กิจกรรมงานวันมรดกโลก "ห้วยขาแข้ง" (การบ้านเฮฮาศาสตร์ 10 ตอนที่ 4)


มรดกโลก  มรดกใคร  ?

          กิจกรรมที่สำคัญอีกวันหนึ่งที่อยากบันทึกไว้ จากการที่คณะเราได้มีโอกาสไปร่วมประชุมสัมมนาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน  ในวันที่ 9 ธันวาคม  2556  เนื่องในโอกาสที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้เป็น“มรดกโลกทางธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534  และเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538  คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวรมรดกโลกเพื่อให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว และร่วมมือร่วมใจ ปกป้องรักษา เพื่อการส่งมอบให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

          สถานที่จัดงานนั้นใช้สถานที่ของสถานีพัฒนาและส่งเสริมพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ด่านทุ่งแฝก) ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี  กิจกรรมหลักๆ ในภาคเช้าคือการอภิปรายเวทีวิชาการเรื่อง กิจกรรมธรรมชาติกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งที่ผ่านมานั้นทางพี่สมพงษ์  สุทธิวงศ์ประธานมูลนิธิห้วยขาแข้งจังหวัดอุทัยธานีและทีมงานเครือข่ายจะเป็นผู้ดำเนินรายการ แต่ปีนี้ได้ยกเวทีนี้ให้คณะเฮฮาศาสตร์ดำเนินการ ดังนั้นพี่ไพศาล  ช่วงฉ่ำ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)  รับดำเนินรายการนี้โดยมีชาวเฮฮาศาสตร์  6  ท่านร่วมเวทีวิชาการประกอบไปด้วย

  1. ครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์
  2. ดร.สมพร  ช่วยอารีย์
  3. อ.พินิจ  พันธ์ชื่น
  4. ดร.ทัศนีย์  บุญประคอง
  5. อ.นุจชรินทร์  แกล้วกล้า
  6. คุณตฤณ  ตัณฑเศรษฐี

 

        ในส่วนของเนื้อหานั้นวิทยากรแต่ละท่านต่างได้เล่าประสบการณ์ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งวิทยากรแต่ละคน ต่างได้ให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นอย่างหลากหลาย  พอสรุปได้ดังนี้

          ครูบาสุทธินันท์   ปรัชญพฤทธิ์ อธิบดีกรมราษฎรส่งเสริม  เจ้าของสวนป่าจากอำเภอสตึก  จังหวัดบุรีรัม กล่าวว่าตัวเองเป็นคนปลูกป่า เคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับชาติ สาขาปลูกป่ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2522  และนับเป็นวาสนาของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานในวันนี้  คนไทยทุกวันนี้อยู่และใช้ชุดความรู้ที่น่ากลัวมาก  จนทำให้เจ้าของควายต้องตามควายเข้าโรงงาน เพราะเราเอาชุดความรู้จากภายนอกเข้ามาใช้  ทั้งๆ ที่ความรู้นั้นมีอยู่ใน 4 แหล่งใหญ่ๆ คือ  

     1) ความรู้ที่อยู่ในตัวคน 

     2) ความรู้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ

     3) ความรู้ที่มีอยู่ในตำรา และ

     4) ความรู้ที่มีอยู่ในระบบไอที 

แต่ก็ยังมีปัญหา  “คนไทยความรู้ไม่พอใช้” จึงทำให้มีปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

       เพราะแท้จริงแล้วป่าไม้นั้นมีความมหัศจรรย์อยู่ในตัว  มีความรู้มากมายอยู่ในนั้น  และในส่วนของการปลูกป่าเพื่อการพึ่งพาตนเอง  ครูบาสุทธินันท์สรุปว่าคนเราหากปลูกต้นไม้เพียงแค่คนละ 5 ต้นเท่านั้น  ทุกคนก็จะมีเชื้อเพลิงไว้ใช้ไปจนตาย   ตัดกิ่งมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ใบเอาไปเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ  ที่สวนป่าเอาใบไม้มาเลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่  เลี้ยงจนอ้วนพลีจนสัตว์แทบจะเป็นหมัน  ขี้สัตว์เลี้ยงก็เอามาทำปุ๋ยหมุนเวียนพึ่งพาอาศัยกันไป  หากจะถามว่าครูบารักต้นไม้ขนาดไหน ก็ต้องขอบอกว่าครูบาสุทธินันท์นั้น  “รักต้นไม้มากกว่าน้องเมีย”  นะจะบอกให้

          ดร.สมพร  ช่วยอารีย์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้เริ่มการเสวนาด้วยการกล่าวถึงการเรียนรู้ของคนเราที่มีปริญญาตรี  โท เอก  ซึ่งเรียนแล้วก็จบออกมาและได้ใบปริญญา  แต่มีปริญญาอีกอย่างหนึ่งที่เรียนไม่รู้จบ นั่นก็คือ  “ปริญญาสามัญ” เพราะเรียนได้ทุกเรื่อง เรียนได้ตลอดเวลา  เพราะสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นมีองค์ความรู้อยู่มาก  เรียนได้ไม่รู้จบ

        เมื่อเราปลูกต้นไม้ แล้วมีพืชชนิดอื่นขึ้นมา เราก็จะเรียกเขาว่าเป็น  “วัชพืช” ซึ่งความหมายมันก็คือ  “พืชที่ขึ้นผิด” แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน หากพืชบอกเราได้เขาอาจจะบอกคนว่าพวก “วัชคน”  ก็ได้เพราะเรามีแต่ใช้และทำลาย   จากการที่ไปเรียนต่างประเทศ  พบว่าฝรั่งนั้นมองไทยว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรหลากหลาย  ในส่วนของป่าไม้หากมีน้อยกว่าร้อยละ 40 หายนะจะเกิด และมุมมองอนาคต การพัฒนาจะเชื่อมโยงถึงกันหมด พร้อมกับตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงว่า สะตอ : ปลาทู  เชื่อมโยงกันอย่างไร (เสียดายที่มีเวลาน้อยเลยไม่ได้ขยายถึงความเชื่อมโยง)

          คนไทยนั้นติดกับดักต่างๆ มากมาย เช่น สมัยก่อนคนไทยสร้างบ้านใต้ถุนสูง แต่ปัจจุบันนิยมสร้างบ้านต่ำ การถ่ายเทอากาศก็ไม่ดี และเมื่อมีน้ำมา น้ำก็ท่วม  เคยถูกฝรั่งถามว่า  คนไทยมีแสงแดดตลอดปีแล้วเราใช้ประโยชน์กันอย่างไร  และมะละกอเมื่อต้นยังเล็กจะรู้ได้อย่างไรว่าต้นไหนเป็นต้นตัวผู้  ต้นไหนจะเป็นต้นตัวเมีย เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาปลูกและดูแลรักษา ก็เพราะพวกเราไม่ค่อยได้สนใจเรื่องเหล่านี้จึงยังไม่สามารถตอบได้    

         แม้แต่การทำการเกษตรของบ้านเราก็เช่นกัน เราทำการเกษตรแบบโกนหนวด คือเมื่อเริ่มจะทำการเกษตร เราก็จะโค่นป่าเดิมออกก่อน ไถปรับที่ให้โล่งเตียนแล้วจึงปลูกพืช  ปัญหาอื่นๆ จึงเกิดตามมา การปลูกพืชก็เช่นกัน เราจะปลูกพืชชนิดเดียวกันเหมือนๆ กัน ในแปลงเดียวกัน พืชก็จะมีระบบรากที่ลงลึกเพื่อหาอาหารในระดับที่เท่าๆ กัน ซึ่งผิดกันกับรากพืชตามธรรมชาติที่มีระดับตื้น-ลึก แตกต่างกันเมื่อฝนตกการเกาะยึดก็จะดีกว่า การพังทลายก็จะไม่เกิด ต่างจากบางพืช เช่นยางพารา ที่ไม่มีรากแก้วที่แท้จริง เมื่อปลูกลงดินแล้วรากก็จะหากินอยู่ในระดับเดียวกันและสานกันอยู่  เมื่อฝนตกเกิดการชะล้างก็จะพังทลายกันเป็นแผ่นๆ

        วิกฤติของโลกในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลายหลายเรื่อง ทั้งด้านสังคม  ความรู้  พลังงาน  อาหาร และจิตวิญญาณเป็นต้น  เรื่องใกล้ๆ ตัว เราเคยจะสังเกตไหมว่าเมื่อถนนหน้าบ้านเราสูงกว่าบ้าน เวลาฝนตกน้ำก็จะท่วมบ้าน  เวลาใครจะสร้างบ้านก็จะถมที่ให้สูงกว่าถนน เวลาฝนตกน้ำก็จะท่วมถนน  ก็จะทำให้สูงเพื่อไม่ให้น้ำท่วม เวลาฝนตกน้ำมา ถนนก็จะกลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำ ปัญหาน้ำท่วมก็จะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

         จากนั้นได้เล่าถึงมดแดง ที่มีความรู้ที่ไม่ธรรมดาในการสร้างรังมดแดง เป็นการใช้ความรู้ ความสามารถที่เยี่ยมยอด จากการคัดเลือกต้นไม้  ทำเลที่จะสร้างรัง และเลือกใบพืช เพราะใบพืชนั้นปกติจะแผ่รับแสงตามปกติ แต่มดแดงก็ร่วมมือกันดึง ห่อ และเชื่อมใบเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นรังมดแดงขึ้นจนได้  โดยที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือพิเศษใดๆ เลย  แต่อาศัยความร่วมมือ การต่อตัวการผลิตกาวจากธรรมชาติ เป็นต้น ความรู้เหล่านี้ล้วนมีอยู่ในธรรมชาติ   ส่วนภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับธรรมชาตินี้  ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ได้ยกตัวอย่างของคนอีสาน ที่มีภูมิปัญญาของคนอีสานในการแหย่รังมดแดง ซึ่งจะมีความรู้ในการแหย่ เช่น รู้ว่าจะแหย่ช่วงไหน  แหย่แล้วเอาไข่ไปเพียงร้อยละ 30  ไม่เอาออกไปทั้งหมด  จากนั้นจะปล่อยให้มดแดงซ่อมแซมรัง สร้างรังวางไข่ ทิ้งระยะเวลาไว้ระยะหนึ่งแล้วค่อยมาแหย่อีกครั้ง รังมดแดงก็จะยังอยู่ 

          สุดท้าย ดร.สมพร  ช่วยอารีย์ได้พูดถึงระบบการศึกษา ว่าเราควรจัดการศึกษาแบบแม่ไก่ ไม่ใช่การศึกษาแบบอีแร้ง  การศึกษาแบบแม่ไกก็คือแม่ไก่เวลาจะให้อาหารลูกไก่  แม่ไก่ก็จะพาเดินไปที่แหล่งอาหาร เช่น จอมปลวก เป็นต้น  จากนั้นก็จะสาธิตการคุ้ยเขี่ยหาอาหารว่าต้องเขี่ยอย่างไร  เพื่อให้ลูกไก่เรียนรู้วิธี  เมื่อเจออาหารก็จะเรียกลูกไก่มาดู และจิกกินอาหารเอง เมื่อสอนด้วยการทำให้ดู และเมื่อลูกไก่ได้ลองทำเอง  ลูกไก่ก็จะได้เรียนรู้วิธีการที่จะหาแหล่งอาหารและหาอาหารเป็น ส่วนการศึกษาแบบอีแร้งก็คือพ่อแม่ หรือครูผู้สอนจะเป็นผู้ป้อนอาหารเข้าปากซึ่งจะเห็นว่าตรงกันข้ามจากการศึกษาแบบแม่ไก่

          อาจารย์พินิจ  พันธ์ชื่น  อดีตผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทร์เกษม  ปัจจุบันประกอบอาชีพส่วนตัวและทดลองเรียนรู้ด้วยตนเองในการสร้างศูนย์เรียนรู้และพึ่งพาตนเองด้านอาหารและพลังงาน  อยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  อาจารย์เล่าว่าโดยส่วนตัวแล้วอยากรู้ทุกๆ เรื่อง เพราะเทคโนโลยีทั้งหลายนั้นล้วนต้องเกี่ยวพันธ์กับชีวิต   แต่เพราะในปัจจุบันเราแยกกันเรียน แยกกันคิด แยกกันทำ จึงทำให้ปัจจุบันกลายเป็นว่า “แยกกันเรียน แยกกันคิด แยกกันทำ แต่ร่วมกันฉิบหาย”

ปัจจุบันเท่าที่เห็นในพื้นที่ ชาวบ้านกำลังร่ำรวยอย่างย่อยยับ อนาคตจึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก แล้วใครละที่จะย่อยยับ ?  ที่ย่อยยับเพราะเหตุว่า

  • พ่อทำลายป่า  ร่ำรวยเงิน แต่ป่าย่อยยับ
  • คนทำงานคือมอญ พม่า
  • ลูกคอยผลาญ

          อาจารย์ ดร.ทัศนีย์  บุญประคอง  อาจารย์จากวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับน้ำเสีย ที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยในพระราชดำริ  งานที่ทำคือทำของเสียให้นำกลับมาดี เน้นที่การใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เพราะจริงๆ แล้วธรรมชาติล้วนพึ่งพากันอยู่แล้ว

          และเนื่องจากเวลามีจำกัด อาจารย์ ดร.ทัศนีย์  บุญประคอง  ได้ฝากข้อคิดไว้น่าฟังเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ว่า “สิ่งแวดล้อมมันดีอยู่แล้วต้องเก็บรักษามันไว้ อย่าให้เสื่อมโทรมแล้วค่อยมาแก้ไข เพราะจะต้องใช้เวลามากในการแก้ไข”

          อาจารย์นุชจรินทร์  แกล้วกล้า จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่สรุปสั้นๆ ว่า ชีวิตได้เรียนรู้และสังเกตจากธรรมชาติ และตนเองมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          คุณตฤณ  ตัณฑเศรษฐี  อดีตซีอีโอ ที่ผันตัวเองมาทำงานเพื่อสังคม ปัจจุบันอยู่ที่สวนป่าของครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์   สรุปได้อย่างน่าสนใจว่า ในการอนุรักษ์นั้นจะถูกกำหนดและมาจากส่วนกลาง  จึงมักจะไม่ยั่งยืน ในการพึ่งพาตนเองเพื่อสร้างความยั่งยืนในสังคมและชุมชนนั้นทำได้  และความยั่งยืนก็สามารถวัดได้ โดยวัดได้จากการที่อยู่ได้ด้วยการ "ไม่ใช้ตังค์"

 

         จากนั้นจึงเป็นกิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งของภาคเช้าวันนี้ก็คือการถวายผ้าป่าช่วยชาติ  เนื่องจากเป็นการถวายผ้าป่าเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องข้องเท่าที่ทราบ เช่น สถานีพัฒนาและส่งเสริมพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ด่านทุ่งแฝก) ,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ,หน่วยป้องกันไฟป่า, สนับสนุนการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ ดร.ป๋วย อึ้งภากร,สนับสนุนกองทุนภัยพิบัติจังหวัดอุทัยธานีและอื่นๆ อีก ส่วนที่เหลือมูลนิธิฯ  จะนำไปใช้จ่ายในการส่งเสริมและอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในเขตรอบๆ ป่าห้วยขาแข้ง   ซึ่งยอดผ้าในครั้งนี้ได้เงินจำนวน  215,437 บาท

          ทำไมต้องทอดผ้าป่าสามัคคี ?  เป็นคำถามที่พบคำตอบไปพร้อมๆ กัน เมื่อได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมในวันนี้ เท่าที่ทราบข้อูลการทำงานในพื้นที่ซึ่งตามแนวกันชนของป่ามรดกโลกนั้นมีระยะทางที่ยาวมาก  และมีเขตติดต่อกับหลายชุมชน มูลนิธิห้วยขาแข้งอุทัยธานี  มูลนิธิหนองขาหย่างเพื่อการพัฒนาชนบทอุทัยธานี ตลอดจนองค์กรครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานตามชุมชนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งนั้น ล้วนมีงบประมาณสนับสนุนการทำงานไม่มาก  ดังนั้น การทอดผ้าป่าสามัคคีก็เป็นวิธีการหนึ่งในการระดมหาทุนเพื่อมาใช้ในการทำงานพัฒนาดังกล่าว  

          ตัวอย่างเช่นมูนิธิห้วยขาแข้งอุทัยธานี ก็มีแนวทางการทำงานของมูลนิธิฯ  ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาจนถึงปัจจุบันนั้น  ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง พอเพียง เพื่อช่วยกันรักษาทรัพยากรในผืนป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าที่ได้รับการประกาศให้เป็นผืนป่ามรดกโลก เป็นต้น

คุณสมพงษ์ สุทธิวงศ์ประธานมูลนิธิห้วยขาแข้งจังหวัดอุทัยธานี

 

 กิจกรรมการสร้างฝายแม้วชะลอน้ำห้วยทับเสลา

          ภาคบ่ายเป็นการร่วมกิจกรรมฝึกปฏิบัติการอนุรักษ์ ทำฝายแม้ว 3 ฝาย ร่วมกับบรรดานักเรียนจากโรงเรียนในเขตจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดนครสวรรค์ ในการลงมือสร้างฝายแม้ว หรือฝายชะลอน้ำครั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการสร้างจำนวน 3 ฝายคือ  ฝายต้นน้ำ  ฝายกลางน้ำ และฝายปลายน้ำแต่ละฝายจะห่างกันประมาณ  150  เมตร ฝายต้นน้ำและกลางน้ำนั้น ได้มอบหมายให้กลุ่มเด็กๆ นักเรียนจากโรงเรียนในเขตติดต่อป่า ทั้งจากจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนคณะของ ส.ป.ก. และชาวเฮฮาศาสตร์ นั้น ได้สร้างฝายปลายน้ำ

        ในการร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำนั้น  เราได้เดินทางออกจากสถานีพัฒนาและส่งเสริมพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ด่านทุ่งแฝก) สถานที่ที่จัดเวทีเสวนา โดยเดินทางต่อเข้าไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระยะทางประมาณ  9 กิโลเมตร เพื่อสร้างฝายแม้วเพื่อชะลอน้ำในลำห้วยทับเสลา  ตรงบริเวณทิศเหนือของที่ทำการฯ ติดกับร้านอาหารครัวริมธารที่พวกเราได้ไปรับประทานอาหารกันในวันที่ 7 ธันวาคม 2556 นั่นเอง

        การสร้างฝายชะลอน้ำนั้นนอกจากจะมีคณะที่เดินทางไปร่วมสร้างจากภายนอกแล้ว ยังมีเจ้าหน้าอนุรักษ์ป่า เจ้าหน้าที่ไฟป่าร่วมลงมือและคอยให้คำแนะนำกับพวกเราที่สร้างทั้ง 3 ฝายในครั้งนี้ด้วย  ซึ่งฟังจากคำชี้แจงของพี่สมพงษ์  สุทธิวงค์  ชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ที่มาสนับสนุนการสร้างของแต่ละฝายนั้นคือวิศวกรก่อสร้างฝายชะลอน้ำนั่นเอง  ในการสร้างได้เริ่มด้วยการเลือกทำเลการสร้างที่ห่างกันพอสมควร มีก้อนหินน้อยใหญ่ที่สามารถเก็บมาสร้างฝายได้ง่าย และเมื่อสร้างแล้วมีพื้นที่เพียงพอในการรับน้ำ   

         การสร้างก็จะเริ่มจากการวางแนวหินก้อนใหญ่ๆ ลงเป็นแนวก่อนโดยให้แนวสันฝายโค้งออกไปทางด้านหน้าที่จะรับน้ำเล็กน้อยเพื่อความแข็งแรงของแนวฝายจากนั้นทุกคนจึงระดมเก็บหินมาวางตามแนว เริ่มจากหินก้อนใหญ่ก่อน จนวางแนวได้สูงพอสมควรก็จะเสริมฐานฝายให้แข็งแรงด้วยหินก้อนใหญ่ แล้วสุดท้ายก็เสริมด้วยหินก้อนเล็กๆ เพื่อแทรกหินก้อนใหญ่ เพื่อที่จะสามารถอุดกั้นช่องที่จะทำให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการสร้างฝายแม้ว หรือฝายชะลอน้ำ

 

 

 

          ในการสร้างฝายชะลอน้ำนั้นทุกๆ คนต่างได้ลงมือลงแรงช่วยกันอย่างเต็มกำลัง เมื่อเริ่มต้นอาจจะเป็นการที่ต่างคนต่างเก็บหินมาวางเรียงรายด้วยตนเอง เพราะหินจะอยู่กระจายไปทั่ว แต่เมื่อสร้างไปได้ระยะหนึ่งเมื่อหินที่ใกล้ๆ ตัวฝายเริ่มหายาก  ทุกคนก็จะเริ่มปรับขบวนโดยจะมีการต่อแถวเพื่อขุดหา รับหินและโยนกันเป็นทอดๆ  จนบางแถวต่อและรับกันยาวออกไปถึง  5 - 6  คนก็มี  ฝายชะลอน้ำจะแล้วเสร็จ

         วันนี้ทั้งวัน พวกเราได้ร่วมกิจกรรมตั้งแต่เช้าจนถึงตอนเย็น ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข  เริ่มตั้งแต่เวทีวิชาการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรหลายๆ ท่านเกี่ยวกับกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พวกเราสามารถเก็บเกี่ยวความรู้จากประสบการณ์อันหลากหลายของแต่ละท่าน ได้ข้อคิดและหลายแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  ตลอดจนได้ร่วมทอดผ้าป่าเพื่อสนับสนุนคนทำงานในการพัฒนาพื้นที่ และสุดท้ายได้ลงแรงเพื่อสร้างฝายแม้ว ชะลอน้ำไว้ให้กับสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่จะได้อาศัยดื่มกินเพื่อยังชีพในตลอดหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึงอันใกล้นี้

 

          และวันนี้เป็นวันแรกที่เรากลับถึงบ้านพักแล้วได้ทันเห็นพระอาทิตย์ตกดินอีกครั้งที่อ่างเก็บน้ำทับเสลา(เขื่อนระบำ) คืนนี้พวกเรานอนหลับไปอย่างมีความสุข ท่ามกลางธรรมชาติ และสุขจากประสบการณ์กับการได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความดีเพื่อสังคมและที่สำคัญเพื่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นมรดกโลก และมรดกของพวกเราทุกๆ คน

 

สิงห์ป่าสัก

19 ธันวาคม  2556

หมายเลขบันทึก: 556839เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท