มาฆบูชา วันแห่งความรักที่แท้จริง


มาฆบูชา วันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา

           "มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ วัดพระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

           คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

          ๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย

          ๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

          ๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆ องค์ 

          ๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์

 

โอวาทปาฏิโมกข์

            โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดพระเวฬุวัน ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมาเป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)

                        สพฺพปาปสฺส อกรณํ       กุสลสฺสูปสมฺปทา

                        สจิตฺตปริโยทปนํ       เอตํ พุทธาน สาสนํฯ

 

                                   ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา     

                                   นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

                                   น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี     

                                   สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

 

                         อนูปวาโท อนูปฆาโต       ปาติโมกฺเข จ สํวโร

                         มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ         ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

                         อธิจิตฺเต จ อาโยโค          เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

             คำแปลคาถาแรก : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

            คำแปลคาถาที่สอง: ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น  ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

            คำแปลคาถาที่สาม: การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

            คำสอนที่เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส แต่หลักคำสอนที่ถือว่าเป็นอุดมการณ์ในทางพระพุทธศาสนาที่เราสามารถกล่าวได้ว่ามาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักคือ พระพุทธพจน์ในคาถาที่ ๒ ที่ว่า “ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น  ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ” ในประโยคแรก พระพุทธองค์สอนให้ยึดหลักความอดทน อดทนจากแรงกดดันภายนอกในเมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่เรากระทำเป็นความถูกต้องชอบธรรม เพราะฉะนั้นแม้จะถูกกดดันบีบคั้นเบียดเบียนรุนแรงเพียงใดเราก็จะต้องอดทนยืนหยัดกับหลักการที่ถูกต้องนั้นด้วยชีวิต หลักการนี้เรียกว่า สัจจานุรักษ์ หรือ ความรักหรือความยึดมั่นในความจริง ส่วนในประโยคที่สอง พระพุทธองค์สอนให้ยึดในเป้าหมายสูงสุดของชีวิตนั่นคือพระนิพพาน หรือจะพูดง่าย ๆ คือ ภาวะที่ชีวิตสงบสันติ ปราศจากความทุกข์ทั้งปวง นั่นคือนอกจากจะสอนให้รักในความจริงแล้วยังสอนให้รักในความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ด้วย

             ส่วนในประโยคที่สามและสี่ คือผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ใช่บรรพชิต ผู้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ คำสอนนี้มีหลักการสำคัญอยู่ที่ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ แม้ว่าพระองค์จะสอนให้เรารักในความจริงและความดีงามสูงสุดแล้ว เรายังต้องไม่มองข้ามความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย เพราะบ่อยครั้งที่เรารักและยึดมั่นกับความจริงและความดีงามสูงสุด แต่กลับเกลียดเพื่อนมนุษย์ที่เราเห็นว่าปฏิบัติขัดกับความจริงและความดี เราจึงพร้อมที่จะทำลายหรือเบียดเบียนเขาเหล่านั้น เพราะฉะนั้นนอกจากที่เราจะต้องรักในความจริงและความดีงามสูงสุดแล้วเรายังต้องรักเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม ร่วมชาติ และร่วมโลกของเราด้วย หลักการรักเพื่อนมนุษย์ที่พระพุทธองค์ทรงสอนคือการไม่ทำร้ายทางร่างกาย (ปรูปฆาตี) และการไม่ทำให้เขาเดือดร้อนด้วยการทำร้ายทางจิตใจ (วิเหฐยนฺโต) เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นทางร่างกายก็ดีหรือเบียดเบียนให้เขาได้รับความทุกข์ทางจิตใจก็ดี จึงไม่ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ (ผู้ดำเนินชีวิตตามแนวทางของบรรพชิตและสมณะ) จากหลักการในพระคาถาบทนี้จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักอย่างแท้จริง คือรักในความจริง รักในความดี สำคัญที่สุดคือรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 561622เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สาธุ ธรรมะดีๆในวันนี้..

ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

พระองค์จะสอนให้เรารักในความจริงและความดีงามสูงสุดแล้ว เรายังต้องไม่มองข้ามความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย

....มาฆะตถาคตตรัสให้..........โอวาท
ปาฏิโมกข์พึงฉลาด................เร่งรู้
นำปฏิบัติมิหย่อนขาด.............ละเลิก
สันติสงบได้แด่ผู้...................มั่นแท้เพียรเสมอ

....เธอพึงสามหลักค้ำ............มั่นประจำ
อีกสี่หมายหมุดนำ.................ตระหนักแจ้ง
วิธีหกให้กระทำ.....................แบบอย่าง
วจนะไป่ปล่อยแล้ง................"ตื่นรู้"กระจ่างไสว

....๑ ไป่เปิดโอกาสให้............บาปใด
ปวงบาปหนักเบาไว................หลีกเว้น
๒ กายจิตพิสิฐพิสุทธิ์ใส..........ปฏิบัติ
๓ กุศลกิจมิเฉื่อยเร้น..............รับใช้ช่วยเหลือ

ขอขอบคุณสำหรับทุกความเห็นครับ

ขอให้ทุกท่านมีความรักอันบริสุทธิ์ คือ รักความจริง รักความดีงาม และความรักเพื่อนมนุษย์เต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ และขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับความเห็นที่สามที่ได้มอบกลอนอันงดงามให้ด้วยครับ ผมขออนุญาตุปรับเล็กน้อยในบทที่สามนะครับ

....๑ ไป่เปิดโอกาสให้......................บาปใด

ปวงบาปหนักเบาไว..........................หลีกเว้น

๒ กุศลกิจมิเฉี่อย-เน้น.......................ปฏิบัติ

๓ จิตอันพิสิฐพิสุทธิ์ใซร้.......................ภาวนาให้ ใสงามฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท