dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

เตรียมพร้อมเด็กปฐมวัยไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558


 

 

                                    เตรียมพร้อมเด็กปฐมวัยไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558

             การพัฒนาคนให้มีคุณภาพหรือการสร้างมนุษย์ให้มีศักยภาพนั้นจะทำให้สังคมรวมถึงประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า การทำให้คนมีความเจริญนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยหากพ้นจากวัยนี้ไปแล้วจะทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ยิ่งประเทศไทยเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องพัฒนาเยาวชนในช่วงของปฐมวัยโดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันพัฒนาอย่างจริงจังภายใต้บริบทของประเทศไทยซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเองโดยเฉพาะทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ จากการประชุมสัมมนาเมื่อไม่นานมานี้ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับภาคเครือข่าย ได้จัดประชุมเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนไทย สู่ประชาคมอาเซียน ประธานในพิธีเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคือนายอานันท์ ปันยารชุน ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กรวมผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน วัตถุประสงค์ในการจัดประชุมคือเป็นเวทีกลางให้กับผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งระดับนโยบาย ระดับนักวิชาการและนักปฏิบัติได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทย พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีความพร้อมสำหรับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ประเด็นสำคัญคือการเตรียมเด็กของเราให้พร้อมเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งมีหลายอย่างที่จะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจังไม่เช่นนั้นประเทศเราอาจจะมีคนไทยที่ขาดคุณภาพทั้งความเป็นไทยและความเป็นสากลเนื่องจากขาดการอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ปฐมวัย  การประชุมในครั้งนั้นประธานในพิธีคือนายอานันท์ ปันยารชุนได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยตอนหนึ่งที่สำคัญว่าการที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์  แต่ต้องพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ดีก่อน บทบาทของพ่อแม่คนที่เลี้ยงดูเด็กมีความสำคัญอย่างมากที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กในช่วงก่อนเข้าเรียน 5-7 ปีซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ควรมีการสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ต่อไป ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กคิดเป็นคือครูต้องสอน หรือพูดให้น้อยลง เปิดโอกาสให้เด็กพูด คิด แสดงความเห็นมากขึ้น นอกจากนั้นควรดูแลการนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อทั้งหลายที่ทำให้มีการลอกเลียนแบบและเกิดพฤติกรรมในทางที่ผิด และที่เน้นย้ำคือ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องเริ่มคิดว่าการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญระดับชาติ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า จะละเลยไม่ได้แม้แต่คนเดียว ปัจจุบันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเด็กประมาณ 18 % ต้องดำเนินชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจน ขาดสารอาหาร ไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่ เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ดูแลให้เด็กมีโอกาสพัฒนาอย่างเต็มที่ตามศักยภาพของทุกคน และสนับสนุนงบประมาณในด้านนี้ให้มาก เพราะผลการวิเคราะห์ของนักวิชาการต่างประเทศระบุว่า การลงทุนกับโครงการพัฒนาเด็กให้ผลประโยชน์สูงกว่าการไปลงทุนในการแก้ปัญหาเด็กในภายหลัง จึงเห็นว่านายอานันท์ ปันยารชุนได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยโดยให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้ตระหนักและร่วมกันพัฒนาอย่างจริงจังหากเรามีคนที่มีคุณภาพแล้วก็จะนำไปสู่ความสำเร็จเมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แล้วเราจะพัฒนาความพร้อมของเด็กปฐมวัยได้อย่างไร เด็กปฐมวัยทุกคนควรได้รับการพัฒนาระบบอารมณ์ของสมองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากทั้งก่อนเข้าโรงเรียนและช่วงที่เด็กเข้าโรงเรียน ผู้ใหญ่ส่วนมากจะละเลยเห็นว่าไม่สำคัญ กิจกรรมที่ผู้ใหญ่ควรจัดหรือให้กับเด็กอย่างเช่น การหาเวลาอยู่กับเด็ก  เล่นกับเด็กกลางแจ้ง ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้เล่นกลางแจ้ง ในการปีนป่าย คลาน เล่นบทบาทสมมติ เล่นน้ำ เล่นทราย อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง ให้เด็กได้เล่นกับเด็กอื่น สอนกติกาในการเล่น ไม่ว่าการรอคอย การแบ่งปัน การช่วยเหลือกัน คุณธรรมจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ความอดทนรอคอย ความรับผิดชอบ การมีวินัยในตนเอง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น เมื่อเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทางอารมณ์อย่างสมบูรณ์จากการจัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมจากผู้ใหญ่แล้วก็จะส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองไปพร้อมกัน การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่ปล่อยให้เด็กๆโตตามยถากรรมหรืออบรมเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม  

 

หมายเลขบันทึก: 558447เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2014 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2014 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท