ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๙๗. หัดคิดแหวกแนว


การเรียนรู้ จะเกิดอย่างเข้มข้น และไปถูกทาง ต่อเมื่อมีการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) นำมาประเมินวิธีการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตน จะเกิดผลดีต่อเมื่อผู้เรียนใช้ผลการประเมินเพื่อมองไปข้างหน้า (exploration) สู่เป้าหมายการเรียนรู้ของตน ไม่ใช่ใช้ผลการประเมินพื่อบอกว่าตนเองเก่งหรือไม่เก่ง ซึ่งเป็นการมองแบบตัดสิน (judgement)

 

          ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ผมไปดูงานที่ลอนดอน ๕ เดือน    ไปพบอาจารย์หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ และได้รับคำแนะนำดีๆ หลายอย่าง    อย่างหนึ่งคือ ให้รู้จักหนังสือ Lateral Thinking เขียนโดย Edward de Bono    ที่ผมอ่านแล้ววางไม่ลง     และทำให้ผมติดตาม ซื้อหนังสือของ Edward de Bono ทุกเล่มมาอ่านต่อมาเป็นเวลาราวๆ ๒๐ ปี     เพื่อศึกษาวิธีคิด และนำมาฝึกคิดนอกกรอบ หรือคิดแหวกแนว 

          เป็นการเรียนจากการปฏิบัติ ที่ผมดูตัวอย่างของจริงจากคนที่ผมเข้าไปทำงานใกล้ชิด    ผมมีบุญ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกันคนดี และเก่งจำนวนมาก   

          ช่วงปีใหม่ สาวน้อยพบว่าตู้หนังสือใบหนึ่งโดนปลวกกิน    ผมรื้อได้หนังสือหลายเล่มที่ปลวกกินไม่มาก    ยังพออ่านได้ พบหนังสือ Parallel Thinking    ที่เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งของการคิดแหวกแนว    หลักการคือ ให้คิดหลายๆ แบบไปพร้อมๆ กัน    อย่าด่วนตัดสินใจ    อย่ารังเกียจวิธีคิดที่ตนไม่ถนัด หรือไม่ชอบ  

          เป็นการคิดหาแนวทางที่อาจเป็นไปได้ (possibilities) จำนวนมาก    เอามาวางเรียงกัน    แล้วหาทางทำงานไปสู่เป้าหมาย ในอนาคต หรือสู่ความฝันอันสูงส่ง    

          การคิดแหวกแนว คือคิดทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ 

          โดยใช้พลังของสิ่งที่เป็นขั้วตรงกันข้าม    ซึ่งในหนังสือระบุคู่ต่างๆ ดังนี้  possibility vs. certainty, exploration vs. judgement, design vs. analysis, information vs. ideas, movement vs. judgement, create vs. discover, inner world vs. outer world, wisdom vs. cleverness, dialectics vs. parallels, action vs. description, value vs. truth, และ change vs. stability   แหวกแนว ในลักษณะใช้พลังของขั้วตรงกันข้ามเหล่านี้    คือใช้วิธีคิดและการกระทำแบบ both … and …    ไม่ใช่ either … or …

          ทำให้ผมก้าวเข้าสู่การทำงานหรือประพฤติปฏิบัติแบบ chaordic    ภายใต้แนวคิด complex-adaptive systems    มองให้เข้าใจความซับซ้อน    แล้วหาทางดำเนินการอย่างง่ายๆ ในมิติธรรมดา    คือฝึกคิดและทำแบบสูงสุดสู่สามัญ     โดยตระหนักว่า ในสภาพที่ซับซ้อนเช่นนี้ แนวทางทำงานที่ถูกต้องมีหลายแนวทาง    ไม่ใช่มีแนวทางเดียว    แต่ไม่ว่าเลือกแนวทางใด ก็ต้องตรวจสอบผล นำมาปรับวิธีทำงาน

          หลายครั้ง เมื่อผมให้ความเห็นในเรื่องวิธีการ แต่คนทำเขาไม่ฟัง หรือฟังแต่ไม่เชื่อ    เขาทำอีกแบบหนึ่ง ผมจะไม่รู้สึกไม่พอใจ    เพราะถ้าเขาหมั่นตรวจสอบประเมินผล เดี๋ยวเขาก็จะปรับวิธีการเอง     เป็นการเรียนรู้ที่แพงหน่อย คือเรียนจากความล้มเหลว

          แม้แต่กับลูกๆ ผมก็เตือนใจตัวเองเช่นนี้  

          หัวใจคือ การคิดไปข้างหน้า (thinking forward)    มองไกลหน่อย   ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับผลระยะสั้นเท่านั้น

          ทำให้ผมคิดเชื่อมไปยังกระบวนการเรียนรู้    คนเราจะเรียนรู้ได้ดี ต้องเป็นคนที่มุ่งเน้นการคิดไปข้างหน้า    ไม่ใช่เน้นคิดไปข้างหลัง    คิดไปยังเป้าหมายที่เกิดจากโอกาสใหม่ๆ เงื่อนไขใหม่ๆ    ไม่ใช่ผลตามกติกาเก่าหรือแนวคิดเก่า    เพราะการเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำของผู้นั้นเอง     เมื่อลงมือทำ แล้วตรวจสอบผล   และปรับการทำใหม่    เพื่อมุ่งทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทั้งเรียนความสร้างสรรค์ และเรียนเนื้อวิชาหรือความรู้

          การเรียนรู้ จะเกิดอย่างเข้มข้น และไปถูกทาง ต่อเมื่อมีการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment)    นำมาประเมินวิธีการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตน   จะเกิดผลดีต่อเมื่อผู้เรียนใช้ผลการประเมินเพื่อมองไปข้างหน้า (exploration) สู่เป้าหมายการเรียนรู้ของตน    ไม่ใช่ใช้ผลการประเมินพื่อบอกว่าตนเองเก่งหรือไม่เก่ง ซึ่งเป็นการมองแบบตัดสิน (judgement)

          นี่คือความซับซ้อนของการคิด และการเรียนรู้    ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริง      

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓.. ๕๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 561821เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท