๑๐๐๘ ป่วย ต้องเลิกสูบ


ป่วย ต้องเลิกสูบ

บุหรี่ 1 มวน ประกอบด้วย สารเคมีหลายร้อยชนิดที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นและรส เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารหลายร้อยชนิดมีผลต่อการทำงานของอวัยวะ ต่างๆ ในร่างกาย และกว่า 60 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง

          พิษภัยจากการสูบบุหรี่ ทุกคนต่างทราบดีว่าทำให้เกิดโรคต่างๆขึ้นได้มากมาย แต่ละปีมีผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตจาการสูบบุหรี่จำนวนมาก องค์การอนามัยโลก เคยคำนวณไว้ว่า ในอีกประมาณ 25 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่สูง ขึ้นเป็น ปีละ 10 ล้านคน หรือวันละ 27,000 คน หรือนาทีละ 20 คน

          การเลิกบุหรี่ ถือเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพตนเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมีปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ ยิ่งเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเลิกบุหรี่ให้ได้

          จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 ในปี 2551-2552 โดยโครงการรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคี อีกหลายหน่วยงาน ได้พบอัตราการสูบบุหรี่ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้อาการของโรคแย่ลงอีกจำนวนมาก

          รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ระบุว่า การเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาดในผู้ป่วย ถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเลิกได้ด้วยหลายสาเหตุ ซึ่งเรื่องนี้จะปล่อยผ่านไม่ได้ บุคคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นบุคคลที่ต้องให้ความสนใจ ดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดและหาวิธีในการเลิกบุหรี่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ได้ เพราะผลกระทบจากการสูบบุหรี่ต่อไป จะส่งผลร้ายต่ออาการของโรคและผลของการรักษาที่ไม่น่าพอใจ

          จากสถิติที่สำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ป่วย พบว่า โรคปอดอุดกั้น ยังมีผู้ป่วยสูบบุหรี่อยู่ถึง 25.3% หรือ 1 ใน 4 โรคเบาหวาน 17.9% ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 16.6% โรคหลอดเลือดสมอง 14.1% และโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผู้ป่วยยังสูบบุหรี่ 9.9%

          โรคที่เกิดจากบุหรี่โดยตรง เช่น โรคปอดอุดกั้น ถุงลมโป่งพอง แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ทราบดีว่าต้องหยุดบุหรี่โดยทันที และร่างกายจะตอบสนองไปในทิศทางเลวร้ายทันที เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ไอ หอบเป็นต้น ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องหาวิธีในการลด ละ เลิกให้ได้เด็ดขาด

          แต่ยังมีโรคอีกกลุ่มที่ผู้ป่วยเองก็ยังไม่ทราบว่า การสูบบุหรี่นั้น ส่งผลกระทบต่ออาการของโรค ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือด เนื่องจากสารที่อยู่ในบุหรี่ จะทำให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัว โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือดสมอง ระบบการไหลเวียนของเลือดถือว่าไม่ปกติอยู่แล้ว หากมีสารใดๆไปขวางการทำงานอีกก็ทำให้อาการแย่ลงได้

          โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ที่ผนังหลอดเลือดจะมีอาการแข็งตัวอยู่แล้ว และจะเกิดโอกาสที่เลือดไปเลี้ยงส่วนล่างของร่างกายไม่พอ ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดได้ ถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างหนึ่งที่ต้องระวังมาก เพราะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยต้องตัดขาทิ้ง การสูบบุหรี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้เร็วกว่าเดิม

          ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า แพทย์ พยาบาล เป็นบุคคลที่จะช่วยเหลือและให้คำแนะนำผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ทั้งการให้คำปรึกษาถึงทางเลือกในการเลิกบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันมีหลายวิธี สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่มาก จำเป็นต้องให้ยาช่วยเหลือร่วมด้วย เช่น การใช้สารทดแทนนิโคตินในระดับต่ำ เพื่อช่วยลดความอยากบุหรี่

          สิ่งสำคัญคือ การสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ป่วยได้ทราบถึงความอันตราย การเกิดโรคแทรกซ้อน การทำให้อาการของโรคทรุดลง หรือผลการรักษาที่จะไม่ประสบความสำเร็จ หากยังสูบบุหรี่อยู่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อน เพื่อช่วยทำให้ลด ละและเลิกในที่สุด

          รวมไปถึงคนที่ยังไม่ป่วยก็ไม่ควรรอช้า ใครเลิกได้ก่อน ก็กลับมาสุขภาพดีได้ก่อน ไม่ต้องรอถึงมือหมอก็จะเป็นเรื่องดีทีสุด

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  

ข้อมูลโดย: หริสร์ ทวีพัฒนา [email protected]

หมายเลขบันทึก: 561862เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ศจย.

ที่โรงพยาบาลมีพี่พยาบาลท่านหนึ่งไปช่วยโครงการเลิกบุหรี่ให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นงานที่มีค่ามากค่ะ

และขอชื่นชม ศจย รวมทั้งผู้ที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ จากใจจริงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท