การนำเสนอภาพชาวเขาผ่านสื่อ


การนำเสนอข่าวอยู่เพียงประเด็นที่มีความรุนแรง ไม่อาจเป็นการช่วยเหลือชาวเขาอื่นๆ ที่เดือดร้อน และไม่เป็นการสร้างสันติภาพแก่สังคมได้

การนำเสนอภาพชาวเขาผ่านสื่อไทย

เหมือนขวัญ เรณุมาศ

14/11/2013   

 

          

           

 

         ข้อสังเกตจากการพาดหัวข่าวที่เกี่ยวข้องกับ "ชาวเขา" ตามที่ได้ยกมาให้เห็นกันนี้ จะเห็นว่า ไม่ว่าคนที่เป็นชาวเขาจะทำผิด ทำถูก ทำอะไรก็ตาม     สื่อก็มักจะสื่อสารออกมาในลักษณะที่เหมารวมทั้งหมด โดยไม่ได้ชี้ชัดเป็นรายเฉพาะบุคคล

        และในทางตรงกันข้าม     สื่อมักจะใช้คำแบบเหมารวมไปทั้งหมดเพียงเพราะบุคคลนั้นๆ เป็นชาวเขาเท่านั้นเอง  ประเด็นนี้จึงนำมาซึ่งการตั้งข้อสังเกตของผู้เขียนเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่ผ่านมา ที่สังคมไทยโดยส่วนใหญ่มักมีอคติกับกลุ่มชาวเขา   และมองชาวเขาอย่างไม่ใช่คนในประเทศ มองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนชายขอบที่กระทำแต่สิ่งไม่ดี ผิดกฏหมายนั้นเกิดขึ้นมาจากการได้รับสารจากสื่อในลักษณะการให้ข่าว การพาดหัวข่าวแบบเหมารวมและข่าวในด้านร้ายๆ มาโดยตลอด จนนำมาซึ่งความคิดหรือวาทกรรมชุดหนึ่งว่า "ชาวเขา" ไม่ใช่ "ชาวเรา" และ "ชาวเขาค้ายา" "ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า"?

          ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการศึกษาและเฝ้าสังเกตการให้ข่าวของชาวเขาของสื่อไทยที่ผ่านๆ มา ผู้เขียนก็ได้ข้อสรุปบางประการว่า สื่อมวลชนของไทยได้แสดงบทบาทน้อยมากในการพยายามกำหนดวาระของสารเพื่อลดความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมลง วาระของสารที่กำหนด จะเน้นประเด็นที่มีสีสีนของการต่อสู้ มีความขัดแย้ง ให้ออกมาในแนวลบ เสนอเหตุการณ์เฉพาะอย่างที่ขาดการเชื่อมโยง มากกว่าจะสนใจถึงพื้นฐานหรือความต้องการของปัญหา ดังจะเห็นได้ว่าสื่อเน้นนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเสพและค้ายาเสพติด และประเด็นเกี่ยวกับอาชญากรรมมากที่สุด  โดยพยายามเน้นให้เห็นว่า ชาวเขามีส่วนพัวพันอยู่กับยาเสพติดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง    เน้นเหตุการณ์เฉพาะโดยขาดการเชื่อมโยงให้เห็นพื้นฐานหรือความเป็นมา นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าชาวเขาค่อนข้างไร้เหตุผล   และมักใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ยังมีแง่มุมหรือเหตุการณ์อื่นๆ    อีกตั้งมากมายเกี่ยวกับชาวเขาที่สื่อละเลยต่อการกำหนดวาระ เช่น  ประเด็นเกี่ยวกับการได้รับสัญชาติไทย   ประเด็นเรื่องความยากจน     ประเด็นเกี่ยวกับสถานภาพ ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและสาธารณสุข ประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา ประเด็นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ประเด็นเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ประเด็นเกี่ยวกับโสเภณีและการระบาดของเอดส์ในชุมชนชาวเขา ประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิผลของโครงการพัฒนาชาวเขา ตลอดจนประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชาวเขากับทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

                นอกจากนี้ การใช้คำของสื่อเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดความหมายของชาวเขา เช่น “จับม้งค้ายาบ้า”  “จับชาวเขาค้ายาบ้า” เป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำหรือกำหนดความหมายว่าชาวเขามีส่วนเกี่ยวพันกับยาเสพติดอยู่เสมอ การกำหนดความหมายเช่นนี้ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกกล่าวถึง เพราะผู้ค้ายาเสพติดย่อมเป็นปัญหาของบุคคลผู้นั้น ซึ่งอาจถูกผลักดันมาจากโครงสร้างบางอย่างของสังคมก็ตาม ไม่ใช่ค้ายาเสพติดเพราะเหตุผลทางชาติพันธุ์ กล่าวคือ คำว่า “ม้งค้ายาบ้า” ไม่ได้สื่อความหมายเพียงว่า คนๆ นี้ค้ายาบ้า แต่ยังหมายความรวมถึงชาติพันธุ์ของชาวเผ่าม้งทั้งหมดว่าเป็นพวกค้ายาบ้า ซึ่งเป็นการนำเสนอเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของชาวเขาในแง่กลุ่มที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้น

                การนำเสนอข่าวอยู่เพียงประเด็นที่มีความรุนแรง ไม่อาจเป็นการช่วยเหลือชาวเขาอื่นๆ ที่เดือดร้อน และไม่เป็นการสร้างสันติภาพแก่สังคมได้เลย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่คุณภาพข่าว พบว่า ข่าวสารที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อยังมีคุณภาพค่อนข้างน้อย เช่น ในเรื่องของเนื้อหาที่นำเสนอไม่มีความเป็นธรรม ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของส่วนราชการเป็นสำคัญ และนำเสนอทางออกของปัญหาน้อยมาก และทางออกส่วนใหญ่ที่ถูกนำเสนอก็เป็นมุมมองของทางราชการเป็นสำคัญ

                แม้สถาบันทางสื่อสารมวลชน เป็นสถาบันหนึ่งในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม   ซึ่งดำเนินงานเพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไร แต่สินค้าที่สื่อขายนั้นมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่มาก นอกไปจากนั้น เนื้อหาของข่าวหรือสารที่ถูกกำหนดวาระกลับเป็นสารของคนเพียงบางกลุ่มที่มีโอกาสในการเข้าถึงสื่อที่มากกว่า ในขณะที่คนอื่นๆ ที่ไม่มีอำนาจในการเข้าถึงสื่อ กลับมีพื้นที่ในการกำหนดวาระของสารน้อยมาก ทั้งนี้พิจารณาได้จากแหล่งข่าวที่สื่อเข้าไปสัมภาษณ์ จะเห็นว่ามุ่งเน้นสัมภาษณ์คนจากหน่วยงานราชการเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันที่แทบจะไม่มีเสียงของชาวเขาปรากฏอยู่ในพื้นที่ของสื่อเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า วาระของสารที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น จึงอาจถูกกำหนดโดยอำนาจของโครงสร้างบางอย่างที่ลึกลงไปกว่าการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะปกติ

                สื่อที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษานั้น เป็นสื่อประเภทหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนับเนื่องว่าเป็นสื่อตัวแทนของชนชั้นกลางก็ว่าได้ ดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงไม่ใช่ตัวแทนของคนทุกกลุ่ม ไม่สามารถทำตัวเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                ดังนั้นฐานคิดที่ผู้สื่อข่าวหรือบรรณาธิการใช้ในการประมาณความจริงของสิ่งที่รับรู้ จึงเป็นฐานคิดแบบชนชั้นกลาง และจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่ถูกเลือกหรือถูกกำหนดความหมายจึงเป็นประเด็นที่ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบคนส่วนเดียวที่มีอำนาจและมีโอกาสเข้าถึงสื่อได้มากกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สารหรือเนื้อหาของข่าวที่ถูกสื่อกำหนดขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วก็เป็นการ “ผลิตซ้ำ” ความสัมพันธ์เชิงอำนาจตามอุดมการณ์ของรัฐไทยซึ่งขยายวงสู้ชนชั้นกลางที่ตีความให้ “ชาวเขา” ตกอยู่ในสถานะของความเป็น “คนชายขอบ” นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 553437เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2013 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2013 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...เมตตาธรรมค้ำจุนโลกนะคะ...ขอเป็นกำลังใจให้เกิดความรัก ความเมตตา เห็นความเป็นมนุษย์ของทุกคนเท่าเทียมกันนะคะ...

ขอบคุณมากครับ ดร. พจนา และขอให้สันติสุขจงบังเกิดขึ้นแก่ท่านนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท