ละครใน ภาค 2


ละครใน

ประวัติความเป็นมา   

ละครในพบครั้งแรกในหนังสือบุณโณวาทคำฉันท์ พรรณาว่าแสดงเรื่องอิเหนา ตอนลักบุษบาหนีเข้าถ้ำ แสดงว่าละครในแสดงแพร่หลายในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีแสดงในงานสมโภชพระพุทธบาท ดังคำประพันธ์ว่า

                             ฟายฟ้อนละครใน        บริรักษจักรี

                    โรงริมคีรีมี                        กลลับบ่  แลชาย

                    ล้วนสรรสกรรจ์                   อรอ่อนลอออาย

                    ใครยลบ่อยากวาย               จิตเพ้อละเมอฝัน  

                                                                                   

                                              วิมลศรี อุปรมัย (๒๕๒๖, ๑๔๙)

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงฟื้นฟูการละครครั้งใหญ่ ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องประวัติของการละครห้าสมัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครใน เพื่อเป็นต้นฉบับสำหรับพระนครขึ้นทั้ง ๔  เรื่องอย่างสมบูรณ์  แต่แบบฉบับการฟ้อนรำไม่ได้เคร่งครัด พึ่งจะมาพิถีพิถันในเรื่องท่ารำและแบบแผน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนเรียกว่า เป็น “ยุคทองของละครใน”

  คำว่า “ละครใน” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระราชดำรัสว่า คงจะมาจากคำว่า “นางใน” ละครข้างใน ซึ่งใช้เรียกกันในชั้นแรก แต่ต่อมาเรียกให้สั้นเข้าจนเหลือแต่“ละครใน” เมื่อละครในเกิดขึ้นและใช้ผู้หญิงในวังเป็นผู้แสดง ละครที่ผู้ชายแสดงอยู่ภายนอกพระราชวังเดิมจึงเรียกกันว่า “ละครนอก” เป็นคำคู่กัน

         แบบแผนการเล่นละครในกับละครนอกต่างกันมากกล่าวคือ ละครในมุ่งการร่ายรำที่ประณีตงดงามและเพลงที่ขับร้องไพเราะเป็นสำคัญ และมักจะมีบทพรรณาความงดงาม ความวิจิตรพิสดารของสิ่งต่างๆ ในขณะที่ละครนอกไม่สนใจในสิ่งเหล่านี้ มุ่งแต่ความรวดเร็วในการดำเนินเรื่อง และการเล่นตลกคะนองให้เป็นที่สนุกสนาน ทำความบันเทิงให้แก่ผู้ชมละครได้มากที่สุด กระบวนการฟ้อนรำและท่วงทำนองเพลงดนตรีของละครใน  จะมีลีลาที่เชื่องช้าและนุ่มนวลกว่าของละครนอกมาก ตัวละครไม่ได้ร้องบทเอง อาจเป็นเพราะเห็นว่าการรำอย่างละครในต้องใช้ความประณีตอ่อนช้อย เหน็ดเหนื่อยมากพออยู่แล้ว ถ้าผู้แสดงจะต้องร้องเพลงด้วยก็จะแสดงศิลปะในการรำได้ไม่เต็มที่

  วิธีการแสดง          

เนื่องจากผู้แสดงเป็นนางในซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีกิริยามารยาทงดงาม เพราะฉะนั้น ละครในจึงมีความมุ่งหมายอยู่ที่ศิลปะของการร่ายรำต้องให้แช่มช้อย มีสง่า ไม่นิยมแสดงตลก ขบขัน โลดโผน ทั้งยังต้องรักษาแบบแผนจารีตประเพณี เพราะเหตุนี้ ผู้ประพันธ์ละครในจึงต้องพิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำให้สละสลวย ระมัดระวังที่จะไม่ให้มีคำตลาดเข้ามาปน

 ผู้แสดงละครในนั้นต้องตีบทให้แตก   คำว่า  ตีบท  เป็นภาษานาฏศิลป์  หมายถึง  การรำบท  การรำบทก็คือการแสดงท่าทางแทนคำพูด เรียกว่า “ภาษาท่า”

          ในเรื่องแบบแผนของละครใน  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าละครในเป็นการนำเอาแบบแผนของการแสดง ๓ อย่างมาผสมกัน กล่าวคือ ได้เรื่องที่เล่นมาจากโขน ได้กระบวนการเล่นและชื่อเรียกว่า “ละคร” มาจากละครผู้ชายที่เล่นกันอยู่เดิมและนำเอาวิธีร้อง วิธีรำ มาจากระบำ ละครในจึงไม่ให้ตัวละครร้องบทเองอย่างละครนอก

  เพลงร้อง    

ในการแสดงละครในนั้นผู้แสดงไม่ต้องร้องเอง เพราะมีต้นเสียงร้องแทน คงจะเห็นว่าถ้าตัวละครร้องเองแล้วจะทำให้ลีลาฟ้อนรำไม่งดงามเท่าที่ควร   เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นบทดำเนินเรื่องหรือบทเจรจา ก็จะมีต้นเสียงและลูกคู่ร้องเป็นลำนำเพลงต่างๆ ส่วนมากให้ร้องร่ายเป็นพื้นตัวละครเป็นแต่เพียงรำไปตามบทร้องหรือตามหน้าพาทย์ที่กำหนดไว้   มีทำนองและจังหวะนิ่มนวล  สละสลวย  ไม่รุกเร็วเหมือนเพลงละครนอก   เพื่อให้ตัวละครได้แสดงศิลปะในการร่ายรำได้งดงาม   และแสดงท่าทีนวยนาด   อย่างที่เรียกว่า   “ทีท้าวทีพญา”

ดนตรี     ใช้วงปี่พาทย์

เรื่องที่แสดง    มักนิยมแสดงเพียง  ๓ เรื่อง คือ อุณรุท  รามเกียรติ์  และอิเหนา

การแต่งกาย   พิถีพิถันตามแบบแผนกษัตริย์จริงๆ เรียกว่า ยืนเครื่องทั้งตัวพระและตัวนาง

สถานที่แสดง  ในระยะแรกการแสดงละครในจะแสดงภายในพระราชฐานเท่านั้น ในสมัยต่อมาโอกาสที่แสดงละครใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า “การเล่นละครในไม่เล่นรับงานหาเหมือนละครนอก เพราะละครในมักเป็นละครผู้มีบรรดาศักดิ์ ฝึกหัดไว้สำหรับประดับเกียรติยศเป็นแต่แสดงดูกันเอง หรือแสดงในการบำเพ็ญกุศล” ระยะหลังไม่จำกัดสถานที่แสดง

  แชร์ความรู้จ้า...........Credit by ครูอัษ รักษ์นาฏศิลป์ไทย

หมายเลขบันทึก: 554056เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เกือบลืมเรื่องเหล่านี้ไปแล้ว ขอบคุณที่ทำให้ฟื้นความรู้ความจำค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท