หลักไมล์เล็กๆ : ชั้นเรียนภูมิปัญญาภาษาไทยที่เปลี่ยนไป (๔)


การทำชิ้นงาน “อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร” ในครั้งนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนความความสำเร็จของคุณครูในการนำเรื่องจริงที่เป็นวาระของสังคมมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ

 

ในวันพุธที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นวันที่คุณครูชั้น ๕ ทุกคนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวง “KM ระดับชั้น” เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ซาบซึ้งใจ และเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กันและกัน ที่สำคัญได้เห็นภาพห้องเรียนที่งดงามของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย

 

ฉันเริ่มต้นวงด้วยการสร้างสติ และสมาธิ ให้ทุกคนได้ทำการภาวนาสั้นๆ ต่อจากนั้น ให้คุณครูทุกๆ คนได้ เลือกไพ่ความรู้สึกเพื่อเป็นการ Check In ก่อนเริ่มวง KM คุณครูบางคนก็สามารถเลือกได้ง่ายและรวดเร็ว ส่วนคุณครูบางคนก็ใช้เวลาอยู่สักครูกว่าจะเลือกได้ เมื่อทุกคนเลือกไพ่ความรู้สึกครบแล้ว ฉันก็ขอให้คนแรกที่หยิบไพ่ได้ Check In เป็นคนแรก ซึ่งก็คือ คุณครูเจน ที่เลือกหยิบไพ่ “ซาบซึ้ง” คุณครูเจนบอกว่าตอนที่หลับตานั่งสมาธิ เห็นภาพงานของเด็กทำให้เกิดความซาบซึ้ง อยากรู้ไหมว่า ทำไมงานของเด็กจึงทำให้คุณครูเจนซาบซึ้งใจ  

 

เมื่อคุณครูทุกคนได้พูดสะท้อนความรู้สึกของตนเองจนครบแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาของการเล่าเรื่องดีๆ ของคุณครูต้นเรื่อง คุณครูเจน – ญาณิสา  คำแสน  ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้เด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจในการทำชิ้นงาน “อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร?”

 

 

 

 

 

คุณครูเจน เล่าถึงการเรียนรู้ในครั้งนี้ของนักเรียนชั้น ๕ ว่าเป็นการเรียนเรื่อง “การตีความผ่านสัญลักษณ์” ครูเจนบอกว่าตนเองรู้สึกชอบและซาบซึ้งใจกับเนื้อหาตอนนี้มาก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านบทเพลง บทเพลงแรกที่ใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจและฝึกทักษะในการตีความผ่านสัญลักษณ์ คือ เพลงก้อนหินก้อนนั้น เป็นเพลงที่มีสัญลักษณ์เพียงสัญลักษณ์เดียวที่ใช้แทนความหมาย เพลงนี้จึงเหมาะสำหรับการเริ่มต้นฝึกในเรื่องการตีความ เมื่อเด็กๆ เข้าใจและรู้จักการตีความผ่านสัญลักษณ์แล้ว ครูเจนก็เริ่มเปิดบทเพลงที่ ๒ คือ ขวานไทยใจหนึ่งเดียวให้กับเด็กๆ ได้ฟัง ซึ่งในเพลงนี้ จะมีสัญลักษณ์ที่ใช้มากขึ้น อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่สอดคล้องและสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยด้วย

 

สิ่งที่ครูเจนสังเกตเห็น คือ เด็กๆ ให้ความสนใจและตั้งใจในการทำกิจกรรมดี อีกทั้งยังสะท้อนความคิดเห็นได้ตามประสบการณ์จริงที่ตนเองประสบอยู่ ณ ขณะนี้ด้วย เมื่อเด็กๆ ทุกคนได้ตีความหมายของเพลงนี้ และร่วมกันสรุปแล้ว ครูเจนก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาพใต้ ผ่านบทเพลงที่ชื่อว่า “ราตรีสวัสดิ์” ที่มีเนื้อหาสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ในขณะที่คนทั้งประเทศนอนหลับอยู่ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถนอนหลับได้ในยามค่ำคืน เพราะต้องคอยดูแลรักษาความปลอดภัยของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

แม้กระทั่งตอนที่ครูเจนเล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็มีน้ำตาคลอๆ อยู่ เป็นภาพที่สะท้อนว่า ครูเจนเองก็มีความรู้สึกต่อเรื่องนี้เช่นกัน ครูเจนบอกว่าตอนที่เล่าให้เด็กฟังก็เกิดความรู้สึกนี้เช่นกัน ทำให้เด็กๆ ที่ฟังเรื่องราวอยู่รับรู้ความรู้สึกได้ หลังจากนั้น ครูเจนชวนให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงเนื้อหาในเรื่องนี้ไปสู่เพลง “ธงชาติไทย” ที่เด็กๆ ได้ร้องในตอนเช้าว่า ธงชาติสามสีแทนสัญลักษณ์อะไรบ้าง  เมื่อมาถึงตอนนี้ ครูเจนสังเกตเห็นว่าเด็กๆ ทุกคนมีความรู้สึกร่วมร่วมกับเรื่องนี้อย่างมาก ครูเจนจึงเปิดโจทย์ให้กับเด็กๆ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันแลกเปลี่ยน

 

โจทย์ก็คือ “เด็กๆ อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร” 

 

คุณครูเจน ให้เด็กๆ ได้ตอบโจทย์นี้ผ่านชิ้นงานตามความถนัดของตนเอง โดยให้กระดาษ A 5 แบบถนอมสายตาไปคนละแผ่น ครูเจนสร้างแรงบันดาลใจในการทำชิ้นงานนี้ด้วยการบอกกับเด็กๆ ว่า คุณครูจะนำชิ้นงานนี้ไปติดแสดงเป็นนิทรรศการ  และหลังจากจบนิทรรศการก็จะส่งไปรษณีย์ไปถึงทหารที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

อยู่กับงาน  สร้างสรรค์อย่างมีความหมาย

 

เมื่อคุณครูเจนให้เริ่มทำชิ้นงาน คุณครูเจนก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทำตามความถนัดและความชอบของตนเอง เด็กๆ ทุกคนตั้งใจทำงานอย่างมาก เมื่อหมดเวลาแล้ว บางคนที่ยังทำไม่เสร็จก็ยังขอนำกลับไปทำต่อที่บ้านอีก

 

เมื่อคุณครูเจนได้เห็นชิ้นงานของเด็กๆ ก็รู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมาก และไม่คิดมาก่อนว่าเด็กๆ จะคิดได้ถึงขนาดนี้ กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้คุณครูเจนรู้ว่า เด็กๆ สามารถจะทำอะไรๆ ให้กับสังคมได้มากกว่าที่เราคิด เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยได้เปิดโอกาสให้เขาได้ทำ

 

 

 

 

 

คุณครูปุ๊ก-จินตนา ซึ่งเป็นครูคู่วิชาของคุณครูเจน เล่าเสริมว่าในห้องของตนเองก็พบว่า เด็กๆ มีความตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะทำงานชิ้นนี้มากๆ โจทย์งานชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่คุณครูปุ๊กสอนห้อง ๕/๑ จบแล้วทั้งคุณครูเจนและคุณครูปุ๊กได้มาสะท้อนผลหลังสอนกัน จากนั้นจึงได้มีการบทลำดับเพลง และโจทย์ รวมถึงชิ้นงานให้เหมาะสมขึ้น ห้องเรียนอีกสามห้อง คือ ห้อง ๕/๒  ห้อง ๕/๓  และ ห้อง ๕/๔ ได้ปรับใช้แผนการสอนและกิจกรรมตามที่คุณครูเจนเล่ามา ส่วนห้อง ๕/๑ ครูปุ๊กได้เข้าไปเปิดโจทย์ “อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร?” และให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์ชิ้นงาน ก็พบว่าเด็กๆ ห้อง ๕/๑ ก็มีความตั้งใจและกระตือรือร้นในการทำชิ้นงานนี้มากเช่นกัน  

 

เมื่อคุณครูเจนเล่าเรื่องจบ คุณครูเล็ก –ณัฐทิพย์ ก็ชวนคุณครูทุกๆ คนร่วมกันหาปัจจัยความสำเร็จในเรื่องนี้ ประเด็นที่คุณครูทุกๆ คนช่วยกันสรุปมามีดังนี้

 

 

  • การสะท้อนผลหลังการสอนของครูทั้ง ๒ คน ก่อให้เกิดการนำมาจัดปรับให้ดีขึ้นในครั้งถัดไป
  • คุณครูผู้สอนเองมีแรงบันดาลใจในการสอน
  • สื่อที่ใช้มีความร้อยเรียง จากง่ายไปสู่ยาก
  • บทเพลงที่ครูเลือกมาใช้ตีความเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

 

การทำชิ้นงาน “อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร” ในครั้งนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนความความสำเร็จของคุณครูในการนำเรื่องจริงที่เป็นวาระของสังคมมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ 

 

“เรื่องจริง” เหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ อยากทำงานได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคืองานชิ้นนี้ได้สร้างให้เด็กๆ รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีคุณค่าและความหมายต่อผู้รับด้วย

 

เรียบเรียงโดย

ครูเล็ก - ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์

 

 

หมายเลขบันทึก: 561111เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2014 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นตัวอย่างของ Authentic Learning ที่ดีมากครับ

วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

ขอบพระคุณที่กรุณาชี้แนะค่ะ บันทึกถัดไปจะเป็นการเจาะลึกงานของผู้เรียนที่มีความน่าสนใจ โดยคุณครูเจน เจ้าของโจทย์งานชิ้นนี้ค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

สวัสดึค่ะ คุณครูใหม่

เนื่องด้วยทาง GotoKnow มีกำหนดจะจัดประชุมเสวนาทางวิชาการกลุ่มย่อยจำนวนประมาณ 30 ท่าน โดยใช้ชื่องานครั้งนี้ว่า "ปิยวาจา-ปัญญาสร้างสุขในโลกออนไลน์"

ในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 9.00-13.00 น. ณ สสส. อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซอยงามดูพลี เขตสาทร กทม. และพบกับวิทยากรนำการเสวนา 2 ท่านคือ คุณ (ศิลา) ภิรัชญา วีระสุโข และ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ แห่ง Happy Ba

งานเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิก GotoKnow และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางในการสร้างพื้นที่ชุมชนแห่งความสุขในสังคมออนไลน์

ซึ่งจากสภาวะ ณ ปัจจุบันที่สังคมเต็มไปด้วยถ้อยคำรุนแรงและการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่ค่อยๆแทรกซึมเข้าไปอยู่ในกิจกรรมการดำรงชีวิต ชุมชน GotoKnow จะมีส่วนในการช่วยลดความรุนแรงทางคำพูดที่ปรากฎในโลกออนไลน์ลงได้อย่างไรบ้าง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกชุมชนออนไลน์ค่ะ

ในการนี้ GotoKnow จึงขอเชิญชวนสมาชิกท่านเข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าว ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับข้าราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัยและพนักงานอื่นๆ ของรัฐ สามารถเข้าร่วมงานเสวนาได้โดยไม่ถือเป็นวันลาและมีสิทธิ์เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของต้นสังกัด

ท่านสามารถแจ้งความประสงค์ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่อีเมล support (@) gotoknow.org หรือลงทะเบียนในบันทึกของ อจ.จันทวรรณ http://www.gotoknow.org/posts/562228 ภายในวันที่ 28 กพ.นี้

โดยทางทีมงานจะออกหนังสือเชิญเข้าร่วมงานให้กับท่านอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในการนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันและรับของที่ระลึกพิเศษจาก GotoKnow ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท