ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับในหัตถการ EVAR และ TEVAR ที่ใช้เวลานาน


ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับในหัตถการ EVAR และ TEVAR ที่ใช้เวลานาน

Patient’s Dose in Long EVAR and TEVAR Procedures

ไพรัตน์ มุณี วท.บ.รังสีเทคนิค

วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์ วท.บ.รังสีเทคนิค

นฤมล แจ่มศรี วท.บ.รังสีเทคนิค

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ไพรัตน์ มุณี, วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์ และนฤมล แจ่มศรี. ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับในหัตถการ EVAR และ TEVAR ที่ใช้เวลานาน. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วม รักษาไทย, 2556; 7 (1): 14-19

 

การตระหนักถึงปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโรค Aortic arch aneurysm และ โรคThoracoabdominal aortic aneurysm เป็นหัตถการ ที่ใช้เวลาในการตรวจนาน (ระยะเวลาหัตถการ 2 ชม.ขึ้นไป) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย แนวปฏิบัติต่างๆ จึงถูกนำใช้ และจำเป็นต้องประเมินผล เพื่อพิจารณารูปแบบการพัฒนากระบวนการ ให้บริการทาง Endovascular Surgery อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องตกลงร่วมกัน (assumption) ในการกำหนดนิยาม (definition) เพื่อการวัดเปรียบเทียบจะต้องตรงกัน เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดที่มีภาวะเสื่อมตามเวลา การปรับปรุงกระบวนการบริการ ชนิดของหัตถการที่มีการเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทักษะของศัลยแพทย์ผู้ทำหัตถการที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะมีผลต่อปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับมีการเปลี่ยนแปลงและปริมาณรังสีที่ศัลยแพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์ด้วย อาจเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงได้ คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาโดยกำหนดนิยามดังนี้

1. หัตถการที่ใช้เวลาในการตรวจนานได้แก่ หัตถการ EVAR และ TEVAR ใช้เวลาระหว่างหัตถการเกินกว่า 2 ชม.

2. เครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือดชนิด 1 ระนาบ รุ่น Phillips Allura Xper FD20 มีอุปกรณ์กรองรังสีภายใน (inherent filtration device) ได้แก่ 0.40 mmCu + 1.00 mmAl สำหรับ selected fluoro prefilter และประมาณการปริมาณรังสีรั่วไหล (Isokerma map) จากแห่งกำเนิดไม่เกิน 0.87 mGy/hr ที่ระยะ 1 เมตรในทุกทิศทาง

คำจำกัดความ

หัตถการ EVAR (Endovascular aortic aneurysm) คือ หัตถการผ่าตัดร่วมกับการรักษาด้วยวิธี Endovascular Surgery ใช้ Endovascular stent graft มาซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหายจากโรค Aortic aneurysm หัตถการ TEVAR (Thoraco abdominal endovascular aortic aneurysm) คือ หัตถการผ่าตัดร่วมกับการรักษาด้วยวิธี Endovascular Surgery ใช้ Endovascular stent graft มาซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหายจากโรค Thoracoabdominal aortic aneurysm

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาค่าปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการรักษาโรค Aortic arch aneurysm โดยใช้วิธี EVAR และปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการรักษาโรค Thoracoabdominal aortic aneurysm โดยใช้วิธี TEVAR

2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับระหว่างหัตถการ EVAR และ TEVAR

กระบวนวิธีวิจัย

ศึกษาปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากหัตถการ EVAR และ TEVAR ที่ใช้เวลาระหว่างผ่าตัดนานเกินกว่า 2 ชม. ซึ่งทำหัตถการร่วมกับ เครื่อง Single Plane - Digital Subtraction Angiography รุ่น Philips Allura Xper FD 20 ประจำห้องผ่าตัด Hybrid OR รพ.ศิริราช โดยรวบรวมข้อมูลแบบย้อนหลัง (retrospective study) ระหว่าง กันยายน 2553- ตุลาคม 2555โดยนำเสนอเป็นจำนวน ค่าร้อยละ วิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ผู้ป่วยได้รับในแต่ละหัตถการ ได้แก่ ปริมาณรังสี ประมาณรังสีสูงสุดต่อหนึ่งหน่วยเซนติเมตร ระยะเวลาการได้รับรังสีจากระบบฟลูโอโรสโคปีระหว่างหัตถการ

ผลลัพธ์

ตารางที่ 1 การศึกษานี้พบว่าหัตถการ EVAR ใช้เวลา fluoroscopic time : FT นานที่สุด 188.54 นาที FT ต่ำสุด 18.00 นาที และ FT เฉลี่ย 55.24 นาที สำหรับหัตถการ TEVAR ใช้เวลา fluoroscopic time : FT นานที่สุด 71.28 นาที FT ต่ำสุด 6.39 นาที และ FT เฉลี่ย 22.29 นาที หัตถการที่ผู้ป่วยได้รับรังสีเฉลี่ยสูงสุดได้แก่หัตถการ EVAR โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีเฉลี่ย 2707.79 mGy และ EVAR เป็น new procedure ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีสูง (max dose =13426.11mGy) จากกราฟที่ 1 พบว่าปริมาณรังสีเฉลี่ย ที่ผู้ป่วยได้รับในหัตถการ EVAR สูงกว่า ในหัตถการ TEVAR ถึง 2 เท่า ขณะที่ปริมาณรังสีสูงสุดนั้น EVAR ก็มากกว่า TEVAR ถึง 3 เท่า และจากกราฟที่ 2 FT เฉลี่ยที่ใช้ในหัตถการ EVAR มากกว่าในหัตถการTEVAR ประมาณ2เท่า และFT ที่ใช้สูงสุดในหัตถการ EVAR ก็มากกว่าในหัตถการTEVAR เช่นเดียวกัน

      

 

สรุป

การวิจัยปริมาณรังสีในหัตถการ EVAR/ TEVAR โดยวิเคราะห์ mean dose, DAP dose และ FT แสดงให้เห็นว่า หัตถการ EVAR ปริมาณรังสี ที่ผู้ป่วยได้รับต่ำที่สุดและสูงที่สุด คือ 526.16 mGy และ 13426.11 mGy ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2707.79 mGy ส่วนในหัตถการ TEVAR ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับต่ำที่สุดและสูงที่สุด คือ 407.25 mGy และ 4832.37 mGy ตามลำดับ และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1423.61 mGy ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าปริมาณรังสีเฉลี่ยสำหรับหัตถการ EVAR สูงกว่า หัตถการTEVAR

บทวิจารณ์ 

การรักษาทั้งหัตถการ EVAR และ TEVAR มีค่าปริมาณรังสีสูงทั้งสองหัตถการ แม้ว่า ปริมาณรังสีเฉลี่ยที่ผู้ป่วยได้รับในหัตถการ TEVAR จะน้อยกว่าในหัตถการ EVAR (Dose เฉลี่ย 1.4 / 2.7 Gy )แต่ ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับนั้นยังมีปริมาณที่สูงมาก มีค่าปริมาณรังสีสูงมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะผิวหนังลอกไหม้ถือเป็นผลกระทบจากรังสีประเภท determinisitic effect (ค่าปริมาณรังสีช่วง 2 – 5 Gy ) จึงมีความสำคัญ ควรแก่การหาแนวทางในการป้องกันและควบคุมปริมาณรังสีให้แก่ผู้ป่วยเพื่อลดปริมาณรังสีให้แก่ผู้ป่วย แนวทางในการลดปริมาณรังสี คือ

1. ให้เอกซเรย์เฉพาะเวลาที่ต้องการและการ fluoroscopy ให้น้อยที่สุด

2. ปริมาณรังสีจะขึ้นอยู่กับค่าพารามิเตอร์ที่แต่ละบริษัทตั้งไว้ และปริมาณรังสีรวมจะสูงในผู้ป่วยที่มีรูปร่างใหญ่

3. จัดให้หลอดเอกซเรย์ห่างจากผู้ป่วยมากทีสุด และตัวรับภาพอยู่ใกล้ผู้ป่วยมากที่สุด

4. ปรับ collimator ให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ที่สนใจเท่านั้น

5. ในหัตถการที่ใช้เวลานาน ควรลดปริมาณรังสีที่ผิวหนังของผู้ป่วยโดยเฉพาะ อาจทำโดยการปรับมุมของเอกซเรย์ให้เป็นมุมต่างๆ

6. ลด fluoro time, เวลาที่ให้ปริมาณรังสีสูงสุด และจำนวนการถ่ายภาพให้น้อยที่สุด โดยมีการวางแผนงานขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายก่อนทำหัตถการรวมถึงการวางแผนวิธีและเลือกอุปกรณ์ที่ใช้

7. อย่าใช้การขยายภาพแบบ geometric magnification

8. เอา grid ออกในผู้ป่วยที่มีรูปร่างเล็กเมื่อตัวรับภาพไม่สามารถเข้าชิดผู้ป่วยได้

9. การบันทึกปริมาณรังสีเพื่อใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ แนวโน้ม

 

บรรณานุกรม

  1. พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, คง บุญคุ้ม, ศาสตราวุธ ธรรมกิติพันธ์, เอนก สุวรรณบัณฑิตและ วิธวัช หมอหวัง.ปริมาณรังสีที่ได้รับจากกรตรวจรักษาทางรังสีร่วมรักษา.วารสารชมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย.2550, 2(1) :57-59
  2. กำพล เลาหเพ็ญแสง.การผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้องโดยวิธีใหม่. www.doctor.or.th/clinic/detail/7229
  3. Alternative choices of cardiac surgery. www.gotoknow.org/posts/79202
  4. นิตยา ทองประพาฬ, พรรณี สมจิตประเสริฐ และวิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์.ภาวะผิวหนังลอกไหม้จากการได้รับรังสีเกินกำหนด.วารสารชมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย.2553, 4(1) :18-20
  5. ตองอ่อน น้อยวัฒน์และปฎิยุทธ ศรีวิลาศ.การประมาณปริมาณรังสีและความเสี่ยงจากการได้รับรังสีตามมาตรฐานการป้องกันอันตรายการังสีระหว่างประเทศ ICRP estimation of dose and risk. วารสารชมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย.2552, 3(2) :143-146
  6. Phillips Healthcare. Allura Xper FD Series Basic Document vertion 3.0. Instruction:140-143
  7. บทความสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย www.nst.or.th/article/ article493/article493020.html
คำสำคัญ (Tags): #tevar#evar
หมายเลขบันทึก: 553989เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท