"'งาม..เพราะใคร"


                                            

                                                 "สุนทรียศาสตร์ : สวย งาม เพราะอะไร?"

                           ๑) อะไรคือ ความงาม

                           ๒) หลักความงาม

                           ๓) วัตถุความงาม

                           ๔) ผู้รังสรรค์ความงาม

                           ๕) สิ่งที่ได้จากความงาม

                                             ------------------<I>--------------------

             สรรพสิ่งในโลก หากอิงหลักศิลปะก็จะเห็นว่า มีความงาม มีศิลปะอยู่ทุกที่ รวมทั้งมนุษย์ด้วย แล้วเราลึกซึ้งกับภาพที่ปรากฏอย่างไรบ้าง ทำไมเราจึงมองเห็นความงามต่างกัน แล้วมันช่วยปรับจิตหรือจรรโลงให้เราอยู่บนโลกได้อย่างเพลิดเพลินอย่างไร และลึกไปกว่านั้น มันพยุงปัญญาเราให้ไปสู่ความจริงอย่างไร?????

            ๑) "ความงาม" (Beauty) คือ อะไร ความงามมิใช่อะไร (What) เพราะความงามเป็นนามภาวะ มิใช่วัตถุสิ่งของ หากแต่เป็นภาวะที่สอดสิงอยู่ในสรรพสิ่ง แหล่งประกายของความงามให้ปรากฏคือ "ความรู้สึก นึกคิด จิต" ของมนุษย์ ที่บอกเป็นภาษาหรือสื่อออกมาให้เรารับรู้ร่วมกันว่า อะไรคือ ความงาม เนื่องจากความงามตามธรรมชาติเป็นปรวิสัยในตัวเอง มันไม่รู้ว่าตัวเองว่า "งามหรือสวย" มันจะถูกเปิดเผยโดยมนุษย์เท่านั้้น             ถ้าอย่างนั้น เราคือตัวความงามหรือไม่ เรามีเครื่องวัดความงามตั้งแต่เกิด เมื่อเกิดมาเรารับรู้ความงามได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใครเสี้ยมสอน เพราะเรามีระบบประสาทของร่างกายเป็นเครื่องนำสื่อส่งสมอง แล้วกรองเป็นความรู้สึก นึกคิด แล้วผลิตภาษาออกมาว่า สิ่งนี้ สิ่งนั้น สวย งาม เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือสากล เพราะทุกชาติเผ่าพันธุ์สามารถรับรู้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แล้วแสดงความรู้สึกออกมาเป็นภาษาของตนว่า "สวย งาม"

             แต่มิใช่ภาษาเท่านั้นที่สามารถสื่อความงามออกมา ส่วนที่เป็นแกนการแสดงพฤติกรรมความงามออกมาคือ "ศักย์" ภายใน มีสองชนิดคือ "พลังกาย" ที่สามารถสรรสร้างกิจกรรม วัตถุสิ่งใด สิ่งหนึ่งออกมาให้เป็นรูปธรรม เรียกว่า "วัตถุศิลป์" อีกชนิดคือ "พลังปัญญา" เป็นการผสมผสานระหว่าง จิตและประสบการณ์ ฉะนั้น มนุษย์ทุกคนจึงมีเชื้อเมล็ดแห่งศิลป์หรือความงามในตัวเรียกได้ว่า "ศิลปกร" (ผู้กระทำให้เป็นศิลป์) สังเกตตัวเองก็ได้ ทุกวันเราจะสาลวนอยู่กับความงามหรือศิลปะเสมอ 
              ดังนั้น หากจะตอบว่า ความงามคือ อะไร ก็คงตอบว่า "ชีวิต (มนุษย์) ที่มีลมหายใจและรับรู้สิ่งรอบตัวอย่างลึกซึ้ง" เพราะความงามล้วนล้นออกมาจากชีวิตทั้งสิ้น ส่วนที่แต่ละคนมีรูปทรงต่างกัน เป็นเพียงฉากหน้า เพราะมีสายพันธุ์และมีวัฒนธรรม ค่านิยมต่างกัน ซึ่งก็ไม่มีหลักใดบอกว่า เผ่าใดสวยสากล แต่ทุกคนมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน เป็นแบบสากลเหมือนกัน 
              อย่างไรก็ตาม ในโลกที่กว้างใหญ่ มีผู้รู้ได้สร้างหลักการเป็นมาตรวัดว่า หลักความสวยงามมีหลักเช่นนั้น เช่นนี้ เช่น ในแง่ปรัชญา ศาสนา สรีระศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ฯ เป็นทฤษฎีที่ต่างเสนอขึ้นมา เพื่อจับเอาปรากฏการณ์หรือผสมผสานศาสตร์ วัตถุ เป็นองค์ประกอบในการสร้างหลักความสวยงามขึ้น
              ๒) "หลักความงามหรือทฤษฎีสุนทรียศาสตร์" (Aesthetics) เป็นการสะท้อนการรับรู้ของมนุษย์เอง ตั้งแต่สมัยอยู่ป่าเป็นวัตร ซึ่งได้สัมผัส สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมอยู่ประจำ จึงคิดค้นหาทางเข้าถึงสิ่งรอบตัวว่า มันทำให้เราเบิกบาน เพลิดเพลิน เจริญตา และใจ ได้อย่างไร จึงสรุปคร่าวๆ ไว้ ๓ ฐานด้วยกันคือ
                             ๑) ฐานจากวัตถุ (วัตถุวิสัย) หมายถึง ความงามปรากฏขึ้นได้ เพราะมีวัตถุนั้น ที่เป็นตัวแทนความงาม ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสิ่งมีชีวิตแบบสากล แต่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดของบางชนิดเท่านั้น เช่น ผีเสื้อ หาดอกไม้ (สีสวยงาม) พืชมิได้ผลิดดอกไม้มาเพื่อผีเสื้อโดยตรง แต่มีเป้าหมายเพื่อความอยู่รอดของตนเอง เพราะถ้าบอกว่า สีคือ สิ่งสวยงามสำหรับผีเสื้อ สีเหลือง สีแดง ฯ ของใบไม้มีมากมาย แต่ผีเสื้อไม่สน เพราะฉะนั้น ความงามกับผีเสื้อมิได้เป็นแก่นแท้ของกันและกัน ผีเสื้อต้องการน้ำหวาน ส่วนพืชต้องการใช้ผีเสื้อผสมเกสรให้ 
                           ๒) ฐานจากมุมมองมนุษย์ (มนุษยวิสัย) หมายถึง ความงาม จะโดดเด่น ชัดเจน แล้วประจักษ์ต่อมวลมนุษย์ ก็เพราะมนุษย์เกิดมาพร้อมศักย์ในตัวนั่นคือ ความรับรู้ (ประสาท) สายตาคือ เครื่องดูดเอาภาวะนอกตัวหรือโลกภายนอกเข้าสู่ตา สู่ตัว (จิต) แล้วประทับไว้ในสมองแล้วสื่อสะท้อนตอบสนองกับภาพหรือวัตถุนั้น เป็นภาษาหรือกิริยาท่าที เหมือนที่อริสโตเติ้ลมองว่า ความงาม อยู่ที่เราใช้ประสาทสัมผัส ซึ่งต่างเพลโตที่มองว่า การเข้าถึงต้นแบบของสิ่งนั้นๆ จึงจะได้เข้าถึงรสแซบเว่อร์ของความงาม นี่คือ ที่เกิดของกลุ่มที่เรียกว่า "จิตนิยมแบบอุดมคติ" นึกเลยไปไกลกว่านี้ ในกลุ่มสำนักโซฟิสต์กล่าวว่า มนุษย์แต่ละคนคือ ผู้วัดสรรพสิ่งด้วยตัวเอง รวมถึง ความงามด้วย
                          ๓) ความสัมพันธ์ (สัมพันธวิสัย) หมายถึง ความเกี่ยวโยง ความเกี่ยวเนื่องกัน ผสมผสานกันอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรแยกแตกกัน จนกลายเป็นสิ่งเติมเต็มให้แก่กันอย่างสมบูรณ์แบบ ความงาม ความสวย ต้องอาศัยองค์ประกอบเป็นสิ่งแต่งแต้ม แซมซ้อนสอดแทรกกันเป็นหนึ่งเดียว  หากสิ่งใดบกพร่อง ขาดไป ย่อมขาดความสวยงาม หากสาวงามตาบอดหรือฟันหลอ ก็ขาดความสมบูรณ์ในความงาม โดยเฉพาะเราจะพบว่า ป่า เขา แม่น้ำ พืช สัตว์ ลม แดด สี ความเคลื่อนไหว ฯ ล้วนเป็นองค์ประกอบให้เราเรียกว่า ทิวทัศน์สวยงาม
                ฉะนั้น หลักในความงามมีส่วนที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและพึ่งพามนุษย์เป็นหลัก เมื่อเรากล่าวถึงสิ่งใดว่า งามหรือสวย เราควรหาหลักวัดว่าอิงฐานใด เพราะเมื่อมนุษย์เกิดด้วยร่างกายเป็นฐาน ฐานนี้คือ เครื่องวัดสรรพสิ่งนั่นเอง อยู่ที่ว่า เราจะเข้าถึงตนเองแล้วระเบิดภายในตัวเองไปสู่จักรวาลได้อย่างไร 
                ๓) "วัตถุแห่งความงาม" (Art Medium) เป็นตัวแทนของความงาม ที่ต้องอาศัยตัวกลางเป็นสื่อสะท้อนภาวะนามธรรมให้ไหลออกมาสู่สายตาคนชมหรือผู้เสพ โลกจึงมีสื่อประเภทนี้ ๒ ชนิดคือ ๑. สื่อที่อุบัติขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นสื่อบริสุทธิ์ ๒. สื่อที่ถูกแต่ง ถูกสร้างขึ้นจากฝีมือสัตว์หรือมนุษย์ สื่อแรกเราพบอยู่รอบๆตัว บ่อยครั้งที่เราชื่นชมว่่า ธรรมชาติสวยบริสุทธิ์ หน้าฝน หน้าหนาว เที่ยวทะเล ป่า เขา ฯ ล้วนมีเสน่ห์ในตัวเอง ซึ่งธรรมชาติที่เราเสพนั้น มันงามได้ สวยได้ เพราะเราไปสัมพันธ์ด้วย มันจึงกลายเป็นตัวแทนความงามไป ส่วนอันหลังเป็นผลงานของมนุษย์เองที่สรรสร้างด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น บ้านเรือน ตึก รถ วัดวาอาราม รูปปั้น รูปทรงต่างๆ ของเล่น ของใช้ ฯ ที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนถูกผลิดขึ้นมาจากเรา โดยเฉพาะด้านปฏิมากรรม วิจิตรศิลป์ จิตรกรรม ฯ นั่นคือ อารยธรรมด้านสติ ปัญญา ความเป็นศิลปินในสายเลือดของมนุษย์
                ถ้าเช่นนั้น ตัวมนุษย์เองคือ ศิลปะด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ ผู้ที่เรียนด้านวิจิตรศิลป์ย่อมรู้ว่า วิชากายวิภาคศาสตร์ คือ รากฐานของศิลปะ เราทุกคนคือ ตัวแทนความงาม ซึ่งเป็นได้ทั้งวัตถุและอัตศิลป์ในตัวเอง หมายความว่า เราเป็นสื่อความงาม และเป็นผู้รู้ในความงามนี้ด้วย ไม่แปลกใช่ไหม สาวๆ ชอบส่องกระจกหรือแต่งหน้าเอง เพื่อให้ตัวเองงามหรือสวย แต่่การแต่งแบบนี้ เป็นเพียงสร้างความงามจำลองขึ้นมา ดึงดูดกันเอง แล้วก็ไล่ล่ากันเอง ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นไปเพื่อสัญชาตญาณ ในกรณีนี้ มนุษย์สร้างความงามได้จริงๆ หรือ
               ๔) "ผู้สร้างความงาม"(Making up) ในทางศาสนากลุ่มเทวทัศน์ มักจะอ้างว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นมา พระเจ้าคือ ผู้ทรงฤทธานุภาพและเปี่ยมด้วยความงาม ความเป็นเลิศด้านสติ ปัญญา จึงสามารถสร้างจักรวาล ดวงดาว โลก ชีวิต สรรพสสาร ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสวยงามอันวิจิตรพิศดาร เหนือมนุษย์คนใดจะทำได้ ส่วนในกลุ่มอเทวทัศน์ มักไม่สนใจเรื่องพระเจ้า มองว่า ธรรมชาติจัดสรรขึ้นมาเอง โดยมากจะหมายเอาธรรมชาติเชิงวัตถุที่สัมผัสได้ ที่เกิดระบบนิเวศน์ขึ้นมา จนกลายเป็นความงามอย่างธรรมชาติ
                หากจะมองแบบไล่จากผลไปหาเหตุ ต้องเริ่มจาก สสาร แต่ละธุลีที่เกาะกุม รวมสรรพสิ่งให้คงอยู่ได้ และดำเนินอยู่ตามเส้นทางระบบกฎกลไกของโลก นั่นคือ แรงโน้มถ่วง การหมุนวนของตนเอง (โลก) การโคจร กาลเวลา ที่ทำปฏิกิริยาต่อดวงอาทิตย์ จึงก่อให้เกิดสรรพสิ่งดำรงไปตามกฎนี้ จนนำไปสู่ความงามอย่างน่าอัศจรรย์ จากนั้นก็อิงไปถึง แสดงแดด รังสี ของดวงอาทิตย์ ที่สร้างให้โลกสวยงาม สีฟ้าคราม เมื่อมองจากนอกโลก อ้างไปถึงพระจันทร์ด้วย ที่สร้างบรรยากาศให้โลกสวยงามยามราตรี เลยไปจากขอบเขตนี้ ก็ต้องอิงในระบบกาแล๊กซี่ทางช้างทางเผือกของเราที่เอื้อให้ระบบสุริยะของเราดำรงอยู่ได้ และทำให้เกิดความงามขึ้นมา เลยต่อไปอีกที่ต้องบอกว่า นี่คือ ผู้สร้างความงามอย่างแท้จริงในปฐมกาล นั่นคือ ระบบจักรวาล ในเอกภพนี้
               เราคงพอมองเห็นไหมว่า ความงามในโลก มิใช่เกิดเพราะโลกอย่างเดียว ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นญาติสายพันธุ์แห่งความเชื่อมโยงกันไปแบบไม่มีอะไรอยู่โดดเดี่ยว รวมถึงความงามด้วย อันที่จริง ความงาม ความสวยนี้ ก็มิใช่เป้าหมายหรือเจตจำนงแท้จริงของสรรพสิ่งในสากลจักรวาลนี้ หากแต่เป็นผลพลอยได้ จากกระบวนการสร้างสรรค์ของระบบจักรวาล ตั้งแต่ยุคบิ๊กแบง แต่ผลพลอยได้นี้ กลับสร้างความประทับใจให้กับสิ่งมีชีวิต เช่น มนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
               ดังนั้น เราจะยังเชื่ออีกหรือไม่ว่า เราคือ ผู้สร้้างความงามหรือเราคือ ตัวแทนความงาม เราอาจเป็นแค่เพียงผู้เสพความงามก็ได้ เพราะสุดท้าย ความงามที่เราชื่นชมก็จะเสื่อมไปตามกาลอายุไข ร่างกายเสื่อมลง สายตาพร่าลง โลกก็มืดมอดตามกระนั้นหรือ ไม่ โลกยังอยู่เช่นนั้น เราต่างหากที่เสื่อมจากความงาม อย่างไรก็ตาม มนุษย์ยังรู้จักมองได้หลายมุมมอง (สหทัศน์) แม้กระทั่งสิ่งที่เสื่อมลง ยังมองเห็นความงามในนั้นด้วย ความโกลาหล คือ มีความสงบ ความอัปลักษณ์คือ มีความสวย มองเห็นซากศพคือ ราชินีแห่งความงามได้อีก นี่คือ สารัตถะแห่งความงามที่มีฉากแห่งความจริงแอบแฝงซ่อนอยู่
               ๕) "สิ่งที่ได้จากความงาม" (Advantage) สิ่งที่ได้มิใช่เป็นวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น เราได้ตามพื้นฐานการเสพ การมองของแต่ละคน โดยทั่วไปเราได้สิ่งต่างๆ เมื่อเสพศิลป์เช่น ความเพลิดเพลิน ข้อคิด แรงบันดาลใจ ความรู้ การจรรโลงใจ ศีลธรรม ปรัชญา ฯ เมื่อกล่าวมวลรวมพอสรุปได้ ๒ อย่างคือ ๑)วัตถุศิลป์ คือ ชิ้นงานที่ศิลปินสรรสร้างขึ้นมา แล้วเราอยากได้ อยากเก็บไว้เป็นที่รำลึก เช่น ภาพวาด รูปปั้น สิ่งมงคล เครื่องประดับ หรือวัตถุโบราณของเก่า สิ่งของเหล่านี้ มีค่าทางจิตใจ และมีค่าด้านกาลเวลา  แต่ที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็อาจพุพังไปตามกาล เหมือนชีวิตเรา ๒) นามภาวศิลป์ คือ ได้รับรู้ ได้เข้าใจ ได้ข้อคิด ปรัชญาศีลธรรม เช่น ศิลปะของอาจารย์เฉลิมชัย ของอาจารย์ถวัลย์ อาจายศิลป์ พีระศรี ฯ เราได้เข้าใจในความงามในตัวจิตของศิลปิน ได้เข้าถึงเป้าหมายของศิลปิน เช่น ภาพของโมนาลิซ่า ของแวนโก๊ะ เขาคิดอะไรอยู่  เป็นต้น
                สิ่งที่เราจะได้เพิ่มขึ้นอีกคือ ได้เข้าใจตัวตนของตนเอง เช่น ความงามในใจเราทุกคน เราคือ ศิลปินแห่งโลก ที่รังสรรค์สิ่งดีงามในสังคม ในโลกได้ มองให้ลึกลงไปอีกความงามที่เข้าถึงธรรม ธรรมคือ แก่นสารแท้จริงของความงามอมตะ "ธรรมศิลป์" คือ จิตวิญญาณของมนุษย์ ที่จะผุดขึ้นไปมองโลกแห่งความงามบนโลกเป็นมายาหรือของจริง มองใจตนเองลึกๆ เราอาจพบสัจศิลป์แห่งภพชีวิตนี้ได้ นั่นคือ เส้นสาย ลายศิลป์แห่งวัฏชีวิต ด้วยเหตุนี้ เราควรแสดงความงามให้ปรากฏแก่ตนให้เกิดคุณค่าขึ้น เช่น แสดงกิริยามารยาทที่งดงาม แสดงพฤติกรรมที่ดี มีคุณธรรมประจำใจไว้เป็นหลักของใจบ้าง

             ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า "ความงาม" นั้น ผู้เขียนขอประมวลตื้นๆ ไปหาส่วนลึกดังนี้ ความงาม เกิดขึ้นได้เพราะ ๑) เรามีเรา (ชีวิต) มีตา มีสมอง รับรองข้อมูลโลก ๒) เราที่อยู่คือ โลก ที่ให้สรรพสิ่งแก่เราได้อยู่ ได้ชื่นชม ๓) มีดวงอาทิตย์ที่เอื้อให้โลกมีกลางวัน กลางคืน เราจึงมองเห็นวัตถุสีสวยงาม พร้อมเห็นตัวเองด้วย ๔) มีสรรพสิ่งที่โอบอุ้มให้เราเป็นอยู่ได้อย่างปกติ ทั้งสัตว์ มนุษย์ พืช พหุธาตุ ฯ ๕) เรามีจิตที่อุดมด้วยความคิด ความรู้สึกนึกคิด ที่แสดงออกต่อโลก ต่อสรรพสิ่ง จนเราสุขใจ สบายใจ นี่คือ แดนสวรรค์อันงดงาม ที่มีทุกข์คอยขับเคลื่อนให้เราเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

    -------------------<+>--------------------

คำสำคัญ (Tags): #ศืลปะ#ความงาม
หมายเลขบันทึก: 556783เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 06:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใครๆ บอกว่า คุณงามความดีซิจีรังค่ะ

อ่าน..บล้อกนี้..ทำให้..คิด..ถึงคุณครู..คนหนึ่ง..ตอนเรียน..รร.ประถม..สมัยนั้น..ครูมีคำถามให้เราตอบ..ว่า.."อย่างไรเรียกว่า.."ตาสวย"....ปรากฏว่ายืนกันทั้งห้อง"..(โดนทำโทษ..ที่"ตอบ"ไม่ถูก..เหมือน คำเฉลย)...ตำตอบ..มีอยู่ว่า....ตาสวย..คือ.".ตาที่มีสุขภาพดี."..อ้ะะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท