สิ่งที่เราเห็นกับความจริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ ?


สิ่งที่เราเห็นกับความจริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ ?

*********

ความจริงคืออะไร?

ความจริง คือ สิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่จริงตามธรรมชาติ ความจริงคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนอยากรู้ แต่ความจริงที่มนุษย์ส่วนใหญ่อยากรู้มากที่สุดกลับเป็น ความจริงของสิ่งภายนอกตัวเอง อันได้แก่เรื่องนอกโลก หรือเรื่องต่างๆของโลก หรือเรื่องของคนอื่น ซึ่งความจริงเหล่านี้ล้วนเป็นความจริงที่มีประโยชน์น้อยกว่า หรือแทบไม่มีประโยชน์เลย เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการได้รู้ความจริงของชีวิตเราเอง[1]

ความจริง 3 ระดับ

1. ข้อเท็จจริง (Fact) คือ ความจริงโดยประจักษ์เกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 5

2. ความจริง (Truth) คือ ความจริงที่เป็นสากลสอดคล้องกับธรรมชาติ แก่ เจ็บ ตาย

3. ความเป็นจริง (Reality) คือความจริงสูงสุดหรือความจริงสมบูรณ์ เป็นความจริงด้านศาสนา เช่น พระเจ้า นิพพาน พระพรหม

ทาเลส (Thales) ความจริงในจักรวาลมีอย่างเดียว คือ น้ำ เรียกว่า ปฐมธาตุ

เดโมคริตุส (Democritus) อะตอม คือ ความจริงเพียงอย่างเดียว เรียกว่า สสาร

พุทธปรัชญา

1. สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ คือ เป็นจริงในฐานะยอมรับร่วมกัน เช่น ชื่อ บทบาท ร่างกาย เป็นต้น ความจริงนี้เปลี่ยนแปลงได้

2. ปรมัตถสัจจะ ความจริงอยู่เหนือสมมติ ปราศจากอัตตา เช่นร่างกายแม้ว่าเป็นร่างกายของเราก็ตาม แต่เราบังคับบัญชาไม่ได้ พระพุทธศาสนาใช้คำว่า อนัตตาไม่มีตัวกู ของกู (ท่านพุทธทาสเน้นคำนี้) อย่างแท้จริง[2]

คำสอนในศาสนาพุทธมีอยู่ว่า สรรพสิ่งประกอบด้วย รูปกับนาม จิตกับกาย และหลักการของ “อิทัปปจัยตา” หรือหลักที่ว่าทุกสิ่งเป็นไปเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาของโลก ขณะที่โลกเคลื่อนที่ไปด้วยเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ แต่ก็เกินกว่าความสามารถทางเหตุผลที่จะอธิบายได้ “ผู้รู้ย่อมเข้าใจและปล่อยวาง”[3]

สิ่งที่เห็นกับความเป็นจริงอาจสวนทางกัน

ทุกวันนี้ ทุกอย่างในโลกมักมี 2 ด้านที่ตรงข้ามกัน เช่น มีหัวและก้อย มีขาวและมีดำ มีดีและมีชั่ว มีบุญและมีบาป แต่ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะแยกแยะหรือตัดสินสิ่งใดว่าเป็นเช่นไรด้วยเพียงแค่เราเห็นด้วยตาหรือได้ยินมากับหู ซึ่งความเป็นจริงนั้นอาจไม่เป็นจริงตามที่เราเห็นหรือได้ยินก็เป็นไปได้[4]

คนตาบอดคลำช้าง

ร้อยกว่าปีที่แล้ว กวีชาวอเมริกันคนหนึ่งแต่งบทกวีจากอุปมาสมัยก่อน บาทแรกของบทกวีกล่าวดังนี้ ชายชาวอินเดียหกนาย รอบรู้เรื่องราวหลากหลาย เกิดอยากจะเห็นช้างพลาย (ทว่าตาบอดทั้งหกนาย) จึงไปดูให้เห็นกับตา ให้รู้สึกสาแก่ใจ

ในบทกวีนักเดินทางทั้งหกจับอวัยวะแต่ละส่วนของช้างแล้วก็อธิบายให้คนอื่นๆ ฟังว่าตนคลำพบอะไร คนหนึ่งพบขาของช้างและบอกว่ามีลักษณะกลมๆ หยาบๆ เหมือนต้นไม้ อีกคนหนึ่งคลำงาช้างและบอกว่าช้างเหมือนหอก คนที่สามจับหางและยืนกรานว่าช้างเป็นเหมือนเชือก คนที่สี่พบงวงช้างและยืนกรานว่าช้างเหมือนงูตัวใหญ่ ทุกคนกำลังพูดความจริง และเพราะความจริงนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่ละคนจึงยืนกรานว่าตนรู้สิ่งที่รู้

บทกวีสรุปว่า ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียทั้งหก จึงถกทะเลาะเถียงเสียงขรม ต่างฝ่ายยืนกรานความเห็นตน ทุ่มเถียงเสียจนไม่ยอมกัน มาตรแม้นกล่าวถูกคนละส่วน แต่ทุกคนล้วนผิดเสมอกัน!

เราพิจารณาเรื่องนี้จากมุมมองของเราและยิ้ม เราทุกคนรู้ว่าช้างมีลักษณะอย่างไร เราเคยอ่าน เคยเห็นในภาพยนตร์ และพวกเราหลายคนเคยเห็นด้วยตาตนเองมาแล้ว เราเชื่อว่าเรารู้ความจริงว่าช้างคืออะไร คนบางคนที่อาจจะทำการวินิจฉัยโดยเอาความจริงด้านเดียวมาใช้กับทั้งหมดจึงเหมือนเป็นคนโง่เขลาหรือแม้เชื่อไม่ได้ ในทางกลับกัน เรามองไม่ออกหรือว่าตัวเราเป็นเหมือนชายตาบอดหกคนนี้ เราเคยทำผิดที่คิดแบบเดียวกันหรือไม่[5]

ดังนั้น การรู้ “ความจริง” ก็คือ การรู้ที่ตรงกับสภาวะความเป็นจริง ไม่ใช่รู้เพียงสภาวะที่ปรากฏ การรู้ความจริงของสภาวะความเป็นจริงเท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้” (ในขณะที่การรู้สภาวะที่ปรากฏ เป็นเพียงการเห็น หรือข้อมูล)

ทัศนะแบบจิตนิยม (idealism)

เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นความจริงเนื้อแท้นั้น มิได้มีเพียง สสารหรือวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังมี อสสาร (immaterial) อีกด้วย กล่าวคือ อสสาร เป็นสิ่งไม่กินที่ ไม่กินเวลา อยู่พ้นโลกวัตถุออกไป มีอยู่ด้วยตนเอง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ถูกจำกัดด้วยกาละ (time) และเทศะ (space) เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้โลก มนุษย์และสรรพสิ่งมีระบบ ระเบียบ มีกฎเกณฑ์ มีความสม่ำเสมอ

นอกจากนี้สิ่งเหนือธรรมชาติเหนือประสาทสัมผัส (unseen world) ก็จัดเป็น อสสาร ตามกรอบแนวคิดแบบจิตนิยมด้วย ในขณะที่ ค่านิยม (values) เช่น ความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ที่ปรากฏอยู่ในโลก นักจิตนิยมก็เห็นว่ามีต้นกำเนิดอยู่ที่ อสสาร นั่นเอง

ดังนั้น ทัศนะแบบจิตนิยมจึงท่าทีต่อค่านิยม เช่น ความดี ว่ามีคุณค่าในตัวเอง แม้ไม่มีใครรู้เห็น คุณค่าเหล่านั้นก็ไม่ได้สูญหายไป ขณะเดียวกันก็มีท่าทีต่อการแสวงหาความสุขทางกาย ว่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์

นักคิดในลัทธิจิตนิยมเห็นว่าโลก มนุษย์และสรรพสิ่งล้วนแต่ไม่สมบูรณ์ ไม่เที่ยง มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ เทศะ แต่ก็ยังมีอีกโลกหนึ่งที่จริง สมบูรณ์ คงอยู่นิรันดร์ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ดังเช่น “แบบ” และ “ทฤษฎีแบบ” ของพลาโต (Plato)

ทฤษฎีแบบของพลาโต (Theory of Ideas)

พลาโตเห็นว่า ยังมีอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่า โลกแห่งแบบ (World of Ideas) ที่สมบูรณ์ ดีงาม จริงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลาย ไม่ถูกทำลาย ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง และเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในโลกมนุษย์ แต่แบบและโลกแห่งแบบนั้น ไม่อาจสัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เพราะเป็น “อสสาร”

“แบบ” เป็นความจริงสูงสุดในทัศนะของพลาโต ซึ่งแบบจะอยู่แยกออกไปจากโลกมนุษย์ คือ อยู่ใน โลกแห่งแบบ นั่นเอง

พลาโตเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีแบบ ซึ่งก็คือลักษณะร่วมทั้งทางคุณภาพและโครงสร้างของสิ่งหนึ่ง ๆ แบบทำให้เรามีความเข้าใจและคิดถึงสิ่งหนึ่ง ๆ ได้ตรงกัน เช่น “แมว” แม้ว่าจะมีหลากสีหลายพันธุ์ แต่สิ่งที่ทำให้เราบอกว่าสิ่งมีชีวิตนั้นคือ “แมว” ก็คือสิ่งที่พลาโตเรียกว่า “แบบ” ของแมว จึงเห็นว่าแบบของแมวทำให้เราเข้าใจแมวตรงกัน

พลาโตเสนอปรัชญาของเขาว่า “สรรพสิ่งในโลกมนุษย์เป็นเพียงภาพจำลองของแบบ หรือภาพสะท้อนของแบบ” แม้ว่าสิ่งเฉพาะในโลกจะสูญหาย/เปลี่ยนแปลงไป แต่แบบซึ่งเป็นสิ่งสากลยังคงดำรงอยู่ตลอดไป

ทัศนะแบบวัตถุนิยม (materialism)

ความจริงที่นักวัตถุนิยมเสนอก็คือ สสารและปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งใดไม่สามารถสัมผัส แตะต้อง มองเห็นได้ สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง ลักษณะสำคัญ ๆ ของแนวคิดแบบวัตถุนิยม คือ

1. สิ่งที่เป็นจริงจะต้องสามารถค้นหาและตรวจสอบได้ด้วยวิธี ปรนัย หรือ ภววิสัย หรือ วัตถุวิสัย (objective) คือ มีความแน่นอนตายตัว ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ค้นหา (แนวคิดนี้สอดคล้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์)

2. เป็นแบบนิยัตินิยม (determinism) คือ เชื่อว่าทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ

3. ปฏิเสธความจริงในสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ยอมรับว่า อสสารมีอยู่จริง

4. ยอมรับการทอนลง (reductionistic) เชื่อว่าทุกสิ่งสามารถทอนหรือย่อยลงจนเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดได้ การเข้าใจส่วนย่อยจะทำให้เข้าใจส่วนใหญ่ได้ สรรพสิ่งแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความซับซ้อนของธาตุพื้นฐาน แต่คุณภาพไม่ต่างกัน

5. เห็นว่าค่านิยมต่าง ๆ เป็นสิ่งสมมติ ความดี ความงาม ไม่มีอยู่จริง

อาจกล่าวได้ว่าความจริง ในทัศนะของนักวัตถุนิยมคือ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ไม่มีอะไรหายไป มีแต่การเปลี่ยนแปลงจำนวนและถิ่นที่อยู่ของวัตถุหรือสสารเท่านั้น

ทฤษฎีปรมาณู (อะตอม) : atomic theory

เดมอคริตุส (Democritus) เสนอว่า สรรพสิ่งในโลกสามารถทอนลงไปทีละครึ่ง ๆ จนถึงสิ่งที่เล็กที่สุดซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกต่อไปได้ สิ่งนั้นถือเป็นความจริงสูงสุด มีลักษณะเป็นวัตถุหรือสสาร ที่เรียกว่า ปรมาณู หรือ “อะตอม” (atom) อะตอมเป็นมวลที่มีความอิ่มตัวเต็มที่ ไม่สามารถสร้างหรือทำลายลงได้ มีพลังขับเคลื่อนในตัวเองซึ่งขึ้นอยู่กับกฎของจักรกลอันเป็นธรรมชาติในตัวอะตอมเอง   ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นไปตามกฎจักรกล (mechanical law) ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยไร้เหตุผล สรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยและความจำเป็น เนื่องจากโลกและสรรพสิ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีเจตจำนงเสรี แต่เป็นไปตามแรงผลักดันจากกฎของสสารและการเคลื่อนที่ ทำให้เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่าโลกเกิดมาเพื่ออะไร จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษยคืออะไร เป็นต้น

แต่เราก็ไม่อาจเรียก เดมอคริตุส ว่าเป็นนักวัตถุนิยมได้อย่างสมบูรณ์นัก เพราะแม้อะตอมจะเป็นสสาร แต่วิธีการเข้าถึงความจริงนั้นไม่สามารถกระทำได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่ทำได้ด้วยการใช้ชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติซึ่งเป็นกฎเหตุผล การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับเหตุผลจะทำให้เรารู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นเป็นความสุขภายในที่ไม่อิงอาศัยวัตถุภายนอกใด ๆ[6]

*********

 

 

 

[1] http://www.kroobannok.com/blog/10392 กค 2556

[2] http://kit-meaninoflife.blogspot.com/2008/07/blog-post_09.html กค 2556

[3] http://www.baanjomyut.com/10000sword/poem/08.html กค 2556

[4] http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=21536 กค 2556

[5]

http://www.lds.org/broadcasts/article/ces-devotionals/2013/01/what-is-truth?lang=eng&clang=tha  กค 2556

[6] http://www.baanjomyut.com/10000sword/poem/08.html กค 2556

คำสำคัญ (Tags): #ฆ.ระฆัง
หมายเลขบันทึก: 555030เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2013 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ให้ความรู้ดีมากครับ เป็นหลักการดี ..ขออนุญาตแจมความเห็นนะครับ..

"ความจริง" (Reality)..กับความจริง (Truth) ต่างกันครับ

ความจริงแรกตามที่โพสต์ นั่นเป็นได้สองลักษณะคือ

๑) เป็นความจริงด้วยตัวเอง ซึ่งปรากฏตามธรรมชาติ (Universal Law)

๒) เป็นความจริงตามการจินตนาการหรือวาทกรรมของมนุษย์ (Traditional reality)

ทั้งสองสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ความจริงแรก จะแอบแฝงซ่อนอยู่ในรูปของสสารรอบตัวเรา ที่เราต้องใช้ประสาทสัมผัสจึงจะรู้ว่านั่นคือ โลก พืช ดิน น้ำ ลม สัตว์ ฯ สิ่งเหล่านี้ มีความจริงอยู่เบื้องหลังให้สรรพสิ่งปรากฏและดำเนินไป เรียกว่า "กฏ" (Natural Law) (ที่นี่จะไม่ขยายว่า ความจริงมาจากไหน ใครกำหนด ซึ่งจะมีปัญหาอธิบายอีก) ทีนี้เมื่อเราอยากรู้ว่า มี "ความจริง" จริงหรือไม่ (สรรพสิ่ง : กฏ) เราต้องอาศัยประสาททั้งห้าของเราสัมผัสเป็นขั้นแรก นี่คือ ความจริงที่เป็นแบบสสาร เช่น ก้อนหิน เราจะรู้ก็ต่อเมื่อ ตา มือ ขา ฯ เราจับต้องมันแล้วใช้ภาษาสื่อว่า มีก้อนหินอยู่ ตรงกันข้ามหากเราไม่มีตัวตน (สสารกาย) เราก็ไม่อาจประเมินได้ว่า "สรรพมีอยู่จริง"

ปัญหาคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คำว่า "จริง" (Real) เป็นจริงด้วยตัวเองหรือเป็นจริงแบบสมบูรณ์แบบ คำตอบคือ เราต้องหาข้อเปรียบเทียบประเมินกัน ในโลกนี้มีอะไรที่ถือว่า "เป็นจริง" (Realized) ก็ต่อเมื่อโลกมีสิ่งไม่เป็นจริง (Unreal) สิ่งไม่จริงคือ ข้อเปรียบเทียบที่จะบอกสิ่งตรงข้าม เช่น เรากล่าวว่า โลกมีสีเดียวคือ สีแดง ดังนั้น สรรพสิ่งจึงมีสีแดงทั้งหมด คำพูดนี้ ถือว่า "ไม่จริง" เนื่องจาก เมื่อโลกมีสี (สากล) เดียว เรามิอาจเรียกสีเดียวว่า สีแดงได้ เพราะเราไม่มีสีอื่นๆเปรียบเทียบนั่นเอง ดังนั้น โลกจึงไม่มีสี ถ้าเรายืนยันว่า โลกนี้มีสีเดียว (สีแดง) เราต้องหาสีที่ตรงกันข้ามกับสีแดง เช่น สีขาว สีเขียว สีดำ ฯ เป็นต้น เมื่อเราเปรียบเทียบสีได้เราจะรู้ว่า สีนั้นเป็นสีแดง

ทำนองเดียวกับ "ความจริง" (Reality) เราต้องหาความไม่จริงมาอิงเปรียบเทียบ เพื่อจะได้แยกออกว่า อะไรจริง ไม่จริง แต่ถ้าคำว่า จริง ความจริง ซึ่งเป็นภาษาที่บอกคุณลักษณ์หรือขยายสภาวะสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แตกต่างกัน มิได้ถูกนำมาอธิบายตีความ ลักษณะสิ่งใด ก็ไม่อาจบอกได้ว่า สิ่งนั้นจริง

สำหรับโลกเป็นแหล่งที่เอื้อให้เกิดสรรพสิ่ง มากมาย รวมทั้งมนุษย์ ซึ่งจะเป็นกลายเป็นผู้ประเมินความจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบดีกว่าสัตว์ชนิดอื่นครับ เนื่องจากเราสามารถผลิตภาษาบอกว่า จริง ไม่จริง

แต่ด้วยมันสมองที่ซับซ้อนของสมองเรา ที่เอื้อให้คิด จินตนาการ สร้างภาษา วาทกรรม มายาคติ ฯ ขึ้นมาหลอกลวงกัน สื่อสารกัน ซึ่งเป็นไปตามระบบสังคม วัฒนธรรมของโลกและรวมไปถึงสัญชาตญาณส่วนลึก ที่กระตุ้นให้เราแสดงบทบาทที่หลากหลายทั้งจริง ไม่จริง ทั้งเทียมแท้ จริงเทียมครับ เป็นไปได้ที่คนคิดน้อย ประสบการณ์น้อย ย่อมถูกลวงด้วยพลความภาษาของมนุษย์ได้ครับ นี่คือ ความจริงอันที่สอง ที่เกิดมาจากมนุษย์ที่รังสรรขึ้นมา เรียกว่า ข้อเท็จจริง (มีทั้งจริงและเท็จผสมกันอยู่)

ถ้าหากไปอิงหลักสังคมมนุษย์ในแง่ต่างๆ เช่น ปรัชญา ด้านอภิปรัชญาที่มักถามกนว่า อะไรคือ ความจริงสูงสุด คำตอบที่ได้คือ กฏ พระเจ้า ธรรมชาติ จิต หรือแบบของเพลโตนั่นแหละ ถ้าไปอิงศาสนา ศาสนาก็จะอ้างตามคัมภีร์ที่ได้มาจากพระเจ้าประทานให้อีกที ยกเว้นพุทธศาสนาที่อิงจากประสบการณ์ของมนุษย์ เรียกว่า "อริยสัจ" นั่นคือ กฏ หมายถึง ความจริงอันแรกที่กล่าวแล้ว กล่าวโดยรวมเราก็มักย่อเป็นสองคือ จริงแบบโลก (สสาร) เรียกว่า "สมมติสัจ" จริงแบบอุดมคติ (แบบเพลโตหรือนิพพาน) เรียกว่า "ปรมัตสัจ" หากอิงจิตวิทยา ก็ยากที่จะหาข้อยุติได้ เนื่องจาก จิต คือ แหล่งความคิด จินตนาการ ทัศนะ ความรู้สึก ที่เป็นส่วนบุคคลมาก เมื่อเรามองเห็นอาจมีคนอื่นมองต่างเสมอครับ ความจริงอาจเกิดเป็นแบบ "พหุสัจ" ได้ ทั้งหมดนี้ ทำอย่างไรเราจะเข้าถึง ความเป็นสากลร่วมกัน ไม่มีฝ่าย ไม่มีสี ไม่มีค่าย มีแต่ความรู้และจริง (มูลวิทยา) มาสนทนาสร้างสรรปัญญาร่วมกันครับ ขอภัยหากไม่ตรงประเด็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท