"พลังใจ"


ก่อนอื่นต้องขอโทษทุกคนสำหรับบันทึกที่อยู่ในสมุดซึ่งไม่สัมพันธ์กัน  เนื่องจากมีระบบมีปัญหาในการ Upgrade (อ.จันทวรรณ บอกมาครับ) ผมจึงฝากไว้ในสมุดที่มีอยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่ระบบใช้งานได้ตามปกติ จะย้ายให้ถูกที่นะครับ

วันนี้หัวหน้าสำนักงานสำนักศึกษาทั่วไปคนใหม่ (คุณพัชรนันญ  ศรีแก่นจันทร์) ได้เข้ามาพบปะพูดคุยกับทีมงานศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ (Center of Academic Development for Learning) หรือ CADL และมาเรียนรู้กระบวนการทำงานของทีมเรา
อาจารย์ ดร.ฤทธิไกร  ไชยงาม รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษและพัฒนาเครือข่ายวิชาการ หัวหน้าทีม CADL ก็ได้อธิบายถึงภาระหน้าที่ที่ CADL รับผิดชอบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2  กลุ่มใหญ่ๆ คือ งานภายใน และ งานภายนอก โดยใช้กระบวนการ KM เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานทั้ง 2 กลุ่ม  โดยงานภายใน มีรายละเอียดดังนี้

- งาน CADL มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ KM ของบุคลากรภายในสำนักฯ  โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาการ และงานพัฒนาเครือข่ายวิชาการ ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

- งานกิจการพิเศษ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ จัดโครงการเกี่ยวกับงานรัฐพิธี งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม งานที่จัดเป็นกรณีพิเศษ เช่น เชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงมาบรรยายให้ความรู้ จัดโครงการเสวนาทางวิชาการ เป็นต้น

ส่วนงานภายนอกนั้น งาน CADL และ งานกิจการพิเศษ จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการในจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันได้มีเครือข่ายทางวิชาการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิสยามกัมมาจล (Sufficiency Economy : SE) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1 - 3 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 (มหาสารคาม) เทศบาลเมืองมหาสารคาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1 (Professional Learning Community : PLC)

เมื่อหัวหน้าสำนักงานคนใหม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของศูนย์ CADL แล้ว เราก็ได้พูดคุยกันในเรื่องต่างๆ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่สะกิดใจผม ... นั่นคือ KM ...ผมได้เล่าถึงปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ KM ดูเงียบเหงา (ฮาาาาา) เล่าให้หัวหน้าสำนักงานฟัง พอเล่าแล้วก็รู้สึกสบายใจ เพราะผมได้ถ่ายโอนความทุกข์นั้นให้คนอื่นไป แต่ผมดีใจกว่านั้น เพราะหัวหน้าสำนักงานนอกจากจะรับฟังแล้วยังเข้าใจตรงกันกับทีมเรา CADL ซึ่งท่านก็เชียร์ให้ทีมเราทำตามแผนที่ได้วางไว้ตั้งแต่แรก คือ จะมีการ KM กันทุกทุกเดือน!!!

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่อยากให้ทุกคนกังวลกับคำว่า KM มันจะเป็นอะไรก็ช่างมันครับ ขอให้เราเข้าใจตรงกันว่า เรามาคุยกันเพื่ออะไร แล้วเราได้อะไร สิ่งนี้ผมมองว่ามันสำคัญกว่าความหมายของมัน แน่นอนว่า ลักษณะที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี่ได้ถูกนักวิชาการทั้งหลายจำกัดความมันว่า KM แต่ทว่า คำๆ นี้ มันอาจจะทำให้คนบางกลุ่มเกิดอาการเบื่อ เหนื่อยหน่าย ทำไปทำไม KM ภาระงานเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ...ผมขอย้อนไปไม่ไกลหรอกครับ สัก 20 ปีที่แล้ว เราแทบจะไม่รู้จักคำคำนี้ด้วยซ้ำ  แต่เราก็อยู่ได้ ทำงานได้ พัฒนางาน จัดการความรู้ได้ แม้สิ่งที่กำลังดำเนินอยู่จะเป็นการประชุมแบบเครียดๆ ก็ตาม แต่เชื่อเถอะครับว่า เมื่อไหร่ที่คุณมีการพูดคุยกัน และนำไปสู่การปรับปรุง การพัฒนา หรือทำให้สิ่งหนึ่งๆ มันดีขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น สิ่งนั้นจะเป็นอะไร ไม่ต้องไปสนใจ ขอแค่ผลลัพธ์มันเป็นที่น่าพอใจและเรามีความสุขกับมัน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ตอนนี้ เรารู้จักคำว่า KM มันกลับกลายเป็นว่า เราไม่ชอบ ไม่ทำได้หรือไม่ เสียเวลา...ความรู้สึกเหล่านี้ วางมันลงเถอะครับ อย่างที่ผมบอกว่า มันจะเรียกว่าอะไรก็ช่างไม่ต้องไปสนใจ "เราหันมาคุยกัน เล่าสารทุกข์สุขดิบ สู่กันฟัง ก็พอ..."

หัวใจของผมเริ่มพองโตอีกครั้ง ผมจะเดินหน้าต่อไป จะทำมันให้ได้ LO

 

KM Circle.pdf

หมายเลขบันทึก: 559358เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2014 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2014 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท