"เสรีที่ขาดเสรี" (Freedom is on un-freedom)


รู้สึกไหมว่าปัจจุบัน โลก (มนุษย์) กำลังเรียกร้องเสรีภาพเพื่อตัวเองมากขึ้น ต้องการเอกภาพ เอกัตตา และเอกจิต เพื่อมิให้ตนเองรู้สึกว่าถูกกีดกันหรือถูกกดดันจากใครๆ ครั้นเมื่อเรียกร้องหรือได้เสรีภาพมา กลับใช้มันไปลักษณะเสรีกรรม คือแสดงออกอย่างอิสระ ขาดจิตสำนึกในคุณค่าแท้ของมันเชิงลึก ซึ่งอาจจะเป็นแค่รู้สึกว่า ไม่มีใครห้ามหรือกดดัน จึงมีสิทธิที่จะทำอะไรตามอำเภอ จังหวัดใจได้เสมอ มันจึงเป็นผลเสียแก่สังคม ที่เราเห็นกันอยู่เช่น ประท้วงเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ฆ่ากันอย่างเสรีไม่มีเหตุผลทางมโธรรม พ่อแม่ก็ขาดลูกดูแล ชายหญิงหนุ่มสาวก็แสดงออกเสรีทางเพศ แต่งตัวก็เป็นแบบเสรี คิดเสรี แต่จิตเสรีนี่สิ น่าสงสัย?

การแสดงออกเพื่อบอกว่าเสรีนั้น เหมือนกำลังปล่อยใจ การกระทำ ความคิด ของตนเองไปอย่างไร้จุดหมาย แต่อยู่ในกรอบของสภาพแวดล้อมหรือบริบทนั้นๆ ถ้าเช่นนั้น มองในภาพกว้างๆ เรายังมีเสรีภาพอยู่หรือไม่ ที่เราแสดงออกเรายังตกอยู่ภายใต้แรงขับจากภายในตนเองหรือสิ่งภายนอกกันแน่ หรือแสดงออกตามอุปนิสัยที่ถูกหล่อหลอมมาจากครอบครัว สังคม ส่วนตัว หรือเป็นไปตามสัญชาตญาณกันหรือไม่

ถ้าเช่นนั้น มีประวัติ มีแนวคิด มีหลักการเรื่องนี้อย่างไร ที่เสนอสอดรับกับแนวพฤติกรรมของมนุษย์นี้ เลยต้องกลับไปทบทวนที่มาและแหล่งกำเนิดของเราจากหลายๆแหล่งเช่น ศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การเมือง ชีววิทยา จิตวิทยา และภาษาศาสตร์ จนพอมองเห็นรากเหง้าเค้ามูลของเราว่า ล้วนถูกโลก การกระทำของตน สิ่งแวดล้อม หลอมหล่อให้เป็นไป โดยมีพื้นฐานจากคำว่า "จินตนาการ" (Thought) ของตนเองเป็นหลัก

ในแง่ศาสนา (Religious View: 1991) Warren Mattthews คือ ผู้เขียนตำรา "World religions" ได้รวบรวมหลักการและวิธีการของศาสนาต่างๆ ซึ่งพอพอจะมองเห็นต้นกำเนิดของศาสนาและปัญหาของชีวิต ศาสนาเกิดมาจากความไม่มั่นคงทางจิตใจ และความไม่รู้ทางปฏิบัติ จึงมอบพลังความเชื่อนั้นให้กับผู้เป็นเจ้า แล้วมนุษย์ก็ยอมรับด้วยความเคารพสิ่งนั้น จากนั้นก็สร้างบทการ หรือหลักการปฏิบัติ พิธีกรรมขึ้น เพื่อให้สมาชิกประพฤติตาม เชื่อตาม    เมื่อเวลาผ่านไป ความคิด ประสบการณ์ ความรู้เริ่มสะสมมากขึ้นจึงมองเห็นความเป็นไปของโลก สรรพสิ่ง และตนเองกระจ่างขึ้น กระนั้น ก็ยังคงยึดหลักการเอาไว้อยู่ แต่เริ่มตั้งปัญหาถามตัวเอง ถามหลักการทางศาสนาว่า มันถูกต้อง มีเหตุผลพอหรือกับศรัทธาที่ให้เชื่อว่า ทุกสิ่งอุบัติขึ้นและดำรงอยู่จากพระเจ้า (God)

นั่นหมายความว่า มนุษย์กำลังบอกว่า ฉันไม่อยากเชื่อพระเจ้าอีกแล้ว เพราะตัวเองไม่ได้รับเสรีภาพหรืออิสรภาพจากพระเจ้าเลย ต้องคอยเชื่อฟัง ทำตามอยู่ตลอดเวลา จุดเริ่มมาจากพระเจ้าได้สร้างมนุษย์คู่แรกคือ อดัมและอีวา ในสวนอีเดน สวนนั้นมีมารอาศัยอยู่ พระเจ้าสั่งให้มนุษย์คู่แรกอยู่ที่นี่ แต่ทรงห้ามมิให้กินผลไม้ชนิดหนึ่ง มิฉะนั้น ความบริสุทธิ์และเสรีภาพจะหมดไป กลายเป็นคนถูกสาบได้ ด้วยเพราะความไม่เชื่อฟังทั้งคู่จึงกินผลไม้นั้น จึงกลายเป็นคนบาปแห่งต้นแบบมนุษย์ทั้งโลก

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  (พิมพ์ ธมฺมธโร: สากลศาสนา,๒๕๔๘)  ได้กล่าวการเกิดของมนุษย์ตามทัศนะชาวอินเดียว่า เกิดจากพระเจ้าชื่อว่า "ปรเมศวร" ที่เสกพระพรหมให้เป็นไข่แล้วฟักเป็นสองส่วน ส่วนบนคือ ท้องฟ้า ส่วนล่างคือ มนุษย์ จากนั้นเมื่อโลกถูกไฟล้างประลัยกัลป์ พระองค์ก็เสกสรรพสิ่งขึ้นมา แรกๆมนุษย์เป็นดั่งทิพย์ แต่ต่อมาหลงใหลอาหารโลก กายทิพย์จึงกลับกลายเป็นหยาบและสืบพันธุ์มาจนบัดนี้ ก็ยังตกอยู่ภายใต้กายหยาบเช่นนี้ จนขาดอิสรภาพทางใจ และทางสายพันธุ์

ในทัศนะของ ธนู แก้วโอภาส (ศาสนาโลก) กล่าวว่า ศาสนาของมนุษย์เกิดมาจากวิญญาณนิยม (Animism) แล้วจึงวิวัฒนาการมาเป็นศาสนา ในศาสนาสะท้อนให้เห็นกิจกรรม พิธีกรรมที่บอกจิตลักษณ์ภายในว่า เป็นเช่นไร เช่น ความเชื่อเรื่องวิญญาณ จึงเกิดทฤษฎีเรื่องวิญญาณว่า เป็นอมตะบ้าง ต้องเวียนว่ายตายเกิดบ้าง ไปอยู่ในแดนพระเจ้าบ้าง มนุษย์จึงปฏิบัติต่อศพด้วยความเคารพ เนื่องจากหวังว่า พวกเขาเหล่านั้จะมีวิญญาณกลับมาเกิดอีก จึงเกิดพิธีกรรมกับศพในหลายๆ เผ่า เช่น มัมมี่ การดองศพ การฝังศพ การบูชาศพ การไหว้บวงสวง จึงเกิดเจ้าพิธีศพเรียกว่า "หมอผี" (Shaman) ขึ้นมา และพวกเขาก็ถูกครอบงำอีก

แนวคิดด้านศาสนาจึงเป็นรากฐานให้เราได้รู้ถึงกระบวนการคิด การทำพิธีกรรม การแก้ปัญหาของมนุษย์ เพื่อต้องการหนีความกลัว หรือปลดเปลื้องความกดดันจากสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เห็น อำนาจธรรมชาติ พระเจ้า วิญญาณ ทั้งหลาย เพื่อให้ตนเองได้อิสรภาพหรืออยู่อย่างปลอดความกังวล นั่นคือ บรรพบุรุษของมนุษย์ที่หมกมุ่นอยู่กับธรรมชาติ ป่า เขา สัตว์ร้าย จนไม่มีเวลาเป็นไทหรือเป็นอิสระ 

ดังนั้น มนุษย์จึงต้องแบกภาระอันนี้ไว้เรื่อยมา จนมาถึงลูกหลาน และสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้ แต่ยังไม่หมดเค้ามูลที่มาของเรื่องนี้ มาดูในแง่ปรัชญาบ้าง

นักปรัชญารุ่นแรกคือ ไพทากอรัส (Pythagoras:570-500 BC.) เขาเชื่อเรื่อง วิญญาณกลับชาติมาเกิดใหม่ และวิญญาณของมนุษย์สามารถเกิดเป็นสัตว์และพืชได้ทุกชนิด นั่นแสดงว่า เราก็ตกอยู่ภายใต้กฏแห่งวัฏอย่างไม่มีทางหลุดพ้น แนวคิดเช่นนี้ เพลโต (Plato) ได้นำไปคิดต่อยอดและสร้างทฤษฎีแบบขึ้นมาว่า ชีวิตมาจากวิญญาณ วิญญาณมีสองแบบคือ วิญญาณเดิม คือ วิญญาณที่เป็นต้นแบบที่บริสุทธิ์ อมตะ ซึ่งอยู่ในมโนคติ วิญญาณอันหลังคือ วิญญาณที่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชาความไม่รู้จักเหตุผล เมื่อวิญญาณนี้ตายไปก็จะกลับไปเกิดอีกเรื่อยๆไป

มายุคของอริสโตเติ้ล (Aristotle:384-322 BC.) เขามีความเห็นที่แตกต่างจากครูของตนคือเพลโต คือเชื่อว่าสรรพสิ่งรวมทั้งสิ่งมีชีวิตกำเนิดในรูปของมันเองคือ มีสสารและวิญญาณในตัวเองเรียกว่า สสารและวิญญาณ (Mater and form) ซึ่งเขาคิดว่า มนุษย์มีสิ่งที่เป็นแก่นในตัวเองเรียกว่า "ศักยภาพ" (Potential) แต่มันอาจถูกครองงำจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่กล้าสู้ ไม่กล้าหาญ ที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายได้อย่างอิสระได้ เหมือนกับเม็ดผลไม้ ที่มีความพร้อมที่จะเกิด ที่มีความอิสระอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงกาลอันเหมาะสม นั่นหมายความว่า เสรีภาพต้องมีรากฐานมาก่อน และมีพลังที่จะขับเคลื่อนไปสู่สภาวะจุดนี้

มาถึงยุคปรัชญาสมัยใหม่ เดสการ์ต (Descartes: 1594-1650) คือ นักคิดยุคใหม่ที่กล้าท้าคิดแบบเจาะลึกในจิตตน ซึ่งต่างจากยุคก่อน ที่มองนอกกายอย่างเดียว เขามองส่วนในจิตด้วยวิธีสังกา หาข้อสงสัยจึงสรุปได้ว่า สรรพสิ่งมีอยู่ เป็นอยู่ เพราะมีกรูเอง (I think, therefore, I am) แต่เราก็ยังหาจุดที่เป็นอิสระไม่ได้ว่า "ตัวกู ของกู" จะอิสระได้อย่างไร

ในขณะ จอห์น ล๊อค (Lohn Locke :1632-1704) เขากล่าวถึงเหตุแห่งคุณภาพ บทบาทและอำนาจของมนุษย์มี ๒ อย่างคือ กายภาพและวิญญาณภาพ อันแรกคือ พลังแห่งพลังงาน การเคลื่อนไหว ที่ทำงานผ่านระบบประสาท กล้ามเนื้อ เพื่อสนองสิ่งที่อยู่ภายในคือ วิญญาณ เรียกว่า "เจตจำนง" (The will) ถ้าจะถามอีกว่า แล้วทั้งสองใครมีอิสระมากกว่ากัน เพราะเขากล่าวอีกว่า ทั้งสองอยู่ภายใต้จิตสาร คือ "พระเจ้า" อีก

ในขณะค้านท์ (Kant: 1724-1803) เขาได้หันมาให้ความสนใจเรื่อง จิตวิญญาณจากฐานประสบการณ์ ไปสู่กระบวนการคิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุผล การคิดแบบนี้เขาแบ่งออก ๓ ระดับคือ การคิดในเรื่อง วิญญาณ เรื่องโลกวิถี และเรื่องพระเจ้าวิถี แต่ในโลกความเป็นจริงมนุษย์ดำรงอยู่ใน ๒ ฐานะคือ อยู่ด้วยระบบประสาท และอยู่ด้วยระบบเหนือปรากฏการณ์อย่างอิสระ  อันแรกเป็นการยอมตามกาย (ร่างกาย) ของสัตว์โลก อันหลังเป็นการดำรงชีวิตไปด้วยเจตจำนงอันบริสุทธิ์ (จิตบริสุทธิ์) แล้วเราเป็นอย่างที่เขากล่าวได้ไหม

ส่วนนักปรัชญาชื่อ โชเปนฮาวเออร์ (Schopenhauer: 1788-1860) เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันที่นำเอาแนวคิดตะวันออกมาไปประสมกับตะวันตก เขากล่าวถึง "การกระทำ" ของมนุษย์มาจากภายในคือ "เจตจำนง" (The Will) โดยแสดงผ่านกาย การเคลื่อนไหว การตอบสนอง การทำงานของระบบร่างกาย เป็นการสื่อออกมาจาก เจตจำนง ที่ต้องการอยู่รอดปลอดภัยดั่งคำที่ว่า เจตจำนง คือ ตัวแทนที่แสดงผ่านโลก (กาย) ออกมา แต่การแสดงนั้น แสดงออกโดยเป็นไปตามสัญชาตญาญหรือเจตนาตาบอด เมื่อคนตาบอด ก็แสดงว่า จิตไม่ได้มีอิสระเสรีอย่างแท้จริง แต่น่าเศร้า เขามองชีวิตในแง่ลบคือ มองว่าชีวิตนี้มีทุกข์และต้องทำลายกายหรือเจตจำนงนี้เสียหรือไม่ก็ปลีกวิเวกจากมัน ไม่ได้เสนอให้สู้หรือเผชิญกับมัน สุดท้ายก็จมอยู่กับโลกแห่งเจตนาตามสัญชาตญาณเหมือน เราจะบรรลุเสรีภาพได้อย่างไร

ในแง่ประวัติศาสตร์ มนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากป่า หาอาหาร ป้องกันตัวเอง ประดิษฐ์เครื่องมือใช้ ทำเกษตร เลี้ยงสัตว์ จึงเรียกว่า "อารยธรรม" (Civilization) โดยอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ ๔ สายคือ แม่น้ำไนล์ ไทกรีส สินธุ และฮวงโห ที่ดำรงชีวิตตามธรรมชาติและรู้จักการสร้างสรรค์เครื่องมือใช้ แบ่งได้เป็นยุคคือ ยุคก่อนประวัติศาสตร ยุคประวัติศาสตร ยุคโบราณ ยุคหิน ยุคโลหะ  ประวัติของโลก มนุษย์ ดำเนินมาแล้วหลายล้านปี ไม่มีใครรับรองได้ชัดว่า เกิดขึ้นอย่างไร มีแต่สมมติฐานกัน โดยอาศัยหลักฐานเท่าที่หาได้

มันสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ได้เพิ่งเกิดมา แต่สะสมการดำรงชีวิตมายาวนาน นั่นหมายถึง เรามีประสบการณ์ด้วย ต้องพึ่งพาโลก สิ่งแวดล้อมด้วย ยิ่งกว่านั้นคือ บรรพบุรุษเกิดๆ ตายๆ มาแล้วเท่าไหร่ จิตเราพัฒนาได้เท่าไหร่ เราหวังว่าอยากไปนอกโลก นอกดวงดาวอื่นก็ทำได้ นั่นคือ จินตนาการพาไป แล้วก็คิดค้นดาวเทียมเดินทางไปยังดาวอื่นได้ ในแง่นี้ เราเอาชนะขอบเขตของ space ได้ แต่ขอบเขตแห่งจิตละสำเร็จหรือยัง และยังไม่มีใครบันทึกประวัติศาสตร์จิตไว้เลย

มองในด้านการเมือง การปกครอง เราพัฒนาการปกครอง ไปได้หลายทฤษฎี ตั้งแต่นักปรัชญาการปกครองเช่น เพลโต อริสโตเติล จอห์น ล๊อค รุสโซ มาร์ซิสต์ ระบบประชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราช ระบบรัฐ คณาธิปไตยและทรราช ฯ เราเกิดมาต้องถูกปกครองมาตั้งแต่เกิด เราไม่ได้อยู่คนเดียวแบบอิสระอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยก็พ่อแม่ดูแลคุ้มครองมาก่อน ในขณะล๊อคมองว่า เรามีสิทธิทางธรรมชาติตั้งแต่เกิด แต่สิทธิธรรมชาตินั้น ยังไม่ได้ขัดเกลาหรือแกะสลักให้ดีงาม

ดังนั้น เราจึงต้องถูกพ่อแม่ ครู อาจารย์ คนอื่นเสี้ยมสอนเสียก่อน จากนั้นเราก็ถูก สิ่งแวดล้อม ล้อมให้อยู่ในเขตใดเขตหนึ่งที่เหมาะสม อาจจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางสุขภาพก็ตาม เราจึงอยู่ในสภาพผู้ตามหรือผู้นำ (Follower or Leader) แล้วจะหาคำว่า เสรีอย่างแท้จริงได้อย่างไร

นอกจากนี้ การมีกายเป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ต้องดูแล จัดการให้ตัวเองอยู่ต่อไป นั่นคือ ความรับผิดชอบของตนโดยแท้ ไม่นับครอบครัว ลูกน้อง ชุมชน ฯ ตามหน้าที่ของคนๆนั้น

ในแง่ด้านชีววิทยา (Biological View) เราคือ หน่วยหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ในตัวเรามีฐานมาจากสสารล้านๆๆอะตอม ที่หลอมให้เป็นรูปร่าง ลักษณะต้นแบบมนุษย์ ในร่างกายมีระบบการทำงานของมันเช่น ระบบการย่อย ระบบประสาท ระบบการไหลเวียนเลือด ซึ่งดำรงอยู่ภายใต้กลไกของแรงโน้มถ่วง กาลเวลา และการกระทำ กลไกทั้งหมดของร่างกายทำงานประสานกัน โดยมีหัวใจเป็นพลังลำเลียงส่งเลือดให้เกิดการเคลื่อนไหว มีสมองเป็นศูนย์บัญชาการด้านข้อมูล ทั้งหมดแขน ขา หน้า ตัว จึงดำเนินไปในรูปมนุษย์เคลื่อนที่ ทำงาน ภายใต้การทำงานดังกล่าว เราอยู่ภายใตการควบคุมหรือการบีบบังคับของใครหรือไม่ พยาธิ โรคร้าย กิเลส ตัณหา สัญชาตญาณ สิ่งแวดล้อมหรือความตายกันแน่ 

มองในแง่จิตวิทยา (Psychogical View) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมอง ศาสนา ธรรมชาติ กฎต่างๆ และประสบการณ์ เป็นเครื่องมือหล่อหลอมให้เรา เข้าใจโลก กาย และจิตของตนเองให้ละเอียดขึ้น แล้วปลดปล่อยไปตามวิธีของมันให้ดำเนินไปกติกาของมัน เราเป็นเพียงคนรู้ คนเข้าใจกลไกของมันเท่านั้น แต่เมื่อเรามีกาย (สมบูรณ์ หล่อ สวย) นั่นคือ ตัวล่อปัญหาเข้าหาตัว หรือโอกาส หรือภาระเข้ามา เราก็ยินดีตอบสนองคนอื่นและตัวเราตามสัญชาตญาณอย่างแนบเนียน ยากที่บุคคลเช่นนั้นจะทรยศหรือปฏิเสธมันได้ สุดท้ายเราก็ไม่รู้ว่า กายสวย ใจสวย หรือกายหล่อ ใจหล่อ เราก็ตกเป็นเหยื่อตนเอง

การจัดการและการรู้เท่าทันปรากฎการณ์เบื้องต้นดังกล่าวคือ วิธีการอยู่เหนือโลก อยู่เหนือกาย อยู่เหนือผู้แอบแฝงในใจเรา และพลังผลักดันเราจากภายนอก (ที่คนอื่นยื่นให้) จนเราเป๋ไป ในวิถีชีวิตทุกๆโมเม้นต์ (Moments)  เหมือนเรากำลังต่อสู้กับตัวเองและแรงเสน่ห์ยั่วเย้า ให้เราเสียหลักอยู่เสมอ ที่สุดเราก็ต้องมาโวยวาย รำพึงสู่กันฟัง ว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ ต้องให้นักจิตวิทยาแก้ให้ คำถามคือ เรามีอิสระต่อตนเองจริงหรือ?

สุดท้ายมองในแง่ภาษา เราล้วนแต่ใช้ภาษาสำเร็จรูปในสังคมของเราเอง คือ เรารับรู้ว่าประโยค คำพูดนั้นมาจากคนอื่น จากตำรา จากวิถีชีวิตทุกวัน จนจำประโยค คำเหล่านั้นได้ขึ้นใจ แล้วนำมาพูดสื่อสารกัน แต่เรามิได้เข้าใจทุกคำที่มีความหมายในตัวมันเองเชิงลึกหรือที่มาใดๆ เราจึงถูกคนอื่นหลอกให้ใช้คำ ประโยคนั้น เช่น เราจำคำพูดเขา เท่ห์ดี โดนใจ หรือบางทีเราไม่รู้คำ ความหมายดี ก็สื่อตามๆกันอย่างผิดๆ วิทกินสไตน์ จึงกล่าว นี่คือ เกมของภาษาในสังคม (Language Game) ทำอย่างไรเราจะอยู่เหนือภาษา คิดลึก สรรหาคำ และสื่อด้วยเจตนา จากตนเอง แต่ถ้าเราไม่ใช้มันให้เกิดความชำนาญ ภาษาก็กดดันเรา ให้เราต้องอึดอัดหรือลำบากที่จะสื่อสารออกมาให้ตรงกับเจตนาตน

โดยเฉพาะภาษาไทย มีระบบโครงสร้างที่สละสลวย ร่ำรวยด้วยคำมากมาย มิใช่ตกอยู่ภายใต้ภาษาสมัยใหม่ จนสื่อสารไม่เป็น สังเกตเห็นวัยรุ่นสื่อความคิดมักจะใช้ภาษาฟุ่มเฟือยมาก เช่น แบบว่า จริงๆ แล้ว โอเค ฯ ทำให้ต้องเปลืองเวลาในการสื่อสาร นั่นสื่อให้เห็นว่่า เราเป็นทาสภาษาหรือไม่

กล่าวโดยสรุป จากที่ตั้งประเด็นว่า "เสรีภาพ ที่ไม่มีเสรีภาพ" ผู้เขียนต้องการสื่อสะท้อนให้รู้ว่า เรากำลังเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เพื่อที่จะกระทำตามใจ หรือทำอะไรได้โดยไม่มีใครบังคับใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น นี่คือ กระแสแนวคิดของกลุ่มหลังยุคใหม่ (Postmodern)ที่กระตุ้นให้ผู้คนยุคนี้ ทำอะไรก็ได้ที่ขัดแย้งสังคมยุคใหม่ ไร้กรอบ ไร้ระบบ เบื่อหน่ายระบบเก่า แต่ยึดเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานเรียกว่า ปัจเจกบุคคล (Individualism) ผลคือ กฎหมายบ้านเมือง ระเบียบกติกาสังคม หลักศีลธรรม ประเพณี วัฒนธรรมของตนเอง จะถูกทำลายหรือท้าทาย โดยคนรุ่นใหม่ รัฐจะเจอปัญหาความไร้ระเบียบทางสังคม

ยิ่งกว่านั้น จิตใจจะได้รับการปลดปล่อยอย่างสุดซอย กระทำอย่างเสรี เช่น ซื้อของ แต่งตัว กิน ดื่ม แสดง พูด คิด เซ็กส์ เที่ยว ลัก ปล้น จี้ ข่มขืน เสพยา ฯ เจริญขึ้นๆ เพราะอำนาจเสรีเกินขอบเขต มันจึงเหมือนเสรี ที่ไม่มีเสรี เพราะถ้าทุกคนยึดถือคตินี้ ทุกคนแสดงออกกันอย่างเสรีอย่างทั่วหน้า  โอ๊ะโอ! อะไรจะเกิดขึ้น ไม่อยากเห็นเลย ประเทศไทย

คำสำคัญ (Tags): #เสรี#ไร้เสรี#freedom
หมายเลขบันทึก: 554101เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท