วิจารณ์ภาพยนตร์ Ibu ภาพยนตร์มลายู


                                                ภาพยนตร์ Ibu                                                

                                                                                                     เหมือนขวัญ เรณุมาศ

 

          อีบู {IBU} เป็นภาพยนตร์ขาวดำของมาเลเซียที่แสดงโดยพระเอกชื่อดังนามว่า พี. แรมลี หนังเรื่องอีบู ที่กำลังกล่าวถึงนี้เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของแม่ตาบอดที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซูไง เมซี ณ กรุงกัวลา ลุมปรุ์ กับลูกชายของเธอ ไลเม

          ไลเม ผู้เป็นลูกชายนั้นมีความสนใจดนตรีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “ทรัมเป็ต” อยู่มาวันหนึ่ง เขาเก็บกระเป๋าสตางค์ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียง นามว่า ซุลกิฟิลได้ใกล้ๆกับร้านขายเครื่องดนตรี แต่ไลเมผู้มีเจตนาดีได้คืนกระเป๋าให้กับลุงซุล ซึ่งทำให้ลุงซุลถึงกับซาบซึ้งถึงการมีน้ำใจของไลเม และหลังจากการสนทนาระหว่างกันแล้ว ซุลก็ได้ทราบถึงความใฝ่ฝันของไลเม ที่ต้องการเป็นนักดนตรีและต้องการเป่าทรัมเป็ต เขาจึงต้องการช่วยเหลือไลเมด้วยการมอบเครื่องดนตรีให้พร้อมกับสอนไลเม  จนไลเมสามารถเป่าทรัมเป็ตได้ยอดเยี่ยม ความสามารถในการเป่าทรัมเป็ตของไลเมทำให้ลุงซุลได้ส่งตัวไลเม ไปเป็นนักดนตรีที่สิงคโปร์ และดินแดนที่เรียกว่าสิงคโปร์นี่เองเป็นจุดผลิกผันชะตากรรมของไลเม ทำให้ไลเมได้กลายเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไลเมประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น และ ณ ขณะเดียวกันนี้เอง การเป็นนักดนตรีในสิงคโปร์ก็ทำให้เขาได้รู้จักกับเพื่อนบ้านที่มีนามว่า ฮามิดะห์ กับ รัทนา นางรัทนาทำทีเข้าหาไลเมเพื่อหวังครอบครองความมั่งคั่งที่ไลเมมีอยู่ การสานสัมพันธ์ของไลเมกับรัทนา นำมาซึ่งความแตกแยกมากมาย ระหว่างไลเมกับผู้มีพระคุณ

          จากเรื่องย่อดังกล่าวข้างต้นและจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้พบกับความเศร้าในโชคชะตาของมนุษย์ยิ่งนัก และที่บอกว่า “ยิ่งนัก” ในทัศนะของผู้เขียนอาจเป็นเพราะว่า ภาพยนตร์เรื่องอีบูสามารถให้อารมณ์ได้สมจริงมาก ประกอบกับการเป็นภาพยนตร์ขาวดำ ทำให้ดูแล้วชวนนึกถึงบรรยากาศและรายละเอียดในยุคเริ่มต้นของมาเลเซียที่ยังไม่แยกจากกันกับสิงคโปร์จริงๆ  เนื้อเรื่องถ่ายทำในสิงคโปร์และกัวลา ลุมปรุ์ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเก็บรายละเอียดภาพ ของฉากหลังทั้งสองนี้ได้มากเท่าไหร่ เนื่องจากผู้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอีบู ได้เลือกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการถ่ายที่เน้นการตัดภาพเยอะมาก ซึ่งในแง่นี้อาจจะมองได้สองอย่าง 1.ผู้กำกับหนังตั้งใจตัดภาพอย่างถี่ เพื่อสร้างความรวดเร็วของภาพโดยการตัดภาพเร็วๆ หลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน และ 2.การตัดเปลี่ยนภาพอย่างรวดเร็ว อาจเพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปของตัวละครแต่ละคนที่มีความเกี่ยวข้องกัน

          ตัวอย่างเช่น กล้องกำลังจับภาพของ ไลเม กำลังร้องเพลง "Lagu Ibu"  อยู่ ณ เวที สักครู่กล้องก็ตัดภาพไปยัง รัทนา ที่กำลังทำหน้าไม่พอใจอยู่ที่โต๊ะ และต่อมาภาพก็ตัดไปที่ภาพแม่กับฮามิดะห์ กำลังเดินเข้ามาในร้าน และวกกลับไปที่ภาพไลเม ตามเดิม นี่เป็นการตัดเพื่อให้เห็นภาพรวมของอากัปกิริยาทั้งหมดของตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องกันในเหตุการณ์นั้นๆ และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การตัดภาพเพื่อสร้างความรวดเร็ว ในหนังเรื่องนี้ พบบ่อยมาก เช่น การตัดภาพของ รถลุงซุลที่เพิ่งขับออกจากร้านเครื่องดนตรี เพียงแค่ไม่กี่วินาที ภาพก็ตัดไปยังหน้าบ้านของลุงซุล เพื่อบอกให้รู้ว่า ลุงซุลท่านถึงบ้านแล้ว ซึ่งรวดเร็วมาก และอีกหนึ่งกรณีคือ การตัดภาพระหว่างที่เด็กชายไลเมกำลังซ้อมเป่าทรัมเป็ต ที่บ้านของซุล สักพักภาพเปลี่ยนไปสองถึงสามครั้งอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นเด็กชายไลเมที่ยืนเป่าทรัมเป็ตอยู่ ก็กลายเป็น นายไลเม วัยหนุ่ม เติบโตขึ้นอย่างเร็วมาก จนบางครั้งก็ขาดถึงความสมจริง แต่นี้ก็เป็นบรรยากาศของการถ่ายทำในช่วงอดีต ที่ซึ่งนับว่าออกมาได้ดีเยี่ยมแล้ว

          กระนั้นก็ดี ช่วงแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถรับรู้ได้ถึงอารมณ์ทึ่ง เศร้า สนุกและสงสารคละปนกันได้อย่างได้สาระมาก และดีใจที่มีโอกาสได้เห็นความสามารถด้านการแสดงของพระเอก อย่าง  พี. แลมรี ซึ่งในเรื่องแสดงเป็นนักดนตรีทรัมเป็ตที่มีชื่อเสียง นับว่าเขามีความพยายามมากจริงๆ ในการฝึกหัด เพราะเครื่องดนตรีที่เขาเล่น คือเครื่องดนตรีที่กำเนิดมาจากฝั่งตะวันตก คงมีแค่น้อยคนมากที่เป็นชาวพื้นเมืองและสามารถเล่นทรัมเป็ตได้ดีเยี่ยมในช่วงเวลานั้น ดังจะสังเกตได้ว่า ในเรื่องผู้ที่มีความสามารถด้านดนตรีเป็นเจ้าของวง ที่สิงคโปร์ ก็คือ ชาวต่างชาติ และนี่ถือเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ ประกอบกับเพลงประกอบที่ใช้ในเรื่อง ที่พี. แลมรี หรือไลเม ขับร้อง ช่างสอดคล้องกับเนื้อหาหลักและสถานการณ์ของเรื่องได้ดีมาก นั่นคือเพลง Ibu ซึ่งสังเกตดีๆ จะพบว่า บ่อยครั้งฉากที่มีการขับร้องเพลงนี้ และการเล่นดนตรี ภาพเลือกที่จะตัดน้อยมาก โดยเลือกถ่ายแบบ   long take ไปเรื่อยๆ นานๆ จนกว่าจะจบเพลง ช่างไพเราะและเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้จริงๆ

          ส่วนสาระการเมืองที่สอดแทรกในภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นทีคงจะหนีไม่พ้นกับการชูให้เห็นประเด็นระยะเปลี่ยนผ่านของสังคมทุนนิยม ปัจเจกบุคคล และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงของผู้คนตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อันเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มาเลเซียกำลังเพิ่งก่อร่างสร้างตัว เหล่าปัญญาชนในมาเลเซียชั่วขณะนั้นจึงตระหนักถึงความเป็นปัจเจกชนจำนวนมาก พระเอกของเรื่อง นายไลเม เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของความต้องการปัจเจกชน เมื่อเขามีโอกาสได้เดินทางไปยังสิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้น สิงคโปร์กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชีวิตแบบเก่าที่เงียบสงบ มั่นคง และเรียบง่ายไม่มีอีกแล้วในสิงคโปร์ สิ่งที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องอับู คือ สิงคโปร์ที่เต็มไปด้วย คาเฟ่ ผับ บาร์ที่ผุดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน  ส่วนผู้คนในยุคนั้น ใครก็ตามที่ไม่ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงหรือยังจมยังฝังใจในอดีตที่งดงาม มองไม่เห็นหรือไม่ยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว {เช่น ผู้เป็นแม่ที่ตาบอด} ก็อาจจะต้องรู้สึกรันทดกับการจากไปกับคืนวันเก่า แต่สำหรับอีกหลายคน ที่สามารถปรับตัวได้เขาก็รีบไขว่คว้าโอกาสนี้ไว้ ซึ่งเขาเองก็มองว่ามันเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ อย่างเช่นพระเอกของเรื่อง นายไลเม

 

 

               

หมายเลขบันทึก: 553937เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท