ซิ่นไหมผืนเก่าๆ


ครั้งถึงตอนจบของเรื่อง “พี่” ชายหนุ่มที่ปูนาเฝ้ารอคอย ก็กลับเดินจากไปพร้อมกับ “อีสี” อันทำให้ตีความได้ว่าวัฒนธรรมนุ่งซิ่นอาจจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

 

ซิ่นไหมผืนเก่าๆ

เกศินี จุฑาวิจิตร 

ชุมชน 100 เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิต

 

             วันนี้หยิบ “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ” มาพินิจอีกรอบ

            “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ : รวมเรื่องสั้นรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนของประเทศลาว ประจำปี 2008”  เปิดหน้าแรกไป ลายเซ็นเจ้าของผลงาน คือ โอทอง คำอินชู หรือ ฮุ่งอะลุน แดนวิไล   นักเขียนซีไรต์ยังปรากฏชัด

                              

            ฉันได้หนังสือเล่มนี้พร้อมลายเซ็นมาเมื่อหลายขวบปี เนื่องในโอกาสที่ได้ไปเป็นผู้ดำเนินรายการอภิปรายประกบคุณโอทอง ในการเสวนาที่จัดโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.

            วรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ฉายภาพอย่างดีถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  

            ในเรื่อง “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ” การที่ “แม่” ขาย “ซิ่นไหมผืนเก่า” ของตนเองที่เก็บไว้ในหีบ เพื่อแลกซื้อกับผ้าซิ่นผืนใหม่จากโรงงานด้วยความภูมิอกภูมิใจนั้น   ก็คงสื่อได้ว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า ศิลปะอันวิจิตรงดงาม ทรงไว้ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ กำลังถูกแทนที่ด้วยความดื่นดาษของวัฒนธรรมใหม่ สมบัติส่วนตัว (ซึ่งก็คือสมบัติของชาติด้วย) ได้ถูกนำมาขายเป็น “สินค้า” ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแย่งกันซื้อหาไว้เพียงเพื่อจะได้รับการเชิดชูว่าเป็นผู้ที่มีศิลปะในหัวใจ

            ส่วนเรื่อง “น้องยังคอย” เรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งในเล่ม ก็สะท้อนภาพประจักษ์ชัดถึงการต่อสู้กันระหว่างวัฒนธรรม “นุ่งซิ่น” กับ “นุ่งสั้น”

            “ปูนา” หญิงสาวในเรื่องคือตัวแทนของคนกลุ่มแรก ส่วน “อีสี” คือคนกลุ่มหลัง เพราะเธอ “สวมกระโปรงผ่าข้างขึ้นไปจนถึงต้นขา ใส่เสื้อสายเดี่ยวเอวลอย มองเห็นสะดือ ทรงผมก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เข้าร้านเสริมสวยแทบทุกวัน บางครั้งก็โกรกผมสลับสี”

            ครั้งถึงตอนจบของเรื่อง “พี่” ชายหนุ่มที่ปูนาเฝ้ารอคอย ก็กลับเดินจากไปพร้อมกับ “อีสี” อันทำให้ตีความได้ว่าวัฒนธรรมนุ่งซิ่นอาจจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

           ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว!!

            ในขณะที่วรรณกรรมดังกล่าวสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้าน ฉันก็เห็นภาพนี้ ในประเทศของเราด้วยเหมือนกัน

            ประการแรก วัฒนธรรมและความหลากหลายของท้องถิ่นและของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ถูกนำมาเป็น “สินค้า” เพื่อการท่องเที่ยวแทบหมดสิ้น บางครั้งอยากบอก (แต่ไม่รู้จะบอกกับใคร) สิ่งที่เราอยากเห็นในยามท่องเที่ยวคือ สภาพธรรมชาติและวิถีความเป็นอยู่แบบเดิมๆ ที่ไม่ต้องจัดฉาก ไม่ต้องมากพิธี ไม่มีสิ่งใดที่ต้องการให้มาปรนเปรอ ประการที่สอง วัฒนธรรมนุ่งสั้นของเราน่ะชนะนุ่งซิ่นมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

            ลองหาอ่านกันดูนะคะ สำหรับคุณผู้หญิงถ้ายังหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านไม่ได้ ก็ลองเอาผ้าซิ่นหรือผ้าถุงแบบไทยมาใส่แทนกระโปรงไปพลางๆ ก่อน .. ได้อารมณ์ฟินๆ เหมือนกันค่ะ

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 555114เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับ..

-หนังสือเล่มนี้น่าอ่านมาก ๆครับ..

-อยากอ่าน ๆ เป็นแนวที่ชอบครับ

-ขอบคุณครับ

น่าสนใจมากครับ ผ้าซิ่น วัฒนธรรมอีสานบ้านเฮาที่หายไปนานมากแล้ว...

น่าสนใจมากครับทั้งในแง่ของวรรณกรรมและวัฒนธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท