มารับช้า…รู้ไหมหนูกลัวนะ


สิ่งที่อยากจะสื่อสารโดยสรุป คือ เด็ก ๆ เกิดความกลัวได้ด้วยหลายเหตุปัจจัย ขั้นแรกให้ยอมรับและแสดงความเข้าใจ ลองพูดคุย หรือสังเกตุหาสาเหตุแล้วค่อย ๆ ช่วยแก้ไข บางทีเราอาจทำหน้าที่แค่คอยคอยรับฟัง แสดงความเข้าใจ ส่วนปัญหาจริง ๆ แล้ว ลูกเราเขาก็สามารถจัดการแก้ไขด้วยตัวเขาเอง หลายครั้งต้องเตือนตัวเองว่า “ปัญหาของลูก ฝึกให้ลูกแก้เอง” ต้องเตือนตัวเองจริง ๆ บางทีมันทำไปโดยอัตโนมัติด้วยสัญชาติญาณแม่ที่อยากปกป้องลูกเนอะ

ขอท้าวความย้อนไปนิดเนอะ บางคนอาจไม่เคยอ่านตั้งแต่แรก ๆ  ลูกแม่ดาวเป็นเด็กที่ติดแม่มากๆๆ กลัวการพรากจากแม่เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนอนุบาลก็มีปัญหาเรื่องการร้องไห้ไม่ยอมไปเรียน เหตุผลหลัก ๆ คือ ไม่อยากจากแม่  และยังมีเหตุผลอื่น  ๆ อีกมากมายในวัยอนุบาล เช่น เพื่อนแกล้ง ครูดุ เรียนยาก ฯลฯ  มีวิธีการหนึ่งที่ครูใหม่และครูหม่อม (เป็นครูผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย) คือ ให้พกรูปแม่ใส่กระเป๋าไปโรงเรียนทุกวัน โดยแม่ดาวก็ใส่เรื่องราวไปเล็กน้อยฮ่าๆๆ  คือ เวลาลูกคิดถึงแม่ ก็ให้ลูกหยิบรูปแม่ขึ้นมาดู แม่จะส่งความคิดถึงไปให้หนูผ่านรูปนี้นะครับ แอบแถมเบอร์โทร.ไว้ให้  บอกว่า หากลูกคิดถึงมากจนทนไม่ไหว ลูกขอความเห็นใจจากครูขอยืมโทรศัพท์คุณครูโทร.มานะครับ และแม่จะรีบรับสาย หรือโทรกลับทันที   ซึ่งตั้งแต่ได้เบอร์ไปก็ไม่เคยโทร.มา สักครั้ง แต่มีไว้ให้อุ่นใจ  และวิธีการนี้ได้ผลดีมากๆ ค่ะ  ใครสนใจอยากทำบ้างต้องลองดู ทั้งนี้ไม่รับประกันผลลัพธ์ นิสัยเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ต้องพิจารณาและลองใช้ดูเนอะ 

 

การร่ำลายามเช้าจะไม่โกหก  ไม่บอกว่าเดี๋ยวแม่ไป........เดี๋ยวกลับมา    จะบอกลูกเลยว่า แม่กลับบ้านไปทำงานบ้าน และจะมารับลูกแน่ ๆ ชี้ให้ดูนาฬิกาเมื่อเข็มสั้นถึง 3 เข็มยาวถึงเลข 12  ชี้ให้ลูกดูที่นาฬิกาเรือนใหญ่ที่โรงเรียน  และทุกครั้งแม่ดาวก็จะไปรับลูกตามสัญญา ส่วนมากจะไปรอรับก่อนถึงเวลาเสมอ เพื่อความอุ่นใจของลูก  และแม่ดาวทำตามที่ตกลงกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่นับรวมสามี เพราะบางทีสามีไปรับก็มีช้าไปบ้าง หรือช้าไปมาก   การร้องไห้ยามเช้าช่วงวัยอนุบาลนั้นเป็นเรื่องปกติมาก ร้องไห้ปกติ พอเราห่างออกมาสักพักก็หยุดร้อง แอบดูบ้าง ถามครูบ้าง  แต่เวลาไปรับไม่มีน้ำตา ร่าเริง แถมไม่กลับบ้านขอเล่นต่อตามปกติเช่นกัน

 

พอขึ้นป.1  แรก ๆ ร้องไห้บ้าง ปัจจุบันไม่ร้องแล้ว  เวลาเย็นรับกลับบ้านด้วยความที่ลูกโตขึ้น เรียนรู้เรื่องการปรับตัวเข้าสังคมได้ดี แม่ดาวก็เลยใจเบา ๆ อาจไม่ได้ไปนั่งรอรับก่อนเวลาทุกครั้ง บางทีมีงานบ้านติดพันก็อาจช้าไปบ้าง หรือบางทีก็มีรถติดแบบผิดปกติ แต่ไม่เกิน 15.10 น.  ดูเวลาตลอดเพราะต้องตอบคำถามลูกเสมอว่า “แม่ออกจากบ้านกี่โมง”  “แม่มาถึงรร.กี่โมง” ประมาณนี้  โรงเรียนนี้เลิกเร็วกว่าที่เก่า คือเลิก 14.35 น. ตามตารางที่ครูให้มา   โดยส่วนมากแม่ดาวก็จะออกจากบ้านประมาณ 14.00 น. เผื่อเวลา ถึงเร็วดีกว่าถึงช้า

 

อ่านกันมาถึงตรงนี้คงขมวดคิ้วสงสัย แล้วปัญหาที่ว่าข้างต้นนั้น เกิดขึ้นตอนไหน ฮ่าๆๆๆๆ   เกิดขึ้นตอนนี้เลยค่า กำลังจะบรรยายต่อไป อิอิ   สามีทำงานอยู่แถวพระราม 7  ทำงานเป็นกะ  หากเข้าเช้าก็จะไปส่งและไปรับลูกเอง   ปกติก็จะคุยกันตั้งแต่ตอนเย็นของวันนี้ว่าวันพรุ่งนี้ใครไปรับ ใครไปส่ง  เตรียมความพร้อมให้ทำใจไว้ล่วงหน้าฮ่าๆๆๆ  ลูกไม่ชอบไปกับสามีเท่าไหร่ ติดแม่มากอยากให้แม่ไปรับ-ส่งเองทซึ่งเราก็จะมีการคุยกันไว้แล้วว่า หากป๊าทำงานเช้า ป๊าจะไปส่งและรับ   บอกด้วยว่าป๊าเลิกงานกี่โมง คือ 15.00 น.  จากที่ทำงานมาโรงเรียนลูกนั้นก็การจราจรก็ติดขัดพอสมควร  ดังนั้นป๊าอาจมารับช้ากว่าแม่ แต่ไม่น่าจะเกิน 15.30 น.  ด้วยลูกเองก็ไม่มีนาฬิกา และโรงเรียนนี่นาฬิกาใหญ่อยู่ตรงไหนก็ไม่เห็น  แม่ดาวเองก็เกิดความรู้สึกใจเบา ๆ เลยไม่ได้ใส่ใจที่จะมองหาจุดดูนาฬิกาให้ลูกสักที  ผ่านไปด้วยดีไม่มีปัญหามากนักเรื่องการไปรับ เทอมก่อนมีบ้างร้องไห้ที่ป๊ามารับช้า  ไม่กี่ครั้ง  จึงไม่ได้ใส่ใจมากเช่นกัน คิดว่าเล็กน้อยคุยกันได้ประมาณนั้น

 

พอมาเทอมนี้รู้สึกชัดว่าลูกเกิดอาการไม่มั่นใจ ไม่มั่นคงในความปลอดภัย กลัวการมารับช้ามากๆๆๆๆ  หากป๊าไปรับก็จะรับช้ากว่ากำหนดเวลาเลิกเรียนเป็นปกติซึ่งจุดนี้ลูกเข้าใจ แต่อาจไม่ยอมรับได้เสียทีเดียวฮ่าๆๆ  ย้ำตลอดว่าให้มารับก่อนเวลาเลิกเรียนนะ ให้แม่มานั่งรอ  (จะมีเรียนพิเศษ 2 วันที่ลูกขอเรียนเองซึ่งจะเลิก 15.45 น.)    ไม่อยากให้ป๊ามารับ คือป๊าไปส่งได้ แต่ตอนรับขอเปลี่ยนตัวเป็นแม่แทน  ด้วยความกลัว กังวลเวลาป๊ามารับ 

 

เด็กส่วนใหญ่วัยนี้แม่ดาวว่า เขาไม่รู้เรื่องเวลามากนะคะ(ลูกแม่ดาว 6.5ปี)  มันเป็นเหมือนนามธรรม ไม่ชัดเจน  จะดีมากหากมีนาฬิกาให้เขาดูเป็นรูปธรรมชัดเจนเข้าใจง่ายขึ้น  เหตุการณ์เทอมนี้เกิด 2 ครั้ง แต่หากรวมกับเทอมก่อนด้วยก็ไม่แปลกใจที่ลูกจะรู้สึกกลัวไม่มั่นคง    ป๊าไปรับช้า ร้องไห้มากมาย ด้วยเกิดเหตุรถติดผิดปกติกว่าทุกวัน  ขณะที่แม่ดาวกำลังง่วนกับการทำงานบ้าน ก็มีเสียงไลน์ดังขึ้น  เปิดดูจึงรู้ว่า ผุ้ปกครองท่านนึงที่รู้จักกันส่งไลน์มาบอกว่าลูกร้องไห้บอกป๊ายังไม่มารับ  พอดูนาฬิกาตายละหว่าหากจำไม่ผิดตอนนั้น 15.30 น.ได้แล้ว ยังไปไม่ถึง  รีบโทร.หาสามีว่าอยู่ตรงไหน และรีบโทรไปเบอร์ดังกล่าวเพื่อขอคุยกับลูกชาย   ลูกร้องไห้สะอึกสะอื้นฟ้องแม่ แม่ก็ทำได้คือปลอบใจและบอกความจริง   กลับมาก็กอดกันคุยกัน และผ่านไป

แม่ดาวว่าลูกเขาก็ค่อย ๆ เรียนรู้นะคะ ว่าเขาจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรได้ เพราะที่เล่าไปนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิด  หากไปรับช้าอีกเขาก็จะไปเดินหาคุณแม่ท่านนี้(ที่ให้ความช่วยเหลือ) ไปนั่งใกล้ ๆ วนเวียน ๆ จนเขาเห็นว่าผิดปกติ  เพราะจะจ้องหน้าผิดปกติฮ่าๆๆๆๆ  ล่าสุดขอยืมโทรศัพท์โทร.หาป๊าเองเลย  เพราะแม่ดาวจะให้เบอร์ของทั้งตัวเองและสามีไว้ในกระเป๋าเงินลูก    เหล่านี้ก็ช่วยผ่อนคลายความกลัว ความกังวลใจของลูกไปได้ส่วนหนึ่ง  

 

สามีก็มีบ่น ๆ ว่าทำไมนะ ลูกถึงต้องร้องไห้ กลัวขนาดนี้  แม่ดาวเองก็มีคุยกับลูกว่า  เพราะอะไรลูกถึงร้องไห้  ลูกบอกว่า “กลัว”   พอถามว่าลูกกลัวอะไร  ลูกบอกว่า “กลัวป๊าไม่มารับ”  ต่อให้เรายืนยันนั่งยันนอนยันว่าอย่างไรเสียป๊าก็ไปรับลูกแน่ ๆ เขาก็ไม่คลายความกลัว  จึงบอกให้สามีบอกกับลูกด้วยปากของเขาเอง   ลูกก็ยังไม่เชื่อใจ  แม่ดาวคิดเองว่า คงมีส่วนมาจากเหตุการณ์ในการใช้ชีวิตปกติ  คือบางทีเรามีธุระนัดกันจะไปไหน  เขามาผิดเวลาก็ไม่โทร.บอก ปล่อยให้รอ  หรือบางทีก็กลับบ้านช้ากว่าปกติมากและไม่โทร.บอก   อาจไม่ใช่ทุกครั้ง แต่ก็บ่อย   มีหลายเหตุการณ์ที่ชวนให้ลูกคิดว่า ป๊าไม่น่าไว้วางใจในเรื่องการรักษาสัญญาในเรื่องเวลานัดหมาย   เคยมีลูกเคยพูดว่า “แม่ยังไม่ชินอีกเหรอ ป๊าก็แบบนี้”  มันเป็นประโยคสะดุดใจเลย ว่าเขารู้สึกอย่างไร  

 

หลายครั้งที่แม่ดาวมักบอกว่า ปัญหาพฤติกรรมลูกเกิดขึ้นให้แก้ที่พ่อแม่ก่อน  ให้ดูที่ตัวเราเองก่อน  บางทีเราก็มองข้ามไป ไปมองถึงปลายเหตุ ไปแก้ปลายเหตุ  สำหรับปัญหาเรื่องลูกกลัวการไปรับช้านี้  โดยรวมแล้วแม่ดาวมองว่ากับครอบครัวไม่ได้เป็นปัญหามากนัก  เพราะดูแล้วว่าลูกเราเขาสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวได้ในระดับนึง  อีกทั้งแม่ดาวเองก็เป็นยาประสานรอยรั่วในใจให้ลูกเสมอ ๆ  แต่จะดีมากหากไม่ต้องแก้ไข  คือหากบ้านใครสามารถจัดการตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุได้จะดีมาก   อยากให้ยอมรับว่า ความกลัวของเด็กนั้นปกติมาก อย่าหงุดหงิด บางคนเห็นลูกกลัวโน้น กลัวนี่ เกิดอาการคิดว่าลูกกลัวเกินเหตุ  หากแสดงความเข้าใจและยอมรับว่า เขากลัว ยอมรับว่าลูกกลัวและค่อย ๆ สอนให้เขาเรียนรู้ว่าจะจัดการความกลัวนี่ได้อย่างไร 

 

เช่นลูกแม่ดาว  เราคุยกัน ว่าจะทำอย่างไรดี  หากป๊าไปรับ  ลูกเสนอขอค่าขนมจาก 20 เป็น 40 บาท เพื่อซื้อขนม อาหารรอ เพราะบอกว่าป๊ามารับช้ามันหิว 20 บาทไม่พอซื้อข้าวเหนียวกับน้ำ อีกทั้งอยากทานขนมด้วย   ประเด็นนี้ผ่านมติ จัดให้  ต่อมาให้ไป 40 บาท มีร้องไห้อีก บอกป๊ามารับช้ามากเกินไป ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้นานมากขนาดนั้น แต่เขาไม่รู้เวลา  จึงเสนอว่าเอาแบบนี้ไหม  ลูกไม่มีนาฬิกาไว้ดู ลูกก็เลยคิดเองว่ารอนานมาก  แม่จะซื้อนาฬิกาให้  แล้วสอนลูกดู   ลูกแม่ดาวตอบว่า เขายังไม่เอานาฬิกา เพราะตัวเขายังมีความรับผิดชอบไม่พอ กลัวนาฬิกาหาย  แต่ไม่เป็นไร เขาเสนอว่า เขาจะฟังเสียงกริ่งที่โรงเรียนแทน  คำตอบนี้ทำให้แม่ดาวยิ้มและจุ๊บสมองใส ๆ ของลูก จริงด้วยไม่ต้องมีนาฬิกาฟังเสียงกริ่งบอกเวลาแทน  เขาบอกว่าครั้งก่อนป๊ามารับเสียงกริ่งดังไป 2 รอบแล้ว ป๊าก็ยังไม่มา  เขาจำแบบนี้ค่ะกริ่งแรก คือเขาเลิกเรียนปกติ (14.35น.)  กริ่งสองหมายถึงเด็ก ๆ ที่เรียนพิเศษจะเรียนเสร็จและลงมาเล่นที่สนาม ( 15.45  น.) นั้นหมายถึงเวลาที่หลาย ๆ คนต้องทยอยกลับบ้าน  มีผู้ปกครองมารอรับจูงมือกันกลับออกไป ไม่นับเด็กขึ้นรถตู้กลับ  เห็นภาพแบบนั้นแล้วเขาใจเสียมาก 

 

อาจมีบางเหตุการณ์เช่น ฝนฟ้าครึ้มคะนองตอนเลิกเรียน แบบนี้มารับช้าก็ใจหาย กลัวสารพัด กลัวน้ำท่วมแล้วแม่จะมารับไม่ได้  กลัวไม่ได้กลับบ้าน กลัวความมืด    หรืองานกีฬาสีที่ผ่านมาแม่ดาวไม่ได้ไปดูด้วยไม่รู้ว่าที่โรงเรียนอนุญาตให้ผู้ปกครองไปดูได้ ไม่มีจดหมายแจ้งแต่อย่างใด เลยไม่ทราบ  ลูกเห็นผู้ปกครองบางคนมาและแข่งเสร็จรับลูกกลับเลย  ก็เกิดอาการใจเสียอีกแล้ว พอเย็นเลิกเรียนปกติ ป๊าไปรับช้าตามปกติ ร้องไห้ใหญ่   ที่บอกว่า จะบอกว่ามันมีหลายเหตุปัจจัยที่อาจทำให้ลูกเกิดความกลัว

 

ล่าสุดไปรับลูก แต่เจอเพื่อนลูกนั่งตาแดงอยู่  พอเข้าไปคุยก็ร้องไห้บอกว่าคุณปู่ไม่มารับสักที วันนั้นฟ้าครึ้ม และฟ้าร้องอีกต่างหาก  รายนี้หนักกว่าลูกแม่ดาวคือเขาเกิดอาการทางกายด้วย  เครียด กังวลจนจิตสั่งกาย อาเจียนเลย  น่าสงสารมาก  แม่ดาวก็อยู่เป็นเพื่อน แสดงความเข้าใจถึงความกลัวของเขา เล่าเรื่องลูกชายของตัวเองให้ฟังว่า ดีโด้ก็แบบนี้ เคยเป็น และเล่าว่าดีโด้ทำอย่างไรให้แนวทางไว้ ให้เขาคิดต่อยอดเอา   ระหว่างนั้นแม่ดาวก็เบี่ยงเบนความสนใจ ชวนคุยไปเรื่อย  และบอกเขาว่าแม่ดาวจะอยู่เป็นเพื่อนจนกว่าคุณปู่จะมารับ   เขาก็ผ่อนคลายขึ้น เริ่มพูดคุย ไม่อาเจียนเวลาผ่านไปจนกริ่ง 2 ดัง คุณปู่ก็ยังไม่มา เขาเริ่มเกิดอาการน้ำตาคลอ ๆ อีก แต่ครั้งนี้ไม่อาเจียน เลยชวนกันเดินหาคุณปู่ บางทีคุณปู่อาจจะมาแต่หาเราไม่เจอก็ได้  เดิน ๆ ไปสักพัก เจอครูประจำชั้น ครูถามว่าเป็นอะไร เขาไม่ตอบ แม่ดาวเลยตอบแทน ปรากฎว่า จู่ ๆ เขาเกิดอาการจะอาเจียนอีก 

 

ครูบอกว่าให้เงียบ “อึบๆ เลยนะ ไม่ต้องร้อง จะร้องทำไม ”  ครูให้เหตุผลว่าคุณปู่เดี๋ยวก็มาแล้ว กำลังขับรถมาอยู่ รถอาจติด ประโยคนี้คุ้นไหมค่ะ แม่ดาวได้ยินบ่อยมากๆๆๆ จากครูโรงเรียนเดิมๆ จนถึงโรงเรียนนี้ ไม่นับรวมผู้ใหญ่ทั่ว ๆ ไปหลายท่านที่เคยพูดกัน    อย่างที่บอก “เดี๋ยว” เด็กไม่มั่นคง ไม่รู้ว่า “เดี๋ยว” คือนานแค่ไหน  เขารู้สึกว่ามันนานมากสำหรับเขา  จากนั้นครูก็พาเขาไปจากแม่ดาว  รู้สึกแย่นิด ๆ  ครูท่านนี้แม่ดาวเชื่ออย่างสนิทใจว่าท่านรักเด็กจริงๆ   แต่วิธีการพูดของท่านที่แม่ดาวรู้สึกขัดใจเท่านั้น  เรื่องครูแม่ดาวสอนลูกให้เขาเรียนรู้ที่จะปรับใจ ครูแต่ละคนรักเด็กเหมือนกัน แต่วิธีการสื่อสารอาจต่างกัน บางทีเหมือนดุ แต่เพราะรักและหวังดีประมาณนี้  สุดท้ายลูกชายตัวจริงก็มา แม่ดาวขอลูกว่า ขออยู่อีกสักนิด ปู่ของ...ยังไม่มา แม่สัญญาไว้ว่าจะอยู่จนกว่าปู่จะมารับ  แม่ต้องรักษาคำพูด จากนั้นไม่นานก็ได้ยินเสียงประกาศเรียกชื่อ  ........ไชโย  คุณปู่มารับสักที  โล่งใจ  

 

สิ่งที่อยากจะสื่อสารโดยสรุป คือ  เด็ก ๆ เกิดความกลัวได้ด้วยหลายเหตุปัจจัย  ขั้นแรกให้ยอมรับและแสดงความเข้าใจ  ลองพูดคุย หรือสังเกตุหาสาเหตุแล้วค่อย ๆ ช่วยแก้ไข  บางทีเราอาจทำหน้าที่แค่คอยคอยรับฟัง แสดงความเข้าใจ ส่วนปัญหาจริง ๆ แล้ว ลูกเราเขาก็สามารถจัดการแก้ไขด้วยตัวเขาเอง  หลายครั้งต้องเตือนตัวเองว่า “ปัญหาของลูก ฝึกให้ลูกแก้เอง” ต้องเตือนตัวเองจริง ๆ บางทีมันทำไปโดยอัตโนมัติด้วยสัญชาติญาณแม่ที่อยากปกป้องลูกเนอะ

 

ตั้งแต่มีลูกนี้ รู้สึกต่อมรักเด็กจะทำงานหนักฮ่าๆๆๆๆ  

 

     

หมายเลขบันทึก: 554885เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท