ความรู้นอกตำรา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน


       ครั้งหนึ่งในชีวิตบนเส้นทางการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย บางคนก็เรียนอย่างเดียว  และบางคนก็ทำกิจกรรมไปด้วยเรียนไปด้วย สำหรับผมเองเดินทางเข้าสู่ถนนนักกิจกรรมตั้งแต่มาเป็นนิสิตชั้นปีที่ ๑ โดยการทำกิจกรรมออกค่ายกับชมรมอาสาพัฒนา ประมาณ ๑ ปีกว่า และพักการทำกิจกรรมในช่วงเวลาหนึ่ง พอตอนปี ๒ เทอม ๒ เห็นนิสิตกลุ่มหนึ่งชื่อ “กลุ่มนิสิตมอน้ำชี” ทำกิจกรรมเพื่อชุมชนลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  จึงได้เข้าไปสมัครเป็นสมาชิก ร่วมทำกิจกรรมต่างๆเพื่อช่วยเหลือสังคม จนผมได้รับการไว้วางใจให้จากเพื่อนๆให้ลงสมัครเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นองค์การนิสิตซึ่งเป็นความหวังอย่างหนึ่งที่ผมอยากเชิดหน้าชูตาคณะวิทยาการสารสนเทศ แต่การเลือกตั้งในครั้งนั้นก็พ่ายแพ้ ถึงแม้จะพ่ายแพ้แต่ผมและเพื่อนๆก็ยังร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอด จนมาถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ มีเพื่อนจากหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศมาทาบทามให้มาช่วยงานสโมสรนิสิตคณะฯ หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาผมได้เดินทางเข้าสู้ถนนนักกิจกรรมอย่างเต็มตัว ซึ่งการทำงานบริหารสโมสรนิสิตคณะฯนั้นจะต้องจัดการทุกอย่างตั้งแต่ การเสนอโครงการ การสรุปงานการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และการนั่งบริหารงานแทนนายกสโมสรนิสิตคณะฯ ในบางช่วง ทำให้ผมได้เรียนรู้การบริหารองค์กร การทำงานเป็นทีม การจัดการกับเอกสารราชการ การบริหารงานสโมสรนิสิตของผมในครั้งนี้ผมได้งัดเอาความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์กับการทำงานจริง พอมาวันหนึ่งได้รับหนังเชิญจากกองค์การนิสิตให้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับโครงการ ๑ ชมรม ๑ ชุมชน เท่าที่จำได้นะครับน่าจะเกิดพร้อมกันกับโครงการ ๑ คณะ ๑ ชมชุน ผมเองก็ได้นั่งคิดว่าคณะเราทำไมไม่เห็นวี่แววเรื่องนี้น่ะ ซึ่งมาทราบข่าวว่ามีโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน ตอนที่เรียนวิชา การจัดการสารสนเทศและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนนั่นก็คือ โครงการ ๑ หลักสูตร  ๑ ชุมชนของคณะวิทยาการสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งครั้งนี้เดินทางไปลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ณ อบต.หนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในการเดินทางไปครั้งแรกนี้ไปด้วยกันทั้งหมด ๖ หลักสูตร เป็นโครงการที่สร้างความร่วมมือของนิสิตต่างสาขาวิชา ในคณะวิทยาการสารสนเทศ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่ตามสายงานสาขาวิชาที่เรียนอย่างเช่น  IS ก็เก็บรวบรวมข้อมูล ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน  CS ก็สอนการใช้งานคอมพิวเตอร์และซ่อมคอมพิวเตอร์  MC ก็รับหน้าที่การประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ Gis ก็รับหน้าที่ในการสร้างแผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อช่วยในการตัดสินใจทางด้านการเกษตร   ICT ก็สอนการใช้งานคอมพิวเตอร์และดูแลระบบคอมพิวเตอร์  ชิ้นงานจากการทำงานของแต่ละสาขาวิชาจะถูกนำมาจัดเก็บในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต่อไป การการทำกิจกรรม๑ หลักสูตร ๑ชุมชน ในครั้งนี้ทุกสาขาวิชาได้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้มีการเรียนรู้ร่วมกันในการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน ซึ่งแต่ละคนก็ต่างนิสัยใจคอ ซึ่งก็ปรับเข้าหากันและเข้าใจกันมากขึ้น

 

         การลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลในครั้งแรกนี้ประสบปัญหาอย่างหลายอย่างคือ ไม่สามารถมองเห็นภาพและบริบทจริงเนื่องจากปราชญ์ชาวบ้านเดินทางมาให้ข้อมูลที่ อบต. การสื่อสารกับผู้ให้ข้อมูลไม่เข้าใจเนื่องจากการใช้ภาษาคนละระดับกัน ซึ่งได้แก้ปัญหาโดยการลดระดับภาษามาใช้เป็นภาษาถิ่นจึงทำให้เข้าใจกันมากขึ้น  ปัญหาและอุปสรรคทำให้ผมได้รู้จักวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากขึ้นและทำให้ได้รู้จักการนำความรู้เรื่องระดับภาษาในรายวิชาภาษาไทยที่ได้เรียนมาตั้งแต่ประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัยมาใช้ก็คราวนี้แหละครับ และได้ฝึกการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์  การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่บ้านผมเองและที่บ้านหนองบัว  การทำกิจกรรมหลายๆอย่างทำให้รู้ว่าเรียนในการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวก็เหมือนกับการทานข้าวเปล่าๆ แต่เมื่อมีการเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ได้ลงมือปฏิบัติจริงผสมผสานกันเสมือนได้กับการทานข้าวกับอาหารจานเด็ดที่แสนอร่อย ซึ่งเป็นความรู้ที่หาได้ยากจากการเรียนในระดับอุดมศึกษา การลงพื้นที่ทำกิจกรรมในครั้งแรกประสบความสำเร็จไปด้วยดีเพราะได้รับความร่วมมือจากนิสิตทุกสาขาวิชา อย่างที่ผมบอกไปในข้างต้นว่านานๆจะมีการจัดกิจกรรมรวมกันทั้งคณะแบบนี้สิ่งที่ได้รับกลับมาก็คือการเห็นเอกลักษณ์ของแต่ละสาขาวิชา มิตรภาพไมตรีที่ดีต่อกัน และยิ่งไปกว่านั้นเราได้มาระดมความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และผมก็ได้แต่หวังว่าจะมีกิจกรรมต่อเนื่องอีกเพราะเรามาเพียงแต่เปิดประเด็นเฉยๆยังไม่ได้ลงมือทำอะไรกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนมากนัก
        จากครั้งที่ ๑  ผ่านไป งานของเรายังไม่เสร็จสิ้นจึงมีการลงพื้นที่เพื่อทำงานต่อในครั้งที่ ๒ ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นทริปพิเศษอีกทริปหนึ่งที่ได้ลงไปเก็บข้อมูลภาพสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน สภาพอากาศในวันนั้นช่างเป็นใจซะเหลือเกินแสงแดดจ้าจรัสร้อนมากๆ ผมละเพื่อนๆก็ยังทำงานกันต่อเพื่อให้งานสมบูรณ์ เดินลุยป่าลุยหญ้าเพื่อไปถ่ายรูปให้ครบ อุปสรรคในการลงพื้นที่ในครั้งนี้คือ การลงพื้นที่ตรงกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรจึงไม่สามารถถ่ายภาพปราชญ์ชาวบ้านได้ครบ และบางสถานที่ก็ไกลเกินไปจึงไม่ได้ถ่ายภาพ และสิ่งที่ประทับใจมากๆคือ คุณพ่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านท่านเสียสละเวลาพาพวกเราเดินเก็บข้อมูลตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงบุกป่าลุยทุ่งนาและยิ่งไปกว่านั้นท่านเดินพาพวกเรามาทานข้าวเที่ยง ตกเย็นมามีกิจกรรมดีๆจากพี่โนเน รุ่นพี่ที่แสนน่ารักคอยดูแลน้องๆตลอดเวลา คือ การเล่าประสบการณ์ในการเรียนและประสบการณ์ชีวิตให้พวกเราฟังและมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคนทำให้พวกเราทุกคนที่ลงพื้นที่ในวันนั้นสนิทสนมและเข้าใจปัญหาซึ่งกันและกันมากขึ้นและรักกันมากขึ้น  ตื่นเช้ามาทุกๆคนก็ได้มาจัดอาหารเช้าช่วยแม่ครัว หลังจากนั้นก็เตรียมห้องประชุมสำหรับประชุมร่วมกับคณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนทุกๆคนก็ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ผมเองก็ได้รับหน้าที่ให้บันทึกการประชุมเพื่อจัดกลุ่มข้อมูลจากการประชุมซึ่งก็เป็นการฝึกตัวเองในการจับประเด็นสำคัญๆได้เรียนรู้นอกห้องเรียนเห็นภาพจริงได้ลงมือปฏิบัติคุ้มค่ากับเงินค่าลงทะเบียนเรียนจริงๆครับ และได้ทราบข่าวแว่วๆมาว่าจะมีการลงพื้นที่มาจัดการกับหนังสือในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโดยการให้เลขหมู่การลงทะเบียนหนังสือ  ผมเองก็เต็มที่กับการทำกิจกรรมในครั้งนี้เพราะอยากเห็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ได้นำเอาไปต่อยอด
ทุกๆครั้งที่ได้ลงพื้นที่ ผมรู้สึกประทับใจหลายๆอย่าง เช่น ความเป็นกันเองของเจ้าของบ้านที่ให้ที่พักการต้อนรับอย่างดีจาก อบต.หนองบัว   เพื่อนๆทุกคนช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ทำให้เกิดความสนิทสนมกันมากขึ้น  จนผมได้เขียนเป็นกลอน(หรือเปล่าก็ไม่รู้ ทนอ่านเอานะครับ) หลังจากกลับมาถึงมหาวิทยาลัยดังนี้

ขอขอบคุณ ชาว IT แต่งแต้มฝัน           ร่วมฝ่าฟัน อุปสรรค กันทุกหน
มาร่วมกันพัฒนาสังคมสู่สากล             ร่วมกันดล ให้ทุกคน มีสุขกัน
ลงพื้นที่ครั้งที่ 1 ผ่านไป อย่างมีสุข        ครั้งที่สุข มากกว่า คือครั้ง 2
ถ้าอยากสุข มากกว่า ควรต้องมอง        มากกว่า 2 คือครั้ง 3 4 และเรื่อยไป
อาจารย์ฉันทนา มุ่งมั่น ทุก ๆ ครั้ง         ให้มันง่าย ผ่านพ้นไป ได้เสมอ
ทั้งเพื่อนตุ้ม ทุ่มกายใจ ให้เลิศเลอ         รูปภาพเธอ ไม่ต้องบอก เก็บทุกมุม
มากิโน๊ะมัทซัง ก็สุดยอด ทำอาหาร        ทุก ๆ จาน กลั่นออกมา จากสมอง
ให้ชาวค่ายได้ อิ่มหนำ ฉ่ำน่าลอง           ต้องยกย่อง ให้เป็น แดจังกึม
มิก กะตุ้ม ย่างเนื้อ ก็อร่อย                 เหงื่อหยดไหลกว่าจะได้เป็นชิ้นหนา
ติ๊ก ต้อม ดุ๊ก จัดหนังสือให้งามตา          อีกเลขาประจำค่าย คือไข่เจียว
ปิ๊ก ติ๊ก แป้ง อ้อม บี มาช่วยหนุน         เพื่อทุนแรงไข่เจียวในงานนี้
อาร์ท ตั้ม ป๊อก ก็สุดยอด                   ไม่อิดออด ในงาน สนับสนุน
ส่วนนายเค้กโดนบอมสาดว่า….            กินข้าวอยู่ก็หยุดเดินหนีเฉย
อีกหนึ่งคำ ที่มักพูด น่ารักจุงเบย          ก็เหมือนเคย “จุงเบย”ทุกๆที่
ยังมีเพื่อน ที่มาร่วม ในงานนี้               หลายชีวี ที่มิได้ กล่าวไปถึง
ขอขอบคุณ ทุกแรงใจ ช่วยงานตรึม       เราสุดซึ้ง ในน้ำใจ ทุกคนเอย

      ทิ้งท้ายไว้ก่อนปิดเรื่อง การเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยมันคงต้องก้าวย่างใหม่เดินต่อไปสู่หนทางของการเรียนรู้สังคมและชุมชน ยอมรับความเป็นจริงของตนเองและการเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชนโลกที่เกิดขึ้น หากใช่ว่าเราจะต้องละเลยและลืมของเก่า แต่ของเก่าเช่นภูมิปัญญา ความรู้ของชาวบ้านบางอย่างก็ยังคงใช้ได้อยู่ในท่ามกลางสังคมโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งตัวเราเองต้องเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้คนอื่น ชุมชน และให้เกียรติซึ่งกันและกันบนความโอบอ้อมอารีและมีน้ำใจ จริงใจให้กันมากขึ้นกว่าเดิม จึงจะนำพาความเป็นสังคมเครือข่ายเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้ฝึกตนให้มีจิตอาสา  จิตสาธารณะเป็นที่พึ่งของสังคมชุมชนท้องถิ่นต่อไป  จากการทำกิจกรรมในโครงการนี้ทำให้ผมมีแรงบันดารใจเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “ความรู้นอกตำรา ปรัชญาข้างถนน”  ปรัชญาที่ผมได้รับตลอดการทำกิจกรรมในครั้งนี้ คือ  “การเรียนในตำราก็เหมือนปรุงยาที่ไม่ได้กิน”  “รอยยิ้ม คราบน้ำตา เสียงหัวเราะ ความเหนื่อย ความสุข ความจริงใจ ความหวัง ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้หาได้ยากในห้องสี่เหลี่ยม  แต่พบได้บนถนนนักกิจกรรม  และ“ประสบการณ์นอกตำราเรียน ทำให้เรามีวิสัยทัศน์ มุมมองที่กว้างไกล นี่แหละคือเรื่องจริง

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้นอกตำรา
หมายเลขบันทึก: 562585เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2014 02:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2014 02:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท