก สำหรับทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพนั้นก็มีการพบความสัมพันธ์กับพฤติกรรมดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นอยู่หลายการศึกษา เช่น การศึกษาของ เยาวลักษณ์ ศุภกรรม (2540) และกฤษณา วุฒิสินธ์ (2546) ที่พบว่า การรับรู้ความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคจากจากทฤษฏีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น หรือการศึกษาของ บอร์ซีโคสกีและโรบินสัน (Borzekowski and Robinson,

2001) ที่พบว่า ปัจจัยจากสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์มีผลทางบวกต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กวัยรุ่นตอนต้น สำหรับทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคมของแบนดูรานั้น ก็มีการศึกษาว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพฤติกรรมอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้นหลายการศึกษา เช่น การศึกษาคอนเนอร์และคณะ (Conner et al.,2002)โบเกอร์และคณะ (Bogers et al., 2004)และการศึกษาของรำพึง ษรบัณฑิต (2536) และธงชัย ปรีชา (2540) ซึ่งต่างพบว่าการรับรู้ความสามารถของตนเองและการควบคุมตนเองนั้นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

          จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยเชิงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากอยู่หลายกลุ่มปัจจัยด้วยกัน โดยอาจเกิดจากกลุ่มตัวแปรทางด้านจิตลักษณะที่ทำให้เกิดพฤติกรรม หรือ กลุ่มตัวแปรทางสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ทั้งนี้ จากการประมวลงานวิจัยที่กล่าวข้างต้น สามารถสรุปความสัมพันธ์ของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ได้เป็น 5 กลุ่มปัจจัย ประกอบด้วย 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ และ 5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังแสดงในภาพประกอบที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของพฤติกรรมดูแลอนามัยช่องปากต่อไปนี้

1. ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก

ความรู้เกี่ยวกับโรคและอนามัยช่องปาก เป็นลักษณะพื้นฐานแต่ละบุคคลที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น หมายถึง ความรู้ความเข้าใจและการนำไปใช้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง การป้องกันและการรักษาโรคฟันผุและเหงือกอักเสบ และการดูแลอนามัยช่องปากที่เกี่ยวข้อง จากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นอยู่ในหลายๆการศึกษา เช่น การศึกษา ภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง (2536) ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา  ปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี หรือการศึกษาของ พรทิพย์ วงศ์พิทักษ์ (2541) ที่ศึกษาในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในเขตตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และ การศึกษาของเย็นจิต ไชยฤกษ์ (2542) ที่ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมทันตสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทุกการศึกษา พบว่า ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อการปฏิบัติด้านการดูแลอนามัยช่องปากของนักเรียนจากการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก

เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก เป็นปัจจัยทางจิตลักษณะที่แสดงถึงความรู้สึกเชิงประเมินค่าเชิงบวกต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าและเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ตลอดจนความรู้สึกพอใจต่อการทำพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก และมีความพร้อมที่จะกระทำพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก จากการประมวลผลงานวิจัยเกี่ยวข้อง พบว่า เจตคติที่ดีต่อพฤติกรรมมีความสัมพันธ์สูงกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น เช่น การศึกษาของมาซาลูและแอสตรอม (Masalu and Astrom, 2001) พบว่า เจตคติสามารถทำนายพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการรับประทานของว่างและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β=0.25) สอดคล้องกับงานของคาสเซมและคณะ (Kassem et al., 2003) พบว่า เจตคติสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีโซดาเป็นส่วนประกอบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลายการศึกษาในประเทศไทย เช่น การศึกษาของ ภัทร์ธิรา บุญเสริมส่ง (2536)พรทิพย์   วงศ์พิทักษ์ (2541)  เย็นจิต ไชยฤกษ์ (2542) และ เตือนใจ เทียนทอง (2546)ที่พบว่าเจตคติมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าเจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปากมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค

การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค เป็นปัจจัยที่ส่งผลสำคัญในทฤษฏีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Becker, 1975) โดยการที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมสุขภาพต่างๆ บุคคลนั้น ต้องมีความเชื่อหรือรับรู้ว่าเขามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคในช่องปาก และโรคนั้นมีความรุนแรงและมีอิทธิพลผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ซึ่งจากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรคมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ดังการศึกษาของ เยาวลักษณ์ ศุภกรรม (2540) และ กฤษณา วุฒิสินธ์ (2546) ที่พบว่า พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากนั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความรุนแรงของโรคในระดับสูง การรับรู้ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติในระดับสูง และ การรับรู้ด้านสุขภาพและลักษณะทางชีวสังคม ซึ่งสามารถร่วมทำนายพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในภาพรวมได้ ทั้งนี้ การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค สามารถทำนายพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากได้ดีที่สุด จากการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าการรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคในช่องปาก และการรับรู้ความรุนแรงของโรคในช่องปาก มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ

          สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนหรือขัดขวางและส่งผลให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การได้รับข้อมูลกระตุ้นทางทันตสุขภาพจากสื่อมวลชน การสนับสนุนทางสังคม และแบบอย่างจากเพื่อน ซึ่งทั้งสามปัจจัยดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและเชื่อโดยทั่วไปว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของเยาวชนตามทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ที่เชื่อว่าสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ(Cues to Actions) นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ชักจูงสู่การปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (Becker,1975) โดยพบว่าสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากไว้หลายการศึกษา เช่น การศึกษาของเตือนใจ เทียนทอง (2546) ที่พบว่า วัยรุ่นที่มีการรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพจากสื่อมวลชนสูงจะมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพสูงกว่าวัยรุ่นที่มีการรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพต่ำกว่า สอดคล้องกับการศึกษาของ วิธี แจ่มกระทึก (2541) พบว่า อิทธิพลของตัวแปรสื่อโฆษณาเป็นตัวแปรพยากรณ์ที่สำคัญในการบริโภคอาหารจานด่วนเป็นอันดับแรก และสามารถร่วมอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนได้ถึงร้อยละ 30.80 สำหรับการสนับสนุนทางสังคมก็มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมอนามัยช่องปาก ดังเห็นได้จากการศึกษาของ สุดารัตน์ สุขเจริญ (2539) ที่ศึกษาประสิทธิผลการให้การศึกษาและการใช้แรงสนับสนุนจากพ่อแม่ในการให้ทันตสุขศึกษา พบว่า การใช้แรงสนับสนุนทางสังคมจากพ่อแม่ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางด้านทันตสุขภาพของนักเรียน ซึ่งคล้ายกับการศึกษาของ สดุดี ภูห้องไสย (2541) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น พบว่า แบบอย่างจากเพื่อนมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าสิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ(Cues to Actions) อันได้แก่ การได้รับข้อมูลกระตุ้นทางทันตสุขภาพจากสื่อมวลชน การสนับสนุนทางสังคม และแบบอย่างจากเพื่อน มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นปัจจัยตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory) ของแบนดูรา (Bandura, 2000) ซึ่งถือเป็นทฤษฎีแนวคิดการปรับพฤติกรรมที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน โดยหลักสำคัญของทฤษฎีนี้เชื่อว่าการจะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ บุคคลนั้นต้องเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำพฤติกรรมที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงนั้นๆได้ และสามารถควบคุมตนเองให้ทำพฤติกรรมดังกล่าวได้อย่างสม่ำเสมอบุคคลผู้นั้นจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้ ซึ่งจากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรกลุ่มปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในหลายการศึกษา เช่น การศึกษาของ รำพึง ษรบัณฑิต (2536) ที่พบว่า นักเรียนที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองสูงจะมีพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากดีกว่านักเรียนที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำกว่า สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ธงชัย ปรีชา (2540) ที่พบว่าการใช้โปรแกรมทันตสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนเอง จะทำให้พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของนักเรียนดีขึ้นและมีปริมาณคราบจุลินทรีย์ลดลงซึ่งคล้ายกับการศึกษาของ เยาวลักษณ์ ตรีธัญญาทรัพย์ (2535) ที่พบว่า การรับรู้ในความสามารถของตนเองในการป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากเพื่อป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

สำหรับปัจจัยการควบคุมตนเองที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นนั้น พบความสัมพันธ์ได้ในหลายการศึกษา เช่น การศึกษาคอนเนอร์และคณะ (Conner et al., 2002) ที่พบว่า การควบคุมพฤติกรรมสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ณ เวลา 6 เดือน และ 6 ปี หลังจากรับบริการในคลินิกครั้งแรกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าสัมประสิทธ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ 0.47และ 0.28 ตามลำดับ สอดคล้องกับการศึกษาของ แบคแมนและคณะ(Backman et al., 2002) ที่พบว่า การควบคุมพฤติกรรมสามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β=.28) และการศึกษาของ โบเกอร์และคณะ (Bogers et al., 2004) ที่พบว่า การรับรู้การควบคุมพฤติกรรมสามารถทำนายทั้งพฤติกรรมการบริโภคผลไม้และผักได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีค่าสัมประสิทธ์ถดถอยมาตรฐาน (β) เท่ากับ 0.56 และ 0.71 ตามลำดับ

จากการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันได้แก่ การรับรู้ความสามารถของตนเอง และการควบคุมตนเองมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น

บทสรุป

จากการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากในวัยรุ่นตอนต้น แสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น 5 กลุ่มปัจจัย ประกอบด้วย 1) ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปาก 2) เจตคติที่ดีต่อการดูแลอนามัยช่องปาก 3) การรับรู้ต่อภาวะคุกคามของโรค 4) สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ 5) ปัจจัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอันได้แก่ โรคฟันผุและเหงือกอักเสบ ดังนั้น การจะแก้ปัญหาและลดผลกระทบทางสุขภาพดังกล่าว จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดอิทธิผลของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ขัดขวางพฤติกรรม และเพิ่มความเข้มแข็งให้ปัจจัยทางจิตบางประการ ดังเช่น การให้ความรู้เรื่องโรคและอนามัยช่องปากสอดแทรกไปในรายวิชาปกติในชั้นเรียน การปรับเปลี่ยนเจตคติของนักเรียนให้มีความรู้สึกชอบเห็นคุณค่าของการดูแลอนามัยช่องปาก การทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบและภัยคุกคามต่อสุขภาพช่องปากอันเกิดจากการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การส่งเสริมให้ครอบครัว-เพื่อนและครูให้มีบทบาทที่สำคัญในการชักจูงให้วัยรุ่นตอนต้นสนใจการดูแลอนามัยช่องปาก รวมถึงการจัดกิจกรรมเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนเองและควบคุมตนเองในการดูแลอนามัยช่องปาก

 

ทั้งนี้ ผู้เขียนเสนอแนะว่าควรมีการวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นที่มีประสิทธิผล โดยอาจมีการศึกษาในลักษณะเป็นการวิจัยผสานวิธี (Mixed Method) ซึ่งระยะแรกอาจเป็นการวิจัยศึกษาหาความสัมพันธ์เปรียบเทียบ (Correlation comparative Study) เพื่อแสวงหาปัจจัยเชิงสาเหตุทางด้านจิตลักษณะและสถานการณ์ของพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น แล้วนำผลวิจัยที่สำคัญมากำหนดเนื้อหาในการสร้างเป็นชุดฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการวิจัยระยะต่อมาควรทำการวิจัยเชิงทดลอง (Experiment study)เพื่อยืนยันประสิทธิผลของชุดฝึกอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น อันจะทำให้เกิดประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น และสามารถนำไปใช้เป็นวิธีการป้องกันและควบคุมโรคฟันผุและเหงือกอักเสบที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อเกิดประโยชน์ในงานด้านทันตสาธารณสุขของประเทศในวงกว้างต่อไป

 

***********************************

หมายเลขบันทึก: 562801เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท