บทสาขาที่ 2 เรื่องที่ 2.3 รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณา (3)


 ครูแก้ว   อัจฉริยะกุล

แก้ว อัจฉริยะกุล เกิดเมื่อ พ.ศ. 2458 เป็นบุตรชายคนโตของนายใหญ่ อัจฉริยะกุล (นาย ซี ปาปา ยาโนปูโลส) เป็นชาวกรีก กับนางล้วน อัจฉริยะกุล (นามสกุลเดิม เหรียญสุวรรณ) มีพี่น้อง 4 คน จบการศึกษาโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2497 ครูแก้วสมรสกับ ประภาศรี อัจฉริยะกุล

 

ครูแก้ว  อัจฉริยะกุล มีผลงานประพันธ์เนื้อร้องร่วมกับครูเวส สุนทรจามร สำหรับละครวิทยุคณะจามร ของครูเวส และคณะจิตต์ร่วมใจ ของจิตตะเสน ไชยาคำ และคณะปัญญาพล ของเพ็ญ ปัญญาพลจากนั้นครูเวส สุนทรจามรได้ชักนำให้ครูแก้วมาร่วมประพันธ์เนื้อร้อง ประกอบทำนองให้กับวงดนตรีของกรมโฆษณาการ และมีผลงานร่วมกับวงสุนทราภรตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลาเกือบ 15 ปี จากนั้นออกจากวงเมื่อ พ.ศ. 2497 ได้ไปตั้งคณะละครวิทยุแก้วฟ้าขึ้น

 

ครูแก้ว   อัจฉริยะกุล เป็นศิษย์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ก่อนหน้านั้นละครเวทีที่แสดงอยู่ทั่วไป จะเป็นละครนอก หรือละครใน ซึ่งใช้ผู้แสดงชายหรือหญิงเพียงเพศเดียว ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ครูแก้วเป็นผู้ริเริ่มให้มีละครเวทีที่ใช้ผู้แสดงชายจริง-หญิงแท้ เรื่องแรกคือเรื่อง "นางบุญใจบาป" โดยนำเค้าโครงเรื่อง จาก "บู๊สง" แสดงโดย ม.ล. รุจิรา, มารศรี, ล้อต๊อก และจอก ดอกจันทร์ แสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ผลงานละครเวทีที่ครูแก้วสร้างไว้มีประมาณ 50 เรื่อง นอกจากนี้ยังเขียนบทแปลบรรยายไทยจากภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยใช้นามปากกาว่า "แก้วฟ้า" และแต่งบทละครโทรทัศน์ประมาณ 100 เรื่อง

 

หลังจากลาออกจากราชการ ครูแก้วทำงานเป็นผู้จัดการแผนกโฆษณาที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย และเฉลิมเขต เขียนบทละครวิทยุ และเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง

 

ครูแก้วสูบบุหรี่และซิการ์จัด ป่วยด้วยโรคหัวใจ, เบาหวาน, โรคตับ,โรคปอด, โรคความดันโลหิตสูง ท่านเสียชีวิตด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2524 รวมอายุได้ 66 ปี(อ้างถึง http://th.wikipedia.org/)

 

วินัย จุลละบุษปะ

วินัย จุลละบุษปะ เดิมชื่อ วัฒนา จุลละบุษปะ เกิดที่บ้านข้างวัด มหรรณพาราม กรุงเทพ เป็นบุตรคนโต ใน 5 คนของ ขุนประมาณธนกิจ (ถม จุลละบุษปะ) และนางน้อม บิดารับราชการเป็นคลังจังหวัด และต้องโยกย้ายตามบิดาตั้งแต่เด็ก จนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบพิธ ญาติผู้ใหญ่เห็นว่ารักการร้องเพลง จึงฝากงานให้ที่กรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) และได้ใช้เวลาว่าฝึกฝนร้องเพลงกับครูเวส สุนทรจามร พร้อมกับนักร้องอีกคน คือ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จนได้บรรจุเป็นนักร้องกรมโฆษณาการเมื่อ พ.ศ. 2488

 

วินัย จุลละบุษปะ รับราชการอยู่ที่กรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์นานถึง 38 ปี โดยไม่เคยไปทำงานที่อื่นเลย รับตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ สืบแทนครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 และเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2526

 

วินัย จุลละบุษปะ ขับร้องเพลงต่อหน้าสาธารณชนเพลงแรก คือเพลง "ทาสน้ำเงิน" ที่โรงภาพยนต์ โอเดี้ยนโดยการสนับสนุนของครูเวส    สุนทรจามร มีผลงานขับร้องทั้งสิ้น 219 เพลง เพลงที่มีชื่อเสียง คือเพลง "เย็นลมว่าว" แต่งโดยครูเวส สุนทรจามร และครูเอิบ ประไพเพลงผสม

 

ในปี พ.ศ. 2495 วินัย จุลละบุษปะ ได้พบกับ ศรีสุดา รัชตวรรณ ซึ่งเข้ามาเป็นนักร้องใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์ และใช้ชีวิตคู่กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 โดยไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2533 เมื่อวินัย จุลละบุษปะ เกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2526 ทั้งคู่จึงได้ร่วมกัน

 

ตั้งวงดนตรีชื่อว่า "วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์" โดยมีครูเสถียร ปานคง อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ที่ได้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงสวนครัว ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เป็นผู้ควบคุมวง

 

วินัย จุลละบุษปะ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2542 อายุ 77 ปี พิธีพระราชทานเพลิงศพ จัดขึ้น ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2542

 

 ครูสมาน นภายน

สมาน  (ใหญ่) นภายน  เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2468 ที่ตำบลตรอกหลังวัดแก้วฟ้าล่าง สี่พระยา  อำเภอบางรัก  จังหวัดพระนคร บิดาชื่อนายโพธิ์  มารดาชื่อ นางเฉลิม นภายน เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง นักเขียน อดีตหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2548 เป็นที่รู้จักในชื่อ "ใหญ่ นภายน" จากผลงานเขียนในต่วยตูน

 

สมาน นภายน เป็นบุตรคนโตในจำนวน 5 คน ของนายโพธิ์ และนางเฉลิม นภายน เกิดที่ตำบลหลังวัดแก้วแจ่มฟ้าล่าง ถนนสี่พระยา เขตบางรัก จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนพร้อมการศึกษา แล้วศึกษาดนตรีต่อที่โรงเรียนอิสระนุกูล เป็นลูกศิษย์ของ พระเจนดุริยางค์ เริ่มรับราชการที่กองดุริยางค์มณฑลทหารบกที่ 1 (ดุริยะโยธิน) เมื่อ พ.ศ. 2493 และศึกษาเพิ่มเติมด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน และรับราชการกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อปีพ.ศ.2509  ด้วยการชักชวนของครูเอื้อสุนทรสนาน  ซึ่งแต่ก่อนรับราชการอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารบก     จนได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานบันเทิง  กรมประชาสัมพันธ์  ต่อจากครูวินัย  จุลละบุษปะ

 

ซึ่งทางด้านการแต่งเพลงนั้นได้รับความรู้จาก  ครูเหม  เวชกร  ครูจำปา  เล้มสำราญ  ครูเวส  สุนทรจามร  ครูแก้ว  อัจฉริยกุล และครูเอื้อ  สุนทรสนาน

 

สมาน นภายน มีผลงานแต่งเพลงมาร์ช เพลงประกอบละคร เพลงประกอบภาพยนตร์ เป็นจำนวนมาก เป็นผู้อำนวยเพลง วงออร์เคสตรา และมีผลงานเขียนบทความสารคดี หัสนิยาย บทละคร

 

สมาน นภายน ได้รับรางวัลนราธิป เมื่อ พ.ศ. 2548 และรางวัลเกียรติยศ "ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม" พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อ พ.ศ. 2539

 

สมาน  นภายน  เกษียรณอายุราชการ  เมื่อวันที่  30 สิงหาคม  พ.ศ.2529 นับว่าตลอดชีวิตของท่านอยู่ในวงการดนตรี  ได้สร้างสรรค์ความบันเทิง และผลงานต่างๆ ซึ่งเป็นมรดกของไทยไว้อย่างมากมาย (หนังสือพิธีไหว้ครูดนตรี วงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์, 2534)

ครูธนิต   ผลประเสริฐ

ครูธนิต  ผลประเสริฐ    หรือชื่อเดิม  บุญเรือง   ผลประเสริฐ  เกิดวันที่  20  ตุลาคม พ.ศ.2466  ถนนดินสอ เขตพระนคร  กรุงเทพฯ  ลูกศิษย์ ครูเฉลิม  บัวทั่ง  ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการดนตรีไทยให้เป็นคนแรก  จากนั้นก็มาฝากตัวเป็นกับครูเวส  สุนทรจามร   เรียนวิชาดนตรีสากล โดยเรียนทางเครื่องเป่า  คือ Alto Sax      ต่อมาครูเวส  ได้นำครูธนิต  มาฝากตัวกับครูเอื้อ  สุนทรสนาน  ให้เข้าทำงานในกรมโฆษณาการ  เมื่อวันที่  20 สิงหาคม พ.ศ.2483   โดยเป็นลูกจ้างรายวันได้วันละ  50  สตางค์  วันไหนวันหยุดก็ตัดคงเหลือเงินเดือนประมาณ  11  บาท ต่อเดือน  อยุ่มานานจนสอบเป็นข้าราชการได้

 

พ.ศ.2497  ครูธนิต  ผลประเสริฐ  ได้รับอนุมัติให้เป็นอาสาสมัครในสงครามเกาหลี  รุ่นเดียวกับ เลิศ ประสมทรัพย์  สมาน   นภายน  และนักดนตรีอีกหลายท่าน

 

พ.ศ.2523 เป็นปีที่  ครูธนิต ผลประเสริฐ  ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปอีกแบบหนึ่ง  คือท่านได้ลาออกจากราชการจากกรมประชาสัมพันธ์  ทั้งๆ ครูธนิต ผลประเสริฐ  ยังรักในหน้าที่การงานและอาลัยต่อเพื่อนร่วมงาน ประมาณ 30 ปี  ผลงานที่สร้างสรรค์กับวงการเพลงและ  วงกรมประชาสัมพันธ์ นั้นมีมากมายนับพันเพลงทีเดียว  จากการประพันธ์ทำนองเพลงนอกเหนือจากเป่า   Alto Sax    ไว้ ในแผ่นเสียงเพลงของวงสุนทราภร  ที่เรายังฟังกันอยู่ทุกวันนี้อย่างไม่รู้เบื่อ  ผู้ที่ร่วมงานด้วย  ครูสุรัฐ   พุกกะเวส  คุณสมศักดิ์  เทพานนท์  คุณพร  พิรุณ  และคุณเยาว์ลักษณ์  โกมารกุล ณ นคร  (ศรีภริยาของครูธนิต)    เพลงแรกที่แต่งทำนองเพลง คือ เพลงจากดวกใจ  คำร้องของครูสุรฐ  พุกกะเวส  เพลงที่ได้รับความนิยมมากมายเช่น  ดาวล้อมเดือน  ลืมไม่ลง  หาดผาแดง  จอมนางในดวงใจ  เป็นต้น

 

สิ่งที่ ครูธนิต ผลประเสริฐ ภาคภูมิใจในชีวิตการเป็นนักดนตรีคือได้รับพระราชทาน Tenor  Sax จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งครูธนิต ยังเก็บรักษาไว้บนหิ้งบูชาจนถึงปัจจุบัน  ด้วยความเทิดทูนสูงสุด ในชีวิต ปัจจุบัน  ครูธนิต  ผลประเสริฐ   พำนักพักพิง อยู่ที่ต่างประเทศ  และยังเล่นดนตรีไทยสากลบ้างตามโอกาสที่เหมาะสม

 

 สุดจิตต์ ดุริยประณีต

สุดจิตต์ ดุริยประณีต   เกิดเมื่อ พ.ศ.2471ซอยวัดสังเวช ย่านบางลำพูบน เติบโตในครอบครัวนักคนตรีไทย และมีคณะวงดนตรีไทยครบทุกเครื่องมือไว้ในบ้าน ครูสุดจิตต์ ดุริยะปณีตจึงเล่นเครื่องดนตรีไทยเป็นทุกเครื่องมือเพียงแค่อายุ 8 ขวบเท่านั้น ด้วยน้ำเสียงที่ชัดกังวาน และสดใสมีวิถีเสียงกว้างไกลหมายถึงสามรถใช้เสียงต่ำก็สามารถใช้ได้สุดถึง เสียงสูงก็สามารถใช้ได้สุด จนได้ชนะการประกวดร้องเพลงเมื่ออายุ 10 ขวบประเภทเพลงไทยหลายรายการที่ขึ้นไปประกวดแทบทุกครั้ง จากนั้นได้เข้าประจำคณะหุ่นกระบอกของนายเปียก ประเสริฐกุลในตำแหน่งนักร้องประจำ

 

ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีตเป็นข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์จนกระทั่งได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าวงฝ่ายดนตรีไทย ตรวจสอบคุณภาพบทละคร บทประพันธ์ ดนตรีไทย  สื่อบันเทิงไทยต่างๆ ที่ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยพร้อมทั้งริเริ่มทำรายการละครดึกดำบรรพ์  ละครประเภทนี้กำเนิดขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 นำแบบมาจากละครโอเปร่า ผู้ที่นำมาผสมดัดแลงให้เข้ากับละครไทยคือเจ้าพรยาวงเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ครูสุดจิตต์ ดุริยะปณีตได้นำออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ยังได้รับเชิญเป็นผู้ตรวจสอบของผู้มีคุณวุฒิ ความสามารถเข้ารับราชการในตำแหน่งดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ของกรมศิลปกร ยังได้รับเชิญ เป็นกรรมการคัดเลือกนิสิตเข้าเรียนในภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์และภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ.2530 ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นกรมประชาสัมพันธ์

พ.ศ.2536 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ฝ่ายดนตรีไทย

 

สรุปท้ายบท

ผู้ดำเนินการวิจัยมีความเห็นว่า  จากที่ครูดนตรีเริ่มก่อตัวเป็นกลุ่มคณะขึ้นมาจากกระทรวง และสมาคม แหล่งข้าราชการต่างๆ ทั้งเอกชน ชาวบ้านได้เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งรอบในรอบนอกของกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นนักดนตรีไทยด้วยกันนั้นได้มองเห็นการพัฒนาวัฒนธรรมทางด้านเสียงเพลงแนวสากล เป็นสิ่งสมควรหรือไม่ ในจำนวนที่ติ ก็ว่าเอาเพลงเก่ามาทำลาย ให้เสียคุณค่า ลุกลามไปถึงการทำลายวัฒนธรรมของชาติ ส่วนในจำนวนที่ว่าชอบว่าดี ให้ความเห็นว่า ได้เข้าใจเพลงไทยในสมัยยุคนั้นที่มีอยู่แล้วมากขึ้น เพราะพวกที่ชมว่าดีนั้น คงไม่เข้าใจลึกลงไปถึงระดับ Art song ว่าได้กระทำการทำลายวัฒนธรรมของชาติหรือเปล่า เมื่อเวลาผ่านไป ทำนองเพลงผสมเหล่านั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวของมันเองว่า มิได้ทำลายตัวมันเอง ยังร่วมใช้กันอยู่ และบางครูที่กล่าวมาเกี่ยวกับงานสร้างทำนองผสมก็มิทำลายวัฒนธรรม แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เพลงไทยดำรงอยู่อย่างเสมอ

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยเชิงพรรณา
หมายเลขบันทึก: 553210เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท