“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๔ (๓)


บันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

การนำเสนอประสบการณ์จากการเปิดชั้นเรียนห้องภูมิปัญญาภาษาไทย  ภาคบ่าย

 

คุณครูอ้อ – วนิดา  สายทองอินทร์  นำเสนอ

คุณครูตั๊ก –  รัตดารา  มกรมณี พิธีกร

 

ในปีการศึกษา ๒๕๕๖  คุณครูอ้อเปิดชั้นเรียนระดับชั้น ๓  ในแผนการเรียนรู้พฤษาพาคำ-กลอนสี่ชมพฤกษา

กล่าวโดยสรุปแผนการเรียนรู้นี้ เริ่มจากการเรียนรู้ธรรมชาติของคำ และการสะสมคลังคำจากการเข้าไปมีประสบการณ์ตรง  แล้วนำคำเหล่านั้นมาเขียนบรรยายต้นไม้  จากนั้นนำคำมาแต่งเป็นกลอนสี่

 

การนำเสนอ

เป้าหมายในการเปิดชั้นเรียน

สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถเขียนบรรยายส่วนประกอบของต้นไม้ได้อย่างละเอียดชัดเจนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้ของหน่วยวิชามานุษกับโลกที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้เช่นกัน

 

การวางแผนการเรียนรู้

  • เริ่มต้นที่การกะความรู้สะสม อย่าไปมองว่าเราสอนไปถึงไหนแล้วแต่ให้มองว่ามีอะไรอยู่อย่างจริงๆ
  • วางเป้าหมายให้ชัดเจน และต้องเป็นไปได้ ไม่กำหนดเป้าหมายให้สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป
  • ตรงกลางมาเอง เมื่อรู้ต้นทางและปลายทางก็จะรู้ว่าการสร้างหนทางให้เป็นลำดับ ค่อยๆ ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายเล็กๆ

 

กระบวนการเรียนรู้

 

          ก่อนเปิดชั้นเรียนครั้งที่หนึ่ง โฟกัสแรกคือการเพิ่มคลังคำโดยใช้วิธีการสร้างบริบทที่เป็นของจริงพาไปดูต้นมะขามไปใช้สัมผัสด้วยตา ดม ชิม สัมผัส  แล้วครูจึงค่อยเปิดโจทย์ “ให้เด็กเขียนบรรยายลักษณะของส่วนต่างๆ ของต้นมะขาม” แต่พบว่ายังมีปัญหาอยู่ว่าต้องบรรยายจึงใช้ต้นกล้วย ปลีกล้วย ผลกล้วย มาให้เด็กได้สัมผัส ได้ขยายคลังคำเพิ่มขึ้นด้วย  ในวันนั้นทำให้รู้ว่ามีเด็กบางคนเข้าใจว่าฝาดกับขมคือสิ่งเดียวกัน จึงมีใบฟ้าทลายโจรให้เด็กได้ชิม

 

          ก่อนเปิดชั้นเรียนครั้งที่สอง มีฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับกล้วยได้รู้ว่าเด็กเขียนลักษณะที่ไม่ได้บรรยายอย่างลึกซึ้งเช่นต้นกล้วยมีสีเขียว น้ำตาลโดยไม่ได้บอกว่าสีน้ำตาลจะเป็นที่ส่วนใด  อีกกลุ่มหนึ่งพบว่าเด็กยังเขียนสลับไปสลับมานึกอะไรขึ้นมาได้ก็เขียนแล้วก็ย้อนกับมาเขียนเรื่องเดิมใหม่ อีกกลุ่มก็เป็นเด็กที่เขียนบรรยายได้ดี  พบว่าเด็กมีฐานความรู้ไม่เท่ากันแตกต่างกันอยู่มาก และมีคลังคำยังไม่มากพอ   ครูอ่านงานเด็กแต่ละแบบให้เด็กได้ยินทั่วกัน เด็กจะเห็นความต่าง และบอกได้ว่าการเขียนอันไหนที่ดี  ทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจขึ้นที่อยากเขียนให้ดี

 

          การเปิดชั้นเรียนครั้งที่ ๑ นำผลงานเด็กที่เขียนได้ดีมาแสดงให้เห็นเป็นภาพ เป็นการแทนคำที่เขียนให้เห็นเป็นภาพ ให้เข้าใจว่าถ้าเขียนชัดก็สร้างออกมาเป็นภาพในใจคนฟังที่ชัดเจนตามไปด้วย เป็นการใช้ภาพมาช่วยลำดับความคิดว่าเมื่อเขียนอธิบายอะไรก็ต้องไล่มาทีละส่วนให้คนฟัง หรือคนอ่าน ได้เข้าใจเรื่องที่เขียนอย่างเป็นลำดับขั้น  เป็นการช่วยสร้างแนวทางการพัฒนางานเขียนโดยอาศัยความงามมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน

 

          การเปิดชั้นเรียนครั้งที่ ๒ ชื่นชมผลงาน สร้างแรงบันดาลใจในการเขียนกลอน ใช้สื่อเป็นต้นไม้อีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายต้นกล้วย ให้เด็กหาคำอีก ให้เด็กเขียนงาน  เด็กที่มีความต่างเดิมเป็น ๓ กลุ่ม กลายเป็นเหลือความต่าง ๒ กลุ่ม เรียกเป็นกลุ่มกล้วยดิบ และอีกกลุ่มเป็นกล้วยสุก  กลุ่มกล้วยดิบให้เขียนบรรยายร้อยแก้ว  ส่วนกล้วยสุกเพิ่มความยากโดยการให้โยงจับคู่คำคล้องจอง

 

          การเปิดชั้นเรียนครั้งที่ ๓ ในครั้งนี้มีโจทย์สองโจทย์สำหรับเด็กสองกลุ่มในขณะที่มีครูคนเดียว ช่วงภาวะพร้อมเรียนครูแต่งกลอนบรรยายลักษณะของต้นพุทธรักษา (เด็กเลือกปักษาสวรรค์)  ให้เด็กอ่านเป็นจังหวะตามครูโดยครูจะอ่านเสียงเน้นในคำที่คล้องจองกัน ให้เด็กดูว่าคำใดใช้ได้สำหรับต้นปักษาสวรรค์ได้อีก   และครูให้นักเรียนได้สังเกตต้นปักษาสวรรค์อีกเพื่อหาคลังคำอีก  มีกติกาในการเรียกเด็กสองกลุ่มโดยใช้การเคาะระฆังเรียกเด็ก ๑ ครั้งเรียนกล้วยดิบ ๒ ครั้ง เรียกกล้วยสุก

         

           เปิดโจทย์กล้วยดิบ “ให้หาคำมาเติมในช่องว่างให้ได้ใจความชัดเจน” ในขณะเดียวกันก็เปิดโจทย์กล้วยสุกว่า “ให้นักเรียนหาคำคล้องจองของกลอนสี่ตามเงื่อนไขที่กำหนด คำคล้องจองที่อยู่ในบรรทัดเดียวกันต้องอยู่คนละวรรค คำคล้องจองที่อยู่คนละบรรทัด ต้องเป็นบรรทัดที่ติดกัน” นักเรียนกลุ่มกล้วยสุกสามารถค้นหาฉันทลักษณ์ได้ และตรวจสอบเองได้จากเฉลยที่ครูติดไว้หลังกระดานเล็ก และบอกได้ว่าครูยังไม่ได้โยงอีกที่หนึ่ง  / ให้เด็กกลุ่มกล้วยดิบมาแลกเปลี่ยนกันและเปิดโจทย์ “ให้นำคลังคำมาเขียนบรรยายลักษณะของต้นปักษาสวรรค์ให้ชัดเจน”  

 

 

          การเปิดครั้งที่ ๔  ทั้งกล้วยดิบและกล้วยสุกได้มีโอกาสแต่งกลอนสี่เหมือนกันแล้ว

 

          การเปิดครั้งที่ ๕  โจทย์ยังคงให้ดูต้นปักษาสวรรค์และการอ่านเป็นทำนองเสนาะ เด็กสนุกกับการร้องทำนองเสนาะมาก สร้างเงื่อนไขในการแต่งกลอนว่าถ้าแต่ได้หนึ่งบทจะเชิญนกจากสวรรค์มาได้ ๑ ตัว เด็กมีความตั้งใจมากอยากแต่งให้ได้และอยากเชิญนกมาอยู่ด้วยหลายๆ ตัว

 

ข้อค้นพบคือ

  • การแบ่งบานของลูกศิษย์ที่ไม่ได้บานพร้อมกันแต่สุดท้ายก็บานเหมือนกัน ทุกคนได้พบความสำเร็จ บนศักยภาพที่แตกต่างกัน
  • กระบวนการของวิชาต้องมีการเพิ่มในส่วนของ input และการคลี่คลาย ก่อนการเปิดโจทย์ จึงทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยเป็น ๗ ขั้นตอน ในส่วนที่เป็นขั้นตอนการแลกเปลี่ยนของหน่วยวิชาภูมิปัญญาไทยเรียกว่าเป็นช่วงปฏิสัมพันธ์ ที่เน้นให้มีการชื่นชมความงามในผลงานที่ได้สร้างขึ้น

 

ช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

อาจารย์วิจารณ์  ใช้เวลาทั้งหมดในการสอนเรื่องนี้นานเท่าไร

คุณครูอ้อ  ใช้เวลาในการสอนประมาณ ๑ เดือน หลังจากนั้นก็เรียนต่อมาอีกสองสัปดาห์ จึงมาถึงชิ้นงานชิ้นสุดท้าย รวมเวลาประมาณเดือนครึ่ง

 

 

คุณครูแป๊ะ  เด็กที่อ่อนที่สุดครูอ้อใช้วิธีการอย่างไร

 

คุณครูอ้อ   สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ และกิจกรรมที่จัดให้เอื้อกับเด็กทุกคนได้พบกับความสำเร็จ  บางคนสะกดคำไม่ได้ ในครั้งแรกไม่ทำเลย แต่พอครูปรับให้เป็นกลุ่มกล้วยดิบกับกล้วยสุก ทุกคนก็มีพัฒนาการดีขึ้น  และในกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งหลัง ตอนหลังที่ให้เชิญนกลงมาจากสวรรค์ทุกคนพยายามเขียนเยอะมาก ถึงแม้จะเขียนผิดบ้างถูกบ้างก็ตาม การย่อยโจทย์และการย่อยขั้นตอนจะทำให้เด็กมีกำลังใจมากขึ้น ถ้าครูจัดเวลาและจัดการชั้นเรียนดีๆ ให้สามารถดูนักเรียนได้ทั้งสองกลุ่ม สุดท้ายก็จะไม่มีนักเรียนคนไหนตกรถ

 

คุณครูปาด    สังเกตว่าครูอ้อพูดถึงเด็กที่สะกดผิดแบบมีความสุข แต่ถ้าเป็นครูรุ่นคลาสสิกจะไม่มีความสุข ถ้าจับให้ดีคือหลักการปล่อยให้เด็กลื่นไหลและเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ก่อน โดยไม่ไปเคร่งครัดกับเรื่องระเบียบวิธี

 

คุณครูอ้อ   ฟังดูแล้วอาจรู้สึกขัดแย้ง  แต่การไปยึดติดกับความถูกต้องจะทำให้การไหลลื่นของการเขียนทำให้เด็กสะดุดลงทันที  ถ้าครูทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่ทำได้  การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับเด็ก การใช้คำที่ไม่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าจับผิด จะช่วยทำให้กำแพงระหว่างครูกับเด็กจะหายไป และการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น

 

คุณครูปราง   ในการแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่มในห้องเดียวกันมีการจัดการอย่างไร และทำทุกครั้งหรือไม่

 

คุณครูอ้อ   อาจไม่ต้องทำบ่อย  เหตุที่ต้องทำเป็นเพราะความผิดพลาดในอดีตของเรา เมื่อทำไปสักพักหนึ่ง ความสามารถของเด็กจะขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน  และเมื่อนั้นการแบ่งแบบนี้อาจไม่ต้องทำก็ได้  ส่วนเรื่องการจัดการชั้นเรียนนั้น ครูต้องแม่นในตัวเองและแม่นแผนพอสมควร  และมีการตกลงกับเด็กอย่างชัดเจน เพื่อให้เด็กกล้วยสุกสามารถจะเรียนรู้ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด

 

คุณครูใหม่   ขอเสนอเพิ่มเติมในฐานะที่เป็นคนยุให้ครูอ้อทำชั้นเรียนในลักษณะนี้  จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเกิดจากการผิดพลาดในอดีต  แต่เป็นเพราะครูมองเห็นการเรียนรู้เฉพาะบุคคล  แล้วครูจะหาโจทย์อะไรที่จะมาทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของการเรียนรู้   และรู้สึกไม่ลำบากในการเรียนรู้ และทำให้ตนเองรู้สึกว่าตนเองทำงานได้สำเร็จ นี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญ

 

คุณครูปาด  ถ้าสามารถทำให้เด็กเกิดความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เด็กเกิดการแลกเปลี่ยนกันเอง ความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นกับกลุ่มด้วย

 

คุณครูอ้อ  ในกลุ่มกล้วยดิบจะมีเด็กส่วนหนึ่งที่เติมคำเองได้  อีกส่วนที่ยังไม่สามารถหาคำมาเติมได้ ถ้าครูให้เด็กจับคู่กัน ได้คุยกัน และให้แต่ละคู่ก็ไปคุยกับคู่อื่นๆ เด็กก็จะเรียนรู้จากเพื่อนได้มาก ในกลุ่มกล้วยสุกครูใช้วิธีบอกเด็กว่าครูเห็นว่าคนนั้นสามารถหาฉันทลักษณ์ได้แล้วให้ลองไปคุยกับเด็กคนนั้น แทนที่จะมาคุยกับครู และนอกจากนี้ครูยังมีเฉลยติดอยู่หลังกระดานให้เด็กที่ทำงานเสร็จแล้วเดินไปดูเองได้  ครูต้องให้เกียรติและไว้วางใจเด็ก

 

คุณครูปาด  การที่เด็กที่ทำไม่ได้ ยังทำไม่เสร็จยังนั่งทำต่อไปโดยไม่วิ่งไปดูเฉลย มีแต่เด็กที่ทำได้แล้วอยากรู้ว่าทำถูกหรือเปล่าเท่านั้นที่ลุกไปดู แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

คุณครูใหม่ การเรียนภาษาเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ การที่เด็กมีโอกาสคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ภาษาก็จะงอกงามไปบนปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นธรรมชาติ  ถ้าเปิดโอกาสให้มีการจับคู่คุยกัน ได้คุยได้คิดได้คำดีๆ แล้วเมื่อแต่ละคนนำมาทดลองใช้ในแบบของตนก็จะยิ่งเพิ่มพูนความสามารถ  เพิ่มพูนประสบการณ์ของแต่ละคนและของกลุ่มให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

หมายเลขบันทึก: 554313เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท