Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ความต่างวิถีที่ควรศึกษาในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน!!


เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระ พุทธศาสนา อาตมากลับมาจากงาน
"จุดประทีปแห่งปัญญา คืนกลับความสันติสุขสู่แผ่นดินไทย" ที่จัดขึ้น ณ
สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ เมื่อคืนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ที่ผ่านมา มีประชาชนมาร่วมกันพอประมาณ
ภายใต้การนำของคณะสงฆ์วัดราชผาติการามฯ ซึ่งมีพระธรรมปาโมกข์ เป็นประธาน
ในส่วนอาตมานั้นช่วยแนะนำให้การจัดงานดังกล่าวเกิดขึ้น
เพื่อความเป็นมงคลของแผ่น ดิน... ในห้วงเวลาที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ลูก
เด็กเล็กแดงจูงมือกันออกมาต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม
และพฤติกรรมการใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง...

จริงๆ แล้วเรื่อง นิรโทษกรรม คงเป็นสาเหตุอันหนึ่งในหลายๆ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เรียกว่าเป็นตัวจุดประกายให้เกิดลุกไหม้ในสาเหตุมากมายที่กองทับกันอยู่ในจิตใจ
จนเกิดความรุ่มร้อนกับนานาปัญหา
ที่มีกลุ่มบุคคลก่อกระทำการกันอย่างไม่ใส่ใจในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่
ดังปรากฏเป็นข่าวสารออกมาตลอดอย่างต่อเนื่องในเรื่อง ราวต่างๆ
และมิได้รับการเหลียวแลแก้ไขในเรื่องราวเหล่านั้น ด้วยความประมาท...
ด้วยความดูถูกประชาชนเจ้าของประเทศ... จนนำไปสู่ความสุดทน
ประกายไฟแห่งความรู้สึกคับแค้นใจจึงลุกติดขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้อำนาจเสียงใหญ่ผลักดันให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ผ่านกระบวนการของรัฐสภา...

ประกายไฟจึงจุดติดเมื่อผสมผสานกับมวลสารทางอารมณ์ที่คุกรุ่นจากเรื่องราวต่างๆ
อยู่แล้ว จึงแผ่กว้างขยายวงให้เกิดปรากฏเหตุการณ์การขับเคลื่อนของฝูงชนทุกเพศวัยออกสู่ท้องถนน
เชื่อมโยงไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ด้วยเจตนาอย่างเดียวกันคือ การแสดง
พลังคัดค้านการออก
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของกลุ่มบุคคลทางการเมืองปีกฝ่ายรัฐบาล จนต้องถอยร่น
รีบยุติเรื่องดังกล่าวเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม...
แต่ด้วยความที่สถานการณ์ผ่านห้วงเวลาของต้นลงไปแล้ว
จึงเกิดการส่งต่อลุกลามไปตามมวลสารแห่งปัญหาต่างๆ จนแปรเปลี่ยนเจตนา
ยกระดับการคัดค้านไปสู่การต่อต้านการกระทำของคณะบุคคล...
ปรากฏการณ์คลื่นมหาชนจำนวนมากจึงเกิดขึ้นดังที่เป็นอยู่...

เมื่อหมู่ชนเดินหน้าสู่การแสดงพลังต่อต้านอำนาจของบุคคลที่ได้รับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
จึงเกิดแรงผลักดันขึ้นจากอีกฝ่ายหนึ่ง
เพื่อยับยั้งพลังขับเคลื่อนที่ต่อต้านฝ่ายตน
จึงเกิดปฏิกิริยาระหว่างพล ังสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันขึ้นในสังคม
ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยกหาเหตุผลหา ความชอบธรรมมาอ้างอิง
เพื่อแสวงหากำลังสนับสนุนจากฐานมวลชนของประเทศ
จนเกิดการจัดตั้งมวลชนการเมืองขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน
ประกาศแสนยานุภาพในภาคประชาสังคม จะได้ผลักดัน
ลบล้างอำนาจพลังมวลชนที่ตรงข้าม... การประลองกำลังใน

ทุกรูปแบบจึงเกิดขึ้น ดังที่ปรากฏเป็นอยู่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน...

เมื่อกำลังขับเคลื่อนดำเนินไปสู่การเดินหน้าเพื่อหักล้างกัน ด้วยทฤษฎี
แสนยานุภาพ อารมณ์จึงอยู่เหนือเหตุผล
การพูดคุยในเชิงข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผลจึงถูกข้ามไป
สู่การวัดผลเชิงปริมาณด้วยการถือเสียงมวลชนข้างมากที่เป็นเจ้าของประเทศ
ตามรูปแบบ คณาธิปไตย... ละทิ้งธรรมาธิปไตย...

การขับเคลื่อนภาคมวลชนในเชิงลักษณะดังกล่าว
จึงเป็นสัญญาณอันตรายต่อทุกภาคส่วนของสังคม
โดยเฉพาะหากในแต่ละฝ่ายไม่รู้จักคำว่า "เหตุผล" ไม่รู้จักคำว่า "ศีลธรรม"
และสะกดความหมายของ ประโยชน์แห่งส่วนรวมไม่เป็น...

...ด้วย ตัณหา เป็นปัจจัยนำไปสู่ การแสวงหา...

การแสวงหา จึงนำไปสู่การได้มาในลาภา...

เมื่อได้มาในลาภจึงนำไปสู่ ความชอบชิดติดพัน...
ความหมกมุ่นฝังใจ... ความหลงใหลครอบครอง... ความริษยาและความตระหนี่
เป็นปัจจัยสู่การหวงแหนหวงกั้น จนนำไปสู่การใช้กำลัง
ใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบเพื่อ อารักขาดูแล...
นั่นคือประกายแห่งการรบราฆ่าฟัน การทะเลาะวิวาท การขัดแย้ง
ความแตกแยกจึงเกิดขึ้น จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน

ดังที่เคยปรากฏ  เพราะด้วยอำนาจตัณหาและการแสวงหาเป็นปัจจัย...

แม้การแสวงหาความชนะ... ก็เป็นการแสวงหาที่เกิดจากพื้นฐานแห่งอกุศลจิต
จึงปรากฏชัยชนะบนคราบเลือดและน้ำตา


หลากหลายชีวิตที่ต้องล้มหายตายจากหรือบาดเจ็บทุพพลภาพ
ซึ่งนั่นไม่ใช่ชัยชนะโดยธรรม

ดังที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า
ชัยชนะที่แท้จริงหากมาพิจารณาชัยชนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ใช้ธรรมานุภาพ

ย่อมเห็นความแตกต่างกับชัยชนะในความหมายทางโลกอย่างสิ้นเชิง...
เพราะชัยชนะของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูล...
เพื่อประโยชน์... เพื่อความสุข แด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย...เพื่อการอนุเคราะห์โลก

ดังบทสรุป พุทธชัยมงคลที่ ๑
ที่ว่าด้วยการทรงมีชัยชนะ เหนือพญามาร นาม วสวัตตี
และเหล่าบริวารผู้มีฤทธิ์เดชด้วย ธรรมวิธี คือ ทรงระลึกถึงพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการ

ที่เรียกเป็นบาลีว่า ทสบารมี อันมี ทานบารมี เป็นต้น จนชนะแสนยานุภาพ

อันเกรียงไกรของกองทัพพญามารที่เพียบพร้อมด้วยฤทธาเดชาชัยให้ย่อยยับอับปางสูญสลายไปได้
โดยเฉพาะการประกาศสัจจบารมี... อธิษฐานบารมี
ให้พระแม่ธรณีเป็นประจักษ์พยานในพระบารมี ๓๐ ทัสของพระองค์
ที่หลั่งไหลออกมาจากมวยผมกลายเป็นทะเลใหญ่
ท่วมกองทัพพญามารกวาดล้างออกไปจากแผ่นดินธรรมในบัดนั้น...
ให้เกิดชัยชนะที่บริสุทธิ์ ด้วยอำนาจบารมีธรรม...
คุณความดีที่ประพฤติสั่งสมสืบมา...

ใน พุทธชัยมงคลที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงแสดง ธรรมวิธี แห่งการเอาชนะพวกมีใจดุร้ายเหี้ยมโหด (ในเรื่องคือ อาฬวกยักษ์)

ทรงใช้ ขันติบารมี คือ ความอดทน... ความอดกลั้น ที่เป็นยอดแห่งพระบารมี
ซึ่งเป็น วิธีทรมานเป็นอันดี จนมีชัยชนะเหนือจิตสัตว์ที่ดุร้ายเหี้ยมโหด
แต่แฝงไปด้วยความอ่อนแอและมากไปด้วยความกลัว ด้วย ขันติธรรมบารมี...
แต่การใช้ ขันติธรรม นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
จะต้องพิจารณาในผลที่เกิดตอบ กลับด้วยเป็นสำคัญ

หลักสำคัญจึงต้องพิจารณาว่าใช้ ขันติธรรม กับใคร เมื่อใช้แล้วจะให้ผลอย่างไร!?

ใน พุทธชัยมงคลที่ ๓ ทรงมีชัยชนะเหนือสัตว์ที่ดุร้าย ขาดสติ ด้วย
วิธีลดลงด้วยน้ำ คือ เมตตาบารมี หรือใน พุทธชัยมงคลที่ ๔
ทรงมีชัยชนะเหนือจอมโจรแสนร้ายกาจ มีฝีมือ ด้วยวิธี
ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางจิตอันยอดเยี่ยม... และ
นี่สำคัญมากที่สาธุชนควรพิจารณา
เมื่อทรงมีชัยชนะเหนือหญิงมายาเจ้าเล่ห์เพทุบายร้ายกาจอย่าง
นางสาวจิญจมาณวิกา ณ เดียร์ถีย์ ที่ใช้มายาหญิงทุกรูปแบบ
เพื่อทำให้สังคมเข้าใจผิดในพระพุทธองค์ ด้วยการกล้าหาญว่า
พระพุทธองค์เป็นสามีของนาง...

คำกล่าวของ นางสาวจิญจมาณวิกา ณ เดียร์ถีย์ ถือได้ว่าเป็นดุจการประหาร...
แต่พระพุทธองค์ทรงสงบนิ่ง ใช้ วิธีสมาธิอันดี
จึงสงบระงับอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัท จนนำไปสู่ชัยชนะด้วยการตรัสเพียงสั้นๆ
ว่า "จริงเท็จประการใด ตถาคตกับเธอเท่านั้นที่รู้"

ในขณะเดียวกัน ทรงใช้วิธีแสดงธรรมอบรมสั่งสอนกับเจ้าลัทธินาม
สัจจกนิครนถ์ ที่เรียกว่า วิธีเทศนาญาณ ให้ยอมรับความจริง
มองเห็นตามความเป็นจริง หรือทรงมอบหมายให้ พระมหาเถระโมคคัลลานะ
พุทธชิโนรส ใช้วิธีอิทธิฤทธิ์ที่เหนือกว่า ทรมานพญานาคราช นันโทปนันทะ
ผู้เป็น มิจฉาทิฏฐิ สำคัญว่ามีฤทธิ์มาก จนยอมพ่ายแพ้ และใน
พุทธชัยมงคลที่ ๘ ทรงแสดงชัยชนะเหนือพรหม
ซึ่งประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ จึงสำคัญผิดว่าเป็นผู้มีฤทธิ์
รุ่งเรืองด้วยคุณบริสุทธิ์... เป็นผู้สร้างโลก ด้วย
อุบายวิธีวางยาอันพิเศษ คือ เทศนาญาณ... ด้วย พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จึงทรงแสดงธรรมเพื่อสงเคราะห์ พญาพรหม ให้เห็นจิตมิจฉาทิฏฐิ
ครอบงำด้วยอวิชชา ยึดติดกับความมืดบอด ความไม่รู้จริง...
จนพระพรหมเปลี่ยนจิตสู่ความเป็นสัมมาทิฏฐิในบัดนั้น...
นี่คือชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเอาไว้เพื่อเป็นธรรมวิธีแด่สัตว์ทั้งหลาย
จะได้นำไปเป็นแนว
ใช้ปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงความมีชัยชนะอย่างแท้จริงโดยการพึ่งตน-พึ่งธรรม

จากที่กล่าวมา เพื่อเป็นธัมมานุสติแด่สาธุชนทั้งหลาย

ในการคิด อ่านแก้ปัญหาอุปสรรคใด อย่างมี สติปัญญา

จึงควรศึกษาให้เข้าใจใน ธรรมวิธีที่แสดงไว้ในบทชัยชนะของพระพุทธองค์

ที่เรียกว่า พุทธชัยมงคล
อันจะนำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง...


เจริญพร

 

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- ศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2556

โดย..พระ อ.อารยวังโส

[email protected]

หมายเลขบันทึก: 559541เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2014 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2014 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท