ชีวิตที่พอเพียง : 139. เรียนรู้วิธีวิทยาของการวิจัยมหภาพ


ผมอยากให้เมืองไทยมีการวิจัยเชิงมหภาพแบบนี้บ้าง

ชีวิตที่พอเพียง  : 139. เรียนรู้วิธีวิทยาของการวิจัยมหภาพ

       วันเสาร์ที่ ๒๑ ตค. ๔๙ เป็นวันแรกของวันหยุดยาว ๓ วัน     ผมได้มีโอกาสเอาหนังสือ COLLAPSE. How Societies Choose to Fail or Succeed. แต่งโดย Jared Diamond นักเขียนหนังสือยอดนิยมของผม    ที่ผมซื้อจาก โบลเดอร์ มาอ่าน     ผมติดใจ Jared Diamond จากหนังสือ Guns, Germs, and Steel ที่ผมอ่านเมื่อหลายปีมาแล้ว     และเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นหนังสือขายดีอยู่

        ได้มีเวลาอ่านหนังสืออยู่กับบ้านเงียบๆ     ในท่ามกลางแมกไม้  อากาศสดชื่นด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกพญาสัตบรรณ     ในท่ามกลางอากาศต้นฤดูหนาว     มีเสียงร้องโต้ตอบกันของจิ้งหรีดในสวน  และเสียงนกเขาขันมาแต่ไกล     ผมมีความสุขอย่างที่สุด     เป็นความสุขอย่างพอเพียง

        บทแรก ซึ่งเป็นบทนำของหนังสือนี้ ปลุกวิญญาณนักจัดการงานวิจัยของผมให้ลุกโพลง     ผู้เขียนได้อธิบายวิธีวิทยาของการวิจัยที่เรียกว่า Comparative Method สำหรับศึกษาภาพใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก     ที่ผมเรียกว่าการวิจัยมหภาพ     ที่ไม่สามารถศึกษาโดยวิธีทดลองได้     ต้องอาศัยการทดลองที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ     แล้วนักวิจัยไปศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสภาพที่คล้ายคลึงกัน  แต่ผลลัพธ์แตกต่างกัน     ดูว่าปัจจัยอะไรทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน     อย่างกรณีของหนังสือนี้ คือการดำรงอยู่ หรือแตกดับ ของชุมชน หรือแหล่งอารยธรรม

        Jared Diamond มีประวัติที่น่าสนใจมากสำหรับผม     คือท่านเรียนปริญญาตรีชีววิทยา  และปริญญาเอกสรีรวิทยา (Physiology)    แต่เวลานี้เป็นศาสตราจารย์ด้าน ภูมิศาสตร์ (Geography) ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอส แอนเจลีส (UCLA)     ก่อนหน้านี้เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด   

       ผมมองว่าคนที่ทำงานวิชาการจนในที่สุดข้ามศาสตร์เป็นคนที่จะต้องมีดีอย่างยอด     และอยากเห็นวงการวิชาการไทยมีการเคลื่อนไหวของการทำงานวิชาการแบบนี้      คือใช้ศาสตร์หนึ่งไปสร้างพัฒนาการของอีกศาสตร์หนึ่ง     ผมเดาว่า Jared Diamond ก้าวเข้าสู่วิชาภูมิศาสตร์ผ่าน evolutionary biology และ bio-geography     

       หนังสือเล่มนี้เป็นการสังเคราะห์ภาพใหญ่  จากผลงานวิจัยเจาะลึกในพื้นที่และชุมชนที่หลากหลายทั่วโลก     แล้ว Jared Diamond นำมาสังเคราะห์อธิบายเหตุผล ว่าปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อความดำรงอยู่และล่มสลายของชุมชน หรืออารยธรรม     หนังสือเล่มนี้เป็นภาคตรงกันข้ามของหนังสือเล่มที่โด่งดังของท่าน คือ Guns, Germs, and Steel ที่เป็นการสังเคราะห์ภาพพัฒนาการของอารยธรรม     แต่ Collapse ก็เป็นไปตามชื่อ คือเป็นการสังเคราะห์ภาพปัจจัยของการล่มสลายของอารยธรรม  

       หนังสือเล่มนี้เป็นผลของการวิจัย  โดยวิธีเปรียบเทียบ หรือ Comparative Method     ผมอยากให้เมืองไทยมีการวิจัยเชิงมหภาพแบบนี้บ้าง

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55361เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2006 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท