นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี ปีที่ 5


หากใครสักคน ที่ติดตามเรื่อง “นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี” ในบันทึกของผม คงจำได้ดีว่ามันมีถึง 4 ตอนแล้ว

ปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่มีนักเรียนเดินลงกับดักที่ผมขุดพรางเอาไว้ เอาใบไม้คลุมไว้อย่างดีแล้วให้เขาเดินตกลงไป เพื่อที่จะได้พบกับมิติความท้าทายอย่างหนึ่งของจิตใจ มีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งที่สามารถจดจำไปได้ตลอดชีวิต “พวกเขาได้ร่วมจัดการศพ”

นักเรียนรุ่นนี้เขียนบันทึกโครงการไว้ดังนี้ครับ

หลักการและเหตุผล

Departures คือการจากไป

การจากไปมีความหมายหลายนัยยะ ในแง่ของความเป็นโรงพยาบาล การจากไปน่าจะหมายถึงการที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลในสถานะที่โรคหายหรืออาการดีขึ้น หรือจากออกไปด้วยการเสียชีวิต มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “การเสียชีวิตเป็นหน้าที่หนึ่งของความเป็นมนุษย์” และการเป็นมนุษย์นั้นมีศักดิ์ศรี ดังนั้นหากการจากไปเป็นการจากแบบไร้ชีวิต นั่นก็มิได้ทำให้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เขาสิ้นไปด้วย

เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นในโรงพยาบาล สิ่งที่คุ้นตาก็คงจะเป็นความเสื่อมโทรมจากการเป็นโรคของผู้ป่วย การใส่ท่อช่วยหายใจ สายน้ำเกลือ รวมทั้งสายต่างๆที่สอดเข้าไปในตัวผู้ป่วย จึงมีแนวคิดขึ้นมาว่า จะดีแค่ไหนที่เราสามารถจะช่วยเขาได้การช่วยผู้ป่วยที่เสียชีวิตไปแล้วให้เขาได้จากไปอย่างสะอาดและสมเกียรติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ได้จากโลกนี้ไป เป็นการส่งให้เขาได้departure หรือออกเดินทางที่ไม่ใช่การออกเดินทางธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นการออกเดินทางที่เราสามารถตามไปส่งได้เป็นครั้งสุดท้าย

โครงการ The Departuresประกอบด้วยกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมอยู่ในวาระสุดท้ายของผู้ป่วย การดูแลทำความสะอาดร่างผู้ป่วย การดำเนินการส่งร่างผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเพื่อให้เราได้มีโอกาสได้ส่งร่างผู้ป่วยที่สะอาด สมเกียรติ ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ได้จากโลกนี้ไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ช่วยจัดการร่างผู้ป่วยที่เสียชีวิตให้สะอาดและจากโลกนี้ไปได้อย่างสมเกียรติในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ได้จากโลกนี้ไป

2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถแสดงความเห็นใจ ความเสียใจต่อการจากไปของผู้ป่วยด้วยความจริงใจปฏิบัติและวางตัวได้อย่างเหมาะสม

3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการหลังผู้ป่วยเสียชีวิต

ผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 11คน ประกอบด้วย อาจารย์ จำนวน 1 คน นักศึกษา จำนวน9 คน พยาบาลที่ให้การควบคุมดูแล จำนวน1คน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้เข้าร่วมโครงการได้ช่วยจัดการร่างผู้ป่วยที่เสียชีวิตให้สะอาดและจากโลกนี้ไปได้อย่างสมเกียรติในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ได้จากโลกนี้ไป

2. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถแสดงความเห็นใจ ความเสียใจต่อการจากไปของผู้ป่วยด้วยความจริงใจปฏิบัติและวางตัวได้อย่างเหมาะสม

3. ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการหลังผู้ป่วยเสียชีวิต

เป้าหมาย

ด้านปริมาณ

1. มีผู้เข้าร่วมโครงการครบ11คน

2. ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนมีทัศนคติที่ดีต่อการทำโครงการ

ด้านคุณภาพ

1.ผู้เข้าร่วมโครงการได้ช่วยจัดการร่างผู้ป่วยที่เสียชีวิตให้สะอาดและจากโลกนี้ไปได้อย่างสมเกียรติ

2. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถแสดงความเห็นใจ ความเสียใจต่อการจากไปของผู้ป่วยด้วยความจริงใจปฏิบัติและวางตัวได้อย่างเหมาะสม

3. ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการหลังผู้ป่วยเสียชีวิต

ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

1. พยาบาลที่ปรึกษาโครงการติดต่อประธานโครงการเมื่อมีผู้เสียชีวิต

2. ประธานโครงการติดต่อสมาชิกที่ดำเนินโครงการ

3. สมาชิกที่ดำเนินโครงการรายงานตัวกับพยาบาลประจำหอผู้ป่วยเพื่อเริ่มจัดการศพ

4. จัดสภาพแวดล้อมรอบเตียงผู้เสียชีวิตให้เหมาะสมเป็นการให้เกียรติและสร้างความเป็นส่วนตัวแก่ผู้เสียชีวิตและญาติปิดม่านกั้นรอบเตียงทำความสะอาดเครื่องมือ

5. ปลดอุปกรณ์ช่วยหายใจและสายต่างๆที่ต่ออยู่กับร่างผู้เสียชีวิต

6. พยาบาลขานชื่อผู้เสียชีวิตเพื่อขออนุญาตทำความสะอาดเช่นเดียวกับตอนที่ผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่

7. ทำความสะอาดร่างผู้เสียชีวิตโดยเริ่มจากบริเวณที่มีสารคัดหลั่งเช่นจมูกปาก แปรงฟันให้สะอาด

8. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด โดยการถูสบู่และเช็ดตัวตามปกติ

9. หลังทำความสะอาดร่างผู้เสียชีวิตเสร็จใช้สำลีอุดจมูกปากหูและทวารของผู้ป่วยโดยใส่ให้ลึกและแน่นพอเพื่อเป็นการป้องกันการรั่วของของเหลวในร่างกาย

10. เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดปกติที่ผู้เสียชีวิตใช้ในชีวิตประจำวัน

11. แต่งหน้าผู้เสียชีวิตให้ดูดีสะอาดเรียบร้อยปราศจากความทรมานจากการรักษา ให้เหมือนในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่

12. สมาชิกที่ดำเนินโครงการบางส่วนพูดคุยกับญาติผู้เสียชีวิต

13. ตัวแทนพยาบาลและบุคลากรที่ให้การดูแลผู้เสียชีวิตกล่าวคำขอขมาและยืนสงบนิ่งให้กับผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 1 นาที

14. ประกอบพิธีกรรมทางศาสนากรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต

15. ญาติของผู้เสียชีวิตสามารถรับร่างผู้เสียชีวิตกลับได้เลย ถ้าสะดวก แต่หากไม่สะดวกที่จะรับร่างผู้เสียชีวิตกลับ ก็จะมีเวรเปลมารับร่างผู้เสียชีวิตไปยังห้องเก็บศพ

16. แลกเปลี่ยนความรู้สึกและขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากพยาบาลผู้ปฏิบัติงานและบันทึกสรุปกิจกรรม

เดี๋ยวจะกลับมาเล่าให้ฟังนะครับ ว่านักเรียนผมรู้สึกอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 561564เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2014 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2014 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

นศพ.ธีระ ลีภัทรกิจ

ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

ตอนที่ได้พวกเราทราบว่าต้องทำโครงการ PBL ในเทอมนี้พวกเราได้คิดโครงการมากมายไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดติวรุ่นน้อง โครงการลดน้ำหนัก ไปนำเสนอให้อาจารย์ธนพันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการของพวกเราได้ฟัง แต่อาจารย์กลับเล่าถึงโครงการของอาจารย์ให้ฟังแทน พวกเรากลับรู้สึกว่าโครงการของเราที่ได้คิดไปนั้นดูด้อยค่าลงไปทันที เพราะโครงการที่อาจารย์กล่าวถึงมีใจความสำคัญอยู่ที่ การให้ การให้โดยไม่คิดหวังสิ่งตอบแทนใดๆ จากเขา ต่างจากโครงการของเราที่คิดเพื่อตัวเอง เพื่อคนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในโครงการที่อาจารย์กล่าวถึง คือ โครงการ The departures ซึ่งตอนแรกพวกเราคิดว่ามันคือการแต่งศพผู้เสียชีวิตเพียงเท่านั้น จนอาจารย์แนะนำว่าให้ไปดูภาพยนตร์เรื่อง Departures

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่การแต่งศพธรรมดาๆ เท่านั้นแต่เป็นการส่งผู้เสียชีวิตครั้งสุดท้ายในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง จากภาพยนตร์เรื่องนี้ในที่สุดพวกเราได้ตัดสินใจจะทำโครงการนี้ในเทอมนี้ และพวกเรารอเวลาที่จะได้ทำโครงการนี้มานานเกือบสองเดือนด้วยความรู้สึกตื่นเต้นรู้สึกว่าต้องตื่นตัว ต้องเปิดโทรศัพท์พร้อมรับสายตลอดเวลาซึ่งเราไม่มีทางทราบว่าเวลาที่เราจะทำโครงการจะมาถึงเมื่อไร เราจะเป็นผู้ให้ที่สมบูรณ์ได้ดังที่หวังไว้หรือเปล่าและเมื่อเวลานั้นมาถึงเราจะทำตัวอย่างไร

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

เพื่อนๆ ได้ผ่านการทำโครงการมาแล้วครั้งหนึ่ง (26 ธ.ค. 2556) แต่ครั้งนั้นผมยังไม่มีโอกาสได้ไปเนื่องด้วยปัญหาการติดต่อสื่อสาร ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก ประกอบกับช่วงเวลาในการทำโครงการนั้นก็เหลือเพียง 2 สัปดาห์แล้วเท่านั้น

จนกระวันที่จะได้ทำโครงการครั้งที่ 2 ก็มาถึง วันนั้น (2 ม.ค. 2557) เป็นวันสอบปลายบล็อกวันแรกของวิชาระบบย่อยอาหารและโภชนาการ ผมได้รับโทรศัพท์ตามจากพี่พยาบาลให้ไปทำโครงการ

ผมรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะไม่รู้ว่าเราจะพบอะไรเมื่อไปถึงเตียงคนไข้ แล้วญาติผู้ป่วยจะมีความรู้สึกอย่างไร และโทรศัพท์ตามคนอื่นๆ กว่าจะไปถึงที่โรงพยาบาลประมาณ 30 นาที (ทั้งๆที่บอกพี่พยาบาลไปตอนแรก 10 นาที) แต่โชคดีที่เมื่อเราไปถึงพี่พยาบาลยังเริ่มทำไปได้ไม่นาน และพี่พยาบาลได้เรียกพวกเราเข้าไปช่วยโดยไม่ชักช้า

แล้วพวกเราก็ได้พบกับร่างคุณลุง

พี่พยาบาลได้ให้เราช่วยเช็ดตัวทำความสะอาดทั้งร่างกายของคุณลุง ผมได้เข้าไปทำความสะอาด ได้ล้างเท้าคุณลุง เช็ดตัว ผมคิดว่าจะต้องลงมือทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่รู้สึกว่าทนไม่ไหวจึงออกมาพักข้างนอก และเมื่อกลับไปอีกครั้งหนึ่งก็ถึงขั้นตอนการแต่งตัวคุณลุงแต่พี่พยาบาลก็ทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ผมรู้สึกว่าการให้ของพี่พยาบาลนั้นยิ่งใหญ่มากกว่าที่ผมได้ทำมาก ทั้งๆ ที่บริเวณเตียงนั้นอากาศอบอ้าวมาก และยังคอยบอกขั้นตอนต่างๆ ของการทำโครงการและเกร็ดความรู้ต่างๆ ทั้งโรคของคุณลุงรวมถึงคติความเชื่อต่างๆ เช่น กรณีของคุณลุงที่มีการยื้อไม่ให้เสียชีวิตในวันพุธและมาเสียชีวิตในวันพฤหัสบดีแทน

หลังจากแต่งตัวเสร็จก็ตามด้วยขั้นตอนการกล่าวคำอโหสิกรรม และกรวดน้ำให้แก่คุณลุงรวมถึงได้พูดคุยกับคุณป้า ภรรยาของคุณลุง ทำให้ผมได้มีความคิดที่ว่า ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้รู้จักกับคุณลุง คุณป้ามาก่อน แต่กลับได้มาพบกันแม้จะเป็นวาระสุดท้ายของคุณลุง แต่ผมได้มีส่วนช่วยส่งให้คุณลุงได้จากไปอย่างสะอาด คุณลุงดูมีความสุขแม้ท่านจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตามผมได้ให้โดยไม่ได้สนใจว่าเขาจะได้รับหรือไม่ และผมขอขอบคุณคุณลุงคุณป้าที่ทำให้ผมได้รู้จักการให้ได้มีความสุขใจที่ผมได้ให้ ได้รู้ว่าการให้ที่แท้จริง ผลที่ตอบแทนมันไม่ใช่เงินทอง สิ่งของใดๆ แต่เป็นความสุขใจที่ผมได้มีจิตใจเป็นผู้ให้นั่นเอง

---------------------------------------

ธีระครับ

โครงการที่คุณหมอคิดกันมาก่อนพบผมนั้น มิได้ดูด้อยค่าเลยในสายตาของผม เพียงแต่อยากเปิดโอกาสให้ได้ลองทำงานที่มีความท้าทายกับจิตใจคุณหมอดู ได้ลองมาสัมผัสกับความสูญเสียดูบ้าง ได้มาลองทำประโยชน์โดยมีคำว่า human dignity ดูบ้าง เท่านั้นเอง

และผมก็ภูมิใจในตัวลูกศิษย์รุ่นนี้มากเช่นเดียวกัน

นศพ.ภาคภูมิ เวโรจน์พร

ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

ก่อนทำโครงการ ”The Departure คือชื่อของภาพยนตร์ที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้พวกเราไปดูก่อนจะตัดสินใจทำโครงการนี้ โครงการนี้พวกเราจะต้องไปแต่งหน้าศพกัน

เพื่อนในกลุ่มทุกคนยอมรับว่ากลัวรวมถึงผมด้วย แต่ความกลัวก็คือแรงผลักดันให้เราก้าวต่อไป โดยคิดว่า ในทางข้างหน้าของวิชาชีพนี้ เราจะต้องเจอความกลัวอีกมากมาย และเราต้องผ่านมันไปให้ได้

ผมไม่ค่อยเข้าใจถึงจุดประสงค์ของโครงการนี้นัก ตอนที่อาจารย์พูดว่ามันคือการให้ แม้ปีที่แล้วจะมีรุ่นพี่เคยทำมาก่อน แต่ผมก็มองไม่เห็นภาพอยู่ดี ทำให้ผมเกิดความกังวลและตั้งคำถามอยู่ในหัวตั้งมากมาย ว่าพวกเราสามารถให้อะไรได้บ้าง ญาติของผู้เสียชีวิตจะคิดกับพวกเรายังไง และพวกเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง นอกจากความกลัวและความกังวลแล้ว ผมยังมีความตื่นเต้นก็คือ ผมไม่รู้เลยว่าพี่พยาบาลจะตามพวกเราเมื่อไหร่ พวกเราจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง และพวกเราสามารถช่วยอะไรได้บ้าง

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมต้องเตรียมรับมือ เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น และผมต้องไปทำโครงการที่พวกเราตัดสินใจที่จะทำกัน นั้นคือ การแต่งหน้าศพ”

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

หลังทำโครงการ

ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาค่ำ เสียงโทรศัพท์แรกจากพี่พยาบาลดังขึ้น ผมต้องรีบใส่ชุดนักศึกษาและโทรตามเพื่อนในกลุ่มที่เหลือ เพราะผมเป็นคนที่ต้องรับโทรศัพท์จากพี่พยาบาลคนแรก

ในเวลานั้น ความตื่นเต้น ความกังวล และความกลัวอยู่ในหัวผมเต็มไปหมด แต่ผมคิดอย่างเดียวว่าจะต้องรีบรวมกลุ่มกับเพื่อนแล้วไปยังวอร์ดผู้ป่วยให้เร็วที่สุด

เมื่อไปถึง พวกเราเดินผ่านกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ในใจผมคิดว่าต้องเป็นญาติของผู้เสียชีวิตแน่ๆ เพราะเวลาแบบนี้ คงไม่มีคนมานั่งรอหน้าห้องเยอะขนาดนี้ ภายในห้องมีญาติของผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง และพี่พยาบาลที่กำลังช่วยกันแต่งหน้าศพอยู่

ในครั้งแรกแม้พวกเราได้แค่ยืนดูนิ่งๆไม่ได้ช่วยอะไร แต่ก็พยายามที่จะหานู้นหานี่เพื่อช่วยเหลือพี่พยาบาล เมื่อเสร็จสิ้นการแต่งหน้าศพ พี่พยาบาลที่คอยดูแลผู้เสียชีวิตขณะก็มากล่าวขอขมาคำอาลัยแก่ญาติผู้ป่วย

และนี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมประทับใจมากจากการได้เห็นระบบของโรงพยาบาล ที่มีการเอาใจใส่ทั้งผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย

พอในครั้งที่สองเป็นวันที่พวกเราต้องอ่านหนังสือสอบ แต่ก็ตัดสินใจที่จะไปกัน

ตอนนั้นเวลาประมาณเย็นๆ เมื่อไปถึงหอผู้ป่วยชาย มีคนแออัดมากมายเพราะเป็นวอร์ดรวม มีทั้งผู้ป่วยระดับปกติ ไปจนถึง รุนแรง สายท่อระโยงระยาง

เราต้องไปแต่งหน้าศพทั้งๆที่เตียงรอบข้างยังนอนรักษาตัวปกติ แม้จะปิดผ้าม่านแต่ก็ยังพอมองเห็นได้ ครั้งนี้พวกเราได้ช่วยเหลือพี่พยาบาลกันอย่างเต็มที่ ทั้งเช็ดตัว แต่งตัว แต่งหน้า ในครั้งนี้ความกลัวแทบจะไม่หลงเหลือแล้ว มีแต่ความรู้สึกดีๆที่ได้ช่วยเหลือพี่พยาบาลแต่งหน้าศพให้ออกมาดูดีที่สุด รวมถึงได้ไปพูดคุยกับญาติ ปลอบญาติผู้เสียชีวิต แม้ครั้งนี้ญาติผู้ป่วยจะมีแค่ภรรยาและลูกชาย

จากการทำโครงการแม้จะแค่สองครั้ง แต่ผมก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เช่น ทั้งความเชื่อที่ว่า คนใต้ไม่ทำศพกลับบ้านในวันพุธ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การที่ผมได้รับรู้ความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตต่างๆนานา ทั้งญาติที่สนิทและไม่สนิท ผมไม่อาจจะเข้าใจได้ถึงความรู้สึกของญาติของผู้เสียชีวิตอย่างแท้จริง แต่ผมก็ได้เห็นแววตา อารมณ์ การแสดงออก ของคนที่สูญเสียคนรักไป ผมเชื่อว่า ความรักของคนเรานั้น มันไม่ได้หายไปไหน มันแค่ย้ายจากหัวใจ ไปอยู่ในความทรงจำ ถึงแม้ลมหายใจจะสิ้นลง และร่างกายจะต้องสูญสลายก็ตาม”

----------------------------------------------

ภาคภูมิครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมพวกหมอก็คือ กิจกรรมของเราไม่มีเวลาที่ชัดเจน ใครจะเสียชีวิตตินไหนก็ไม่รู้

ช่วงใกล้สอบ คุณหมอก็มีสิทธิ์ปฏิเสธ แต่คุณหมอก็ยังไปด้วยใจที่อยากไป

นี่คือสิ่งที่ผมเฝ้ามองมากที่สุดครับ

นศพ.ภาวิตา ลิ้มสมวงศ์

ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

ความรู้สึกแรกที่ได้ยินชื่อโครงการ “The Departures หรือ การแต่งหน้าศพ” คือ กลัวปนกับความสงสัยว่า โครงการนี้คือโครงการอะไร ทำไปเพื่ออะไร แล้วทำไมต้องทำ และยังไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการ รวมไปถึงเราจะไปอยู่ในสถานการณ์ที่โศกเศร้าจากการที่สูญเสียคนในครอบครัว หรือคนที่รักได้หรือไม่

ดังนั้นดิฉันและเพื่อนจึงได้ไปดูหนังเรื่อง TheDepartures ประกอบกับพี่พยาบาลได้มาอธิบายถึงขั้นตอนการแต่งหน้าศพแล้วก็มีความรู้สึกว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจและเป็นโครงการนี้เป็นการช่วยบรรเทาความโศกเศร้าให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมถึงเจตนารมณ์ของผู้ที่เสียชีวิต

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

เคสแรก:ในวันที่25 ธันวาคม 2556 เวลาประมาณ 20:30 ได้มีโทรศัพท์จากเพื่อนในกลุ่มว่ามีเคสให้มาทำ ตอนนั้นก็รีบแต่งตัว แล้วขึ้นไปบนห้องพิเศษพร้อมกับเพื่อนๆในกลุ่ม ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีหลังจากที่พี่พยาบาลโทรศัพท์มาบอก เมื่อเข้าไปในห้องก็มีพี่พยาบาลกับญาติผู้เสียชีวิตอีกสองคน ซึ่งพี่พยาบาลกำลังเช็ดตัวให้กับผู้เสียชีวิต รวมไปถึงถามญาติว่ามี เสื้อผ้า รองเท้า หรือของที่ผู้เสียชีวิตชอบหรือยัง โดยให้ญาติจัดหาให้กลับผู้เสียชีวิต เมื่อเช็ดตัวเสร็จก็จะนำสำลีมาอุดรูเปิดทั้ง 5 เพื่อไม่ให้มีน้ำเหลืองไหลออกมา และจะใส่เข้าไปบริเวณในปากเพื่อให้ผู้เสียชีวิตมีหน้าที่อมยิ้มอยู่ หลังจากนั้นก็จะใส่เสื้อและแต่งหน้าให้กับผู้เสียชีวิตเหมือนคนที่นอนหลับอยู่ โดยในช่วงนี้เริ่มมีญาติเข้ามาในห้องมากขึ้น และคอยดูผู้เสียชีวิต

เมื่อแต่งเสร็จ มีญาติท่านหนึ่งได้ถามหลานของตนว่า คุณยายเป็นไงบ้าง แล้วคำตอบของเด็กคนนั้น ก็พูดขึ้นว่า “คุณยายสวย” แล้วก็ยิ้ม ทำให้ญาติคนอื่นๆยิ้มตามเด็กคนนั้น ซึ่งทำให้ดิฉันรู้สึกดี และมีความสุขที่เห็นญาติผู้เสียชีวิตสามารถยิ้มได้

หลังจากนั้นจะมีการขอขมาและร่วมไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตและญาติผู้เสียชีวิตรวมถึงมีการกรวดน้ำให้กับผู้ป่วยอีกด้วย (ถ้านับถือศาสนาพุทธ)

เคสสอง: ในวันที่2 มกราคม 2557 เวลาประมาณ 17:00 น. ก็จะมีกระบวนการทำเหมือนเคสที่ 1 แต่ในเคสนี้อยู่ในหอผู้ป่วยรวม รวมถึงมีคุณป้าเพียงคนเดียวที่มาเฝ้าจึงให้ความรู้สึกที่ต่างไปจากเคสแรกมาก จึงมีเพื่อนในกลุ่มช่วยเข้าไปคุย ไปอยู่เป็นเพื่อนคุณป้า เมื่อมีการแต่งหน้าศพรวมถึงมีการกรวดน้ำ ขอขมาแล้ว คุณป้าก็พูดขึ้นว่า “ขอบคุณลูกทุกๆคน” (หลายครั้งมาก)

ซึ่งจากการที่พวกเราได้มีโอกาสได้ทำเคสทุกเคสนี้ทำให้เห็นกระบวนการเมื่อมีผู้เสียชีวิต และได้รับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ ของคนรอบข้าง รวมถึงทำให้เราเข้าใจและมีความเห็นใจแก่ผู้อื่นมากขึ้น และเป็นโครงการที่เมื่อเราจบไปเป็นแพทย์ก็ไม่มีโอกาสได้มารับรู้ถึงวาระสุดท้ายของคนผู้เสียชีวิต

---------------------------------------------------------------

ภาวิตาครับ

ผมเองก็พยายามนึกว่า คุณหมอจะรู้อย่างไร เมื่อเด็กตัวเล็กคนนั้นพูดว่า "คุณยายสวย" แล้วเขาก็ยิ้ม ผมเชื่อว่าคุณหมอก็ยิ้ม และคงเป็นยิ้มที่ออกมาจากใจ

ใช่ไหม

นศพ.ผกากาญจน์ โขเมษฐวัฒน์


ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อโครงการนี้จากคำแนะนำของอาจารย์ คำถามแรกที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือ “The departures คืออะไร” และหลังจากที่ได้รู้ว่า departures คือ “การแต่งหน้าศพ” ทำให้เกิดคำถามที่สองขึ้นมาทันทีว่า “เราจะทำได้ไหม?”

แต่เมื่อได้ฟังอาจารย์อธิบายถึงสิ่งที่เราจะได้ทำคร่าวๆแล้ว ความคิดและความรู้สึก ณ เวลานั้นมีเพียงแค่ “ก็ดีเหมือนกันนะ ได้ลองทำอะไรใหม่ๆที่ในชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสได้ทำ ถึงแม้จะได้เป็นหมอก็ตาม” คงไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะสักวันเราก็ต้องพบเจอกับสิ่งเหล่านี้ เพียงแค่ได้เจอเร็วขึ้นเท่านั้นเอง และประกอบกับการได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “Departures” ตามที่อาจารย์แนะนำแล้ว สุดท้ายสมาชิกทุกคนจึงได้ตัดสินใจที่จะทำโครงการนี้

เมื่อถึงวันนัดเพื่อปรึกษาและสรุปแผนการทำโครงการกับอาจารย์และพี่พยาบาลที่ปรึกษาโครงการ เพียงแค่เดินเข้าไปในห้อง “ความกลัวก็เริ่มก่อตัว” ได้แต่นั่งเงียบและคิดทบทวนอยู่ในใจ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะทำได้ไหม? ไม่กลัวจริงเหรอ?” แต่ในเมื่อเราดำเนินการมาถึงขั้นตอนนี้แล้ว เพื่อนทุกคนในกลุ่มก็ตกลงที่จะทำโครงการนี้ เราก็ต้องทำให้ได้เหมือนกัน อีกทั้งการแต่งหน้าศพก็เป็นสิ่งที่ในชีวิตนี้เราคงไม่มีโอกาสได้ทำ ในเมื่อตอนนี้อาจารย์ได้มอบโอกาสนั้นให้ เหตุใดเราจึงจะไม่รับไว้ และสิ่งที่ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าเราต้องการโครงการนี้คือ คำตอบของอาจารย์จากคำถามที่ว่า “ทำโครงการนี้แล้วจะได้อะไร?” นั้นคือ “โครงการ The Departures จุดประสงค์ไม่ได้อยู่ที่เราทำแล้วได้อะไร แต่เราได้ “ให้” อะไรแก่ผู้เสียชีวิตและญาติผู้เสียชีวิต”

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

เคสแรกของการแต่งหน้าศพ มีความรู้สึกมากมายเกิดขึ้น ทั้งตื่นเต้น กังวลและกลัว ความรู้สึกที่มีมากที่สุดตอนนั้นคือ “ความกลัว”

แต่เมื่อเข้าไปในห้องพัก ภาพที่เห็นคือคุณยายที่กำลังหลับอย่างสงบอยู่บนเตียง ไม่ได้มีอะไรต่างไปจากเวลาที่เรานอน ความกลัวนั้นจึงหายไป

สำหรับเคสแรกได้เพียงแค่ช่วยส่งอุปการณ์และยืนดูขั้นตอนการทำ แต่ก็ได้รับรู้อะไรหลายอย่าง เช่น แม้ว่าญาติของผู้ป่วยกำลังเศร้า แต่พวกเขาทุกคนกลับมีรอยยิ้มเผยขึ้นบนใบหน้า เมื่อได้เห็นในสิ่งที่พี่พยาบาลทำ และมีหนึ่งประโยคที่ได้ยินแล้วทำให้ทุกคนในห้องยิ้มและหัวเราะออกมาคือ “คุณยายสวยจัง” ซึ่งหลานของคุณยายได้พูดขึ้นเมื่อได้เห็นคุณยายหลังจากที่พี่พยาบาลทำการแต่งหน้าศพเสร็จ และหลังจากการขอขมาผู้เสียชีวิตเสร็จ ญาติก็ยังได้กล่าวขอบคุณในสิ่งที่พี่พยาบาลและพวกเราได้ทำ

เคสที่สองได้มีโอกาสช่วยในการเช็ดตัวและทำความสะอาดร่างของคุณตาผู้เสียชีวิต และพูดคุยกับภรรยาของคุณตา ซึ่งคุณยายยังคงทำใจไม่ได้กับการสูญเสีย จึงไม่ได้มายืนดูการแต่งหน้าศพ แต่เมื่อถึงการกรวดน้ำและขอขมาผู้เสียชีวิต คุณยายได้เข้ามาเห็นคุณตา ก็มีรอยยิ้มขึ้นมาเล็กน้อยกับภาพที่ได้เห็นและได้เข้ามาขอบคุณพวกเราที่มาช่วย และอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการเรียนอีกด้วย

จากการทำเคสทั้งสอง เราได้มีส่วนช่วยในการทำให้ผู้เสียชีวิตได้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเหมือนในช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ และได้ช่วยสร้างรอยยิ้มให้เกิดขึ้นบนใบหน้าของญาติผู้เสียชีวิต ทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นในช่วงเวลาที่เศร้าเช่นนี้ ถึงจะแค่เพียงเล็กน้อยก็ตาม จากทั้งรอยยิ้มและคำขอบคุณที่มีให้แก่เรา ล้วนทำให้เรารู้สึกดีและรู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำลงไป จึงทำให้คิดได้ว่า “การที่เราคิดจะตัดสินใจทำสิ่งใดก็ตาม ให้คิดเสมอว่า สิ่งที่เราทำได้ให้อะไรแก่ผู้อื่นบ้าง นั่นอาจทำให้เรามีความสุขและรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำมากกว่าการคิดว่าเราทำแล้วได้อะไร”

-------------------------------------------------------

ขอบคุณครับผกากาญจน์

ผมชอบที่คุณหมอเขียนว่า

จุดประสงค์ไม่ได้อยู่ที่เราทำแล้วได้อะไร แต่เราได้ “ให้” อะไรแก่ผู้เสียชีวิตและญาติผู้เสียชีวิต

ตรงนี้แหละ ที่ผมเชื่อได้อย่างสนิทใจ ว่าคุณหมอทุกคนบรรลุวัตุประสงค์ของงานนี้ไปแล้ว


นศพ.ธนธรณ์ ตัณฑเวส


ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

สมัยยังเรียนอยู่ปี1 เคยได้ยินโครงการ Departure นี้มาจากพี่ที่เป็นหนึ่งในคนทำโครงการเมื่อปีที่แล้ว

ตอนได้ฟัง ก็รู้สึกสนใจ จึงได้สอบถามความรู้สึกของพี่ และขั้นตอนการทำงานมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถามอย่างละเอียด เนื่องจากไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งตัวเองจะได้มาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้

จนเมื่ออยู่ปี 2 หลังจากที่กลุ่มได้ตกลงจะทำโครงการนี้ ก็รู้สึกตื่นเต้นว่า ตอนนี้จะเราจะได้เป็นคนที่มาทำโครงการที่เคยได้ฟังมาก่อนจริงๆ แต่แม้ว่าสมาชิกในกลุ่มจะพูดคุยเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการแล้ว ก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นในใจของฉันว่า เมื่อถึงตอนปฏิบัติจริง เราจะกล้าไหม จะทำได้ดีเหมือนแผนที่วางไว้ไหม ญาติผู้ป่วยจะเต็มใจให้เราทำไหม แต่ก็พยายามคิดว่า เมื่อถึงเวลาจริงก็จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

เมื่อถึงครั้งแรกที่ต้องไปทำโครงการจริงๆ ตอนที่เพื่อนโทรมาตามก็รู้สึกตกใจและตื่นเต้น

เมื่อไปถึงที่โรงพยาบาล พี่พยาบาลก็ได้นำไปที่ห้องผู้ป่วย เคสนี้เป็นเคสของคุณป้าท่านหนึ่ง ตอนที่ไปถึงนั้น พี่พยาบาลได้ทำความสะอาดร่างแล้ว และกำลังจะเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ หลังจากนั้นก็มีการแต่งหน้า หวีผมให้ และสุดท้ายก็คือ กล่าวคำไว้อาลัย

ในเคสนี้ดิฉันไม่ได้เข้าไปช่วยอะไรมาก ได้จัดเสื้อผ้าให้นิดหน่อย แต่สิ่งที่สังเกตได้จากการทำเคสครั้งนี้คือ หลังจากที่เราได้ทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ญาติของคุณป้าก็ยิ้ม และได้กล่าวขอบคุณพวกเรา และหลานสาวของคุณป้าก็พูดว่า คุณยายสวยจังเลย ความรู้สึกตอนนั้นคือ ดีใจ รู้สึกว่า สิ่งที่เราได้ทำให้ แม้จะน้อยนิด ก็ยังทำให้ญาติๆของคุณป้ารู้สึกดีได้ในวันที่ทุกคนเศร้าและยังทำให้หลานของคุณป้าจดจำภาพสุดท้ายของคุณป้าไว้ในแบบที่สวยงาม

ส่วนเคสที่2 มาในวันก่อนสอบ OSPE บล็อก GI

เป็นเคสของคุณลุงที่วอร์ดอายุรกรรมชาย ตอนพวกเราไปถึง พี่พยาบาลยังไม่เริ่มเช็ดร่าง ทำให้พวกเราได้มีส่วนร่วมในโครงการมากขึ้น คือ ช่วยเช็ดร่าง เปลี่ยนน้ำ เตรียมชุด ด้วย แต่ในเคสนี้ต่างกับเคสแรก เพราะในเคสแรกนั้น มีญาติๆของคุณป้ามามากมาย ทุกคนช่วยปลอบใจกัน และยืนอยู่ข้างๆเตียงของคุณป้าช่วยพี่พยาบาลแต่งหน้า จัดชุด แต่เคสนี้มีเพียงคุณป้าภรรยาของคุณลุงเท่านั้น คุณป้ายังทำใจไม่ได้จึงไม่ได้อยู่ตอนพวกเราเช็ดตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าให้คุณลุง แต่คุณป้าได้เข้ามาพร้อมลูกชายตอนกล่าวคำไว้อาลัย หลังจากเสร็จ แม้ตอนนั้นตาของคุณป้าแดงๆเหมือนคนจะร้องไห้ แต่คุณป้าก็ยังยิ้มและเข้ามาขอบคุณพวกเรา มาอวยพรให้พวกเราทำข้อสอบได้

จากประสบการณ์ทั้ง2 เคสที่ดิฉันได้เข่าร่วม ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า เราได้เป็นผู้ให้ ให้ความสุข ให้รอยยิ้ม ในวันที่เขามีความทุกข์ผ่านเข้ามาในชีวิต แม้ว่าสิ่งที่พวกได้ทำนั้น ดูเหมือนเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แต่มันกลับมีคุณค่าในสายตาของญาติผู้เสียชีวิต อย่างน้อยสิ่งที่เราได้ทำนั้น ก็สร้างรอยยิ้มให้กับคนอื่นในวันที่เขามีความทุกข์ได้

-------------------------------------------------------------------

ธนธรณ์ครับ

แสดงว่า Departures นั้น คงจะโด่งดังมาก เพราะหนูได้รับรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ปีก่อน

เอาเหอะ มาลุ้นกันไหม ว่ารุ่นน้องจะสานต่อโครงการนี้ได้เหมือนพี่ๆหรือไม่

โปรดติดตามตอนต่อไป

นศพ.อรุณลักษณ์ ชูสม

ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

การจัดทำโครงการ The Departures นี้ ต้องยอมรับว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ เพราะโดยส่วนตัวไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าหลังจากการเสียชีวิตนั้นจะมีการแต่งหน้าศพ หรือแต่งตัวให้ศพมีสภาพเหมือนคนปกติ

การทำ Departures ก็ทำให้ผู้ตายเป็นเหมือนคนปกติมากยิ่งขึ้น เพราะการป่วยแน่นอนที่สภาพร่างกายและจิตใจจะเสื่อมโทรม ไม่ว่าใครก็คงจะไม่ชอบแต่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่เคยรู้เลยว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเขาได้

อาชีพแพทย์อยู่กับชีวิตคนมากมาย แน่นอนอยู่แล้วที่เราต้องเจอการเสียชีวิต แต่หลังจากการเสียชีวิตแล้วเรารู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาบ้าง เราเข้าใจญาติเขามากแค่ไหน เมื่อเขาตายแล้วต้องทำยังไงต่อไป

เมื่อไปเป็นแพทย์เรามีโอกาสช่วยชีวิตคนมากมาย แต่เราไม่มีโอกาสเลยที่จะได้มาทำให้ส่วนของการดูแลคนหลังเสียชีวิต

การเข้ามาโครงการนี้ตอนแรกก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่รู้เลยว่าการทำ Departures คืออะไร ด้วยความสงสัยจึงได้ไปดูภาพยนตร์เรื่องThe Departures ก่อน ก็รู้สึกดีมากเพราะในภาพยนตร์ทำให้ทราบว่า การทำแบบนี้เป็นเรื่องของการให้ แม้คนที่ตายไปแล้วจะไม่ได้บอกเราว่าเขาชอบหรือไม่ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดี มันแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเขาจะตายไปแล้วแต่เขาก็ยังมีความสำคัญ และเป็นการให้เกียรติผู้ตายด้วย ยิ่งทำให้อยากทำโครงการมาก

แต่ก็รู้ได้ว่าเหตุการณ์จริงกับในภาพยนตร์คงจะต่างกัน ก็มีความกังวลว่าเมื่อถึงสถานการณ์จริงแล้วเราจะสามารถปฏิบัติงานได้มากแค่ไหน เราจะมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นร่างผู้เสียชีวิตที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน ญาติเขาจะเป็นยังไง ขั้นตอนการปฏิบัติงานจะเหมือนในภาพยนตร์หรือไม่ แล้วเราจะช่วยเขาได้มาแค่ไหนในการแต่งศพ มีคำถามมากมายก่อนที่ดิฉันจะได้เข้าร่วมโครงการนี้

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

เมื่อถึงเวลาที่ต้องปฏิบัติงานจริง รู้สึกตื่นเต้นมาก การเข้าร่วมโครงการครั้งแรกของดิฉันตรงกับก่อนสอบ OSPE เป็นการทำโครงการที่ตึกอายุรกรรมชาย ในเวลาตอนเย็นหลังจากการสอบ MCQ

เป็นครั้งแรกเลยที่เห็นคนเสียชีวิตที่ไม่ใช่คนรู้จัก คุณตาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แต่ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกกลัวเลย เพราะสภาพผู้เสียชีวิตเหมือนคนที่นอนหลับเท่านั้น หรืออาจเป็นเพราะความตื่นเต้นเลยทำให้ลืมความกลัวและความกังวลที่มีก่อนหน้านี้ไป

การทำ Departures เริ่มตั้งแต่แต่การเช็ดตัวถูสบู่ ล้างเท้า ทาแป้ง ปิดรูทวารทั้งห้า การจัดรูปหน้า เนื่องจากคุณตาไม่มีฟันทำให้รูปหน้าผิดรูปไป พี่พยาบาลก็ใช่สำลีใส่เข้าไปในปากเพื่อจัดรูปหน้าให้

การทำในแต่ละขั้นตอนเป็นการให้เกียรติมาก จะค่อยๆเปิดทีละส่วน และมีการถามญาติเรื่องการแต่งตัวว่าต้องการให้แต่งตัวแบบไหน เพราะบางคนจะมีการสั่งเสียไว้แล้วว่าจะให้ใส่ชุดไหน ใส่เครื่องประดับอะไรบ้าง ทำให้เห็นว่าการทำแต่ละขั้นตอนเป็นความต้องการของญาติ ทั้งผู้กระทำและญาติได้รับรู้ร่วมกัน

ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับภรรยาผู้ตาย ซึ่งคุณยายก็ค่อนข้างทำใจได้เพราะคุณตามานอนโรงพยาบาลค่อนข้างนานแล้ว และก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตก็ได้มีการนิมนต์พระมาถวายสังฆทานที่บนตึกตามความต้องการของคุณตา ระหว่างการพูดคุยได้จับมือกับคุณยาย จำได้ว่ามันเย็นมากแล้วยายก็พูดว่ายายไม่เป็นอะไร ขอบใจทุกๆคนมาก ทำให้รู้ว่า การกระทำหรือคำพูดให้กำลังใจของเราเพียงเล็กน้อย อาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับใครบางคน คุณยายขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกันแต่งหน้าศพให้คุณตา

ตอนสุดท้ายมีการกรวดน้ำแล้วขออโหสิกรรมแก่ผู้ตาย จากพี่พยาบาลในตึกและญาติผู้ป่วย ก่อนที่จะนำร่างไปฝากที่ห้องดับจิตและนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

จะเห็นได้ว่าแพทย์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำตรงนี้เลย ดิฉันรู้สึกภูมิใจและรู้สึกดีมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้ในกับโครงการนี้เพราะ การทำ Departures เป็นการให้ครั้งสุดท้าย ให้ผู้ตายมีสภาพเหมือนกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการส่งคนๆหนึ่งที่จากโลกนี้ไปเพื่อไปเริ่มต้นใหม่ในโลกหน้า เพราะการตายอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่อาจเป็นการเริ่มต้นใหม่ก็เป็นได้

----------------------------------------------------

ขอบคุณครับอรุณลักษณ์

ผมชอบประโยคท้ายของคุณหมอมากเลยครับ

"การทำ Departures เป็นการให้ครั้งสุดท้าย ให้ผู้ตายมีสภาพเหมือนกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่"

ขอบคุณนะครับ


นศพ.มณฑล ศรีประดิษฐ์


ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

เมื่อได้ยินว่าโครงการของกลุ่ม PBL ของเราคือการทำ departure ซึ่งหมายถึงการแต่งหน้าศพ และช่วยเหลือแต่งตัวศพ ข้าพเจ้ารู้สึกเครียด และกังวลกับการทำโครงการ PBL มาก เนื่องจากเป็นคนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย และเป็นคนกลัวผี แต่หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งจากสื่อ internet และ ดูหนังเรื่อง departures กลับรู้สึกว่ามันไม่ได้กลัวอย่างที่เราได้คิดไปเองเลย มันเป็นเพียงจิตนาการของเราที่แต่งเติมขึ้นทังสิ้นและไม่รู้ว่า departure แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร รู้แต่เพียงแต่งหน้าศพเท่านั้นตามคำที่เพื่อนๆได้พูดกัน จากความกังวลต่างๆที่ข้าพเจ้ามี กลับเปลี่ยนเป็นความรู้สึกท้าทายตัวเอง สิ่งที่ตัวข้าพเจ้าเองคิดว่าทำไม่ได้และข้าพเจ้าได้มองเห็นถึงความรู้สึกที่ดีต่างๆและประโยชน์อันจะเกิดขึ้นตามมาจากการกระทำอันเล็กน้อยของข้าพเจ้าครั้งนี้

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

หลังจากการทำโครงการ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกดี รู้สึกแปลกใหม่ที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเป็นทางการ ได้เห็นใบหน้าของญาติที่ยิ้มได้ทั้งๆที่เสียคนที่ตนรักที่สุดในชีวิตไป

ข้าพเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้าพเจ้าลองมองในทางกลับกัน ถ้าคนที่ข้าพเจ้ารักจากไปอย่างสงบ มีใบหน้าที่สะอาด สดใส เหมือนดังนอนหลับเท่านั้น ความรู้เสียใจต่างๆที่ข้าพเจ้ามีก็ คงพอทุเลาะลงได้บ้าง

แม้เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กน้อย แต่มีคุณค่าทางจิตใจมาก จากการที่ข้าพเจ้าตั้งใจว่าข้าพเจ้าจะสามารถทำประโยชน์อย่างไรแก่ผู้อื่นได้บ้างข้าพเจ้ามีความรู้สึกเหมือนได้รับสิ่งดีๆมากกว่าทั้งจาก ภาพรอยยิ้มของญาติผู้เสียชีวิต และ ความภูมิใจในการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข

---------------------------------------------------------

มณฑลครับ

เชื่อไหม ว่าเมื่อคุณหมอรู้สึกดีเช่นนี้ ผมรู้สึกดีกว่าคุณหมอเยอะเลย

เชื่อเถิด

นศพ.วิศลย์ เหล่าเจริญสุข

ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

ตั้งแต่เริ่มต้นว่า ต้องทำโครงการ 1 โครงการต่อ 1 PBL กลุ่มพวกเรายังคิดอยู่เลยว่าจะทำแค่ การจัดติวให้รุ่นน้องปี 1 หรือทำประโยชน์เพื่อหอพักบินหลา 1 ของพวกเรากัน แต่พอไปหาอาจารย์ธนพันธ์เท่านั้น อาจารย์ได้เสนอโครงการ departure

เมื่อได้ได้ยินชื่อโครงการ The departure ครั้งแรกก็สงสัยว่าคือโครงการอะไร ต้องทำอะไรบ้างแต่พอรู้ว่า เป็นโครงการเกี่ยวกับการแต่หน้าศพตัวเองก็ช็อกไปสักพัก ว่า “เราต้องไปแต่งหน้าศพจริงๆใช่ไหม” ก่อนหน้านี้ไม่เคยแต่งหน้าหรือทำความสะอาดร่างกายที่ไร้วิญญาณเลย

พอทำใจได้ก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโครงการนี้มากยิ่งขึ้นทำให้เข้าใจและซาบซึ้งถึงประโยชน์ของการแต่งหน้าศพ ว่าเป็นการทำบุญให้แก่ผู้เสียชีวิต เป็นการมอบอะไรดีๆให้ผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย อีกทั้งการแต่งหน้าศพเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีระหว่างโรงพยาบาลกับญาติผู้ป่วยอีกด้วย

ฟังเท่านี้ผมเองก็ตาสว่าง เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่น่าสนใจ และน่าทำยิ่งนัก เลยตัดสินใจ เอาไงเอากัน ทำก็ทำโครงการ The departure นี่แหละ อีกทั้งผู้เสียชีวิตที่พวกเรากำลังจะไปแต่งหน้านั้นคงมีจิตใจงาม อยากให้พวกเราเข้าไปช่วยอยู่แล้วยังไงก็คงไม่เป็นอะไร

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

พอได้ยินจากเพื่อนว่า วันนี้มีเคสนะ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกของผมที่จะต้องไปทำโครงการ จริงๆแล้วตอนนั้นตกใจมาก ขนาดตอนแรกก็ทำใจและไม่คิดอะไร แล้วแต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ขณะที่กำลังเดินไปตึกเฉลิมพระบารมีกับเพื่อนๆ ใน PBL ความรู้สึกเหล่านั้นก็ได้จางหายไป เหลือเพียงแต่การอยากที่จะทำ อยากที่จะรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง พอถึงห้องพักของผู้ป่วย พี่อุไรวรรณก็กำลังจัดแจงศพผู้เสียชีวิตอยู่แล้ว พวกเราก็ได้เข้าไปช่วยต่างๆนานา ตั้งแต่เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้าและยืนดูพี่อุไรวรรณจัดการศพผู้เสียชีวิตในเรื่องทีเราช่วยไม่สามารถช่วยได้ภายใต้การอ้อมล้อมของญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่ยืนเฝ้าดูพวกเราทำงาน ทั้งต้องจัดเตรียมสิ่งชองเช่น เสื้อผ้า ไม่เว้นแต่เครื่องสำอางที่เอามาเสริมให้กับพี่อุไรวรรณขณะที่คอยแต่งหน้าให้กับร่างที่ไร้วิญญาณ เมื่อจัดการเกี่ยวกับศพเรียบร้อยแล้วพวกเราต่างเห็นเป็นสิ่งเดียวกันว่า ผู้เสียชีวิตเหมือนมีชีวิตจริงๆเลย จากการแต่งหน้าที่ทำให้ดูมีชีวิตชีวา การที่ได้ชำระร่างการให้สะอาด พร้อมใส่เสื้อผ้าตัวใหม่อย่างสวยงาม

ความรู้สึกตอนนั้นขอบอกได้เลยว่ามีความสุขที่ได้ให้อะไรบางสิ่งบางอย่างกับผู้อื่นไป โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนอย่างแท้จริง

ครั้งถัดมาเมื่อรับโทรศัพท์จากเพื่อนและเพื่อนบอกว่ามีเคสให้รีบไปด่วนเลย ผมก็รีบแต่งตัวและรีบไป หอผู้ป่วยอายุรกรรมชายโดยทันที คราวนี้ความรู้สึกที่กลัวต่างๆ ได้หายไปโดยหมดสิ้น เหลือแต่ความที่อยากจะทำและอยากที่จะให้ โดยครั้งนี้เป็นผู้ป่วยชาย การแต่งหน้าจึงไม่มี เป็นเพียงการจัดเตรียมศพให้อยู่ในสภาพที่ปกติ เริ่มตั้งแต่การเช็ดทำความสะอาดตัว จัดแต่งหน้าให้เหมือนคนปกติ หวีผม โกนหนวดเคราให้เรียบร้อยและสุดท้ายเป็นการใส่เสื้อผ้าให้ผู้ป่วยที่เสียชีวิต

หลังจากการทำโครงการครั้งที่สองก็รู้สึกเช่นเดิมคือ มีความสุขที่ได้ให้กับผู้อื่นไป โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน

เสียดายที่เวลาของพวกเราไม่ค่อยตรงกัน มีหลายครั้งที่พี่อุไรวรรณโทรเรียกพวกเราว่ามีเคสแต่พวกเราติดสอบบ้าง ติดเรียนบ้าง ไม่ก็ดึกบ้างทำให้การจัดทำโครงการดูเหมือนจะน้อยไปหน่อย แต่โครงการ The departure มันไม่ใช่แค่การแต่งหน้าศพธรรมดา ทำๆแล้วก็เสร็จๆไป แต่เป็นการทำอะไรดีๆ เพื่อยกระดับจิตใจเรามากกว่าอีกทั้งมีความสุขกับการที่ได้ให้ ให้อะไรที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน

---------------------------------------------------

วิศลย์ครับ (ขอโทษที่ ผมไม่แน่ใจนัก ว่าคุณหมอชื่อ วิศลย์ หรือ วิศัลย์)

อ่านตามไป นึกไปตามที่คุณหมอบรรยายมา สนุกดีครับ แนวคิดและเหตุผลหลายอย่างมันกลมกลืน

สนุกที่ได้อ่าน

ขอบคุณที่อุตส่าห์มีความสุขกับงานที่ได้ทำนะครับ

นศพ.กนกอร ทองจันทร์แก้ว

ความรู้สึกก่อนเข้าร่วมโครงการ

ครั้งแรกที่รู้ว่าได้ทำโครงการนี้ แรกๆก็ไม่คิดอะไร

จนกระทั่งวันนี้ วันที่ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนคนหนึ่งใน PBLความรู้สึกเริ่มเปลี่ยนไป ในใจคิดเพียงว่าคงมีเรื่องสำคัญบางอย่าง หลังจากรับโทรศัพท์ ชีวิตต้องรีบเร่ง เพราะเพื่อนบอกว่าเราต้องไปทำ case กันเดี๋ยวนี้!!!! หลายความรู้สึกเริ่มถาโถมเข้ามา ความรู้สึกที่เกิดขึ้นบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอะไร มันมีทั้งความรู้สึกกังวล ประหม่า หลายความรู้สึกเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ในขณะเดียวกันความเร่งรีบ ทำให้ไม่สามารถรับความรู้สึกตอนนั้นได้แน่ชัด

ทันทีที่ทุกคนพร้อมกันที่หอพัก พวกเรามุ่งหน้าไปหาพี่พยาบาลทันที พวกเราใช้เวลาประมาณ 15 นาที ในการเรียกเพื่อนๆ และไปหาพี่พยาบาล เป็นเวลาที่ไม่น้อยนัก แต่ก็รวดเร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

ความรู้สึกหลังเข้าร่วมโครงการ

เมื่อไปถึง พี่พยาบาลก็เริ่มทำไปบ้างแล้ว ครั้งแรกของพวกเราเป็นการสังเกตการณ์

ความรู้สึกตอนนั้น ค่อยๆนิ่งลง อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมมันพาไป แต่มันก็ทำให้เราคิดอะไรได้มากมาย ทุกความเคลื่อนไหวของทุกคนในห้องนั้น แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่เห็นได้ชัดว่าทุกคนรู้สึกเสียใจ อาจเป็นเพราะทุกครั้งที่มีการสูญเสีย มันทำให้เราเสียใจ ซึ่งแน่นอนว่าญาติคนใกล้ชิดคงจะเสียใจมากกว่าคนอื่น

ในขณะนั้นดูเหมือนว่าคนนอกอย่างเรา แม้จะมีความรู้สึกเสียใจ แต่ก็สามารถจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นได้ดีกว่าญาติผู้ป่วย

พี่พยาบาลค่อยๆจัดการกับร่างของผู้ป่วยที่นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง ในขณะนั้นก็มีญาติของผู้ป่วยมาช่วยด้วย เมื่อพี่พยาบาลจัดการแต่งหน้าศพเสร็จเรียบร้อย สังเกตได้ว่าความรู้สึกของทุกคนเริ่มเปลี่ยน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คงเป็นน้ำเสียงจากเด็กหนุ่มวัยอนุบาล “คุณยายสวยจัง” เริ่มเห็นรอยยิ้มเล็กๆในเวลาสั้นๆของผู้ใหญ่ในห้องนั้น ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ และแน่นอนว่ามันเกิดรอยยิ้มเล็กๆบนใบหน้าของพวกเราเช่นกัน อาจเป็นเพราะเหล่านี้เป็นเรื่องราวดีๆที่เราได้กระทำให้แก่ญาติผู้ป่วย และผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต หลายเรื่องราวในชีวิตมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี แต่การทำ Departure เป็นเรื่องราวที่ดีที่สุดเรื่องสุดท้ายในชีวิตของบุคคลผู้จากไป และบุคคลผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

---------------------------------------------------------------------

ขอบคุณครับกนกอร

สังเกตไหม แนวทางการเล่าเรื่องของคุณหมอ ไม่เหมือนเพื่อนๆเลยครับ

ชอบแบบนี้เหมือนกัน

บันทึกสุดท้ายของเด็กๆ คงเกิดจากการมานั่งคุยกัน ลองอ่านดูครับ

ความเห็นเพิ่มเติมก่อนเข้าร่วมโครงการ The Departures

1. ได้มีส่วนร่วมในการทำความสะอาดร่างของผู้เสียชีวิตและทำให้ผู้เสียชีวิตดูดีสมเกียรติที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิต

2. คาดว่าโครงการจะมีส่วนช่วยให้ญาติผู้เสียชีวิตรู้สึกดีขึ้น ในช่วงเวลาที่เศร้าใจเช่นนี้

3. ได้ทราบขั้นตอนโดยละเอียดเกี่ยวกับการส่งต่อผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลให้ญาติผู้ป่วย

4. ได้ทราบบทบาทของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่อกระบวนการจัดการศพรวมถึงความรู้สึกในขณะร่วมโครงการ

5. เป็นโครงการที่มีแนวคิดแปลกใหม่สร้างสรรค์และน่าสนใจเป็นโอกาสที่ดีในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอีกทั้งยังได้เรียนรู้บทบาทของวิชาชีพแพทย์ในสถานการณ์จริงนอกเหนือจากในตำรา

ความเห็นเพิ่มเติมหลังร่วมโครงการ The Departures

1. ต้องการให้เวลาการเข้าร่วมปฏิบัติงานเป็น 24 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่แท้จริงและเข้าใจถึงความหมายของการทำ departures

2. ได้รู้ว่าการเป็นผู้ให้ โดยที่ไม่หวังผลตอบแทนนั้นจริงๆแล้วรู้สึกดีมากเช่นไร

3. รู้สึกยินดีมากที่ได้เข้าร่วมโครงการที่ดีเช่นนี้

4. ได้รับประสบการณ์และข้อคิดหลายอย่างที่มีประโยชน์ทั้งในการประกอบวิชาชีพของตนและในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไป

5. ทำให้ตระหนักได้ถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ความรู้สึกต่อการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักมากขึ้น

6. ทำให้ได้เห็นถึงบทบาทด้านอื่นของแพทย์พยาบาลเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลปฏิบัติงานเมื่อมีผู้เสียชีวิต

7. อยากให้มีโครงการเช่นนี้จัดขึ้นในปีการศึกษาหน้าเพื่อให้นศพ.กลุ่มอื่นได้มีโอกาสในการเป็นผู้ให้เช่นเดียวกับพวกเรา

8. เป็นกิจกรรมที่จุดประกายความคิดผู้อื่นในการเป็นผู้ให้ได้ด้วยอยากให้หลายๆฝ่ายมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้

----------------------------------------------------

ขอบคุณครับ ผมก็รู้สึกดีเหลือเกิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท