ป่วย-จน-ตาย


ขอบพระคุณผู้บริหารและผู้นำของเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) ทุกท่าน โดยเฉพาะขอขอบพระคุณ "คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ" คลิกอ่านประวัติของอาจารย์ผ่าน Do It Right and Fear No Man ผมซาบซึ้งใจและมีแรงบันดาลใจทุกครั้งที่ได้สังเกตและเรียนรู้ท่านอาจารย์ผู้มีต้นแบบของคนดีที่ทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง - ยึดมั่นความถูกต้องและมุ่งมั่นทำให้ความถูกต้องเป็นสำเร็จได้จริง อาจารย์ได้แนะนำให้ผมได้เข้ามาเป็นคณะทำงานเชิงนโยบายด้วยเหตุผลของ "ดร.ทางกิจกรรมบำบัดมีน้อยมากในคณะทำงานเชิงนโยบาย" และการประชุมในวันนี้ อาจารย์ทักทายถึงสุขภาพหลังโรคหลอดเลือดสมองของผมแล้วยกนิ้วโป้งยอดเยี่ยมว่า "ต้องออกกำลังกายมาเป็นอันดับหนึ่ง และทำงานเป็นอันดับสอง อย่ารับทำงานทุกอย่างเกินตัว" "ผมยิ้มตอบท่านอาจารย์ด้วยภาษาท่าทางเดียวกัน" พร้อมๆกับท่านประํธานในที่ประชุมที่ผมชื่นชมในความดีและความสามารถของคุณหมอมากๆ คือ คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน ที่ทักผมว่า "ศุภลักษณ์ ดีขึ้นแล้วใช่ไหม" "ผมยิ้มแล้วพยักหน้าพร้อมยกมือขอบพระคุณอาจารย์"

ประเด็นของการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในวันนี้ โดยดร.ป๊อป ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาแบบคัดกรองและแบบประเมินจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุที่สุขภาพดีกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือปานกลางถึงมากที่สุด (2-10% ของประชากรไทย) และมีการปรับระบบการดูแลสุขภาพและสุขภาวะทางสังคมในระดับชุมชนกับครอบครัวมากกว่าการดูแลสุขภาพในสถานพยาบาล ตามหลักการของสปสช. ที่มุ่งเน้นความสมัครใจในการจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้ง และได้รับการดูแลจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะผู้สูงอายุ (40% ของประชากรไทย ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 ที่ควรเน้น Aging Society - 50 ปีขึ้นไป & Aged Society 60 ปีขึ้นไป ให้มีสุขภาพดีและสามารถช่วยเหลือสังคมได้ (Active Aging Population) เช่น อาสาสมัครด้วยใจในการดูแลเพื่อนสูงวัยที่ติดบ้านและติดเตียง ซึ่งหน่วยงานของรัฐให้ค่าเดินทางและค่าอาหารต่อวันบ้าง) ใช้ระบบการคลังที่หลากหลาย เช่น ส่วนกลางผสมผสานกับส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ท่านอาจารย์สุวิทย์ได้ยกตัวอย่างการดูแลคุณแม่ถึง 10 ปี โดยนั่งล้อเข็นแล้วกระุ้ตุ้นให้คุณแม่เข็นรถเพื่อเดินออกกำลังกาย ใช้เวลาในการดูแลการกินและการขับถ่ายไม่เกิน 2 ชม.ต่อวัน ที่สำคัญเน้นคนดูแลที่ไม่จำเป็นต้องจบวิทยาศาสตร์การแพทย์แต่เน้นคนดูแลด้วยใจและเป็นผู้ปฎิบัติที่เรียนรู้ได้ดี ทั้งนี้หน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องให้ึความสำคัญทั้งเชิงนโยบายสาธารณะที่ไวใน 1-2 ปี (Catch & Sensitive Policy) ไม่ใช่วิจัยและพัฒนาเชิงปฏิบัติการนำร่องไปเรื่อยๆ โดยไม่มีนโยบายรองรับ รวมทั้งการบริหารงบประมาณในผู้สูงอายุในระยะยาว (แผนสภาผู้สูงอายุมีแล้วคือ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมคือ 5 ปี แผนสปสช.ตามการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร 2 ปี และมติของรัฐบาลในเชิงงบประมาณแผ่นดินคือ ปีต่อปี ซึ่งยังไม่มีความสอดคล้องกันมากนัก) หรืออีกแนวทางคือ การประชุมเชื่อมทั้งคณะทำงานนโยบายกับคณะทำงานการคลัง หรือมีการเริ่มลงมือปฏิบัติการภายใต้นโยบายที่ถูกต้องแล้วค่อยๆ กระตุ้นเน้น "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่น การปฏิรูป 30 บาทของไทย 

ท่านอาจารย์วิชัย ได้เน้นว่า ประเทศญี่ปุ่นมีระบบการดูแลสุขภาพระยะเริ่มแรก (Acute Care) ที่มุ่งเป้าการอยู่ได้อิสระพึ่งพาตนเองได้ (Free Living) มีการผลิตกำลังคนจากมัธยมสู่การเรียนวิชาชีพพยาบาลปฏิบัติ (3 ปี - Junior Workforce) มาดูแลผู้สูงอายุได้รวดเร็วและพยาบาลปฏิบัติกลุ่มนี้สามารถเรียนอีก 2 ปีก็เป็นพยาบาลวิชาชีพได้ (ระบบปกติ 4 ปี - Senior Workforce) มีระบบการให้บริการแตกต่างกับการดูแลสุขภาพระยะยาว และมีการให้บริการผู้สูงอายุติดบ้านที่แตกต่างกับติดเีตียง และผู้สูงอายุติดสังคมก็เป็นผู้ให้บริการจิตอาสาที่ยอดเยี่ยม มีระบบการให้ประชาชนร่วมจ่ายได้ถึง 50% ของประชากรทั้งหมด แต่มารักษาแล้วใช้สิทธิเบิกจ่ายจริงเพียง 15-20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ไทยเก็บเงินประกันสังคม 1.5% ของประชากรทั้งหมด มารักษาจริง 0.8% ของประชากรทั้งหมด ทั้งๆ ที่ระบบการดูแลผู้สูงอายุของไทยต้องใช้งบประมาณ 160,000 ล้านบาท แต่ขอรัฐในปัจจุบันลดลงมาถึง 16 เท่า ก็ต้องรอการพิจารณาจากรัฐในภาวะวิกฤติทางการเมืองเช่นนี้

ตลอดการประชุม เป็นจังหวะที่ผมมองและรู้สึก "สงสาร สับสน สำนึก ส่งเสริม และสร้างสุขภาวะ" แก่คุณพ่อคุณแม่ของผมที่กำลังดูแลคุณยายมามากกว่า 6 เดือน จนรพ.ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ในทุกวัน คุณพ่อมีหน้าที่ดูดเสมหะและป้อนอาหารทางสายและคุณแม่มีหน้าที่เช็ดทำความสะอาดสุขอนามัยหลังคุณยายขับถ่าย ในแต่ละเดือน คุณแม่มีหน้าที่เรียกพยาบาลนอกรพ.ที่เปิดกิจการรับบริการเปลี่ยนสายอาหารทางจมูก ในแต่ละ 3 เดือน คุณพ่อมีหน้าที่อุ้มคุณยายขึ้นรถยนต์จนบางครั้งก็ปวดหลัง ส่วนคุณแม่มีหน้าที่ประสานงานกับระบบบัตรทองที่วุ่นวายของรพ.กับคลินิก เพียงแค่ได้ยาชุดเดิมๆ ไม่รวมระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพใดๆ ผมเองก็เคยจ้างนักกายภาพบำบัดมาประเมินและให้โปรแกรมการฝึกหายใจเพื่อลดเสมหะ แต่งานบ้านและงานดูแลข้างต้นของคุณแม่ก็หนักมากแล้ว จะมีใครเล่าที่จะคอยกระตุ้นคุณยายให้นั่ง และเคาะปอดของคุณยายให้หายใจโล่ง ทั้งที่ผมเป็นนักกิจกรรมบำบัดก็มีแต่มีงานประจำที่ต้องขนมาทำที่บ้านไม่จบสิ้นเพราะงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยดูไม่เป็นระบบและใช้คนเกินตัว (อาจารย์ต้องสอน ต้องเป็นประธานหลักสูตร ต้องบริการวิชาการ ต้องบริการคลินิก ต้องทำวิจัย และต้องทำกิจกรรมต่างๆ ของคณะกับมหาวิทยาลัย ภายใต้เวลาที่เร่งรัดทุกงานและต้องการประสิทธิผลของทุกงาน...จนผมป่วยมาแล้วหนึ่งครั้งใหญ่) ผมแทบจะดูแลคุณยายน้อยมากทั้งๆ ที่ตนเองมีความสามารถในการฝึกกลืนและให้กำลังใจ ตอนนี้คุณยายที่ความสามารถในการเคลื่อนไหวของแขนขาน่าจะอยู่ในระดับติดบ้านก็แย่ลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ในระดับติดเตียง สุดท้ายคุณยายมักจะบอกผมเสมอว่า "ไม่อยากอยู่บนโลกนี้เลย ทำอะไรก็ไม่ได้ พูดคุยก็ลำบาก กลืนก็ยาก (ผมมักจะเป็นล่ามการพูดริมฝีปากให้ยายบ่อยๆ) แต่ก็ไม่ไปเสียที"

 

ผมนั่งประชุมแล้วก็คอยลุ้นว่า "ระบบที่กำลังพัฒนาในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจะสำเร็จแล้วได้นำมาใช้กับคุณยายของผมหรือไม่ เมื่อไร อย่างไร" ผมคิดว่า "มีอีกหลายบ้านที่กำลังต่อสู้เพื่อสุขภาวะคล้ายครอบครัวผม คุณแม่ต้องลาออกจากงานมาดูแลคุณยายและบ้านเช่นเดียวกับคุณพ่อที่เกษียณอายุจากการทำงาน (ผู้สูงอายุที่แข็งแรงดูแลผู้สูงอายุติดเตียง) ส่วนผมก็ต้องทำงานใช้ทุนและเป็นมนุษย์เงินเดือนที่นำมาผ่อนชำระหนี้สินตามประสาของคนรุ่นกลาง และคนรุ่นใหม่อย่างน้องชายผมก็ต้องมุ่งเรียนมุ่งทำงานเก็บเงินของตนเองไป...สภาวะการณ์ของชีวิตผมช่วงนี้แหละครับที่ผมขอเรียกว่า ป่วย-จน-ตาย ... เจ็บป่วยเรื้อรังเมื่อใด ก็เกิดค่าใช้จ่าย แม้จะใช้ประกันสังคมก็ไม่เพียงพอ ชีวิตที่ป่วยก็เพียรอดทนทำงานเพื่อประคองไม่ให้จน แต่ถ้าป่วยจนทำงานไม่ไหว ก็ไม่มีเงินรักษาตัว และชีวิตก็รอความตายอย่างช้าๆ แค่นั้นเองหรือ?"     

หมายเลขบันทึก: 559922เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2014 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2017 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณมากๆครับคุณภูฟ้า คุณ Noktalay คุณยายธี และคุณนักรบปิ่นเกล้า

อ่านแล้วให้รู้สึกเห็นใจ เข้าใจในภาวะที่ Dr.Pop เผชิญอยู่ ด้วยเคยประสบมาด้วยตัวเองในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา หวังพึ่งหน่วยงานประกันสังคม พึ่งหมอ พึ่งคนอื่น แต่สุดท้าย ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการพึ่งตนเองทั้งเรื่องภายนอก กาย ทั้งเรื่องภายใน ใจ

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ได้เข้ามาในห้วงเวลานั้น กำลังใจที่จะต้องต่อสู้กับเรื่องร้ายๆในชีวิต ดูให้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมะ

ผมได้เรียนรู้ชีวิตที่ยิ่งใหญ่มาก...

และขอเป็นกำลังใจให้ ดร. ป๊อบ ผ่านห้วงเวลานี้ไปด้วยดี นะครับ

ขอเป็นกำลังใจนะคะน้องDr. Pop...พี่เองก็เคยอยู่ในวิกฤติเช่นนี้...และพี่ตัดสินลาออกจากงาน ทิ้งตำแหน่งหน้าที่การงานที่กำลังจะเติบโต ทิ้งวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา ทิ้งสังคมเพื่อนฝูง เพื่อมาดูแลคุณแม่นะคะ...

คุณแม่พี่ป่วยเป็นไตเรื้อรัง 8 ปี ต้องล้างไตสัปดาห์ละ 3 วัน ก่อนเสียชีวิต 4 เดือน ท่านได้บวชหลานชายคนเดียว ซึ่งเป็นลูกน้องสาว

เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ครับ

มาให้กำลังใจครับ

ขอบคุณมากๆครับสำหรับกำลังใจและประสบการณ์ที่มีความหมายร่วมกับผม ขอบคุณมากๆครับคุณพ.แจ่มจำรัส พี่ดร.พจนา และพี่ขจิต

เข้าใจความรู้สึกของคุณยาย และผู้ดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักและกตัญญู เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คนนะจ๊ะ

ขอบคุณมากๆครับพี่นงนาท คุณ Kanchana และคุณมะเดื่อ รวมทั้งกำลังใจจากคุณเพชรน้ำหนึ่ง คุณ Tuknarak และคุณธีระวุฒิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท