ใครคือประชาชนอาเซียนที่ปรากฎตัวในรัฐไทย และอะไรคือปัญหาสถานะบุคคลที่พวกเขา/เธอต้องเผชิญ


บทเกริ่นนำ ในบทที่ 3 ของวิทยานิพนธ์หัวข้อ "แนวคิดทางกฎหมายในการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย"

โจทย์ /คำถามของ บทที่ 3 

คำถามแรก- ใครบ้างที่ถูกนับหรืออาจถูกนับว่าเป็นประชาชนอาเซียน

คำถามที่สอง- ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งๆ ที่ต้องดำเนินชีวิตประจำวันบนความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดสภาพบุคคล ประชาชนอาเซียนกลุ่มต่างๆ ที่ปรากฎตัวในดินแดนของรัฐไทยต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ อย่างไรบ้าง และอย่างไร

ตอบคำถามแรก พบว่า เอกชนหรือบุคคลที่มีองค์ประกอบต่างด้าวที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยในลักษณะต่างๆ 2 กลุ่มคือ
กลุ่มแรก-คนต่างด้าว และบุคคลที่ตกอยู่ในข้อสันนิษฐานว่าเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะไร้รัฐไร้สัญชาติ
กลุ่มที่สอง-บุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวทางทะเบียนราษฎร หรือสัญชาติมากกว่าหนึ่งรัฐขึ้นไป (คนที่มีมากกว่าหนึ่งทะเบียนราษฎร หนึ่งสัญชาติ)

ส่วนการตอบคำถามที่สอง --เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจร่วมกัน ดูอธิบายผ่านกรณีศึกษาที่ใช้เป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มคน/กลุ่มปัญหา (True stories) เพื่อเป็นตัวแทนของปัญหา (Problem-based Study) ดู 26CaseStudy4Thesis 

 

 

-----------------------------------------------
ที่มาของ สองคำถามข้างต้น
ดังที่ได้กล่าวไปในบทที่สองแล้วว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมาได้เกิดการปรากฎตัวของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่สังคมไทยคุ้นเคยกับนิยาม/การจำแนกว่าเป็นคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ หรือนิยามใหม่อย่างเป็นทางการนับแต่ปีพ.ศ.2548 คือผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ

หรือภายใต้วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลคนกลุ่มนี้ก็คือเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ หรือคนต่างด้าว รวมถึงบุคคลที่ตกอยู่ในข้อสันนิษฐานว่าเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะไร้รัฐไร้สัญชาติ

ในเวลาต่อมาอีกกลุ่มบุคคลที่เริ่มปรากฎชัดขึ้นในสังคมไทยก็คือ บุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวทางทะเบียนราษฎรหรือสัญชาติมากกว่าหนึ่งรัฐขึ้นไป กล่าวคือ บุคคลดังกล่าวอาจเป็นคนชาติของประเทศไทยหรือเป็นราษฎรต่างด้าวของรัฐไทย และยังเป็นคนชาติและ/หรือเป็นราษฎรของรัฐอื่นในเวลาเดียวกันอีกด้วย (คนที่มีมากกว่าหนึ่งทะเบียนราษฎร หนึ่งสัญชาติ) ซึ่งในชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้พวกเขาต้องเผชิญกับข้อจำกัด อุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพด้านต่างๆ ด้วยเพราะไม่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถใช้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเข้าถึงสิทธิและใช้สิทธิในสถานะบุคคลไม่เป็นไปตามมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิโดยกฎหมายภายในของรัฐไทย รวมถึงมาตรฐานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี

จำเป็นต้องกล่าวไว้ด้วยว่า ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของกลุ่มผู้ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสถานะบุคคลและสิทธิทั้งสองกลุ่มข้างต้น เริ่มถูกพิจารณาด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิม ด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองภายใต้บริบทภูมิภาคอย่างประชาคมอาเซียน (ASEAN Community-AC) ที่กำลังแต่ง-เติม-แต้มสีสันความท้าทายใหม่ให้กับประเด็นการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคล ยิ่งเข้าใกล้ปีพ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ที่ประชาคมอาเซียนได้กำหนดเวลาเริ่มต้นของ“สามเสาหลัก” หรือความเป็นหนึ่งเดียวทั้งในด้านของการเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม ก็ยิ่งส่งผลต่อแนวคิดที่มีต่อการจัดการประชากรกลุ่มต่างๆ ที่ปรากฎตัวในรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แนวคิดของประชาคมอาเซียนที่เล็งเห็นว่าเส้นพรมแดนระหว่างรัฐจะบางลงจนกระทั่งถึง “ไม่มีความสำคัญ” การเคลื่อนย้ายของคน ทุน สินค้าและบริการที่จะเป็นไปอย่างเสรีในอนาคตอันใกล้

ประการสำคัญจากบทอารัมภบทที่ปรากฎในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่พูดถึง “ประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)” หรือ THE PEOPLES of the Member States of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) ที่กล่าวได้ว่าบุคคลหนึ่งๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นคนชาติ (National) ของรัฐใด ทว่าภายใต้บริบทของประชาคมอาเซียนแล้ว คนทุกคนล้วนเป็นประชาชนแห่งอาเซียน (ASEAN People) รวมถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รัฐสมาชิกอาเซียนให้ความมั่นร่วมกันที่จะยืนยันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Economic Social and Cultural Rights)  ทั้งปวงตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิในการพัฒนา (Right to Development) และสิทธิในสันติภาพ (Right to Peace)  ว่าเป็นสิทธิของบุคคลทุกคน (All person/Every person)

ทว่า ผู้ศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์มีข้อสังเกตต่อสีสันใหม่ๆ ของประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกันคือ

ประการแรก-จริงหรือที่-เอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศที่ปรากฎตัวในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จะถูกนับหรือรวมเข้าเป็นประชาชนแห่งอาเซียนด้วย

ประการที่สอง-แม้คนไร้รัฐไร้สัญชาติอาจถูกนับรวมให้เป็นประชาชนอาเซียน แต่เพียงเท่านี้ย่อมไม่เพียงพอต่อการประกันว่าคนไร้รัฐไร้สัญชาติจะสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือปัญหาด้านการเข้าถึงสิทธิและใช้สิทธิในสถานะบุคคลจะหมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง หรือโดยอัตโนมัติ

ด้วยเพราะข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ ยังคงสะท้อนว่า-ไม่ว่าเขตแดนของรัฐจะเริ่มลดบทบาทลดความสำคัญลงไปจริง และไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่การเป็นประชาชนอาเซียนโดยมีสังกัดหรือเป็นคนชาติของรัฐใดสักรัฐหนึ่งก็ยังคงเป็นเรื่องคุ้นชินที่หลายคนต้องการ จนถึงปัจจุบัน ข้อเท็จจริงจากภาคสนามก็ยังคงพบว่าเอกชนต่างด้าวที่มีลักษณะระหว่างประเทศทั้งกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงกลุ่มคนที่มีมากกว่าหนึ่งรัฐ หนึ่งสัญชาติ ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงและการใช้สิทธิในสถานะบุคคลด้านต่างๆ อยู่เช่นเดียวกับคนรุ่น (Generation) ก่อนหน้า อาทิ สิทธิในสัญชาติ (สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ) สิทธิที่จะไม่ตกเป็นคนไร้รัฐหรือสิทธิที่จะได้รับการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมาย (สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร)

แต่จำเป็นต้องกล่าวไว้ด้วยเช่นกันถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ต้องตระหนัก ก็คือ สถานะบุคคลด้านอื่นๆ กำลังขยายขอบเขตความสำคัญออกไป-ครอบคลุมชีวิตประจำวันของมนุษย์คนหนึ่งๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยไม่ใส่ใจว่าบุคคลหนึ่งๆ นั้นจะไร้สัญชาติ หรือมีสัญชาติของรัฐใด หรือมีรัฐเจ้าของตัวบุคคลแล้วหรือไม่

 

หมายเลขบันทึก: 554509เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2013 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2013 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แยกเป็น ๒ บันทึก ทีละประเด็น ก็จะเปิดวงเสวนาได้ชัดเจนกว่าไหมคะ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท