ภาษีมรดก


การจัดเก็บภาษีมรดกประเทศไทย

๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

การจัดเก็บภาษีมรดกประเทศไทย

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้วเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมรดก เมื่อครั้งรัฐบาลนายชวนหลีกภัย พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึงรัฐบาลต่อมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นเพียงแนวคิด เพราะมีการประเมินผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนใหญ่เป็นคนวงในรัฐบาล [1]

ภาษีมรดกได้ฮือฮาอีกครั้งเมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ฯ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อปี ๒๕๔๙ ขอนำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีมรดกที่จัดเก็บอยู่ในประเทศต่าง ๆ จำแนกได้เป็น [2]

๑. ภาษีมรดก (Estate Tax) หมายถึง ภาษีที่เก็บจากกองมรดกของผู้ตาย โดยเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายจะถูกเรียกเก็บภาษีก่อน ที่เหลือจากการเก็บภาษีจึงจะตกเป็นของทายาทผู้ตาย ภาษีจะเก็บมูลค่าทั้งหมดของผู้ตาย โดยไม่คำนึงถึงจำนวนทายาทผู้รับมรดกและความสัมพันธ์ระหว่างทายาท ผู้รับมรดกกับผู้ตาย ถ้าผู้ตายไม่มีมรดกก็ไม่ต้องเสียภาษี

๒. ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) หมายถึง ภาษีที่เก็บจากทายาทของผู้รับแต่ละคน โดยทายาทผู้รับต้องเสียภาษีตามจำนวนหรือมูลค่าของทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ ทั้งนี้อัตราภาษีขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างทายาทผู้รับมรดกกับผู้ตาย ทายาทที่เป็นญาติสนิทของผู้ตายจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าทายาทที่เป็นญาติห่างออกไป และเป็นภาษีเท่ากันในอัตราก้าวหน้าตามจำนวนมูลค่าทรัพย์มรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับโดยมิได้ขึ้นอยู่กับขนาด หรือมูลค่าของกองมรดกแต่อย่างใด

อาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต และอาจารย์ทองใบ ทองเปาวด์ ได้ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๔๔ มีสาระน่าศึกษา ดังนี้ [3]

หลักการ

สมัยอยุธยา พระนารายณ์มหาราช เรียก “อากรมรดก”

เป็นทรัพย์สินเกินกำลังทายาทที่จะใช้สอย

มีมากจนถึงขนาด

ระบุขั้นต่ำไว้ มีเพดาน เกินกว่า เช่น เกินกว่า ๑๐ ล้านบาท

อัตราก้าวหน้า

สร้างความเป็นธรรม (คนรวย คนจน)

เก็บเมื่อเจ้าของมรดกตาย เก็บจากทายาท

ยุโรปใช้มาก

ประโยชน์ข้อดีข้อเสียของการจัดเก็บภาษีมรดก

จากหนังสือพิมพ์มติชนปีเดียวกัน ให้ข้อมูลว่า [4]

ต้องให้มีตัวเลขขั้นต่ำและขั้นสูง คือ เจ้ามรดกที่มีมูลค่า ๑๐ ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี จัดเก็บจากทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและนอกประเทศ ควรจัดเก็บภาษีมรดกจากกองมรดกหรือผู้รับมรดก และควรเก็บจากผู้รับมรดกเพราะสะดวก และชอบธรรมในการจัดเก็บ

ข้อดี

๑. เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ และกระจายความมั่งคั่งให้คนจนและคนรวยมีความเสมอภาคกันมากขึ้น

๒. ลดปัญหาคอร์รัปชั่นในหน่วยงานต่าง ๆ ลงได้ เนื่องจากทรัพย์สินที่สะสมไว้ ถ้ามีมากจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงตามไปด้วย บุคคลอาจจะขาดแรงจูงใจในการสะสมทรัพย์สิน ทำให้หยุดหรือลดการกอบโกยจากการทุจริตในหน้าที่ เพราะไม่อยากเสี่ยงต่อการทำผิดที่ได้ผลไม่คุ้มค่า

ข้อเสีย

๑. อาจเป็นการทำลายแรงจูงใจในการออมและกระทบการลงทุน

๒. รายรับของภาษีมรดกไม่มีความแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับการตายของเจ้ามรดกที่ไม่แน่นอน ทำให้ลำบากต่อการจัดสรรงบประมาณ

ในอดีตประเทศไทยได้เคยมีการจัดเก็บภาษีมรดก ตามพระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช ๒๔๗๖ แต่ได้ยกเลิกไปเพราะคนร่ำรวยได้คัดค้าน โดยอ้างว่าเก็บได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งในความเห็นของ ศ.ประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ (พ.ศ.๒๕๔๑ – ๒๕๔๒) เห็นว่า [5]

ควรจัดเก็บจากกองมรดกโดยกำหนดหลังจากเจ้ามรดกเสียชีวิต ต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อจัดการมรดกมาเป็นผู้ทำหน้าที่ชำระภาษีมรดก ซึ่งต้องเปิดเผยจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงต่อศาล เพราะมีผลต่อการคำนวณภาษี

ในประเทศยุโรปศาลเป็นผู้อนุมัติตั้งผู้จัดการมรดก และส่งเรื่องให้กรมสรรพากรไปดำเนินการจัดเก็บเอง

ในการจัดเก็บภาษีจะตั้งเพดานขั้นต่ำไว้ว่ามรดกไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี และก่อนเสียภาษีมรดกผู้จัดการมรดกสามารถหักเงินส่วนที่อาจจะมีเจ้าหนี้กองมรดกต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนนำยอดเงินที่เหลือไปยื่นคำนวณว่าต้องเสียภาษีมรดกเท่าไร

ภาษีมรดกให้จัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้า มีมรดกมากเสียมาก แต่เสียครั้งเดียว ส่วนที่เหลือจากการหักภาษีแล้วก็แบ่งให้ทายาทซึ่งไม่ต้องเสียภาษีอีก

ภาษีมรดกไม่กระทบคนจน ชาวไร่ ชาวนา

ในสหรัฐอเมริกามีการจัดเก็บภาษีมรดกที่แพงมาก จึงมีผู้เลี่ยงภาษีด้วยการบริจาคเพื่อการกุศลหรือประโยชน์สาธารณะ ทำให้เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก

ประโยชน์ภาษีมรดกทำให้เกิดการกระจายรายได้ เสนอให้มีการบัญญัติข้อยกเว้นว่า ห้ามเก็บภาษีมรดกราชวงศ์ ผู้ทำคุณความดีต่อประเทศชาติ เช่น ทหารหรือการบริจาคเพื่อการกุศล

มีผู้พยายามนำเสนอหลักการจัดเก็บภาษีมรดกต่าง ๆ เช่น เสนอหลักการว่า [6]

๑) ใครที่โอนทรัพย์สินของตนให้ลูกหลานหรือผู้อื่น ก่อนตนตายไม่น้อยกว่า ๕ ปี (ครบ ๕ ปีก่อนตนตาย) ผู้รับมรดกไม่ต้องเสียภาษีมรดก ๒) ถ้าโอนฯน้อยกว่า ๕ ปี ผู้รับมรดกต้องจ่ายเงินภาษีมรดกตามสัดส่วนดังนี้

๔ ปีก่อนตาย ผู้รับมรดก เสียภาษีฯ ๑๐ % ของมูลค่ามรดกรวม

๓ ปี.....เสีย ๒๐ %

๒ ปี..........๓๐ %

๓) ไม่ถึง ๒ ปี หรือตายไปเสียก่อนโอนฯ ผู้รับมรดกเสียภาษีมรดก ๔๐ %

แนวโน้มการนำภาษีมรดกมาใช้

สรุปว่า ได้มีการศึกษาเรื่องภาษีมรดกมาก่อนหน้านี้พอสมควร นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร นักศึกษา วปอ. รุ่นที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ก็ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "การศึกษาความเหมาะสมในการนำระบบภาษีมรดกมาใช้จัดเก็บในประเทศไทย" ผลการศึกษาที่สนับสนุนให้จัดเก็บภาษีมรดก เช่น ชมพูนุท โกสลากร เพิ่มพูนวิวัฒน์ และคณะ (๒๕๕๐) [7] สรุปว่า จากข้อสนับสนุนและคัดค้านของงานวิจัยเกี่ยวกับภาษีมรดกทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เห็นได้ว่า ควรจะมีการจัดเก็บภาษีมรดก และ เมธา มาสขาว (๒๕๕๒) [8] เสนอให้รัฐบาลเร่งเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า สร้างสังคม-ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการโดยเรียกร้องให้นักการเมืองและชนชั้นนำทางสังคม เสียสละที่ดินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการผูกขาดทางสังคมมาอย่างยาวนาน หากทำทำบัญชีที่ดินก็จะพบว่ามีไม่กี่ตระกูลที่มีที่ดินเยอะมากมาย และหลายพื้นที่มีจนลืมและกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า นโยบายที่สำคัญคือ เก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ซึ่งมากกว่า ๕๓ ประเทศทั่วโลกใช้กฎหมายนี้ในการลดทอนความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

เรวดีช้างบุญชู (๒๕๕๒) เห็นว่า ในปัจจุบันไทยไม่มีการเก็บภาษีมรดก และไม่คิดว่าจะมีในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตามการวางแผนเรื่องทรัพย์สมบัติให้ทายาทเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่บุตรหลานด้วย มีสิ่งสำคัญสองสิ่งที่ต้องเตรียมคือ พินัยกรรม และผู้จัดการมรดก โดยผู้จัดการมรดกนั้นควรเลือกเอาทนายความ หรือบุคคลอื่นที่ มิใช่ทายาทจะเหมาะกว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ควรอบรมสั่งสอนลูกให้ดีก่อนวางแผนแบ่งมรดกเพื่อให้เขาสามารถรักษาทรัพย์สินเหล่านั้นได้เมื่อเขาได้เป็นเจ้าของแล้ว [9]

+++++++++++++

อ้างอิงเพิ่มเติม

ASTVผู้จัดการออนไลน์, "ม.หอการค้าไทยแนะรัฐบาลเก็บภาษีมรดก-ทรัพย์สิน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ", ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕, http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000138588

เครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป, "ภาษีมรดกและข้อถกเถียง", ๒ มิถุนายน ๒๕๕๖,

http://v-reform.org/v-report/inheritance-tax-and-datate

สรรพากรสาส์น, "ภาษีมรดก (อีกครั้ง)???", http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=33


[1]มติชนรายวัน, "ผลศึกษาภาษีมรดกยุค 'ชวน-แม้ว' สมบัติข้าใครอย่าแตะ!", ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕,

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10152109257854525&set=a.10150224184009525.335333.776169524&type=1&theater

[2]Block OKnation, "ภาษีมรดก", พฤษภาคม ๒๕๕๐, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=34759

[3]สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔.

[4]ข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔.

[5]ข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔, คำนูณ สิทธิสมาน, "ภาษีมรดก นโยบายที่ทุกพรรคไม่พูดถึง", ผู้จัดการออนไลน์, ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔, http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000071618

[6]MP Accounting & Law Office , "ภาษีมรดก'', ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๒.๒๒ น., https://www.facebook.com/MP.AccnLaw/posts/532548430090784

[7]ชมพูนุท โกสลากร เพิ่มพูนวิวัฒน์ และคณะ, "โครงการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับภาษีมรดกและผลได้จากทุน(2550)",

http://landforum.trf.or.th/attachments/article/33/PDF10-01.pdf

[8]เมธา มาสขาว, “เร่งเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า สร้างสังคม-ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ”, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ (ชื่อบทความเดิม: รัฐบาลต้องเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างสังคม-ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ) http://www.prachatai.com/journal/2009/02/20005

[9]เรวดีช้างบุญชู, "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีมรดก : ภาษีมรดก (Death duties)", ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒.

http://politic-taxation-03.blogspot.com/2009/01/blog-post.html

หมายเลขบันทึก: 555764เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2013 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2014 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คสช. เห็นด้วยเก็บภาษีที่ดิน-มรดก รอเสนอรัฐบาลชุดใหม่
โพสต์เมื่อ : 18 สิงหาคม 2557 เวลา 10:07:42

http://money.kapook.com/view95957.html

โดยภาษีที่ดินจะมีการปรับปรุงอัตราใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม จ่ายหลักพันต่อปี คาดปฏิรูปภาษีเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ 1 แสนล้าน
วันนี้ (18 สิงหาคม 2557) แหล่งข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูปภาษีว่า ตัวแทนของกระทรวงการคลังและสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทราบแล้ว แต่ คสช. มองว่าการปฏิรูปภาษีไม่ใช่เรื่องด่วน ดังนั้น อยากให้รอให้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เสียก่อน ค่อยพิจารณาการกันอีกรอบ...

คลอดร่างกม.ภาษีมรดก เกิน50ล้านหัก10% "มีชัย-วิษณุ"มือชง

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1408636229

updated: 22 ส.ค. 2557 เวลา 00:49:33 น., ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

จ่อคลอดกฎหมายภาษีมรดก หัวหน้า คสช.สั่ง "สรรพากร-กฤษฎีกา" ยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ ดึง "มีชัย-วิษณุ" นั่งเป็นกุนซือ ก่อนชง สนช.รับลูกต่อ ยึดแนวทางเก็บฝั่ง "ผู้รับ" ไม่เก็บจาก "กองมรดก" ชี้เป็นธรรมมากกว่า "ที่ดิน-เงินฝาก-หุ้น" โดนหมด แจง "รับให้" ก่อนตาย 2 ปีต้องเก็บภาษีด้วย เปิดโพยอัตราจัดเก็บ "รับ" มรดกไม่เกิน 50 ล้านบาท ยกเว้นภาษี ตั้งแต่ 50-200 ล้านบาทเก็บ 10% ส่วน 200 ล้านบาทขึ้นไป 20%

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท