ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม : การเรียนการสอนของลัทธิสารัตถนิยม


ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม

ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม (5) :

การเรียนการสอนของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism)

 

การเรียนการสอนของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism) ถือว่าเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการบรรยาย การทบทวนตำรา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์  เพราะเห็นว่า การเรียนการสอนโดยธรรมชาติแล้ว  เป็นงานที่หนักและมักจะไม่มุ่งหวังที่จะให้มีการนำไปใช้อย่างทันท่วงที    ดังที่ อริสโตเติล ได้มีแนวคิดว่า เยาวชนไม่ควรได้รับการสอนให้สนุกขบขัน  เพราะการเรียนไม่ใช่เรื่องสนุกขบขัน  แต่เป็นเรื่องที่ต้องพบกับความเจ็บปวด  แตกต่างจากเพลโตที่กล่าวว่า การศึกษาของเด็กๆ นั้น จะต้องไม่เป็นการบังคับหรือให้เรียนสิ่งที่ยากเกินวิสัย การเรียนจะต้องทำให้เกิดความสนุกไม่ให้เป็นการทรมาน เป็นที่บริหารใจ เป็นสนามเด็กเล่น ที่แสวงหาปัญญา

 

การเรียนการสอนจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกอย่างไม่จำกัด ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการและตรงกับวัยของผู้เรียน ขณะเดียวกัน สารัตถนิยมก็เน้น “Mastery  Learning” คือ มุ่งให้นักเรียนสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ได้ครบตามวัตถุประสงค์และมาตรฐานวิชาการของแต่ละวิชา  และสอดคล้องหรือส่งเสริมให้เกิดขบวนการ “Back-to-Basic”

 

จากแนวคิดเหล่านี้ เมื่อการเรียนเป็นงานหนักเช่นนี้  ความมีระเบียบวินัยที่เคร่งครัดจึงเป็น สิ่งสำคัญ  โดยการเรียนไม่ได้เน้นความสนใจในปัจจุบันของผู้เรียน  หากแต่จะชี้ให้เห็นถึงผลอันเป็นจุดหมายปลายทางในอนาคต และการเรียนนั้นไม่คำนึงถึงความสนใจส่วนตัวของเด็ก    แต่จะปลูกฝังให้เกิดความมานะพยายามที่อยากจะเรียนรู้  แต่ลักษณะเช่นนี้เป็นเพียงความสนใจขั้นต้นเท่านั้น  ในระดับสูงและในเรื่องที่ยากขึ้นๆ  ไป  ความสนใจจะไม่เกิดขึ้นทันทีในเบื้องต้น  แต่จะเกิดขึ้นจากการที่ได้ทำงานยากๆ  

 

 

      ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่สนใจแก่ผู้เรียนในระยะแรก การเรียนการสอนยังคงต้อง มีการปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนอยู่ เพราะนักคิด แต่ละคนในลัทธินี้ก็ยัง มีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่มีจุดหมาย ในเรื่องเดียวกันคือ มุ่งทั้งการพัฒนา ทั้งร่างกาย และจิตใจ หรือ ปัญญาของผู้เรียน ถ้าหากว่าเราไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะทำงานหนักตั้งแต่แรกเริ่มแล้วผู้เรียนก็จะประสบกับความลำบากในการที่จะสร้างวินัยในตัวขึ้นมาในภายหลัง  นักเรียนส่วนมากแล้วจะสามารถบังคับตัวเองได้

 

เพลโตจึงเห็นว่า “จิตใจ” ของคนเป็นสิ่งมีชีวิต คือมีความเจริญเติบโตเหมือนกับสิงที่มีชีวิตทั้งหลาย ปรัชญาการศึกษาของเพลโต จึงแบ่งออกได้เป็น ๔ ประการคือ 

 

สร้างปัญญา

จิตใจ

ระงับตัณหา

สร้างความยุติธรรม

 

     เป็นการศึกษาที่เป็นขั้นตอน  เพื่อจะให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รู้ความเป็นจริงของโลกตามสภาวะที่แท้จริงของมัน  ไม่ใช่เพื่อที่จะหาทางแปลความหมายของความรู้เหล่านั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา  หรือไม่ใช่จะรับความรู้ผิดๆ อะไรก็ได้ตามใจที่ตนชอบ   แต่ความรู้ที่ให้แก่เด็กนั้นต้องเป็นเนื้อหาที่ได้จัดและเลือกสรรไว้เป็นอย่างดีแล้วเพราะถ้าหากว่า การเรียนการสอนสามารถพัฒนาให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายดังนี้ได้ก็ย่อมเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งตัวผู้เรียน  และสังคม  ซึ่งก็ต้องอาศัยการเรียนการสอนที่มาจากผู้สอนที่ชำนาญ

   

 จะเห็นได้ว่า  การเรียนการสอนของลัทธิสารัตถนิยมนั้น เป็นการนำเอาเนื้อหาวิชาที่เลือกสรรแล้วเชื่อมโยงให้ประสานกัน  ซึ่งหลักการข้อนี้เป็นไปตามทรรศนะของนักปรัชญาสารัตถนิยมฝ่ายวัตถุนิยม  ที่มีความเชื่อว่า  สภาพทางวัตถุและสิ่งแวดล้อมทางสังคม  เป็นปัจจัยที่คอยกำหนดว่ามนุษย์ควรจะอยู่อย่างไร จึงเห็นว่าการศึกษาควรจะช่วยให้เอกัตถบุคคล ได้ตระหนักในศักยภาพ  หรือความสามามารถของตนเอง  แต่การตระหนัก  การเข้าใจในความสามารถของตนเองเช่นนั้น  ไม่ใช่เป็นการนำให้บุคคลทำอะไรตามความสามารถและความพอใจของแต่ละคน  หากแต่จะช่วยให้รู้จักตัวเองเพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคม  ของธรรมชาติและของโลก ความศักยภาพของตนเองที่เป็นจริง

 

     โดยสรุป  แนวคิดของลัทธิสารัตถนิยม มีประวัติความเป็นมา จากแนวคิดของอุดมคตินิยม จิตนิยม สสารนิยมบางส่วน มีความเจริญเป็นระบบมากขึ้น เมื่อมีนักการศึกษาของอเมริกันตั้งเป็นสมาคม  

 

     จุดมุ่งหมายการศึกษาของลัทธิ  ต้องการพัฒนาให้ผู้เรียนมีจิตใจที่สูงส่งมีคุณธรรมดีเลิศ ซึ่งจะเกิดได้ก็โดยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่มาจากอดีต  ที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ดีงามแล้ว วิชาการต่างๆ ก็ต้องศึกษางานจำพวกที่เป็นผลงานที่ยอมรับกันว่าดีเลิศ  (Great book) หรือเป็นผลงานที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้น   หรือช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น   โดยมุ่งให้ผู้เรียนจะต้องน้อมนำเอาคำสอนไปปฏิบัติให้ได้ เป็นแนวคิดที่ยึดเอาผู้สอนเป็นศูนย์กลาง

 

 

 

 

ด้วยเมตตาธรรมค้ำจุนโลกา

หมายเลขบันทึก: 559377เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2014 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2019 04:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ก็คือ................

การเรียนการสอนของลัทธิสารัตถนิยมนั้น เป็นการนำเอาเนื้อหาวิชาที่เลือกสรรแล้วเชื่อมโยงให้ประสานกัน ซึ่งหลักการข้อนี้เป็นไปตามทรรศนะของนักปรัชญาสารัตถนิยม จากแนวคิดของอุดมคตินิยม จิตนิยม สสารนิยมบางส่วน คือ สหนานาวิทยาที่รวมแล้วเป็นเรื่องเดียวกันได้..กระผมเข้าใจแบบนี้ครับ.ท่านพระอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท