พุทธปรัชญาการศึกษาในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)


พุทธปรัชญาการศึกษาในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)

พุทธปรัชญาการศึกษาใน

ทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)

 

 

๕.๑ ความหมายการศึกษาในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

       พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงความหมายของการศึกษาว่า คำว่า “การศึกษา” มาจากภาษาบาลีว่า สิกฺขา แต่เราเอาตามสันสกฤตว่า “ศิกฺษา” ทั้ง สิกฺขาและศิกฺษา และศึกษาเป็นคำเดียวกัน  ซึ่งทั้งพระพรหมคุณาภรณ์ และพุทธทาสภิกขุ มีความเห็นเรื่องความหมายของการศึกษาตรงกัน ส่วนการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ เรียกการฝึกตนของมนุษย์ว่า การศึกษา (สิกขา) หรือการพัฒนาชีวิต (ภาวนา) ซึ่งเป็นการศึกษาที่เรียกว่าไตรสิกขา และการศึกษาคือ การพัฒนาชีวิตที่ดำเนินไปตลอดจนกระทั่งบรรลุเป้าหมายคือ อิสรภาพและความสุขตามหลักไตรสิกขา

 

      พระพรหมคุณาภรณ์  ต้องการเน้นความหมายของการศึกษาอย่างพุทธทาสภิกขุ  ที่มุ่งเน้นการให้ความหมายการศึกษาในเชิงการฝึกฝนอบรมตน  ให้ก่อเกิดความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการมุ่งการศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในที่ว่า การศึกษาภายในตนเป็นสิ่งที่ยืนตัวแน่นอน เพราะเกี่ยวด้วยธรรมชาติภายในของบุคคล การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายนอก เป็นประโยชน์แก่มนุษย์และทำให้ชีวิตเข้าถึงจุดมุ่งหมาย คือความเป็นอยู่อย่างดีที่สุดได้จริง จึงเรียกว่าการศึกษาที่แท้

 

       กล่าวโดยสรุป  จะพบว่าทรรศนะของพระพรหมคุณาภรณ์  มองการศึกษาในประเด็นที่ว่า เมื่อการศึกษาสามารถพัฒนาภายในตัวของผู้เรียนได้แล้ว  ก็สามารถพัฒนาภายนอกได้ตามไปด้วย ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ เห็นว่าความมีอิสรภาพภายในก็คือ ความไม่มีทุกข์ในชีวิต การตามรู้เท่าทันตามความเป็นจริง ซึ่งก็คือการเข้าถึงภาวะเป็นพระอรหันต์ ส่วนอิสรภาพภายนอกก็คือ การศึกษาที่ส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีความรู้ หรือทักษะความสามารถด้านต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างราบรื่นได้ในสังคม

 

๕.๒ จุดมุ่งหมายการศึกษาในทรรศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

    พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึง  จุดมุ่งหมายของคนที่มีการศึกษาว่า คนที่มีการศึกษา จบการศึกษาแล้ว เรียกว่า “บัณฑิต” คือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท พัฒนาชีวิตของตนจนบรรลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย ทั้ง ๓  คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ  และปรมัตถะ

 

       จุดหมายทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นจุดหมายที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาหรือเป็นอุดมคติของผู้เรียนที่ต้องตระหนักในการศึกษา เพื่อให้เกิดเอาใจใส่ในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างให้คนธรรมดาเป็นคนที่ได้รับการศึกษาที่เรียกว่าเป็น “บัณฑิต” และการศึกษาก็เป็นเครื่องมือให้แก่บัณฑิตในการดำเนินชีวิตและบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่งเสริมให้ผู้ที่ผ่านการศึกษาเป็นบุคคลที่มีชีวิตที่ดีงาม โดยไม่ต้องอิงกับวัตถุ อินทรีย์สัมผัสที่ตอบสนอง เป็นบุคคลที่พึงประสงค์ในการดำเนินชีวิตที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย  เพราะการศึกษาหากไม่สามารถสร้างให้ผู้เรียนบรรลุผลในด้านความสุขได้ การศึกษาก็ยังไม่เป็นการศึกษาที่แท้จริง    การศึกษาจึงเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง  การศึกษาจึงสามารถพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้เป็นผู้มีความสุข

 

       จุดมุ่งหมายของการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ คือการพัฒนาบุคคลให้มีปัญญา คือมีชีวิตหลุดพ้นจากกิเลส สามารถดำเนินชีวิตไปด้วยความเข้าใจโลกและสังคมเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนามนุษย์ ให้เกิดปัญญาเพราะเมื่อสามารถพัฒนาให้เกิดปัญญาแล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็น “บัณฑิต” ซึ่ง บัณฑิต ในความหมายก็คือ เป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอันนำไปสู่การมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ ที่มีความสุข ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น

 

๕.๓ สถานที่เรียนในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

       พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต)  เห็นว่า สถานที่เรียนต้องมีลักษณะที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่น  ในศักยภาพของตนในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม  สถานที่เรียนไม่เพียงแต่สถานที่ดี แต่ต้องมีบุคลากรที่ดี เพื่อเสริมสร้างการกระตุ้นแก่ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อไปได้ และต้องทำหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการต่อชุมชน พร้อมกันไปด้วย มิฉะนั้นก็ไม่สามารถเป็นเครื่องรองรับความมั่นคง ของความเป็นมหาวิทยาลัย มุ่งประโยชน์สุขของสังคม จะกลายเป็น การมุ่งเพื่อการเพลิดเพลินทางวิชาการ(อภิปรัชญา)ไป

 

๕.๔ ผู้สอนในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

      พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงผู้สอนไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติโดยยกพุทธองค์เป็นแบบอย่างไว้ว่า

     ก. บุคลิกภาพ ๑. มีร่างกายสง่างาม ๒. มีเสียงไพเราะ ๓. มีกิริยามารยาทเรียบร้อย

     ข. คุณธรรม มี ๓ ประการคือ ๑. มีปัญญา คือ ทศพลญาณ ๑๐ ๒. พระวิสุทธิคุณ  ๓. พระปัญญาธิคุณ และมีองค์คุณของความเป็นกัลยาณมิตรซึ่งมี  ๗ ประการคือ ๑. ปิโย น่ารักในฐานเป็นที่วางใจและสนิทสนม ๒. ครุ น่าเคารพ  ๓. ภาวนีโย น่ายกย่อง  ๔. วตฺตา รู้จักพูด  ๕. วจนกฺขโม  อดทนต่อถ้อยคำ ๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา กล่าวชี้แจงแถลงเรื่องต่างๆ ที่ลึกซึ้งได้ ๗. โน จฏฐาเน นิโยชเย  ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อม

     นอกจากนั้นครูผู้สอนจะต้องมีคุณสมบัติที่ตรงตามหลัก สัปปุริสสธรรม ๗ ประการของพระพุทธศาสนาด้วยก็คือ  ๑. รู้จักหลักและรู้จักผล  ๒. รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล  ๓. รู้จักตน ๔. รู้จักประมาณ  ๕. รู้จักกาล ๖. รู้จักชุมชน และ ๗.มีกัลยาณมิตรธรรม

 

      จากคุณสมบัติของผู้สอนจะเห็นได้ว่าพระพรหมคุณาภรณ์ได้เน้นถึงคุณลักษณะที่มีความเพียบพร้อมทั้งทางด้านความรู้และปัญญา ของผู้สอนว่าหากมีครบสมบูรณ์ จะสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดต่อผู้เรียนเป็นปฐมและเป็นการทำให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจในการใฝ่เรียนรู้ และฝึกฝนตนไปตามต้นแบบ คือผู้สอน

 

๕.๕ หลักสูตรการศึกษาในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

    พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึง หลักสูตรการศึกษาว่าต้องมีการนำหลักธรรมมาประยุกต์ คือ ๑.หลักอริยสัจจ์ ๔ ๒.หลักขันธ์ ๕ ๓. หลักปฏิจจสมุปบาท ๔. หลักไตรลักษณ์ ๕. หลักมัชฌิมาปฏิปทา= ไตรลักษณ์ =โอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อให้การศึกษาเป็นไปอย่างครบวงจร ที่ให้ความสำคัญทั้งชีวิต คือร่างกาย และจิต เป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่สมดุล เพื่อนำไปสู่การศึกษาศิลปะศาสตร์ว่า เป็นวิชาที่จะพัฒนาศักยภาพพื้นฐานของมนุษย์ การเรียนรู้หรือว่ารับรู้ต้องสามารถสื่อความหมายถ่ายทอดแก่ผู้อื่นอย่างๆ ได้ผลเป็นการนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีงาม การมีชีวิตที่เป็นสุข การสอนจริยธรรมที่เกี่ยวกับการแสดงออกอย่างเสรี   ก็ต้องฝึกการรับฟังผู้อื่นด้วย  และคิดเชื่อมโยงไปหาการใฝ่รู้ความจริง  จะฝึกแต่การแสดงออกโดยเสรีอย่างเดียวไม่ได้

 

      พระพรหมคุณาภรณ์   เน้นถึงหลักสูตรที่เสริมทั้งด้านวิชาการและวิชาศีลธรรมเพื่อให้เกิดกระบวนการคิดที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ สามารถเข้าใจชีวิตได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ที่การศึกษาเป็นไปเพื่อการสิ้นทุกข์แม้ว่าหลักสูตรต้องการที่จะมุ่งเน้นความเป็นเลิศเฉพาะทาง เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด  แต่ต้องมีเป้าหมายไว้ว่า ต้องให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งต้องตั้งไว้ก่อนแต่ก็ต้องให้ความสำคัญในเชิงบูรณาการ คือการศึกษาในด้านศีลธรรมก็ต้องสอนควบคู่กันไปด้วย   คือต้องมีการกล่าวเน้นย้ำในการสอนทุกครั้ง

๕.๖ การเรียนการสอนในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

      พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  ได้กล่าวว่า การเรียนการสอนจะประสบความสำเร็จ การสอนวิชาชีพและวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ  ถ้าสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์

 

      เพื่อให้การศึกษาเป็นไปอย่างกว้างขวาง และลึก ทำให้การศึกษาเป็นการศึกษาอย่างถูกต้องมีแรงจูงใจ(ฉันทะ)  เพราะได้เรียนรู้กับผู้ที่มีประสบการณ์หรือเชี่ยวชาญจริง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ  มุ่งไปยังผลโดยตรงของสิ่งที่เราจะทำ  เพื่อสร้างความเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน  และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการศึกษา คือทำให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา  รักวิชาการ  เตรียมให้เขาเป็นคนที่เรียนเป็นจึงจะได้ความรู้จริง  รู้จักคิดเป็น  ค้นคว้าเป็น  คือ ต้องเป็นคนใฝ่รู้  ชอบค้นคว้า  และต้องรู้วิธีค้นคว้า ส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาต่างๆ คือ วิชาศิลปะศาสตร์เป็นวิชาการสำหรับสร้างคนให้เป็นนักศึกษา  คือให้เป็นผู้มีความพร้อมในการศึกษา เป็นการเตรียมบุคลากรที่มีคุณภาพ  เพื่อให้รู้จักตัวของตัวเองที่เป็นคนไทย  รู้จักสร้างวิชาการสมัยใหม่เป็นผู้นำ และผู้ให้ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาแก่โลก โดยการนำ อริยสัจจ์ ๔ มาวิเคราะห์ในการแก้ปัญหา ทั้งต่อการเรียนในด้านวิชาการและด้านจิตพิสัยของผู้เรียนให้เกิดผลอย่างตรงกับปัญหา เป็นทางออกที่ประสบผลดีอย่างไม่เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา เพราะพุทธปรัชญาเป็นการสอนมุ่งให้ผู้เรียนได้เข้าใจตนเองเป็นเบื้องต้น  คือเรียนรู้ตนเอง เมื่อรู้ตนเองแล้วก็สามารถเข้าใจสิ่งอื่นๆได้

 

       ดังนั้นการเรียนการสอนต้องหากต้องการแก้ปัญหาการศึกษาที่เป็นอยู่  ต้องนำเอาหลักพุทธธรรม   ช่วยในการแก้ปัญหาให้กับวิกฤตการณ์ทางการศึกษาของสังคมไทย   การให้การศึกษาไม่ควรเป็นการให้แปลกแยกกับวัฒนธรรมของตน การศึกษาเป็นการเข้าใจทั้งวัฒนธรรมรากเหง้าของตน และเรียนรู้ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ และรู้จักเรียนรู้ หาทางแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานคติความเชื่อของตน

 

      ในทรรศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ การเรียนการสอนต้องเป็นอะไรที่มากไปกว่าการเน้นเรื่องวิชาการ หรือวิชาชีพ  การศึกษาต้องเร้าความต้องการเรื่อง ฉันทะ ให้เกิดแก่ผู้เรียนให้อยากรู้   อยากเห็น อันนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งอันจะนำไปสู่การศึกษาอย่างยั่งยืน  การเรียนการสอนต้องมีการบูรณาการหลักพุทธปรัชญามาช่วยในการเรียนการสอน ให้เกิดการเติมเต็ม   สิ่งที่การเรียนการสอนขาดนั้นก็คือการเน้นย้ำมารยาท ทางด้านจริยธรรม หรือศีลธรรมของผู้เรียน การแก้ปัญหาจึงไม่เพียงแต่การศึกษาด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพที่หมายถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพเท่านั้น แต่ต้องหมายรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านศีลธรรมด้วย   การเรียนการสอนจึงจะสอดคล้องกับวิชาการที่นำไปสู่การฝึกฝนหรือการดลใจ ให้ผู้เรียนเกิดฉันทะเพื่อไปสู่การขยายผล หรือการลงมือปฏิบัติทั้งด้านวิชาชีพและศีลธรรม   การเรียนการสอนจึงต้องสอดคล้องกับพื้นฐานความเชื่อของสังคม เพราะหากไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของสังคมแล้วการเรียนการสอนจะไม่อาจประสบผลสำเร็จไปได้ เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง

 

๕.๗ การจัดการศึกษาในทรรศนะพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) 

       พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  เห็นว่าการจัดการศึกษาจะต้องสามารถให้ ผู้ที่จะเรียนได้ดี  สามารถพัฒนาศักยภาพได้ดีต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในปัญญาของมนุษย์ เป็นผู้ใฝ่เรียน  ใฝ่สร้างสรรค์ หรือใฝ่ทำเรียกว่า “ฉันทะ” ควบคู่กับ ความมีวินัยการจัดการศึกษาจึงสามารถให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องอาศัยการมีกัลยาณมิตร  กับการรู้จักคิดใคร่ครวญรู้จักคิดแยกแยะคิดอย่างถ้วนถี่  รู้จักคิดตามหลักต่างๆ เป็นการศึกษาตามหลักไตรสิกขาที่มี สัมมาทิฐิ เป็นเบื้องต้น แห่งกระบวนการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการนำไปสู่การเข้าหาความจริงตามหลักอริยสัจจ์ ๔ ที่ไม่เพียงเน้นให้ผู้เรียน ได้เกิดความใฝ่รู้ที่ดี เรียกว่า “ฉันทะ” ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นเตือนภายในที่ดีให้ออกมา หรือเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการฝึกอย่างมีวินัยอย่างต่อเนื่อง เท่านั้น แต่ยังเป็นการมุ่งการเรียนรู้ของชีวิตอย่างต่อเนื่อง หรือให้ถึงจุดหมายสูงสุด  คือ พระนิพพาน  เพราะมิฉะนั้นก็ยังเป็นผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่

 

      ดังนั้นโดยสรุป การศึกษาในทรรศนะของพระพรหมคุณาภรณ์จึงเน้นการพัฒนา ๔ ด้านคือ กาย จิตใจ สังคมและปัญญา หรือเรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิและปัญญา อันเป็นกระบวนการสำคัญ

 

ด้วยเมตตาธรรม

หมายเลขบันทึก: 558824เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2014 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2019 06:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การศึกษาเท่านั้นจะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในประเทศ หากนำแนวพุทธปรัชาของพระพรหมคุณาภรณ์ไปใช้ในกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง การเมืองไทยคงไม่วุ่นวายเช่นนี้ นักการเมือง ซึ่งเป็นเสมือนรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลผลิตของการศึกษาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕จนถีงปัจจุบัน เพราะเรามิได้จัดการศึกษาตามแนวสร้างให้ผู้เรียนเป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามแนวพระพุทธศาสนา ไปเน้นตามแนวตะวันตกที่เน้น ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา มากเกินไป

พุทธ + ปรัชญา คือการรู้จักใช้ความดีให้เป็น........เข้าใจเช่นนี้..ถูกหรือเปล่าครับพระอาจารย์..ไม่แน่ใจ

เป็นเช่นนั้น แต่ทุกวันเราอยู่กับ วังวนกองกิเลศ ความโลภ โกธร และหลง วัตถุนิยมจนยากที่จะปฎิเสธ

จารุพงศ์ ไพสิฐสิริรักษา

เห็นด้วยครับ แนวทางของพระคุณเจ้านั้น เป็นหลักการศึกษา ที่ชัดเจน เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดแล้ว ไม่ต้องไป อ้างอิงหรือ ไปเอาแนวทางพัฒนาการศึกษา จากนักการศึกษาจากต่างประเทศให้เสียเวลา ประเทศไทย เสียเวลามามากกับการปฏิรูปการศึกษา มัวแต่ไปให้ความสำคัญกับ หลักสูตรของต่างประเทศ หรือแนวทางใหม่ๆ  แนวทางพัฒนาคนให้สมบูรณ์ ตามหลักไตรสิกขา ( ศีล สมาธิ ปัญญา )ของพระคุณเจ้านั้นมีความครบถ้วนทุกประการ แต่ที่ไม่พัฒนาสักที เพราะเราไม่เอาหลักไตรสิกขาไปใช้เลยแม้แต่น้อย เอาไปแต่เพียงใว้ท่องจำ แค่นั้นครับ จริงๆ วิธีตรวจสอบหรือวัดผลประเมินผล ก็ไม่สลับ ซับซ้อน แม้แต่น้อย ให้ลองวิเคราะห์ดูตามลำดับครับ คือเมื่อไม่ไดีขึ้น หรือไม่พัฒนาขึ้น ก็กลับไปดูที่ตัวแรกคือ ศีล (ไม่ใด้หมายถึงศีล 5 ข้อ ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ ) ว่าปฏิบัติได้ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ตามหลักของไตรสิกขาแล้ว ศีลคือจุดเริ่มต้นของทุกๆ สิ่งครับ เมื่อปฏิบัติครบถ้วนสมบูรณ์ สมาธิ ก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ และปัญญา ก็จะเกิดขึ้นเอง ตามกระบวนการของไตรสิกขาเองครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท