บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง “Practical Research: Planning and Design”


เนื้อหาในหนังสือจะประกอบด้วย 5 ส่วน อธิบายไว้อย่างเป็นลำดับตามขั้นตอนของการทำการวิจัย โดยในส่วนแรกของหนังสือจะเป็นการนำเสนอหลักปรัชญาพื้นฐานของการวิจัยและเครื่องมือวิจัย ในส่วนที่สองจะเน้นไปที่กระบวนการวิจัย ซึ่งจะเน้นให้เห็นความสำคัญของการตั้งปัญหาการวิจัย การทบทวนวรรณกรรม รวมถึงการออกแบบวางแผนโครงการวิจัย ส่วนที่สามผู้เขียนได้แนะนำและทำความเข้าใจเบื้องต้นให้ผู้อ่านรู้จักชนิดและรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพเบื้องต้น และในส่วนสุดท้ายของหนังสือผู้เขียนได้อธิบายอย่างละเอียดในขั้นตอนต่างๆของการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยแบบผสานวิธี รวมถึงแนะนำการเขียนรายงานวิจัย ซึ่งจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ มีแบบฝึกหัด ข้อแนะนำ หรือคู่มือปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญในงานวิจัยในทุกบทของหนังสือ ทำให้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักวิจัยเริ่มต้นในการวิจัยทุกประเภท

บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง

Practical Research: Planning and Design” *

 

วิจารณ์โดย ณัฐวุธ แก้วสุทธา **

บทคัดย่อ

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแนะนำหนังสือเรื่อง “Practical Research: Planning and Design” โดยPaul D. Leedy และ Jeanne Ellis Ormrod ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ครั้งที่ 10 ในตำราชุดนี้ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดในการวางแผนและออกแบบการวิจัยที่เป็นมืออาชีพและมีคุณภาพทางวิชาการ โดยเนื้อหาในหนังสือจะประกอบด้วย 5 ส่วน อธิบายไว้อย่างเป็นลำดับตามขั้นตอนของการทำการวิจัย โดยในส่วนแรกของหนังสือจะเป็นการนำเสนอหลักปรัชญาพื้นฐานของการวิจัยและเครื่องมือวิจัย ในส่วนที่สองจะเน้นไปที่กระบวนการวิจัย ซึ่งจะเน้นให้เห็นความสำคัญของการตั้งปัญหาการวิจัย การทบทวนวรรณกรรม รวมถึงการออกแบบวางแผนโครงการวิจัย ส่วนที่สามผู้เขียนได้แนะนำและทำความเข้าใจเบื้องต้นให้ผู้อ่านรู้จักชนิดและรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพเบื้องต้น และในส่วนสุดท้ายของหนังสือผู้เขียนได้อธิบายอย่างละเอียดในขั้นตอนต่างๆของการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยแบบผสานวิธี รวมถึงแนะนำการเขียนรายงานวิจัย ซึ่งจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ มีแบบฝึกหัด ข้อแนะนำ หรือคู่มือปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญในงานวิจัยในทุกบทของหนังสือ ทำให้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักวิจัยเริ่มต้นในการวิจัยทุกประเภท

 

คำสำคัญ วิธีการวิจัย การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ การวางแผนและการออกแบบการวิจัย

 

บทนำ

การทำงานวิจัยให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการนั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักในเชิงปฏิบัติโดยเฉพาะการวางแผนและออกแบบการวิจัยนั้น หากขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการวิจัย ซึ่งถ้าผู้วิจัยศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องดังกล่าวก่อนลงมือทำการวิจัยก็จะช่วยให้การวิจัยมีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ มีหนังสือตำราและงานวิจัยหลายเล่มที่นำเสนอแนวคิดและเทคนิคการวางแผนและออกแบบการวิจัย แต่หนังสือที่นำเสนอแนวคิดวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับมากเล่มหนึ่ง คือ หนังสือของ Paul D. Leedy ที่ชื่อ “Practical Research: Planning and Design” ซึ่งเป็นเป็นหนังสือที่นำเสนอเนื้อหา รวมถึงวิธีการปฏิบัติในการออกแบบการวิจัย ตั้งแต่การตั้งปัญหาการวิจัย การวางแผนออกแบบการวิจัย จนถึงการแปลผลข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นตำราที่ถูกใช้มานานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 [1] และได้มีการปรับปรุงและพัฒนาต่อมาจนถึงการพิมพ์ครั้งที่ 7 [2] ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายก่อนที่ Paul D. Leedy จะเสียชีวิต หลังจากนั้น  J.E.Ormrod  ได้มาร่วมเขียนและปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพขึ้น เพื่อให้หนังสือเล่มนี้มีความครอบคลุมและมีลักษณะที่นำไปปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่ 8 เป็นต้นมาในปี พ.ศ 2548 [3] จนถึงปัจจุบันเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 10 ซึ่งตีพิมพ์ พ.ศ. 2556[4] ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงและมีการเพิ่มเติมเนื้อหาในแต่ละครั้ง จนในปัจจุบันนี้ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้การสำรวจออนไลน์และวิเคราะห์ผลข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงมีการเพิ่มเติมการออกแบบการวิจัยแบบผสานวิธี ประเด็นจริยธรรมในการวิจัยที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย​​และแนวทางการปฏิบัติสำหรับการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย ในการจัดพิมพ์ครั้งล่าสุดนี้ด้วย

ซึ่งจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ เป็นตำราคู่มือการวิจัยที่ค่อนข้างมีเนื้อหาที่ครอบคลุมสำหรับผู้เริ่มต้น ในแนวคิดพื้นฐานเพื่อความเข้าใจในหลักการของการวิจัยในรูปแบบต่างๆ เช่น การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยแบบผสานวิธี รวมถึงในตอนท้ายของแต่ละบทของหนังสือเล่มนี้จะมีแบบฝึกหัด ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถพัฒนาตนเองด้วยการฝึกปฏิบัติได้ด้วยตนเองได้อย่างดียิ่ง และในบางบทจะมีการให้ข้อแนะนำ หรือคู่มือปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งผู้อ่านสามารถนำไปใช้เป็นหลักในการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆในการวิจัยได้ทันที ซึ่งถือเป็นตำราการวิจัยที่มีการถูกอ้างถึงและในไปใช้ในวงวิชาการอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เช่น หนังสือตำราการวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง “Qualitative Research Methods for the Social Sciences” ของ เบิร์ก [5] ได้มีการกล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ถึงสามบท หรือตำราการวิจัยเชิงปริมาณเรื่อง “Essentials of behavioral Research: Methods and Data Analysis” ของ โรเซนทาลและรอสโนว์ [6] ก็ได้มีการนำหลักการประมวลเอกสารของหนังสือเล่มนี้ในบทที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของตำราเล่มดังกล่าว  สำหรับตำราการวิจัยของประเทศไทยก็มักใช้หลักการในหนังสือเล่มนี้ไปใช้ โดยเฉพาะประเด็นการเขียนประมวลเอกสารจากกว้างมาสู่แคบของหนังสือเล่มนี้ ยังได้รับการขยายความและเพิ่มเติมวิธีการให้ชัดเจนขึ้นในบทความและตำราการวิจัยอีกหลายเล่ม เช่น ตำราหลักและวิธีการประมวลเอกสารเพื่อความเป็นเลิศทางวิจัยทางจิตพฤติกรรมศาสตร์ ของดุจเดือน พันธุมนาวิน [7] เทคนิกการประมวลเอกสารเพื่อการวิจัย ของงามตา วนินทานนท์ [8] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากของหนังสือเล่มนี้

 

เนื้อหา

การจัดแบ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรกของหนังสือจะเป็นการนำเสนอหลักปรัชญาพื้นฐานของการวิจัยและเครื่องมือวิจัย ส่วนที่สองจะเน้นไปที่กระบวนการวิจัย ซึ่งจะเน้นให้เห็นความสำคัญของการตั้งปัญหาการวิจัย การทบทวนวรรณกรรม รวมถึงการออกแบบวางแผนโครงการวิจัย ส่วนที่สามผู้เขียนได้แนะนำและทำความเข้าใจเบื้องต้นให้ผู้อ่านรู้จักชนิดและรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพเบื้องต้น ส่วนนี้ผู้เขียนได้อธิบายอย่างละเอียดในขั้นตอนต่างๆของการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยแบบผสานวิธี และในส่วนสุดท้ายผู้เขียนได้แนะนำการเขียนรายงานวิจัย ซึ่งสรุปเนื้อหาทีไว้อย่างน่าสนใจในแต่ละส่วน มีดังนี้

ส่วนที่ 1 ในบทแรกผู้เขียนได้กล่าวถึงหลักการพิจารณาเบื้องต้นในการทำวิจัย โดยการวิจัยจะต้องเริ่มต้นจากผู้วิจัยเกิดคำถามหรือปัญหางานวิจัย ซึ่งต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นในการวิจัยว่าจะทำไปเพื่อแก้ไขปัญหาอะไร  และต้องมีกระบวนการวางแผนเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบและมีการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาการวิจัย ต้องมีการศึกษาค้นคว้าทฤษฎีและงานวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำปัญหาหรือคำถามการวิจัยไปสู่การตั้งสมมติฐานการวิจัยที่ถูกต้อง สามารถเชื่อมโยงและสามารถนำไปสู่เป้าหมายการแก้ปัญหาตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งกระบวนการวางแผนและการออกแบบนี้ต้องทำเป็นขั้นตอนที่ครอบคลุมถึงกระบวนการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้ การวิจัยมักเป็นกระบวนการที่เป็นวงจร ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาหลายวงรอบจนกว่าจะได้คำตอบของสิ่งที่นักวิจัยต้องการค้นหา และในตอนท้ายของบทผู้เขียนได้อธิบายให้เข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือวิจัยต่างๆ ได้แก่ ห้องสมุด คอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สถิติและการวัดผล ชนิดของตัวแปรต่างๆ และสิ่งสำคัญที่สุดของเครื่องมือการวิจัย คือ ตัวผู้วิจัยเองที่มีความเป็นเหตุผลเข้าใจความเป็นมนุษย์ (Human Mind)

            ส่วนที่ 2 ประกอบด้วยบทที่ 2-5 เน้นไปที่กระบวนการวิจัย เริ่มจากสาระในบทที่ 2 นั้นจะเน้นให้ผู้อ่านให้ความสำคัญกับปัญหาการวิจัย โดยถือว่าเป็นหัวใจของการวิจัย เนื่องจากคุณค่าของงานวิจัยจะอยู่ที่การเลือกปัญหาการวิจัยที่มีคุณค่าเข้ามาทำการวิจัย เพราะการวิจัยในประเด็นที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือตอบได้แต่ความต้องการอยากรู้ของตนเอง แต่ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ ก็ไม่ถือเป็นการวิจัยที่ดีได้ ทั้งนี้ ปัญหาการวิจัยที่ดี ควรเป็นปัญหาที่เมื่อทำการวิจัยแล้วจะได้คำตอบที่สามารถแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ได้  ซึ่งผู้เขียนได้เน้นกระบวนการแตกปัญหาการวิจัยหลักออกเป็นส่วนย่อยลง ที่เรียกว่า ปัญหางานวิจัยรอง (Sub-problem) ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากปัญหางานวิจัยที่มีคุณภาพนั้นมักจะมีความซับซ้อน ซึ่งการที่เราแตกปัญหาการวิจัยออกเป็นปัญหาหลัก และปัญหารองจะทำให้มองปัญหาการวิจัยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งวัตถุประสงค์การวิจัยที่เหมาะสม และการกำหนดหัวข้อในการประมวลเอกสาร การกำหนดสมมติฐาน การวิจัยและขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป และเมื่อพิจารณาในบทที่ 3 ผู้เขียนนั้นเน้นให้ผู้วิจัยให้ความสำคัญกับการทบทวนวรรณกรรมซึ่งเป็นจุดเด่นในหนังสือชุดนี้ ผู้เขียนได้แนะนำขั้นตอนในการทบทวนวรรณกรรมไว้ประกอบด้วย ระบุปัญหาการวิจัยหลัก จำแนกปัญหาการวิจัยรอง ระบุคำที่เกี่ยวข้อง หรือประโยค ที่สัมพันธ์กับปัญหางานวิจัยรอง แปลงคำหรือประโยคเหล่านั้นเป็นข้อความที่จะไปทำการสืบค้น ลงมือสืบค้นในห้องสมุด หรือฐานข้อมูลต่างๆ รวมถึงระบบ ฐานข้อมูลต่างๆ และขั้นตอนสุดท้าย คือ การอ่านเอกสารทั้งหมดเหล่านั้นอย่างตั้งใจ ทั้งนี้ผู้เขียนโดยหลักการสำคัญ คือ ผู้วิจัยควรจะต้องมีการวางแผนในการนำเอกสารที่หามาได้มาเขียน มีการพิจารณาจัดวางลำดับของเอกสารที่ค้นหามาได้ตามลำดับความสัมพันธ์ของข้อมูล โดยอาจจะเริ่มจากทฤษฎีหรืองานวิจัยที่เก่าแต่เป็นที่นิยมอย่างมากและยาวนานซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานวิจัยของตนเองนัก จากนั้นค่อยๆลำดับเอกสารสู่ประเด็นที่ใกล้เคียงงานวิจัยตนเอง ทั้งนี้ในส่วนท้ายของบทนี้ผู้เขียนได้เพิ่มเติมในประเด็นจริยธรรมในการวิจัย และให้แบบตรวจสอบ (Check-List) สำหรับการตรวจสอบในประเด็นจริยธรรมในการวิจัยในการอ้างอิงเอกสารที่เกี่ยวข้อง

            สำหรับสาระในบทที่ 4 ผู้เขียนได้นำเสนอหลักในการวางแผนโครงการวิจัย โดยอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการออกแบบการวิจัยและวิธีวิทยาการวิจัย โดยเน้นย้ำความสำคัญของการแปลความหมายข้อมูลโดยการที่จะได้ความจริง (Truth) นั้น ผู้วิจัยจำเป็นต้องมีวิธีการสกัดเอาความหมายจากข้อมูลที่ดี ที่ถูกต้อง ที่มีประสิทธิภาพออกมาจึงจะมีความใกล้เคียงหรือเป็นความจริงมากที่สุด ซึ่งกระบวนการในการสกัดเอาความจริงออกมานั้น คือระเบียบวิธีวิจัยที่ดีนั่นเอง ซึ่งผู้เขียนได้เปรียบเทียบว่า “ข้อมูล (Data)” นั้นเหมือนกับสินแร่ (ore) ที่ต้องมีวิธีวิทยาการวิจัย (Research methodology) ที่เหมาะสมจึงจะสามารถสกัดความหมายออกจากข้อมูล จนสามารถได้ข้อเท็จจริงในการวิจัยครั้งนั้นๆได้ และในบทที่ 5 ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างและแนะนำแนวทางการเขียนเค้าโครงการวิจัยที่มีคุณภาพ โดยมีแบบฝึกหัด แนวทางการตรวจสอบ (Check-List) และคู่มือ (Guideline) ประกอบเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจโดยง่าย

            ส่วนที่ 3 ประกอบด้วยบทที่ 6-7 โดยจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ. 2548 [3] โดยเนื้อหาในส่วนนี้จะแบ่งเป็นสองบท ในบทที่ 6 จะเป็นการอธิบายหลักการแนวคิดโดยทั่วไปของการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งจะมีความแตกต่างกับการวิจัยเชิงปริมาณ เนื่องจากในการวิจัยเชิงปริมาณจะพยายามหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมของผู้วิจัยเพื่อลดอคติต่างๆ แต่การวิจัยเชิงคุณภาพนั้นตัวผู้วิจัยเองจะเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อการทำความเข้าใจ แปลความ ในปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านั้น จึงเรียกได้ว่า “ผู้วิจัย เป็น เครื่องมือในการวิจัย” ของการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งบางครั้งการตีความในปรากฏการณ์หนึ่งๆก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปอย่างเดียว ขึ้นกับมุมมองและการทำความเข้าใจของผู้วิจัยนั้นๆ เนื่องจากการวิจัยเชิงคุณภาพเชื่อว่าความจริงแท้นั้นไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต่ขึ้นกับการตีความผ่านมุมมองซึ่งอาจจะมีหลายมิติก็ได้ ซึ่งผู้เขียนได้พยายามทำการเปรียบเทียบการวิจัยเชิงคุณภาพทั้ง 5 รูปแบบ ได้แก่ กรณีศึกษา (Case Study), ชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography), ปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenological), ทฤษฏีฐานราก (Grounded Theory)  และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ในแง่ของวัตถุประสงค์การศึกษา กลุ่มเป้าหมาย วิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในแต่ละการศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านสามารถแยกแยะความแตกต่างของการศึกษาแต่ละรูปแบบได้ และในบทที่ 7 ผู้เขียนแนะนำการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (historical research) โดยแนะนำแหล่งค้นคว้าอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ วิธีการเก็บบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ การประเมินและการแปลผลข้อมูล รวมถึงการเขียนรายงานของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

            ส่วนที่ 4 จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปริมาณซึ่ง ผู้เขียนนำเสนอไว้ในบทที่ 8-11 โดยสาระสำคัญในบทที่ 8 การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) ซึ่งผู้เขียนพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างของการศึกษาเชิงพรรณนาของการวิจัยเชิงปริมาณ ที่มีความแตกต่างจากการสังเกตของการวิจัยคุณภาพ และอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจการศึกษาเชิงพรรณนาสองรูปแบบ คือ การศึกษาภาคตัดขวาง (Cross-sectional Study) และการศึกษาระยะยาว (Longitudinal Study) และเข้าใจหลักการสุ่มตัวอย่างในแบบต่างๆ สาระในบทที่ 9 จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental) และรูปแบบการศึกษาชนิดต่างๆ ในบทนี้ผู้เขียนพยายามอธิบายให้เห็นธรรมชาติของการศึกษาเชิงทดลอง การควบคุมอิทธิพลของตัวแปรตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรตาม ซึ่งในการพิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ 2556 นี้ ผู้เขียนได้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed method) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบันเข้าไปด้วย ซึ่งจะประกอบด้วยการออกแบบการวิจัยแบบผสานวิธี รูปแบบต่างรวม รวมถึงเสนอแนะแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยแบบผสานวิธีด้วย และในบทที่ 11 ผู้เขียนได้อธิบายเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยเสนอแนะแนวทางการเลือกใช้สถิติที่เหมาะสม  โดยผู้เขียนได้เน้นให้มีการเลือกสถิติไปใช้ให้เหมาะสมกับข้อมูลที่ผู้วิจัยเก็บ ซึ่งควรจะมีความสอดคล้องกับปัญหาการวิจัยและสมมติฐาน

            ส่วนที่ 5 ผู้เขียนได้แนะนำแนวทางการเขียนรายงานการวิจัย ซึ่งควรมีความสอดคล้องกับรูปแบบมาตรฐานของตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือตามข้อกำหนดมาตรฐาน เช่น แนวทางของสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (APA) หรือ แนวทางชิคาโก (Chicago) เป็นต้น ทั้งนี้ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่าให้เขียนรายงานการวิจัยให้มีความชัดเจนที่สุด เนื่องจาก ผู้วิจัยต้องคิดเสมอว่าผู้อ่านงานวิจัยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ลงมือทำ หรือใกล้ชิดกับปรากฏการณ์ที่ศึกษาเท่าผู้วิจัย ดังนั้น ผู้วิจัยจึงควรเขียนให้ชัดเจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์ที่ศึกษา จึงจะสามารถถ่ายทอดผลการวิจัยให้ผู้อื่นได้รับทราบ ทั้งนี้ ส่วนที่เพิ่มเติมในการพิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ 2556 [4] ได้มีการเพิ่มแนวทางการจัดทำโปสเตอร์เพื่อการนำเสนอผลการวิจัยในที่ประชุมวิชาการเพื่อให้ผู้อ่านได้แนวทางเพิ่มเติมในการจัดทำโปสเตอร์นำเสนอที่มีคุณภาพทางวิชาการ

 

 

 

 

 

บทสรุป: ประโยชน์และการนำไปใช้

            เนื้อหาในหนังสือ “Practical Research: Planning and Design” เล่มนี้ถือว่ามีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจกับการวิจัยเบื้องต้นโดยเฉพาะนักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาและผู้ที่สนใจงานวิจัยในหลายรูปแบบ มีการออกแบบการวิจัยที่หลากหลายทั้งงานวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเนื้อหาภายในเล่มผู้เขียนพยายามที่จะแทรก ภาพประกอบ แผนผัง และยกตัวอย่างประกอบในทุกบทของหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพหรือเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ค่อนข้างดีทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการวางแผนและออกแบบการวิจัยจะมีการเน้นทำความเข้าใจเป็นพิเศษ และมีการอธิบายอย่างละเอียดทำให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นว่างานวิจัยควรจะต้องมีลักษณะอย่างไร

            ทั้งนี้จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การที่ผู้เขียนได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองของผู้อ่าน โดยได้ให้แนวทางการปฏิบัติ (Guideline) แบบฝึกหัด หรือข้อแนะนำในขั้นตอนต่างๆในแต่ละบท ทำให้ผู้อ่านสามารถนำเอาแนวทางดังกล่าวไปตรวจสอบ และใช้ประเมินงานวิจัยที่ตนเองกำลังดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้มีการยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเกือบทุกบท ซึ่งตัวอย่างงานวิจัยที่ผู้เขียนนำมาอธิบายนั้นมีความหลากหลายในสาขาวิชาต่าง ๆ ตั้งแต่สาขาแพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และจิตวิทยา ซึ่งการมีตัวอย่างจากหลายสาขาวิชาทำให้ผู้อ่านที่ทำวิจัยในสาขาต่างๆกัน สามารถเข้าใจในหนังสือเล่มนี้ได้ง่ายขึ้น และในการปรับปรุงในแต่ละครั้งที่จัดพิมพ์ ผู้เขียนมีความพยายามจะเพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความทันสมัยตลอดเวลาดังจะเห็นได้จากในหนังสือเล่มล่าสุด [4] ที่ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในทุกๆขั้นตอนของการวิจัย การวิจัยแบบผสานวิธี และประเด็นจริยธรรมในการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เนื้อหาในหนังสือยังคงมีความทันสมัยอยู่เสมอแม้ว่าเล่มแรกจะออกมานานกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม

            แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็อาจมีข้อไม่สมบูรณ์อยู่บ้างในบางประเด็น โดยเฉพาะในการปรับปรุงครั้งหลังๆที่มีการเพิ่มเนื้อหาให้มากขึ้นนั้น ทำให้มีความจำเป็นต้องตัดทอนเนื้อหาในบางส่วนของหนังสือออกไป เช่น การทบทวนวรรณกรรมซึ่งในเล่มแรกๆจะให้การอธิบายอย่างละเอียด แต่ในเล่มปัจจุบันจะเป็นเพียงการกล่าวในภาพรวมอย่างสรุป นอกจากนี้ในเนื้อหาบางบทที่เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น การวิจัยเชิงปริมาณ หรือการวิจัยแบบผสานวิธีนั้น จะพบว่าเป็นเพียงการนำเสนอเนื้อหาในเบื้องต้น ยังขาดรายละเอียดในเชิงเนื้อหาเพื่อทำความเข้าใจอีกมาก ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้ในเอกสารอ้างอิงที่ผู้เขียนได้ใส่ไว้ท้ายบท

            แม้ว่าหนังสือ“Practical Research: Planning and Design” จะได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 10 แล้วก็ตาม แต่พบว่ามีการเขียนบทวิจารณ์ไม่มากนัก ที่พบได้คือบทวิจารณ์ของ มิลเลอร์ ไวท์เฮด [9] ที่ได้วิจารณ์หนังสือในชุดนี้ในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่สามารถหาได้จากเวบไซต์เป็นครั้งแรกของหนังสือเล่มนี้ และได้ให้รายละเอียดโดยสรุปของหนังสือเล่มนี้ทั้ง 12 บท ที่เน้นทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย ซึ่งผู้วิจารณ์ได้เห็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ว่ามีการยกตัวอย่างประกอบที่มาจากหลายแขนงสาขาวิชาทำให้ผู้วิจัยจากหลายๆสาขาสามารถใช้หนังสือเล่มนี้ด้วยกันได้ สำหรับบทวิจารณ์ในประเทศไทย รองศาสตราจารย์ดวงเดือน พันธุมนาวิน [10] ได้วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ โดยได้อธิบายถึงพัฒนาการของหนังสือในชุดนี้ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่ 1-9 ในลักษณะที่ไม่ได้ลงรายละเอียดในสาระแต่ละบท แต่ได้สรุปประเด็นถึงคุณสมบัติสำคัญของตำราชุดนี้ 4 ประการ ประกอบด้วย 1. การให้ตัวอย่างแบบฝึกหัดทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ 2.ความหลากหลายของตัวอย่างงานวิจัยที่มีหลากหลายสาขา 3.ให้วิธีการที่ชัดเจนในหลายขั้นตอนของการวิจัย เช่น เกณฑ์ 16 ข้อในการพิจารณาว่าจุดมุ่งหมายการวิจัย เป็นต้น 4. การนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมาใช้ในการทำวิจัย และได้ขยายความของจุดเด่นในหนังสือชุดนี้ในด้านการเขียนประมวลเอกสารจากกว้างมาสู่แคบลักษณะแบบสามเหลี่ยมหัวกลับ ที่จะทำให้ผู้วิจัยสามารถลำดับความสำคัญของเอกสารอ้างอิงต่างๆได้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้วิจารณ์ได้พบจุดด้อยที่เนื้อหาในส่วนดังกล่าวได้ถูกตัดทอนลงในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 8-10 ของหนังสือเล่มนี้และเสนอแนะให้ในการปรับปรุงครั้งต่อๆไปมีการขยายความและคงจุดเด่นในเรื่องดังกล่าวไว้

            กล่าวโดยสรุปแล้ว เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้เริ่มต้นจะทำงานวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหาโดยรวมถือว่าครบองค์ประกอบในการวางแผนและออกแบบการวิจัย เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มต้นทำการวิจัยทั้งการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ หนังสือเล่มนี้จึงมีประโยชน์ในเชิงวิชาการสูง  เหมาะสมจะใช้เป็นตำราการวิจัยหรือคู่มือการทำงานวิจัยเบื้องต้นสำหรับนักวิจัยในทุกแขนง

 

เอกสารอ้างอิง

1. Leedy, P.D. Practical Research: Planning and Design. 1st edition. New York: MacMillan Publishing Company; 1974.

2. Leedy, P.D., & Ormrod, J.E. Practical Research: Planning and Design. 7th edition. Upper

Saddle River, New Jersey: Prentice Hall; 2001.

3.Leedy, P.D., & Ormrod, J.E. Practical Research: Planning and Design. 8th edition. Upper

Saddle River, New Jersey: Prentice Hall; 2005.

4. .Leedy, P.D., & Ormrod, J.E. Practical Research: Planning and Design. 10th edition. Upper Saddle River, New Jersey: Prentice Hall; 2013.

5. Berg, B.L. Qualitative Research Methods for the Social Sciences. 6th edition. New York:Pearson International Publication. 2007.

6. Rosenthal, R., & Rosnow, R.L. Essentials of behavioral Research: Methods and DataAnalysis. 2nd Edition, New York, McGraw-Hill. Inc. 1991.

7. ดุจเดือน พันธุมนาวิน. ตำราหลักและวิธีการประมวลเอกสาร เพื่อความเป็นเลิศในการวิจัยทางจิตพฤติกรรมศาสตร์. คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. 2551.

8. งามตา วนินทานนท์. เทคนิคการประมวลเอกสารเพื่อการวิจัย. บทความวิชาการประกอบการบรรยายในหลักสูตรการฝึกอบรมการวิจัยขั้นสูงทางจิตพฤติกรรมศาสตร์. 2549; หน้า 43-81.

9. Miller-Whitehead, M. (2001). Book review: Practical Research: Planning and Design. (7th edition) by P.D.Leedy & J.E.Ormrod. Upper Saddle River: New Jersey: Merrill.Prentice Hall; 2001.

10. ดวงเดือน พันธุมนาวิน. บทวิจารณ์หนังสือตำรา “การปฏิบัติการวิจัย” ที่มีผู้นิยมใช้มาตลอด 36 ปี ของ Leedy. วารสารพัฒนาสังคม. 2553;12: หน้า121-13.

คำสำคัญ (Tags): #ฺbook review#Leedy
หมายเลขบันทึก: 562813เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท