ศิลปวัฒนธรรมอีสานสัญจร : เรื่องราวระหว่างทาง (ที่ไม่ด้อยไปกว่าปลายทางแห่งการเรียนรู้)


การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แต่ละเฉพาะ “ปลายทาง” เท่านั้น เพราะเรื่องราวระหว่างทางย่อมมีค่าและมูลค่าไม่แพ้กัน แถมยังเป็นปัจจัยอันวิเศษในการเกื้อหนุนให้ปลายทางกลายเป็นสิ่งควรค่าต่อการไขว่คว้า

ผมเป็นคนให้ความสำคัญกับเรื่องราวระหว่างทางไม่แพ้ปลายทาง
          ด้วยเหตุเช่นนี้  โครงการศิลปวัฒนธรรมอีสานสัญจรจึงเกิดขึ้นในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ  โรงนาบ้านไร่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย


 


          ครับ,เดิมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีภารกิจสำคัญที่จะต้องเดินทางไปร่วมงานโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๑ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย  โดยทีมงานที่เดินทางไปประกอบด้วยบุคลากรจากกองกิจการนิสิต  อาจารย์และนิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์,วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ รวมถึงนิสิตจากชาว “วงแคน”  

          ในช่วงการเตรียมการนั้น  ผมบอกเล่ากับผู้รับผิดชอบโครงการในทำนองของการเสนอแนะตามประสา “พี่น้อง” ว่าควรจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ระหว่างเส้นทาง  ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตามุ่งไปยังจุดหมายแบบไม่ลืมหูลืมตา 
          เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมแสดงว่าเราลงทุนหลักแสน  ขนคนไปมากกว่า ๔๐ คน  เพียงเพื่อขึ้นเวทีเล่น ”วงโปงลาง” แค่ไม่ถึง ๒๐ นาที

          ครับ, โดยเนื้อแท้  ผมไม่ได้ถึงขั้นฟันธงว่า “คุ้ม” หรือ “ไม่คุ้ม” เรื่อง “เงิน”  หรอกนะครับ
          หากแต่กำลังจะบอกว่าการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แต่ละเฉพาะ “ปลายทาง” เท่านั้น  เพราะเรื่องราวระหว่างทางย่อมมีค่าและมูลค่าไม่แพ้กัน  แถมยังเป็นปัจจัยอันวิเศษในการเกื้อหนุนให้ปลายทางกลายเป็นสิ่งควรค่าต่อการไขว่คว้า   
          หรือแม้แต่คิดง่ายๆ แบบนักเลงลูกทุ่งว่า ถ้าไม่แวะเรียนรู้ระหว่างทางตอนนี้  อีกนานแค่ไหนล่ะที่จะมี “โอกาส” ได้กลับไปเยือน เพื่อการเรียนรู้ในเส้นทางสายนั้นอีกครั้ง...

 

 

 

 

 

          แน่นอนครับ, สำหรับผมแนวคิดทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งคิดและเพิ่มพูด
          ๓-๔ ปีก่อนเมื่อครั้งที่กำกับดูแลกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต  ผมก็ได้คิดและทำในทำนองนี้ชัดเจน 
          ครั้งกระโน้น,  แทนที่จะยกขุนพลโปงลางมุ่งหน้าไปงานศิลปวัฒนธรรม (สกอ.) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ  ผมก็มอบหมายให้บุคลากรและนิสิตแวะเรียนรู้ระหว่างทางที่ทุ่งเขาหลวง จ.สุโขทัยด้วยเช่นกัน  โดยอาศัยเครือข่ายศิษย์เก่าที่เป็นนักคิดนักเขียน (สัญญา พานิชยเวช) เป็นเจ้าภาพร่วมดำเนินการ

 

 

 

         ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน  ผมก้าวล้ำให้คำแนะนำในมิติของพี่ๆ น้องๆ มิได้ก้าวล้ำเข้าไปในสถานะของการกำกับดูแลอะไรทั้งสิ้น  ซึ่งเบื้องต้นผมได้ขันอาสาประสานพื้นที่และแนวทางบางอย่างไว้ให้อย่างกว้างๆ  
         ครับ  เป็นการประสานงานอย่างกว้างๆ  เพราะผมไม่มีสถานะใดในทางการบริหาร 
         และไม่มีสิทธิ์ “ฟันธง” ใดๆ  จึงได้แต่แนะนำ และเกริ่นกล่าวนำร่องไปพรางๆ -

         แน่นอนครับ, หลากคนย่อมหลากความคิด
         ในเวทีการหารือเบื้องต้นนั้น  หลายต่อหลายท่านโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสถานะและบทบาทที่สูงเด่นกว่าผมดูจะไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมคิด  ดังจะเห็นได้จากการสะท้อนมุมคิดหรือคำถามนานาประการ เช่น ถามนิสิตหรือยังว่าอยากทำหรือไม่  นิสิตจะเหนื่อยไหม  มีงบประมาณมั๊ย  จะได้อะไรจากตรงนั้น  จะมีการประเมินและการจัดเก็บหลักฐานต่างๆ อย่างไร  ตอบโจทย์การเรียนรู้อะไรบ้าง

         

 

การแสดงของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น (เจ้าภาพ)

 

ในเวทีที่ว่านั้น  ยอมรับว่าผมไม่ค่อยมีความสุขที่จะอธิบายอะไรให้ยืดยาวนัก  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีภารกิจทับซ้อนที่ต้องรีบออกไปประชุมอีกเวทีหนึ่ง  กอปรกับความขุ่นข้องเล็กๆ ต่ออดีตทีมงานที่ไม่ได้ร่วมสะท้อน “ข้อมูล” เดิมๆ ให้เหล่าบรรดาผู้มีบทบาทและสถานะได้เข้าใจ เพื่อประกอบการพิจารณาใคร่ครวญ จนก่อเกิดการพิพากษาโดยปราศจาก “ข้อมูล” หรือ “คลังความรู้”  ซึ่งคล้ายกับการมองว่า “ที่ผ่านมา...ไม่มีชุดความรู้ใดหลงเหลือให้สืบค้นต่อยอดได้เลย” (ทั้งๆ ที่ผมและทีมงานได้สร้างและปั้นแต่งไว้กองโตยังกับภูเขา)

          หรือในอีกมุมหนึ่ง, ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าเหล่าบรรดาทีมงานเก่านั้น  ได้ทำงานอย่างเป็น “ทีม”กันแค่ไหน  มีการถ่ายโอนความรู้ หรือการหยิบจับความรู้เดิมๆ มา “สะสาง ต่อยอด” แค่ไหน  เสมือนการทำงานโดยไม่สนใจฐานข้อมูลเดิมนั่นแหละ –

          ครับ,หลังจากนั้น  ผมก็ถอนทัพออกจากงานนี้  ผันตัวเองมาจับงานหลักของตัวเอง  ปล่อยให้ผู้รับผิดชอบได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยตนเอง  โดยชี้เป้าไปยังบุคคลและพื้นที่ของการเรียนรู้  เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “ได้คิด-ได้ตัดสินใจ-ได้ลงมือทำ”  ด้วยตนเอง  มากกว่าการติดยึดอยู่กับ “เงาความคิด” ของผม

          ซึ่งที่สุดแล้ว  การงานที่ว่านั้นก็ลงเอยตรงที่การแวะเรียนรู้ระหว่างทางอยู่วันยังค่ำ

 

  

 

          อย่างไรก็ดี  การถอนตัวของผม ก็มิได้หมายถึงถอนตัวออกจากกิจกรรมที่ว่านี้อย่างสิ้นเชิง หากแต่ยังคงติดตามหนุนเสริมอยู่ห่างๆ ให้คำแนะนำในเรื่องการเตรียมความพร้อม (ปฐมนิเทศ)
          หรือแม้แต่การแนะนำให้นำพานิทรรศการเก่าๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กลับมาให้นิสิตและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และทำความเข้าใจร่วมกัน  มิใช่ดุ่มเดินไปปลายทางโดยไม่มีการเตรียมความพร้อม

          แน่นอนครับ กระบวนการเตรียมความพร้อมที่ว่านั้น 
           ในมุมของผม, ผมไม่ได้มองแค่การทำความเข้าใจต่อการงานที่จะมีขึ้นเพียงอย่างเดียว  หากแต่หมายถึงการกระชับพื้นที่ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึง “บทบาท-หน้าที่” ที่ต้องทำ  มิใช่ขนกันไปเป็นกองทัพ  แต่ไม่ส่งมอบอาวุธให้จับให้ถือ

 

 

 

          ครับ, โดยส่วนตัวผมยืนยันว่ามีความสุขกับการปลงใจแวะเรียนรู้ระหว่างทางในวิถีที่เพิ่งเกิดขึ้น  และยืนยันว่า  ผมไม่พูดถึงความคุ้มทุนเกี่ยวกับงบประมาณที่ลงไปว่าเป็นอย่างไร  แต่สุขใจที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกล้าหาญที่จะสานต่อภารกิจการเรียนรู้ในทำนองนี้
          คิดดูเถอะครับ, การแวะจัดกิจกรรมและค้างแรมระหว่างทางดังที่ว่านี้  ถือเป็นเสมือนการออกค่ายในมิติหนึ่งเลยทีเดียว  ทั้งนิสิต อาจารย์และบุคลากรได้ใช้ชีวิตร่วมกัน  ละลายพฤติกรรมทางกายและใจร่วมกัน  เสมือนการหลอมรวมพลังครั้งใหญ่ก่อนการสื่อแสดง ณ จุดหมายปลายทางที่ปักธงไว้

 


          คิดดูเถอะครับ, การแวะจัดกิจกรรมและค้างแรมในสถานที่เช่นนั้น  ย่อมฝึกฝนให้นิสิตได้เรียนรู้ถึงความอดทน  ได้ทดสอบชุดความรู้ หรือลับคมความรู้ที่กำลังจะนำไปสื่อแสดง ณ จุดหมายปลายทาง  รวมถึงการได้สัมผัสประสบการณ์ต่างถิ่น  สัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมต่างชาติพันธุ์จากคนพื้นถิ่น (เจ้าภาพ) ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ น้ำใจ และความงดงามในหลากมิติ
         หรือแม้แต่การสร้างเวทีให้เด้กและเยาวชนในท้องถิ่นได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์  บ่มเพาะ หรือชี้วัดสภาวะเรื่องจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นไปในตัว

          คิดดูเถอะครับ, การแวะจัดกิจกรรมและค้างแรมในสถานที่เช่นนั้น  ย่อมช่วยให้แต่ละคนได้หยุดนิ่ง เรียกสติ ฟังเสียงหัวใจของตนเองอีกครั้งอย่างไม่รีบเร่ง  ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกับศิษย์เก่า   รวมถึงการได้รับรู้ว่าการมีความฝันและซื่อสัตย์ต่อความฝันด้วยการลงมือทำนั้น  มันยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์สักแค่ไหน ด้วยการเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตของ "เจ้าสัญ" หรือ "สัญญา พานิชยเวช" ผู้เป็นเจ้าภาพระหว่างเส้นทางที่ว่านี้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนที่ว่านั้น ก็คือการแบ่งปันและเติมพลังชีวิตให้แก่กันและกันดีๆ นั่นเอง

          คิดดูเถอะครับ, การแวะจัดกิจกรรมและค้างแรมในสถานที่เช่นนั้น  ย่อมยืนยันกระบวนการคิดต่อนิสิตผ่านวาทกรรมที่ผมเขียนขึ้นเมื่อหลายปีก่อนว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า...ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้ และความรู้...เว้นแต่เราจะไม่เปิดใจเรียนรู้”  

 

 

 

          อย่างไรก็ดี  ถึงแม้โครงการนี้จะไม่มีการปฐมนิเทศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะลงมือทำ ตามหลักคิด “รู้ตัวตนโครงการ”   แต่ผมก็เชื่อว่าทีมที่รับผิดชอบสามารถประยุกต์กระบวนการต่างๆ หนุนเสริมนิสิตเข้าไปได้เองอยู่วันยังค่ำ 
          รวมถึงคงมีการมอบหมายภารกิจต่อกันและกันอยู่ดี เพราะอย่างน้อยผู้หลักผู้ใหญ่ก็ร่วมเดินทางไปกันตั้งหลายคน  คงพอแนะนำสิ่งต่างๆ หรือกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของการ “มีส่วนร่วม” ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

          และจวบจนบัดนี้  ผมเองก็ยังไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้องเลยว่า “เรื่องราวการเรียนรู้ระหว่างทางงดงามแค่ไหน  มันหนุนส่งให้ปลายทางดูงดงามและควรค่าต่อการไขว่คว้าหรือไม่” 
         หรือแม้แต่พวกเขาพบเจอสิ่งใด เก็บเกี่ยวมันอย่างไร และข้ามพ้นมันอย่างไร

          และที่สำคัญมากๆ เลยก็คือ พวกเขามีความสุขกับการแวะเรียนรู้ระหว่างทางหรือไม่
          หรือมันเป็นความสุขบ้าๆ บอๆ ของผมคนเดียว – คนเดียวจริงๆ

 

 การแสดงที่บูรณาการระหว่างวงแคน,ดุริยางคศิลป์,คณะศิลปกรรมศาสตร์

 

หมายเหตุ :
ภาพจากคุณจันเพ็ญ ศรีดาว, อติรุจ อัคมูล
และทีมงาน

หมายเลขบันทึก: 556970เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2013 03:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2013 04:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

“เรื่องราวการเรียนรู้ระหว่างทางงดงามแค่ไหน มันหนุนส่งให้ปลายทางดูงดงามและควรค่าต่อการไขว่คว้าหรือไม่”

คำตอบของครูนก...งดงามตลอดเส้นทางหากเราใส่ใจ ไขว้คว้าจะเรียนรู้หรือเฝ้าดูอย่างใส่ใจค่ะ

ปลายทางสำหรับบางใคร อาจแค่ระหว่างทางของบางใคร

บางทีจุดหมายก็ต้องไม่มีปลายทาง เพราะระหว่างทางเสมือนปลายทางของจุหมาย

อุปสรรคไม่ใช่กำแพงแต่เป็นประตูครับ

การแวะระหว่างเส้นทางครั้งนี้....บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็ันกันเอง ชุมชนเหมือนเฝ้ารอคอยการมาเยือนอีกครั้งของลูกหลานชาว มมส รอร่วมต้อนรับ ร่วมรับชม ร่วมแลกเปลี่ยนศิลปะท้องถิ่นให้กับแขกที่มีเยือนอย่างเราๆด้วยความตั้งใจเต็มใจที่จะมอบให้อย่างมีความสุข...ถือว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้นิสิตเองได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของเส้นทางที่ก้าวผ่านไปแต่ละก้าวว่าสำคัญไม่ต่างจากจุดหมายปลายทางเลย....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท