วัฒนธรรม สังคม และยอดมนุษย์


วัฒนธรรม สังคม และยอดมนุษย์

 

การสืบทอดคุณค่าของสังคมนั้นมีกลไกทางสังคมที่น่าศึกษา น่าสนใจ เพราะที่สุดแล้วการที่เรา "ต้องการ" ให้เกิดอะไรก็ตาม กับการเกิดขึ้นมาจริงๆนั้น ต้องอาศัย "ตัวเชื่อม" ของทั้งสองเข้าหากัน ถ้าตัวเชื่อมไม่ดี เราก็จะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการให้เกิด มนุษย์มีทั้งความคิดและอารมณ์ความรู้สึกอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมใดๆก็ตาม ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยย่อยทั้งภายในและภายนอกเป็นจำนวนมาก ยากแก่การจะเขียนสมการเชิงเดี่ยวขึ้นมาที่ใช้การได้ในทางปฏิบัติ มิเช่นนั้นแล้ว ถ้าเราเหมารวมว่าทุกชุมชนอยากจะมีสังคมที่ดี มีความสุข เราก็คงจะทำสำเร็จทั้งโลกไปนานแล้ว แต่จากความเป็นจริงในปัจจุบัน เราก็จะเห็นว่าบางชุมชนน่าอยู่กว่าบางชุมชน ซึ่งไม่ใช่เพราะเพียงรสนิยม หรือความชอบ แต่เป็นเพราะความสำเร็จในการ "ปลูกฝังคุณค่า" อะไรบางอย่างในชุมชนนั้นๆที่เอื้อต่อการเกิดความสุข เอื้อต่อการเกิดภูมิคุ้มกันความทุกข์ มากกว่าชุมชนอื่นๆ

อุตสาหกรรมโฆษณา เป็นอุตสาหกรรมที่ทำงานผ่านการ "สื่อสาร" เป็นหลัก และมีวัตถุประสงค์คือการ​ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า ให้เอื้อหรือเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของผลิคภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมหาศาลในทุกๆประเทศ เหตุผลสำคัญคือ "มันใช้การได้" ดังนั้นเรามีอะไรบางอย่างที่เป็นจุดตั้งต้นสำคัญของ HOW TO ในเรื่องนี้ นั่นคือ "พฤติกรรมมนุษย์นั้น ถูกปรับได้มากกว่าถ้าเข้าทาง mode อารมณ์ ความรู้สึก" โดยที่ข่าวสารเชิงความคิดถูกสอดแทรก หรือเกาะติดไปกับการสื่อสารทางอารมณ์ความรู้สึก จะเป็นการ "ฝัง" ข้อมูลนั้นลงไปได้ลึกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า

วัฒนธรรม และความดีงามในสังคม

สังคมทุกสังคมมี "คุณค่า" ที่เป็น collective คือคุณค่ารวมของชุมชน คุณค่านี้ไม่ได้มีเพื่อความหรูหรา ฟุ่มเฟือย แต่คุณค่าที่จะ tune เป็นวัฒนธรรมนั้น ต้องสามารถ

  • เพิ่มศักยภาพจุดแข็งของสมาชิกในชุมชนมากขึ้น
  • เพิ่มภูมิคุ้มกันปกป้องจุดอ่อนของสมาชิกในชุมชน
  • เพิ่มการปรับตัวต่อปัญหาใหม่ บริบทใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

นี่คือสิ่งที่เรา "ต้องการ" แต่เรายังต้องมี "ตัวเชื่อม" หรือกลไกที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ในศึกษาศาสตร์ หรือ Epistemology นั้น เราพบมานานแล้วว่า Head Heart Hand หรือการคิด การรู้สึก และการกระทำมีความเชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่น การแค่ "สั่งสอน" หรือมอบความรู้ให้ โดยไม่ทำในบรรยากาศที่เอื้อและเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึก จะได้เพียงแค่ความทรงจำระยะสั้นๆเท่านั้น และอาจจะไม่ออกมาเป็นพฤติกรรมเสียด้วยซ้ำไป

ยอดมนุษย์ (Superhero)

ในหลายสังคม หลายวัฒนธรรม มีการใช้เครื่องมือที่น่าสนใจผ่านทางสื่อสาธารณะที่เข้าถึงคนทุกคน หรือคนส่วนใหญ่ได้ ใน theme entertainment หรือมาในรูปแบบ package ของความบันเทิง สนุกสนาน เล่นๆ และเต็มไปด้วยจินตนาการ นั่นคือ comic book ที่มีบรรดายอดมนุษย์ หรือ superhero เป็นตัวเอก

Ultraman ของญี่ปุ่น

X-men ของ Marvel, America

Asterix ของฝรั่งเศส แต่โด่งดังทั่วยุโรป

Tin Tin ฮีโร่ของเบลเยี่ยม

เคยอ่านเจอที่ไหนจำไม่ได้แล้วว่า หากเราเดินทางไปต่างประเทศ และอยากจะรู้จักคนในประเทศนั้นโดยเร็ว ก็ให้หยิบหนังสือที่คนส่วนใหญ่อ่าน หรือไปดูภาพยนต์หรือรายการโทรทัศน์ที่คนส่วนใหญ่ดู เราจะได้ข้อมูลอย่างรวดเร็วว่าเป็นอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คนในชุมชนนั้นๆ "เลือกกระทำเอง" เมื่อมีเวลาว่างๆ เมื่อต้องการผ่อนคลาย เมื่อเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด หนังสือพวกนี้และภาพยนต์เหล่านี้ หรือเพลงเหล่านี้ ก็จะเป็น "ตัวตน" ที่สะท้อนภาพคนในประเทศได้ดีที่สุดไปด้วย

หนังสือการ์ตูน ภาพยนต์ superhero ตำนานนิทานเล่าขาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็น "พื้นฐาน" ของคนตั้งแต่วัยเยาว์ ถูกสอดไส้ไว้ด้วยคุณค่าที่สังคมพึงปราถนา และในแพคเกจ หีบห่อที่ไม่น่าเบื่อ น่าสนใจ น่าตื่นเต้น เพราะเป็น fantasy ที่เด็กๆทุกคนชอบ และเมื่อชอบมากๆก็จะค่อยๆไต่ไปถึงระดับที่พึงปราถนาคือการ identify self อยากจะเป็นอย่างฮีโร่นั้นบ้าง

ฮีโร่ในการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมากๆ มักจะมีข้อบกพร่องแบบคนธรรมดา ช่วยให้ผู้อ่าน ผู้ชม "เข้าถึง เข้าใจ" ในตัวละครนั้นๆได้ดีขึ้นและง่ายขึ้น ทั้งๆที่ฮีโร่เหล่านี้มีข้อบกพร่องอย่างตนเอง แต่ก็มีพลังวิเศษอะไรบางอย่างที่จะทำให้มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมและเป็นที่ยอมรับได้ เนื้อหาในการ์ตูน หรือ comic book เหล่านี้ ไม่ได้จำเพาะสำหรับผู้อ่านเยาวชนเท่านั้น บางเรื่อง บางตอน เป็นระดับผู้ใหญ่เลยทีเดียว แต่ยังคง theme การสื่อสารไว้ คือ ไม่น่าเบื่อ น่าสนใจ น่าตื่นเต้นติดตาม และสุดท้าย confirm ว่า "ความดีชนะความชั่ว" และ "ความชั่วนั้นไม่ว่าจะนำมาซึ่งความสุขผิวเผินได้ดีเพียงไร แต่จะไม่ยั่งยืน และจะต้องรับกฏแห่งกรรมตอบแทนเสมอ"

ในหลายๆประเทศ การ์ตูน anime หรือ comic เหล่านี้อยู่กับสังคมมาเป็นเวลาหลายรุ่น หลายยุค หลายสมัย ตัวละครในเรื่องพูดเรื่องราวเดียวกันกับคนในยุคนั้นๆ เพราะเป็นคนใกล้ตัว ดูเหมือนจะอยู่ในบริบทเดียวกัน บ้านเดียวกัน เมืองเดียวกัน ปัญหาการเมืองเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจเดียวกัน ปัญหาสังคมเดียวกัน คู่ขนานไปกับเรื่องราวของ superhero และบรรดาตัวร้ายที่พยายามจะเอาจุดอ่อนของสังคม และจุดอ่อนของพระเอกนางเอกไปใช้ เพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเองตลอดเวลา ทีละน้อยที่ผู้อ่าน ผู้ชม ก็จะ take side เลือกข้าง และข้างที่สุดท้ายจะเป็นผู้ชนะเสมอก็คือข้างที่มีความดี ความถูกต้อง ยุติธรรม 

ในประเทศที่ไม่มี superhero หรือยอดมนุษย์เป็นของตนเอง แม้ว่าจะได้สัมผัสกับบรรดา superhero ต่างชาติ สนุกกับเนื้อเรื่อง เนื้อหา แต่ก็จะมีอุปสรรคที่จะเกิดความชื่นชมถึงระดับ identify self หรือกำหนดตัวตนตามตัวเอกเหล่านี้ เพราะสุดท้าย เหล่ายอดมนุษย์เหล่านี้ก็หน้าตา ผิวพรรณ ภาษา ไม่เหมือนกับของตนเอง ไม่ได้ไปโรงเรียนในระบบเดียวกัน ไม่ได้อยู่ในสังคมที่มี norm เหมือนกัน

การ์ตูน anime ภาพยนต์ รายการโทรทัศน์ สื่อสาธารณะ ล้วนเป็นเครื่องมือสร้าง "วัฒนธรรม" ที่สำคัญของทุกๆสังคม เพราะความที่มี "อิทธิพล" สูง เหมือนกับของหลายๆอย่าง ที่จะดีหรือไม่ดี ขึ้นกับวิธีใช้ หรือคนที่ใช้เครื่องมือนั้นๆ

รายการเกมโชว์ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ยอดนิยม แต่เมื่อพิจารณาถึง values ที่คนในรายการเหล่านั้นก้มหน้าก้มตาจะทำให้ได้ เอาชนะให้ได้ กลับไม่ได้เน้นเฉพาะ values ที่เป็นการเสริมพลัง เสริมความคิดสร้างสรรค์ เสริมจิตวิญญาณ แต่หลายเรื่องกลับไปเน้นที่วัตถุ เน้นเงินรางวัล เน้นการเอาชนะคะคาน เน้นการเล่นพวก เน้นการมองหาข้อผิดพลาดของคนอื่น เน้นการเหยียบคนอื่นๆให้จมธรณีเพื่อที่จะให้ตนเองได้ชนะ นี่คือเป็นการบ่มสร้าง "วัฒนธรรม" อีกแบบหนึ่ง แต่เป็น "พัฒนาไปในทางหายนะ" 

เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ในประเทศที่มีฮีโร่ตัวจริงมากมาย มีคุณค่าที่งดงาม สง่างาม และมีศักดิ์ศรี มีจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน แต่กลับไม่สามารถหาสื่อสาธารณะที่สื่อคุณค่าเหล่านี้ลงไปในระดับเยาวชนได้อย่างลึกซึ้งและทั่วถึง เป็นที่ popular สำหรับหลายๆ generations ต่อเนื่องกัน ฮีโร่ของเรานั้นเกิดแล้วก็ดับไปอย่างเงียบๆ เรื่องราวไม่ถูกทำให้ประทับใจอย่างยั่งยืน ตรงกันข้ามกับ values หลายๆอย่างที่นำมาเผยแพร่ การที่มีรางวัล "ละครที่สร้างสรรค์มากที่สุดแห่งปี" เป็นเรื่องเรยา ดอกส้มสีทอง สะท้อนสังคมได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว

สกล สิงหะ

เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์

๑๓ นาฬิกาตรง วันอังคารที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๗

ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง

คำสำคัญ (Tags): #ยอดมนุษย์#superhero#สั
หมายเลขบันทึก: 558440เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2014 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2014 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความสะดวกประการหนึ่งของ anime การ์ตูน comic book ก็คือ "ความเป็นอมตะ" ของฮีโร่

ทั้งๆที่ฮีโร่เหล่านี้ เบื้องหลังหน้ากาก costume ก็เป็นคนธรรมดาๆ มีปัญหา มีรัก มีเกลียด มีข้อบกพร่อง แต่เมื่อเจอกับ evil ที่มาในลักษณะต่างๆมากมาย ฮีโร่ก็ต้องกันกลับไปใช้อะไรที่เป็น values ดั้งเดิม ฮีโร่เหล่านี้ในการ์ตูน มีความเป็น "อมตะ" สูงมาก กี่ปีๆก็ยังอายุอานามเท่าเดิม (โนบิตะ ก็ยังเป็นเด็กชายโนบิตะเท่าเดิม)

ที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแค่ "ตัวละคร" ที่เป็นอมตะในสังคม แต่ values ของตัวละครเหล่านี้ ก็พลอยเป็นอมตะตามไปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท