วันครู..เชิดชูใจ เติมคุณค่าอันสดใสให้ชีวิต


ใครจะทำอย่างไรบ้างก็ช่างเขา เราทำใจของเราให้ผ่องใส

เขียนบันทึกนี้ เพื่อสารภาพว่า..ปีนี้ เป็นครั้งแรกของชีวิตที่ไม่ได้ไปร่วมงานวันครู มีเหตุผลส่วนตัวที่ไม่เหมือนใคร ขอระบายเป็นบันทึกที่ไม่เห็นด้วยเลย ที่เขตพื้นที่การศึกษามีความปรารถนาเหลือเกินที่จะจัดงานวันครูที่เขต ณ โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ที่รองรับผู้คนได้ไม่มาก แล้วเขตเองก็จัดติดต่อกันมา ๓ ปีแล้วด้วย

 

ทำไมไม่สนับสนุนนายกสมาคมครูแต่ละอำเภอ..ประธานกลุ่มโรงเรียนแต่ละอำเภอ..เป็นคณะผู้นำทำงานเพื่อวันของครู ทำไมต้องเดินทางไกลไปกลับเกือบ ๑๕๐ กม. จากนั้นช่วงบ่าย ก็คั่นด้วยเสวนาวิชาการ ที่ไม่เคยถามครูเลยว่าครูอยากฟังไหม เพื่อถ่วงเวลาให้ครูอยู่สังสรรค์ในยามค่ำคืน

 

และค่ำคืนที่หนาวเหน็บ..กับงานเลี้ยงรื่นเริง ดื่ม กิน ร้องเล่น เต้นรำ และลงท้ายด้วยอาการมึนเมา จากนั้นก็ต้องเดินทางไกลเสี่ยงภัยเพื่อกลับบ้านไปสู่ครอบครัวที่รอครูผู้เป็นทั้งพ่อและแม่..ใช่หรือไม่

 

ผมไม่ได้ปฏิเสธการดื่มกิน แต่ผมอยากเห็นวิธีคิดของผู้บริหารระดับสูง ที่มองย้อนอดีตแล้วนำคุณค่าในอดีตมาเป็นบทเรียนที่ดีงาม สมัยที่เรามีสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ..งานวันครู..สนุก เป็นกันเองและอบอุ่นมาก ตอนหลังมานี้แทบหาไม่พบ

 

ถ้าสนับสนุนให้ผู้บริหารและคณะครูร่วมกันที่อำเภอ..โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงเขต ถามว่าดีอย่างไร แน่นอนครับ..ประหยัดแรง ประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่ต้องเสี่ยงภัยกับการเดินทาง ช่วงบ่าย ครูก็ได้เล่นกีฬาเชื่อมความสามัคคี..สิ่งนี้ไม่มีที่เขตพื้นที่ เพราะเขตพื้นที่ไม่รู้จักครูดีพอและไม่มีบุคลากรพอที่จะทำสันทนาการแบบนี้

 

พิธีการช่วงเช้าและงานเลี้ยงภาคกลางคืน..ถ้าจัดที่เขตพื้นที่ เขตจะเชิญ(ว่าที่)นักการเมืองและผู้นำชุมชนใกล้ๆเขตที่ครูห่างไกลไม่รู้จัก แต่ถ้าจัดที่อำเภอ บรรยากาศการแนะนำครูใหม่ ให้น้องรู้จักพี่ จะเป็นที่ประทับใจนัก เชิญคนดีที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมงาน แนะนำนายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการ เชิญบุคคลที่มีคุณูปการต่อการศึกษามาร่วมพบปะให้ครูใหม่ได้รู้จักเพื่อมิตรไมตรีและขอบคุณ เช่น กำนัน กศน. โรงพยาบาล ตำรวจ ฯลฯ และควรเชิญ ตัวแทนอบต.และเทศบาลมาร่วมงานด้วย เพราะเราได้รับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน อาหารเสริม(นม) และทุกปีเขาก็สนับสนุนกิจการกีฬา ลูกเสือ และค่ายวิชาการต่างๆอยู่เสมอ....นี่คือ..รากฐานการศึกษาที่สำคัญ เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของครูที่ควรช่วยกันสืบทอด ให้ยั่งยืนไว้ในท้องถิ่น เป็นความกตัญญูรู้คุณต่อบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่้อการศึกษา ถ้าคิดว่าจะบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน..เราไม่อาจละทิ้งชุมชน แต่เขตพื้นที่เองกลับคิดไม่ถึง และมองข้ามแก่นแท้ของการศึกษาส่วนนี้ไป

 

การทำตามประชามติที่นิยมกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็ควรปรับเปลี่ยนบ้าง ปากก็อ้างว่ารู้และเข้าใจ เชิดชู "ความพอเพียง"เสียเหลือเกิน แต่การศึกษานี่แหละเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำงานแบบไม้หลักปักเลน จับแก่นสารอะไรได้ยาก แม้แต่อาชีพครูเอง ก็ยังมองไม่เห็นสาระสำคัญหลังเสร็จสิ้นการบูชาครู นอกจากตัวใครตัวมัน รอเวลาสังสรรค์ หรือคิดกิจกรรมคลายเครียดแบบเด็กๆ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังวิกฤติ บ้านเมืองร้อนระอุ ครูคิดอะไรกัน..แล้วเราก็อ้างว่าเป็นวันของเรา ที่เน้นศักดิ์ศรีเป็นสำคัญ ต้องทำทุกอย่างให้เมามันเหมือนงานปีใหม่โรงงาน ทำอะไรให้แปลกและหลุดโลกเพื่อให้เป็นข่าว และเช้าขึ้นมามีครูกี่พันคน  ที่เมาค้างจนไปสอนหนังสือไม่ได้...น่าคิดนะครับ..ครูไทย

 

ผมให้ความสำคัญกับพิธีการบูชาครู เห็นความสำคัญมาตลอดและอยากเห็นครูใกล้ชิดชุมชนบ้านเกิด แต่ช่างเถอะ...ผมจะไม่คิดอะไรอีกแล้ว จิตใจสงบและเย็นลงได้เมื่อเดินทางไปเยี่ยมชมและนมัสการหอประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดเทวสังฆาราม พระอารามหลวง(วัดเหนือ) ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

 

เชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่าน มีโอกาสไปเมืองกาญจน์ แวะไปนมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคล ได้ทั้งความรู้และความสงบร่มเย็นทั้งกายและใจ ได้พบปฎิปทาหลายอย่างที่ช่วยให้เกิด ขันติ อดทน กาย ใจเพื่อปัญญา มุ่งศึกษาสำเร็จสวัสดี วางเรื่องเคืองขุ่นสบายเป็นศรี สติมีปัญญาเกิดประเสริฐสันติ์..อันเป็นถ้อยคำเรียงร้อยที่ผนังภายในหอประวัติ

 

นานแล้วที่ผมไม่เคยรู้สึกอะไรเช่นนี้..เบาสบาย เป็นสุขและใจเย็นลงได้...

"ใครจะทำอย่างไรบ้างก็ช่างเขา เราทำใจของเราให้ผ่องใส

ทำดีจริงไว้เถิดหนอท้อทำไม แก่เฒ่าดีนั้นไซร้ค่าลายคราม"

 

                                                                ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

                                                                  ๑๗ มกราคม  ๒๕๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 559532เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2014 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่ไม่ได้ไปร่วมงานในวันครู เพราะมีอะไรหลายๆอย่าง

ไม่ถูกต้องและเป็นอะไรที่ไม่ประทับใจหลายประการ อาจจะเอ่ยไม่ได้ แต่ก็ได้มีโอกาสโทรหาคุณครู

สมัยเรียนระดับอาชีวะ และมหาลัยก็คิดว่าเพียงพอ และทำให้รู้สึกดีกว่าความจริงใจที่จอมปลอมของผู้ใหญ่

บางคน...

ที่จังหวัดของคุณมะเดื่อ จะจัดงานวันครู แบบ อำเภอใครอำเภอมัน สถานที่ส่วนใหญ่ใช้หอประชุมของ

รร.มัธยมประจำอำเภอ ไม่ต้องเดินทางไปที่ สพป. บังเอิญ ที่ คุณมะเดื่ออยู่ อ.เมือง ฯ เป็นที่ตั้งของ สพป. เขต 1 เขตจึงรับหน้าที่จัดงานโดยใช้ หอประชุม รร.ประจวบวิทยาลัย ไม่ใช่ที่ สพป. โดยตรง บ่ายก็เป็นการแข่งกีฬาของครูแต่ละกลุ่ม รร. เย็น - ค่ำ ก็เป็นการกินเลี้ยงสังสรร แต่คุณมะเดื่อไม่ได้อยู่ในภาค

บ่าย และภาคค่ำ เสร็จพิธีไหว้ครู ก็กลับจ้ะ

จ. ประจวบ ฯ มีพื้นที่ยาวมาก ขืนทุกอำเภอ ไปรวมที่เขต มีหวัง มี ชัตดาวน์ สพป. แน่ ๆ อิ อิ

ิ้อ้อ..! ลืมไป ภาพนี้ดูดียิ่งนะ

มาชมคุณครูผู้ให้ที่แท้จริงค่ะ

... คุณครู .... ผู้เป็นทั้ง... ผู้บริหาร ... ผู้ให้ ...โดยไม่หวังผลลัพธ์นะคะ ... ขอบคุณค่ะ

เมื่อสมัยรับราชการครั้งแรกอยู่ในอำเภอที่กันดารสุดของชลบุรี

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นมาตลอดคืองานวันครู

มีบรรยากาศเหมือนที่คุณชยันต์เล่าไว้

อบอุ่นมาก ดีใจแทนครูที่มีวันของตัวเอง

และชาวบ้านก็จัดงานให้ครูทุกปีค่ะ

...มีเหตุผลมากมายที่ไม่ตรงใจคนมากมายนะคะ...เหตุผลของเราก็อาจไม่ตรงใจคนอื่นๆเช่นกัน...ให้ดอกไม้เป็นกำลังใจนะคะท่านผอ.ชยันต์...

"ทุก..อย่าง..อยู่ที่..ใจ"..เจ้าค่่ะ..มา..สาธุ..กับ..สาธุชน..ที่ไม่ยึดติด..กับ..รูปแบบ..ที่ให้หรือได้มา...สุดทาง..คือ..อนัตตา..ที่มา..คือ..ตัวตน...."วาง ว่าง..สงบ..สว่าง"..สบายๆ..."..(ขอให้ท่าน..ประสพแต่..สุขัง..อายุ พลัง..ผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์....)

สวัสดีครับคุณครู ขอบคุณมากครับผม

ดิฉันเข้าเวรที่ ร.ร. จึงถือโอกาสปลูกผักกับเด็กๆ มีความสุขมากค่ะ ผอ.

อีเรียมอยากจะร้องเพลง ...ปาเจรา ฯ.. . แต่ร้องไม่ออกเลย.. มันมึนตึ๊บ.....

อัตตาหิ อัตตโนนาโถ รักย่อมเข้าใจในรัก เอ๊ย !!!! ไม่ใช่ .... ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เจ้าคะ

ขอบคุณมิตรรักนักเพลงทุกท่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท