สังวาลย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังวาลย์ ตุกพิมาย

การสอนการรู้สารสนเทศ บทบาทของการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต : Teaching information literacy in the Age of Life-long Education


โดย อาจารย์สังวาลย์ ตุกพิมาย

มรภ.สุรินทร์ สาขาบรรณารักษศาสตร์

บทนำ

            การศึกษามิใช่เป็นเพียงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น วิชาการบางสาขาวิชาอาจล้าสมัยไปในระยะเวลาอันสั้น หลังจากผู้ที่ได้ศึกษาวิชาการนั้นๆ สำเร็จไปแล้ว แต่การเรียนรู้สำหรับบุคคลที่อยู่ในสังคมจะต้องดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด เพราะการศึกษาเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และการศึกษาเป็นกิจกรรมของชีวิตที่จะต้องอาศัยทักษะต่างๆ ของบุคคลในการที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการศึกษา โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นยุคสารสนเทศ (Information Age) ซึ่งถือได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมีความจำเป็นและเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก แนวคิดทางการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การศึกษาตลอดชีวิตและการเรียนรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการเน้นเนื้อหามาสู่วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อต่างๆ การเรียนรู้โดยอ้างอิงแหล่งวิทยาการ โดยบทบาทของผู้สอนที่เปลี่ยนมาเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวก เป็นนักจัดการให้เกิดการเรียนรู้ตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาปีพุทธศักราช 2542 มีสาระหลักคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีแนวคิดที่ส่งเสริมบทบาทของการรู้สารสนเทศและความจำเป็นที่จะต้องสร้างให้ผู้เรียนให้เป็นผู้รู้สารสนเทศ การให้การศึกษาแก่ผู้ใช้ห้องสมุดในยุคการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นส่วนส่งเสริมการศึกษาในปัจจุบัน เพื่อเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Education) โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Center) ครู อาจารย์เป็นผู้ชี้แนะผู้เรียน โดยผู้เรียนจะต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะการศึกษาในห้องเรียนไม่สามารถทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่มีอยู่แล้วและที่เกิดขึ้นใหม่ได้ทั้งหมด (สรรค์สิริ ชูเลิศติยะวงศ์. 2543: 52)

 ทำไมต้องพัฒนาให้มีทักษะการรู้สารสนเทศ

               ปัญหาที่สำคัญของผู้ใช้บริการห้องสมุด คือ จะใช้บริการห้องสมุดอย่างไร เพราะมีผู้ใช้บริการหรือ นักศึกษาจำนวนมากมีลักษณะลังเลที่จะเข้าใช้ห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษาที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากมีเหตุผลหลายประการที่เป็นปัจจัย (วชิราภรณ์ สังข์ทอง. 2547 :53) ดังนี้

               1. ภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป จากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการก้าวสู่ยุคสังคมแห่งการเรียนรู้

               2. ภาวการณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสารสนเทศจนเกิดภาวการณ์ทะลักทลายของสารสนเทศ (Information Explosion) มนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้ได้ทันตามภาระการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง

               3. ไม่ทราบว่าแหล่งสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการมีอยู่ที่ใด และจะทำอย่างไรถึงจะได้สารสนเทศนั้นมา

               4. ขาดความรู้ความสามารถในการจัดการสารสนเทศ ทั้งการคัดเลือก การตัดสินใจ การประเมิน การเข้าถึงและทักษะทางด้านสารสนเทศที่แท้จริง

               5. ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของห้องสมุดมีการนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติมาให้บริการ

               6. รูปแบบการค้นคว้าสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปจากการสืบค้นด้วยมือสู่ระบบการสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การสืบค้นรายการบรรณานุกรมออนไลน์ (OPAC)

              7. รูปแบบของทรัพยากรสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลง จากสิ่งพิมพ์สู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น  วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Journal) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เป็นต้น

                สรุปปัญหาสำคัญที่ผู้สอนต้องพัฒนาให้ผู้เรียนต้องมีทักษะการรู้สารสนเทศ ได้แก่ ภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ การก้าวเข้าสู่ยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ ภาวการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสารสนเทศจนเกิดภาวการณ์ทะลักทะลายของสารสนเทศ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้ได้ทันตามภาวการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง และไม่ทราบว่าแหล่งสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการมีอยู่ที่ใด จะทำอย่างไรถึงจะได้สารสนเทศนั้นมา ขาดความรู้ความสามารถในการจัดการสารสนเทศ เช่น การคัดเลือก การตัดสินใจ การประเมิน การเข้าถึงและทักษะทางด้านสารสนเทศที่แท้จริง ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุด โดยมีการนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติเข้ามาให้บริการ ทำให้รูปแบบการค้นคว้าสารสนเทศเปลี่ยนไปจากการสืบค้นด้วยระบบมือสู่ระบบการสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การสืบค้นรายการบรรณานุกรมออนไลน์ (OPAC) รูปแบบของทรัพยากรสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลง จากสิ่งพิมพ์สู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Journal) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เป็นต้น จากปัญหาสำคัญดังกล่าว ผู้สอนจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการรู้สารสนเทศอย่างยิ่ง

 

การสอนการรู้สารสนเทศทั่วไป

                   การสอนการรู้สารสนเทศมีวิวัฒนาการมายาวนานโดยเริ่มจากการปฐมนิเทศห้องสมุด  การสอนการใช้ห้องสมุด  หรือการสอนทางบรรณานุกรม  จนพัฒนามาเป็นการสอนการรู้สารสนเทศในปัจจุบัน (Rader, 1990 : 20 อ้างถึงใน ปภาดา เจียวก๊ก. 2547 : 9) การสอนการรู้สารสนเทศในสถาบันการศึกษามีรูปแบบการสอนที่หลากหลาย คือมีการสอนที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการสอนการใช้ทรัพยากรทั้งในรูปแบบดิจิตอลและสิ่งพิมพ์ การประเมินความถูกต้องและความเหมาะสมของเนื้อหาสารสนเทศ การนำสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังรวมถึงความสามารถด้านคอมพิวเตอร์  โดยเฉพาะในเรื่องการค้นคืนสารสนเทศ ซึ่งมีการกล่าวถึงลักษณะสำคัญของการสอนการรู้สารสนเทศดังนี้ (สมาน ลอยฟ้า. 2545 : 27)

                   1.   มีขอบเขตที่กว้างกว่าและเหนือกว่าการสอนการใช้ห้องสมุด คือ การสอนการใช้ห้องสมุดจะเน้นทักษะการใช้ห้องสมุด (Library skills) โดยจะเน้นการรู้จักแหล่งทรัพยากรและวิธีการใช้ห้องสมุด  ส่วนการสอนการรู้สารสนเทศมีเป้าหมายคือมุ่งเน้นการสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตและให้มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์  ประกอบด้วย  การใช้แหล่งทรัพยากรต่างๆ  การแปลความหมาย  และการใช้ประโยชน์ของสารสนเทศ  ตลอดจนแนวคิดและรูปแบบในการจัดการสารสนเทศ เช่น การสอนการรู้สารสนเทศออนไลน์ (Online information literacy instruction) จากการที่มนุษย์เราสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้มากขึ้นโดยไม่จำกัดพื้นที่และเวลา ห้องสมุดอุดมศึกษาหลายแห่งได้จัดให้มีการสอนการรู้สารสนเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเครื่องมือในการสอนการรู้สารสนเทศออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์คู่มือรวมแหล่งสารสนเทศ เช่น เว็บไซต์ชี้แนะแหล่งสารสนเทศ  เว็บไซต์บรรณานิทัศน์แหล่งสารสนเทศ   ตลอดจนเว็บไซต์ช่วยสอนการรู้สารสนเทศ (Information literacy tutorial ) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ออกแบบให้โต้ตอบกับผู้ใช้โดยสอนผู้ใช้ตามแนวคิดของการรู้สารสนเทศและให้ความรู้เกี่ยวกับสารสนเทศเบื้องต้น (ศิวราช  ราชพัฒน์. 2547 : 19)

                   2.   กระบวนการสอนจะเน้นการใช้แนวคิดในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง (Constructivist approach) มากกว่าวิธีการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบเดิม โดยกระบวนการสอนการรู้สารสนเทศ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจซึ่งถือว่าเป็นการสอนการรู้สารสนเทศขั้นสูง (Advanced instruction) ควรจัดในรูปการฝึกอบรม ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการรู้สารสนเทศ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย อันจะนำไปสู่การเรียนรู้สารสนเทศตลอดชีวิต สามารถแบ่งประเภทเนื้อหาในการสอนดังนี้

                        2.1ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรสารสนเทศ บริการและการเข้าถึงสารสนเทศในห้องสมุด เป็นการแนะนำให้ทราบถึงลักษณะเฉพาะของสารสนเทศแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไรให้ข้อมูลในลักษณะใด บริการที่สำคัญๆเพื่อให้ผู้ใช้ สามารถพิจารณาเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการ

                        2.2      ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสืบค้นสารสนเทศจากแหล่งต่างๆ ทั้งในห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศอื่นๆบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการได้เอกสารฉบับเต็ม

                        2.3      ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสืบค้นสารสนเทศจากฐานข้อมูลเฉพาะสาขา อันได้แก่ ฐานข้อมูลออนไลน์ ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยแนะนำให้ผู้ใช้ทราบถึงวิธีการเข้าถึงและกลวิธีการสืบค้น การประเมินและการใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

                        2.4      ความรู้เกี่ยวกับการอ้างอิงเอกสาร ได้แก่ การลงรายการบรรณานุกรมเชิงอรรถของสารสนเทศประเภทต่างๆ ทั้งที่อยู่ในรูปสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยเน้นให้ผู้ใช้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการอ้างอิงเอกสาร

                   3.   เน้นการบูรณาการเรื่องการรู้สารสนเทศเข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษา โดยจะต้องอยู่ในกระบวนการเรียนตลอดหลักสูตร และต้องจัดให้กับผู้เรียนทุกคนทุกระดับ ซึ่ง ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ (2547) ได้นำเสนอรูปแบบเนื้อหาที่จะปรากฏในหลักสูตรไว้ดังนี้

                             3.1ทรัพยากรและวัสดุสารสนเทศที่จะช่วยแนะนำผู้ใช้ให้สามารถใช้ทรัพยากรสารสนเทศได้อย่างหลากหลาย

                             3.2      การเข้าถึงสารสนเทศด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลในรายการทรัพยากรของสถาบันบริการสารสนเทศ การจัดรายการทรัพยากร การจัดหมวดหมู่ รายการทรัพยากรสารสนเทศออนไลน์ (OPAC) รายการบรรณานุกรม ดัชนีวารสารและฐานข้อมูลต่างๆ

                             3.3      การเรียนรู้และการสืบค้นสารสนเทศ จะเป็นการแนะนำขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการศึกษาค้นคว้า วิจัยและการสืบค้นสารสนเทศ

                             3.4      การเผยแพร่สารสนเทศ เป็นการแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิธีการนำเสนอสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทนำเบื้องต้น เนื้อหา วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง  การอ้างอิง  เชิงอรรถ  และการลงรายการบรรณานุกรม

                   4.   การสอนแบบร่วมมือ (Cooperative teaching) โดยเน้นการสอนในรูปของทีม (Team teaching approach) บรรณารักษ์และผู้สอนในแต่ละรายวิชาต้องทำงานร่วมกันในการวางแผนและดำเนินการสอนและเป็นการสอนที่อาศัยทรัพยากรเป็นสำคัญ (Resource based learning) โดยมีการใช้ทรัพยากรทั้งภายในห้องสมุด  ห้องสมุดเครือข่าย  และจากฐานข้อมูลต่างๆ

การสอนการรู้สารสนเทศในระดับอุดมศึกษา

                   ในปัจจุบันการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาได้มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered learning) ซึ่งแนวคิดที่ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรมการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง และมุ่งให้ผู้เรียนใช้กระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยผู้สอนเป็นผู้ดูแลคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหาซึ่งแนวทางการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนการสอนในรูปแบบนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่เน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะและกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งผู้เรียนจะได้รับการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณนอกจากนี้แนวโน้มของการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษายังมุ่งเน้นในเรื่องการเรียนรู้โดยอาศัยทรัพยากรเป็นสำคัญ โดยเน้นแหล่งความรู้ที่ผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้ได้ตลอดเวลา (สมาน  ลอยฟ้า. 2544 : 5)

                   ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจึงให้ความสำคัญต่อการรู้สารสนเทศและมีความพยายามที่จะสร้างการรู้สารสนเทศให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างอิสระและเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันอุดมศึกษาจะต้องรับผิดชอบในการสอนการรู้สารสนเทศ ซึ่งผลของการรู้สารสนเทศที่จะต้องเกิดกับผู้เรียนในระดับอุดมศึกษามีดังนี้ (วนุชชิดา  สุภัควนิช. 2547 : 9)

                   1.   เป็นการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมที่ผู้เรียนมีลักษณะเป็นผู้ตามและรับสารสนเทศจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียนที่มีความกระตือรือร้น และเป็นผู้ควบคุมการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น

                   2.   ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของแต่ละคน

                   3.   ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองเมื่อได้รับมอบหมาย

                   4.   ผู้เรียนจะเป็นผู้บริโภคสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรู้ว่าสารสนเทศมีการบันทึกในสื่อหลากหลายลักษณะซึ่งแต่ละรูปแบบจะสนองความสนใจที่แตกต่างกัน

                   5.   ผู้เรียนจะมีความคิดเชิงวิเคราะห์มากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการที่จะต้องใช้ทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ในการสอนทักษะการรู้สารสนเทศให้ประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องได้รับการบูรณาการเข้าไปไว้ในหลักสูตรและต้องสอนในกระบวนการรู้สารสนเทศทั้งหมด

                   

                  ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยได้เริ่มกำหนดว่าการรู้สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษาโดยมีรูปแบบการดำเนินการสอนที่มีความแตกต่างกัน เช่น การกำหนดให้เป็นวิชาบังคับแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคณะวิชา กำหนดเป็นวิชาบังคับในบางคณะ หรือกำหนดเป็นวิชาเลือก (ชุติมา  สัจจานันท์. 2544 : 57) นอกจากนี้ บรู๊ค (Bruce, 1997 อ้างถึงใน วนุชชิดา สุภัควนิช. 2547 : 10) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของการสอนการรู้สารสนเทศในระดับอุดมศึกษาไว้ 7 ประการ

                   1.   การรู้สารสนเทศจะต้องครอบคลุมถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการค้นคว้าและต้องมีความสามารถในการสืบค้นสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากการค้นคว้าในปัจจุบันและอนาคตจะต้องอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมของเทคโนโลยีสารสนเทศ

                   2.   นักศึกษาจะต้องมีความเข้าใจเรื่องแหล่งสารสนเทศ โครงสร้างและเทคนิคการสืบค้น ของแต่ละแหล่งโดยนักศึกษาจะต้องสามารถใช้แหล่งสารสนเทศเหล่านี้ได้อย่างอิสระ

                   3.   นักศึกษาจะต้องเข้าใจกระบวนการค้นและสามารถนำไปปรับใช้ในการแสวงหาสารสนเทศและเมื่อเกิดปัญหาในการค้นนักศึกษาสามารถแก้ไขปัญหาได้

                   4.   นักศึกษาจะต้องสามารถควบคุมสารสนเทศและจะต้องไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของสารสนเทศ นักศึกษาจะต้องเป็นผู้เลือกและนำสารสนเทศมาจัดโครงสร้างใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์

                   5.   นักศึกษาจะต้องสามารถนำสารสนเทศไปสร้างความรู้ได้

                   6.   นักศึกษาจะต้องสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาตนเองและขยายขอบเขตความรู้ของตนเองได้

                   7.   ผลประโยชน์ขั้นสุดท้ายที่นักศึกษาจะได้รับคือ ปัญญา 

บทบาทและคุณสมบัติของผู้สอนการรู้สารสนเทศ

                   บทบาทของผู้สอนการรู้สารสนเทศในการสอนทักษะการเรียนรู้สารสนเทศมีความหลากหลายตามหน้าที่และความรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้พัฒนาบทเรียน ทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบหรือในฐานะผู้สอนโดยตรง ตลอดจนการเป็นผู้กำหนดนโยบายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน บทบาทเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษยชาติ อย่างไรก็ตามคุณสมบัติที่สำคัญที่ควรพิจารณาสำหรับผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศในอนาคตสามารถจำแนกได้ดังนี้ (ทรงพันธ์   เจิมประยงค์, 2547: 22)

                   1.   ความรู้ด้านผู้ใช้และการใช้สารสนเทศ ความรู้ในด้านการศึกษาผู้ใช้สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่ผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการนอกจากนี้ความรู้ด้านการใช้สารสนเทศยังเป็นความรู้ที่สำคัญที่ผู้สอนพึงมีเพราะตัวความรู้เองในฐานะเป็นเนื้อหาของการสอน และความรู้ดังกล่าวยังสามารถนำไปประเมินการใช้สารสนเทศ อันจะนำไปสู่การประเมินเนื้อหาและการสอนทักษะการรู้สารสนเทศได้

                   2.   ความรู้และทักษะในด้านการค้น เป็นทักษะที่สำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การตอบสนองความต้องการสารสนเทศได้ ผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศต้องมีความรู้และความสามารถในการพัฒนากลยุทธ์การค้นและการใช้เครื่องมือต่างๆได้เป็นอย่างดี

                   3.   ความรู้และทักษะในด้านแหล่งสารสนเทศ ความรู้ในด้านแหล่งสารสนเทศคือการรู้จักใช้แหล่งได้อย่างเหมาะสม เป็นการรวมเอาทักษะในการเลือก ประเมิน และบูรณาการแหล่งสารสนเทศต่างๆ เพื่อนำมาใช้ให้เหมาะกับความต้องการสารสนเทศ

                   4.   ทักษะเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการปฏิบัติงานสารสนเทศในปัจจุบัน ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องตื่นตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

                   5.   ทักษะการสอนและการนำเสนอ ความแตกต่างของผู้ใช้ ชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้ในความสามารถสำหรับการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนา เนื้อหาและรูปแบบของการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไปด้วย ในขณะที่การนำเสนอถือเป็นอีกทักษะที่ควบคู่ไปกับทักษะการสอนที่ช่วยให้การสอนนั้นประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

                   6.   ทักษะการวิจัยเพื่อการประเมิน ทักษะการวิจัยเพื่อการประเมินเป็นทักษะที่ต้องแฝงไว้ในทุกทักษะ คือ เป็นการนำทักษะในการวิจัยไปศึกษาปัจจัยหรือตัวแปรต่างๆ เพื่อนำผลที่ได้มาพัฒนาการเรียนการสอนทักษะการเรียนรู้สารสนเทศนั้นได้

                   7.   การยอมรับการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศในยุคปัจจุบัน ที่ต้องเผชิญกับการขับเคลื่อนขององค์ความรู้ และการพัฒนาในด้านต่างๆซึ่งคุณลักษณะของการเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นนั้นสามารถทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว

                   8.   การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาทักษะการเรียนรู้สารสนเทศจะไม่เกิดประสิทธิผลสูงสุด หากผู้สอนไม่มีลักษณะของการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต คือ หากผู้สอนไม่ตระหนักถึงประโยชน์อันแท้จริงที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ หากผู้สอนไม่ตระหนักถึงประโยชน์อันแท้จริงที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว อาจส่งผลต่อตัวเนื้อหาของการสอนตลอดจนทัศนคติของผู้เรียนได้ ดังนั้น ทักษะที่สำคัญที่สุด สำหรับการเป็นผู้สอนทักษะการเรียนรู้สารสนเทศ คือ การเรียนรู้และติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

แนวทางการพัฒนาการรู้สารสนเทศ

                   เป้าหมายสูงสุดของการสอนทักษะการเรียนรู้สารสนเทศ คือ การให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีทักษะสารสนเทศ และสามารถนำทักษะที่ได้ไปใช้ในการศึกษา การทำงาน และใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยการกำหนดเป้าหมายนั้นจะเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญในการสอนการรู้สารสนเทศคือ ผู้เรียนสามารถกำหนดความต้องการสารสนเทศได้  ผู้เรียนต้องเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้เรียนสามารถประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศได้ และนำสารสนเทศที่เลือกไปประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้เดิม และผู้เรียนสามารถนำสารสนเทศไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  พร้อมทั้งผู้เรียนต้องมีความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคมที่มีผลต่อการใช้สารสนเทศสามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น  

                   ดังนั้นการสอนการรู้สารสนเทศ เป็นบทบาทของผู้สอนที่ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่ต้องเกิดการรักที่จะเรียนรู้และเกิดการศึกษาตลอดชีวิต ด้วยการพัฒนาทักษะการเรียนรู้สารสนเทศ  โดยมีข้อควรพิจารณา (ทรงพันธ์ เจิมประยงค์. 2547 :27-28) ดังต่อไปนี้

          1. พัฒนาบุคลากรวิชาชีพสารสนเทศศาสตร์ให้มีลักษณะเป็น “ผู้สอน” มากขึ้น กล่าวคือ บทบาทของนักสารสนเทศปัจจุบัน ยังคงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ให้บริการตอบคำถามและพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศภายในสถาบันบริการสารสนเทศเป็นหลัก (ในขณะที่บางแห่งยังคงเป็นเพียงผู้เฝ้าหนังสือหรือเฝ้าห้องสมุด) การพัฒนาบทบาทของบุคลากรวิชาชีพสารสนเทศศาสตร์ให้มีลักษณะเป็นผู้สอนมากขึ้น จะเป็นการยกระดับบทบาทของวิชาชีพให้ได้รับการยอมรับในสังคมอีกทางหนึ่ง

            2. พัฒนามาตรฐานที่พึงมีสำหรับปัจเจกบุคคลในแต่ละระดับของการศึกษา กล่าวคือควรมีระดับความคิดเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้สารสนเทศที่พึงมีในปัจเจกบุคคล โดยจำแนกตามระดับการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน รวมไปถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มาตรฐานการเรียนรู้สารสนเทศในระดับชาติ (National Information Literacy Competency) ในสหรัฐอเมริกาและในออสเตรเลีย ซึ่งมาตรฐานในระดับชาติ จะเป็นแนวทางที่สำคัญในการกำหนดมาตรฐานทักษะการเรียนรู้สารสนเทศในระดับย่อยต่อไป

            3.ปลูกฝังทักษะการเรียนรู้สารสนเทศตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การปลูกฝังให้เยาวชนมีทักษะการเรียนรู้สารสนเทศไปพร้อมๆ กับทักษะการเรียนรู้ด้านอื่นๆ จะช่วยให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากผลการขาดทักษะการเรียนรู้สารสนเทศ ปัญหาการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) เป็นปัญหาที่ในระบบการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้ตระหนักถึงเท่าที่ควร นอกจากประเด็นทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้อีกด้วย

            4. บูรณาการหลักสูตรทักษะการเรียนรู้สารสนเทศเข้าไปสู่การเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ เนื่องจากทักษะการเรียนรู้สารสนเทศเพียงอย่างเดียว จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการช่วยเหลือตนเองในการศึกษาและแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ดังนั้นการบูรณาการหลักสูตรดังกล่าว จะก่อให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์สูงสุด

            5. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันบริการสารสนเทศเพื่อพัฒนาหลักสูตรทักษะการเรียนรู้สารสนเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้การพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนตัวสารสนเทศเอง รูปแบบการสร้างเครือข่ายที่นำมาใช้ อาจเป็นเพียงพัฒนาในรูปแบบความร่วมมือสำหรับเครือข่ายที่ได้รับการจัดตั้งแล้ว หรือเป็นการสร้างเครือข่ายตามสาขาวิชาและภูมิประเทศ กิจกรรมที่ใช้ในกลุ่มความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการพัฒนาหลักสูตร อาจได้แก่ การจัดประชุมทางวิชาการ การสร้าง Listserv การแนะนำแหล่งสารสนเทศที่ใช้ในการพัฒนาหลักสูตร การถามปัญหาและแก้ไขปัญหา การพัฒนา Knowledge-Based System ในกลุ่มสมาชิก เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรอย่างจริงจัง

          6. ชุมชน (Community) กับการมีส่วนร่วม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีหลักสูตรใดที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในทุกสถาบัน ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงเป็นประเด็นที่แต่ละสถาบันจะต้องนำไปพิจารณา โดยพิจารณาจากกรอบมาตรฐาน (หากได้มีการจัดตั้งในระดับนโยบาย) ตลอดจนข้อมูลพื้นฐาน พฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้ในแต่ละสถาบัน ข้อมูลของชุมชนทั้งภายในและภายนอกที่ของเขตการให้บริการของแต่ละสถาบันครอบคลุมอยู่

            7. รูปแบบของการสอน การเรียนการสอนทักษะการเรียนรู้สารสนเทศในปัจจุบัน จะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้เกิดความสับสนว่าทักษะการเรียนรู้สารสนเทศนั้นหมายถึงการเรียนการสอนออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วทักษะการเรียนรู้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ในทุกรูปแบบตามแต่บริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละสถาบัน อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายได้เอื้อประโยชน์ต่อการเผยแพร่บทเรียนให้ผู้ใช้สามารถพัฒนาทักษะของตนเองได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางและเวลา ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

สรุป

             ปัญหาสำคัญที่ผู้สอนต้องพัฒนาให้ผู้เรียนต้องมีทักษะการรู้สารสนเทศ ได้แก่ ภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ การก้าวเข้าสู่ยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ ภาวการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสารสนเทศจนเกิดภาวการณ์ทะลักทะลายของสารสนเทศ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้ได้ทันตามภาวการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง และไม่ทราบว่าแหล่งสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการมีอยู่ที่ใด จะทำอย่างไรถึงจะได้สารสนเทศนั้นมา ขาดความรู้ความสามารถในการจัดการสารสนเทศ เช่น การคัดเลือก การตัดสินใจ การประเมิน การเข้าถึงและทักษะทางด้านสารสนเทศที่แท้จริง ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุด โดยมีการนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติเข้ามาให้บริการ ทำให้รูปแบบการค้นคว้าสารสนเทศเปลี่ยนไปจากการสืบค้นด้วยระบบมือสู่ระบบการสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การสืบค้นรายการบรรณานุกรมออนไลน์ (OPAC) รูปแบบของทรัพยากรสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลง จากสิ่งพิมพ์สู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Journal) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เป็นต้น

             การสอนการรู้สารสนเทศ เป็นการสอนให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีทักษะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง มุ่งให้ผู้เรียนใช้กระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้สอนเป็นผู้คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่เน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้เรียนสามารถเข้าถึงสารสนเทศด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลในรายการทรัพยากรสารสนเทศของสถาบันบริการสารสนเทศ การจัดเรียงรายการทรัพยากรสารสนเทศ การจัดหมวดหมู่  การอ้างอิงเชิงอรรถ และการลงรายการบรรณานุกรม

          การสอนการรู้สารสนเทศนั้นผู้สอนมุ่งเน้นที่จะให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของสารสนเทศ ตระหนักรู้ความต้องการสารสนเทศสร้างคำถามจากสารสนเทศที่ค้นได้ ตลอดจนสามารถเข้าถึง เลือก และประเมินสารสนเทศจากแหล่งต่างๆได้ บทบาทและคุณสมบัติของผู้สอนการรู้สารสนเทศจึงมีความสำคัญกับการสอนการรู้สารสนเทศอีกด้วย

                     

บรรณานุกรม

จารุณี  สุปินะเจริญ  และนัดดาวดี  นุ่มนาค.(2551,มกราคม-มิถุนายน). “การรู้สารสนเทศของนิสิตชั้นปีที่ 1มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”.วารสารมนุษยศาสตร์. 17 (1) : 20-32.

ชุติมา  สัจจานันท์ . (2544,กันยายน-ธันวาคม.).  “การรู้สารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา คนไทยและสังคมไทย”.  วารสารสุโขทัยธรรมาธิราช. 14 (3) : 50-61.

_____________ .  (2548). “สารสนเทศกับสังคม”.  ใน  ประมวลสาระชุดสารสนเทศร่วมสมัยทางสังคมศาสตร์.  หน่วยที่ 1  หน้า 1-35.  นนทบุรี:  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ทรงพันธ์ เจิมประยงค์. (2547, มกราคม-มีนาคม). “ห้องสมุดกับทักษะการเรียนรู้สารสนเทศ”. วารสารห้องสมุด. 48(1) : 15-30

ทิศนา  แขมมณี.  (2548). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปทีป  เมธาคุณวุฒิ.  (2544).  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปภาดา  เจียวก๊ก.  (2547).  การรู้สารสนเทศของนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัย

ศรีนครินทรวิโรฒ.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต.

สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

พิมพันธ์  เดชะคุปต์  และพรทิพย์  แข็งขัน.  (2551).  สมรรถนะครูและแนวทางการพัฒนาครู

ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง.  กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

มุจลินทร์  ผลกล้า.  (2550).  การรู้สารสนเทศของนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  วิทยาเขตปัตตานี.

รัสรินทร์  เกตุชาติ. (2550). การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการเรียนการสอนวิชาการรู้สารสนเทศ

และวิชาการใช้ห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษา.  รายงานการศึกษาอิสระ”  ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น .

วชิราภรณ์ สังข์ทอง. (2547, กรกฎาคม-กันยายน). “ห้องสมุดกับการพัฒนาโปรแกรมการรู้สารสนเทศสำหรับการศึกษาทางไกล”. วารสารห้องสมุด. 48(3)51-62.

วนุชชิดา  สุภัควนิช.  (2547).  การบูรณาการการรู้สารสนเทศในกระบวนการสอนรายวิชาภาษาอังกฤษของนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตกาฬสินธุ์.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สมาน  ลอยฟ้า.  (2544, มกราคม).“การรู้สารสนเทศ: ทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมสารสนเทศ”.  วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 19 : 1-6.

สรรค์สิริ ชูเลิศติยะวงศ์. (2543, กันยายน-ธันวาคม). “การให้การศึกษาแก่ผู้ใช้บทบาทที่สร้างสรรค์ของห้องสมุดสมัยใหม่ในยุคการศึกษาตลอดชีวิต”. บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ มข. 18(3) :51-59

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.  (2542).  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  2542. กรุงเทพมหานคร:  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

สุพิศ ศิริรัตน์. (2554). การรู้สารสนเทศของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  แขนงสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

อับดุลลายิด  เบ็ญฮาวัน.  (2545, พฤษภาคม).  “ครูยุคปฏิรูปการศึกษา”. วารสารวิชาการ. 5 (5) : 1-5.

อารีย์ ชื่นวัฒนา. (2549). “ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้ใช้และการใช้สารสนเทศ”.  ใน  ประมวลสาระชุดวิชาสัมมนาการบริการสารสนเทศ.  หน่วยที่ 2  หน้า 1-47  นนทบุรี:  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

 

หมายเลขบันทึก: 554887เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท