บทสาขาที่ 2 เรื่องที่ 2.3 รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณา (1)


ก.รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณา

ครูสุดจิตต์ ดุริยะประณีต(วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552 )กล่าวว่า สมัยหม่อมหลวงขาบ กุญชร เข้ามารับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สมัยนั้นมีครูดนตรีที่มีความสามารถทางด้านดนตรีไทยมากมาย ก็มีครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ครูบุญยง เกตุคง ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ประจำอยู่ กรมประชาสัมพันธ์ สมัยนั้นมีชื่อเสียงมาก ครูที่กล่าวมา มีชื่อเสียงทั้งนั้น หม่อมหลวงขาบ กุญชร ชอบดนตรีไทย ได้เรียกข้าราชการครูเหล่านั้น ไปซ้อมเพลงเป็นประจำ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จงานเลี้ยงของข้าราชการ ทรงสดับดนตรีไทยไปพร้อมกับเรียกอธิบดีหม่อมหลวงขาบ กุญชร และทรงดำริว่า ทำอย่างไรถึงจะนำดนตรีไทยเข้าร่วมกับดนตรีสากลได้  หม่อมหลวงขาบ กุญชร รับพระราชบัญชาที่จะทำงานนี้ให้ลุล่วงไป และได้เชิญครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าวงสากล และครูพุ่ม จัดทำนองเพลงฝ่ายดนตรีไทยกับปรับเสียงให้เข้ากับดนตรีสากล เป็นงานที่ดนตรีไทย และดนตรีสากลเข้าร่วมผสมกัน เพราะเห็นเขาทำกัน ฟังแล้วเพราะเหลือเกิน ซ้อมจนกระทั่งถึง 4 -5 ทุ่ม เมื่อเข้ากันได้ดีแล้วก็นำเข้าทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ทรงโปรดมาก จากนั้นดนตรีผสมด้วยการนำทำนองเพลงไทยมาใช้ ก็เลยเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ พอไปงานอะไร อย่างงานในทำเนียบ หรืองานต่างๆ อธิบดีหม่อมหลวงขาบ กุญชร ก็นำไปเล่น ได้มีการตั้งเสียงเพื่อให้เข้ากันระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีสากล เพื่อให้เล่นได้เข้ากัน อย่างระนาด ก็ทำระดับเสียงของดนตรีไทยปรับไปเล่นกับเปียโน ถ้าไม่ทำเช่นนั้น จะเกิดปัญหาการเพี้ยนเสียงจนหน้าเกลียดฟังไม่ได้เลย ครูพุ่ม ก็เลยไปปรับผืนโดยเอาขี้ผึ้งใส่เพื่อให้เสียงเข้ากันและร่วมเล่นกันได้ ต้องมีไว้ทั้ง 2 ผืน หรือ 2 ชุดเลย ที่เทียบเสียงระนาดให้เข้ากลับเสียงเปียโน ฝ่ายดนตรีสากลมีครูที่มีความสามารถมาก เช่นครูเอื้อ สนทรสนาน ครูศิริ ยงยุทธ์  สำหรับผู้นี้เก่งเป็นพิเศษ ทางด้านทฤษฎี และปฏิบัติทางเปียโน มีครูเวส สุนทรจามร ช่วยกันคิดกันแต่งผลงานออกมาดีมาก ปัจจุบันนี้ยังนำมาเล่นมาใช้กันอยู่เลย ดูเช่น ปอง...ขุนอิน (ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า) ยังนำเพลงมาพัฒนาใช้เครื่องกลอง เครื่องหนังมอญ ออกแนวไปอีกแบบหนึ่ง  ก็เคยเห็นเขาเอามาผสมกับโปงลาง แล้วแต่ใครจะคิดอะไร บางทีก็เอาเครื่องดนตรีภาคเหนือมาผสมด้วย แต่ฉันว่าดีแล้วก็ชอบนะ แต่ถ้าอนุรักษ์ เราต้องรักษาไว้ เพราะดนตรีไทยเป็นเอกลักษณ์ ดนตรีไทยเดี๋ยวนี้ ควรจะแยกกลุ่มกัน อย่างที่บ้านดิฉัน เป็นดนตรีไทยแนวอนุรักษ์ ใครมาสัมภาษณ์แนวนี้ก็ต้องมาที่นี่ แต่ถ้าจะพัฒนา หรือจะเล่นอะไรก็เล่นไป เดี๋ยวนี้เขาทำกันแบบนี้แล้ว แต่ควรให้มีพอสมควร ส่วนประเภทที่ไปใหญ่เลยก็มีเหมือนกัน มันเกินไป ประเภทนี้หัวรุนแรงหน่อย เขาก็คิดของเขาไป คือเขาคิดแผลงๆไป แต่ฉันก็ไม่ชอบเพราะมันเกินไป ฉันไม่เอาละ ดนตรีผสมแบบกรมประชาสัมพันธ์ นั่นแหล่ะดีแล้วถือว่าดีที่สุด

 

ครูสมาน นภายน (4.กุมภาพันธ์พ.ศ.2552) กล่าวว่า ปีพ.ศ.2495 ทางกรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2495 ขณะนั้น พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ท่านผู้นี้เป็นผู้แต่งเนื้อเพลงชาติในประโยคที่ว่า  ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยนี้ เป็นอธิบดีอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น 16 วัน จอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้แต่งตั้งให้ พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ท่านมีเชื้อสายทางดนตรีไทยและศึกษาดนตรีสากล บิดาท่านชื่อ เจ้าพระยาเทเวศร์ แห่งวังบ้านหม้อ เมื่อมาอยู่กรมประชาสัมพันธ์ ท่านได้ปรับวงดนตรีไทย ขณะนั้นกรมประชาสัมพันธ์ไม่มีวงดนตรีไทย ได้เชิญข้าราชการในกรมประชาสัมพันธ์มาเล่นดนตรีไทยด้วยกัน มี จมื่นมานิตย์ นริศเรศ  ร.ท. ฉิน ธีมากร แม่น ชลานุเคราะห์(เป็นพี่ชายของชลหมู่ ชลานุเคราะห์) ทองสุข คำสิริ ตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นคงศักดิ์ คำสิริ เวลาหม่อมหลวงขาบ กุญชร ปรับวงดนตรีไทยขณะนั้นยังอยู่ที่ตึกเก่าเดิมที่ชื่อว่าห้าง Bat Man เยื้องสะพาน ผ่านพิภพลีลา เป็นตึก 3 ชั้น วงดนตรีไทยและวงดนตรีสากลประจำอยู่ชั้น 3 มีฝาไม้อัดกั้นระหว่างห้อง ดนตรีสากลอยู่ห้องทางด้านขวา เวลาซ้อมดนตรีในเวลาราชการ เสียงทั้ง 2 วงก็ส่งล้ำเข้าใส่กัน หม่อมหลวงขาบก็จับจินตนาการไว้ด้วยความคิด และ ยังได้รับพระราชเสาวนีย์ จากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระราชดำริ ว่า ดนตรีสากลน่าจะผสมกับดนตรีไทยได้ หม่อมหลวงขาบ กุญชร มีความคิดเช่นนั้นอยู่แล้ว และได้เรียกครูเอื้อ สุนทรสนาน ก่อนนั้นชื่อนายบุญเอื้อ เข้ามาปรึกษา ก็เลยได้ร่วมทำเพลงประเภทนี้ร่วมกัน กับครูพุ่ม บาปุยะวาส ครูดนตรีไทยรุ่นอาวุโส ตอนนั้นท่านอายุเลย 60 ปี แล้ว เป็นคนเก่งมากคนหนึ่ง ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา เพลงแรกที่ได้ร่วมทำกัน ได้ปรึกษากับหม่อมหลวงขาบ กุนชรแล้ว ปรึกษาร่วมกันให้ใช้เพลงกระแตเป็นเพลงแรก และด้วยการปรับเสียงดนตรีไทยให้เข้ากับเสียงดนตรีสากล จึงทำให้เกิดวงดนตรีประสม สังคีตสัมพันธ์ ขึ้น  โดยให้วินัย จุลบุษปะ นักร้องฝ่ายชาย และ ชวลี ช่วงวิทย์ นักร้องหญิง ให้ร้องร่วมกัน

 

 ก่อนการก่อตั้งวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์

วงดนตรีไทย  กรมประชาสัมพันธ์ ได้เริ่มมาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2481  แต่มิได้ขึ้นเป็นหน่วยงานของทางราชการ  ตามคำกล่าวของ ครูคงศักดิ์ คำศิริ (สืบจากคำบอกกล่าวของครูพรพิรุณว่า )วงดนตรีไทยวงนี้มีมาก่อน  เมื่อครั้งที่กองช่างและทะเบียนวิทยุในปัจจุบัน ยังเป็นแผนกทะเบียนวิทยุสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลข  โดยข้าราชการในแผนกนี้  ได้รวบรวมกันจัดตั้งวงดนตรีขึ้นมาหนึ่งวง  เป็นวงเครื่องสายไทย  ด้วยความเห็นชอบของท่านผู้ใหญ่ในสมัยนั้น  คือท่านจมื่นมานิตย์นเรศร์  (เฉลิม  เศวตนันท์) ร.อ เขียน  ธีมากรและ  คุณคงศักดิ์  คำศิริ   วงเครื่องสายวงนี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่งานวิทยุกระจายเสียงเป็นอันมาก  ในสมัยนั้นวงดนตรีไทยทั้งของราชการและเอกชนมีไม่กี่วง แต่งานวิทยุกระจายเสียงต้องทำการส่งออกอากาศทุกวันทั้งภาคส่งจริงและภาคทดลอง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องเทปไว้สำหรับบันทึกเสียงใช้ จึงเปิดให้มีวงดนตรีคณะต่างๆทั้งฝ่ายเอกชนไว้สำรอง พร้อมที่จะออกอากาศได้ทุกครั้งเมื่อมีปัญหาจากคณะอื่นมาบรรเลงไม่ได้   ต่อมาทั้งสามท่านคือ ท่านจมื่นมานิตย์นเรศร์  (เฉลิม  เศวตนันท์)   ร.อ. เขียน  ธีมากรและ  คุณคงศักดิ์  คำศิริ     เห็นว่าการกระจายเสียงด้วยการบรรเลงและขับร้องทุกครั้งไปนั้น เกรงว่าผู้ฟังจะเบื่อ  จึงจัดให้มีการแสดงสลับบ้าง  โดยใช้ดนตรีไทยประกอบการแสดงละครทางเสียงบ้าง และ บรรเลงประกอบด้วยดนตรีสากล

 

ประมาณปลายปี 2481 สำนักงานโฆษณาการ  ซึ่งต่อมามาได้ยกฐานะเป็นกรมโฆษณาการและ มีคุณวิลาศ  โอสถานนท์  เป็นอธิบดีในสมัยนั้น ได้ขอโอนแผนกทะเบียนวิทยุ  กรมไปรษณีย์โทรเลข   มาอยู่ที่กรมโฆษณาการ  ระยะนี้งานกระจายเสียงของวงเครื่องสายที่จัดตั้งขึ้นมีมามาก  พ.อ.หลวงสารานุประพันธ์  มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ  เลยจัดตั้งแผนกดนตรีไทยขึ้นมา สังกัดกับกองกระจายเสียงในประเทศ  โดยคุณคงศักดิ์  คำศิริ  เป็นหัวหน้าแผนกดนตรีไทยคนแรก  ต่อมางานดนตรีไทยมีมากขึ้น  แผนกดนตรีไทยมีความต้องการเจ้าหน้าที่ศิลปินโดยเฉพาะ  จึงเปิดรับสมัคร ศิลปินเข้ามาเป็นข้าราชการประจำ  และขยายงานดนตรีออกไปเป็นวงต่าง ๆ เช่น วงเครื่องสาย  วงปี่พาทย์ไม้แข็ง  วงปี่พาทย์ไม้นวม  วงมโหรี  แผนกดนตรีไทย  มีศิลปินอาวุโสเข้ามาสมัครหลายท่าน  เช่น ครูพุ่ม  บาปุยะวาทย์  ครูบุญยงค์  เกตุคง ครูสมาน  ทองสุโชติ  ครูราศี  พุ่มทองสุข ครูน้อม บุญรอด  ครูประสงค์  พิณพาทย์  นายสืบสุด  ดุริยะประณีต  ครูฉลวย   จิยะจันทน์ นายดุสิต  สุรการ  ครูระตี  วิเศษสุรการ  นางบุปผา  คำศิริ  นางช้องมาศ  สุนทรวาทิน ครูสุดจิตต์  ดุริประณีต  ครูจำเนียร  ศรีไทยพันธุ์  (สุดจิตต์  ดุริยะประณีต,2531:15-17) 

 

เดือนตุลาคม  ปี 2494 – 2495 พลโท มล.ขาบ  กุญชร   เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมประสัมพันธ์  หลังจากได้เปลี่ยนชื่อจากรมโฆษณาการแล้ว  ท่านได้คิดปรับปรุงทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล ให้มีคุณภาพมากขึ้น    มีชื่อเสียงพร้อมกันทั้งดนตรีไทยและสากล  โดยคิดดนตรีผสมขึ้นตาม พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่7ว่าดนตรีไทยกับดนตรีสากลควรเล่นร่วมกันได้ ดังครูสุดจิตต์ ดุริยะประณีตได้ กล่าวให้สัมภาษณ์ ดังนั้นท่านจึงสั่งให้จัดทำดนตรีผสมขึ้น  ดนตรีไทยมีโอกาสไปบรรเลงตามงานต่าง ๆร่วมกับดนตรีสากล ได้ออกกระจายเสียงทางอากาศมากขึ้น  พ.ศ.2489 ก็ได้นำวงดนตรีทั้งไทยและสากลไปร่วมบรรเลงเปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ที่วังบางขุนพรหม  วงดนตรีไทยระยะนั้นเป็นวงดนตรีไทยที่ทางราชการใช้งานมาก เพราะท่านอธิบดี  พลโท มล.ขาบ  กุญชร เป็นผู้ที่สนับสนุนให้ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 เป็นประจำ  ยังได้บรรเลงในทำเนียบรัฐบาล  สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม  และร่วมงานตามบ้านท่านรัฐมนตรีต่าง ๆ ด้วย   จนวงดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ มีชื่อเสียง  และเป็นที่รู้จักกันมาจนเท่าปัจจุบันนี้  ปัจจุบันงานดนตรีไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายดนตรีไทย  สังกัดส่วนบริการการดนตรี  สถานีวิทยุกระจายเสียง แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์  

 

 การก่อตั้งวงดนตรีไทยสังคีตสัมพันธ์

วงดนตรีสากลได้สร้างชื่อเสียง    ในการบรรเลงดนตรีผสมนั้น ได้ใช้ชื่อว่า วงดนตรีลีลาศ กรมโฆษณาการ   วงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีโฆษณาสาร วงดนตรีสังข์สัมพันธ์  หรือในชื่ออื่น  อีกหลายชื่อที่บริการรับใช้ ประชาชนด้านสื่อเสียงเพลง แล้วแต่ผู้รับงานนอกเวลาราชการหารายได้พิเศษส่วนในสายงานนั้นเน้นเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ  บทเพลงเกี่ยวกับสร้างสรรค์  บทเพลงเกี่ยวกับเยาวชนและการศึกษา  บทเพลงเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีและ  วันสำคัญต่าง ๆ บทเพลงอันเป็นอมตะประทับใจแม้กระทั่งบทเพลงประจำจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย

 

เนื้อแท้ของวงดนตรีต่างๆ   ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้  ก็คือวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์นั่นเอง  ไม่ว่าจะเป็นนักร้องเสียงดีที่มีชื่อติดอันดับ  หรือนักดนตรีที่มีฝีมือยอดเยี่ยม  นักเรียบเรียงเสียงประสาน  นักประพันธ์ทำนองนักประพันธ์คำร้องที่มีชื่อเสียง  ก็เป็นข้าราชการในสังกัดหน่วยงานบันเทิงของกรมประชาสัมพันธ์

 

ในปีพ.ศ.2482 นายวิลาศ โอสถานนท์  อธิบดีกรมโฆษณาการในสมัยนั้น  คิดจัดตั้งวงดนตรีสากลประเภท Jazz ไว้ประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น จึงได้ร่วมกับคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ รวบรวมนักดนตรีจากวงดนตรีของบริษัทเอกชน  และตัวท่านเองเป็นรองประธาน  ทำหนังสือขอโอนตัวนักดนตรีทั้งหมด จากต้นสังกัดเดิมที่มีนักดนตรีรับราชการอยู่คือ  กรมศิลปากร  ซึ่งมีพระเจนดุริยางค์ เป็นหัวหน้ากองควบคุมวงเครื่องสายฝรั่งหลวงอยู่

 

เมื่อจัดตั้งวงดนตรีสำเร็จแล้ว  จึงให้ไปสังกัดอยู่ที่ทำการแผนกวิทยุกระจายเสียงที่ได้โอนกิจการจากกรมไปรษณีย์โทรเลข   และ ยังตั้งเครื่องส่งอยู่ที่ศาลาแดง  (โรงเรียนรวมเหล่าปัจจุบัน แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นห้าง Robinsonไปแล้ว) มีครูเอื้อ   สุนทรสนาน  เป็นหัวหน้าวง  ครูเวส  สุนทรจามร  เป็นผู้ช่วยหัวหน้าวงและ จมื่นมานิตย์นเรศร์  เป็นหัวหน้าแผนก โดยได้รับคำบอกกล่าวจาก นางจิหรรษา อินทาภิรัต ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์  (2552)

 

1.บรรเลงส่งกระจายเสียงทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว

2.บรรเลงตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่ทางกรมจะกำหนดไป

3.บรรเลงตามงานลีลาศ   ซึ่งทางหน่วยงานอื่นๆ ขอความร่วมมือมา

4.การบรรเลงแต่ละครั้งก็บรรเลงแต่เพลงฝรั่งล้วน ๆ เพราะทางวงดนตรียังไม่มีนักร้องเพลงภาษาฝรั่งและเพลงที่ใช้บรรเลงก็ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ให้ยืมมา ต่อมาระยะหนึ่ง  ทางวงดนตรีกรมโฆษณาการ  ก็รับนักร้องรุ่นแรกเข้าประจำวง คือ

 

 

1. นายล้วน  ควันธรรม

*2. นางรุจี  อุทัยกร

  1. นายเลิศ  ประสมทรัพย์

4. นางสุปราณี  พุกสมบูรณ์

 

*2. นางสาวจุรี  โมรากุล  ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น มันฑนา  โมรากุล  โดยได้รับคำบอกกล่าวจาก นางจิหรรษา อินทาภิรัต ข้าราชการระดับ  ตำแหน่งดุริยางคศิลปินระดับชำนาญงานฝ่ายดนตรีไทยสังกัดกรมประชาสัมพันธ์เรื่องการเปลี่ยนชื่อของนางสาวจุรี โมรากุล (สัมภาษณ์,24 กุมภาพันธ์ 2552) 

 

เมื่อทางวงดนตรีกรมโฆษณาการ มีนักร้องแล้ว  ครูเอื้อ  สุนทรสนาน ครูเวส  สุนทรจามร  และคุณครูล้วน ควันธรรม  จึงได้ร่วมกันแต่งเพลงไทยสากล สำหรับให้นักร้อง  ร้องส่งออกวิทยุกระจายเสียงและ สำหรับไว้ใช้ในราชการเป็นเพลงประเภทปลุกใจรักชาติ   ประจวบกับในปีพ.ศ.2483 นั้น  ได้เกิดกรณีพิพาท ระหว่างไทยกับอินโดจีน   วงดนตรีกรมโฆษณาการจึงมีงานหนัก  ที่จะต้องส่งวิทยุกระจายเสียงทั้งเพลงปลุกใจ  ปลอบใจ  และโฆษณาชักชวนให้พี่น้องชาวไทยรักชาติ   เพลงแรก  คือ

 

1. เพลงรักสงบ ซึ่งเอาเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖  นำมาใส่ทำนอง ในเนื้อของสยามมานุสติ

2. เพลง ทหารไทย ที่มีเนื้อร้องว่า “ทหาร นำชัยมาให้แล้ว  ไทยผ่องแผ้ว”

 

เมื่อทหารไทยได้ชัยชนะ  เพลงปลุกใจจึงหมดหน้าที่  เพลงสามัคคี เพลงการดำรงชีวิตการทำมาหากินรวมทั้งเพลงพัฒนาการสร้างชาติ  และเพลงวัฒนธรรมประจำชาติปรับตัวให้ทันสมัยในยุคนั้นเช่น  เพลงที่ได้รับความนิยมมาก  ในตอนนั้นมีเนื้อร้องว่า  เชิญซิคะ     “เชิญร่วมกันสวมหมวก  แสนสะดวกสบาย  ด้วยทั้งหรู....”ผู้ดำเนินการวิจัยจำได้ว่าเพลงนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียง   กรมโฆษณาการ ทำการ เปิดประจำ ทุกวันในระยะนั้น

 

จากการสัมภาษณ์ของคุณครูสมาน นภายนเมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม  พ.ศ.2484  ท่านได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงหลังสงครามโลกว่า “ก่อนงานฉลองรัฐธรรมนูญสองวันมีทหารญี่ปุ่นเต็มสวน  ลุมพินีไปหมด   มีทีท่าว่าจะมายึดสถานีวิทยุกระจายเสียงศาลาแดง   แต่ก็ไม่ได้ยึด วงดนตรีก็ยังคงอยู่ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงศาลาแดงต่อไป แล้วในระยะนั้นท่านจอมพล ป.  พิบูลสงคราม   ได้ให้พระราชธรรมนิเทศ  มาเป็นหัวหน้ากองวิทยุกระจายเสียง  และท่านก็เป็นนักประพันธ์ด้วย   ถ้าวันไหนคืนไหนลูกระเบิดมาตก  พอรุ่งขึ้นท่านเขียนเพลงเป็นกลอนแปดมาให้ใส่ทำนอง  เมื่อเสร็จแล้วก็ให้นักร้องมาต่อเพลง    วงดนตรีก็บรรเลงวิทยุในเวลาเที่ยงเลย  บางวันมีตั้ง 3 – 4 เพลง  บรรเลงกันจนเมื่อยล้า มีทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน  เสร็จแล้วนักดนตรีก็ยังกลับไม่ได้  ต้องรอข่าวจนกว่าวงดนตรีอื่นๆ  ที่จะมาส่งวิทยุกระจายเสียงมาว่า  มาได้หรือเปล่า ถ้าไม่มา วงดนตรีของกรมโฆษณาการ ซึ่งเป็นวงเจ้าของบ้านต้องบรรเลงส่งวิทยุกระจายเสียงแทน  ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรง ในระยะนี้เองที่วงดนตรีกรมโฆษณาการ มีผลงานเพลงออกสู่ประชาชนมากเหลือเกิน  เป็นการให้ความบันเทิงแก่ท่านผู้ฟังทุกด้าน   พร้อมทั้งได้ฟังการสนทนาระหว่าง นายมั่นเป็นชื่อที่ใช้ทำรายการวิทยุสำหรับชื่อจริงคือ สังข์  พัฒโนไทย  และนายคง คือคุณครู คงศักดิ์  คำศิริเปิดรายการไปด้วย” (ครูสมาน นภายน, สัมภาษณ์, 12 มีนาคม  2522)

 

เมื่อประเทศไทยประกาศเป็นสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่น  ก็เท่ากับว่าได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรญี่ปุ่นแล้ว  จึงสั่งให้ย้ายวงดนตรีจากสถานีวิทยุเสียงศาลาแดงที่ไว้เพื่อทำการร่วมพันธมิตร ให้ไปอยู่ที่ตึกโฆษณาการ  ข้างสะพานเสี้ยว  ถนนราชดำเนินทั้งนักดนตรี  นักร้องจะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานีวิทยุตามปกติ  ถ้าคืนไหนโชคดี เครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิด  ต่างคนต่างก็เผ่นคล้ายจะเล่นเพลงเชิดแบบตัวใครตัวมัน 

 

ในระหว่างสงครามปี พ.ศ.2484   การบันเทิงเริงรมย์ในกรุงเทพสมัยนั้น   เงียบเหงา  ตามโรงหนัง ขาดแคลนหนังที่จะนำมาฉาย  จะปิดโรงฉายก็ไม่ได้  ต้องจัดการแสดงให้ความบันเทิงแก่ประชาชนต่อไป  เป็นการบำรุงขวัญตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น

 

วงดนตรีลีลาศกรมโฆษณาการ จึงได้รับการติดต่อให้ไปแสดงที่โรงภาพยนตร์ odian ใกล้สามแยกแถวเยาวราชแต่มีเหตุการณ์ขัดข้องบางประการ เนื่องจากชื่อวงดนตรีลีลาศกรมโฆษณาการ เป็นวงดนตรีของทางราชการจึงไม่เหมาะสม ที่จะเอาชื่อวงดนตรีของราชการไปบรรเลงประกอบภาพยนตร์  จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ในชื่อว่า  วงดนตรีสุนทราภรณ์  คือวงดนตรีกรมโฆษณาการนั่งเอง   และ  วงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้ก้าวขึ้นสู่การมีชื่อสียงในระดับสูงสุด   ในการให้ความบันเทิงแก่ประชาชน

 

นักร้องที่ทำชื่อเสียงให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ในขณะนั้นมี

                1. นายเอื้อ  สุนทรสนาน

                2. นายล้วน  ควันธรรม

                3.นาย เลิศ  ประสมทรัพย์

                4. นายวินัย  จุลละบุษปะ

                5. นายมนัส  รามโยธิน

6. นางรุจี  อุทัยกร

                7. นางมัณฑนา  โมรากุล

                8. นางชวลี  ช่วงวิทย์

                9. นางสุปราณี  พุกสมบูรณ์

 

นักประพันธ์เพลง ที่มีความสามารถท่านหนึ่งของวงก็คือ  ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งเนื้อ  ครูเอื้อ สุนทรสนาน  แต่งทำนอง อีกครูหนึ่งก็คือ ครุเวส สุนทรจามร  แต่งทำนอง  คุณสุรัตน์  พุกเวช ก็ต้องใส่เนื้อ   และ ครูธนิต ผลประเสริฐท่านนี้มีความสามารถเล่นดนตรีแนวทาง jazz   เป็นเลิศในการด้นสด เป็นนักประพันธ์เพลง และนักเรียบเรียงเสียงประสานมีความสามารถแตกฉานทางเพลงไทยและทางเพลงสากล ส่วนครูที่แต่งเองร้องเอง และให้นักร้องท่านอื่นร้องด้วย มีครูสมพงษ์ ทิพยกลิ่น ครูเลิศ ประสมทรัพย์ ครูวินัย จุลบุษปะ วงดนตรีโฆษราสารซึ่งใช้ชื่อนิตยสารของ  กรมประชาสัมพันธ์จัดพิมพ์ขึ้น เป็นชื่อวงดนตรีมีชื่อเสียงมากในขณะนั้น    ทั้งการแสดงบรรเลงเพลงแสดงละครวิทยุ 

 

พลโท มล.ขาบ กุญชร เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีแนวคิดเพื่อสนอง พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ดังปรากฏข้อความในหนังสือ  ที่ระลึก 20 ปีของพลโท มล.ขาบ กุญชร เขียนเล่าไว้ว่า ได้มารับตำแหน่งอธิบดี กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2495 ต่อเมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว ได้จดจำพระราชเสาวนีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ดังปรากฏข้อความในหนังสือ ในรัชกาลที่ 7 ฝังใจอยู่เสมอว่า ดนตรีไทยกับดนตรีสากล ควรร่วมเล่นด้วยกันได้ โดยมีการดัดแปลงเสียงดนตรีไทย บ้าง เพื่อให้เข้ากับระดับบันไดเสียงดนตรีสากล จึงได้ให้ครู เอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งดำรงตำแหน่งดนตรีสากล กับครูคงศักดิ์ คำศิริ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีไทยนั้น มาปรึกษากัน แล้วเทียบเสียงระนาดเอก กับฆ้องวงใหญ่ ให้เข้ากับระดับเสียง Piano ในระดับบันไดเสียงสากล ทำเพลงแรกด้วยเพลง “ลาวกระแต”      แล้วต่อมาอีกหลายสิบเพลง   เช่น เพลงพรพรหม  เพลงรักบังใบ  เพลงนางครวญ  เพลงคลื่นกระทบฝั่ง  เพลงดำเนินทราย  และมีต่อไปเป็นลำดับ เพลงเหล่านี้ที่ให้ความบันเทิงในแนวเพลงผสมหรือที่เรียกกันว่า สังคีตประยุกต์จากนั้นวงสังคีตสัมพันธ์ได้ใช้เครื่องมโหรีบางเครื่องมือของวงเช่นระเอก ระนาดทุ้ม มิใช่เพียงแค่นั้น ครูคงศักดิ์ คำศิริ กับครูเอื้อสุนทรสนาน คิดประดิษฐ์อังกะลุงระดับบันไดเสียงสากลขึ้นเป็นวงแรกที่ผสมด้วยเครื่องดนตรีชนิดนี้ในประเทศไทยมีอยู่สิ่งหนึ่ง ผู้ดำเนินการวิจัยสังเกตได้จากเสียงเครื่องดนตรีอังกะลุงว่าเป็น Diatonic   C   scale เพราะ เสียง ME กับ FA และสียง TI กับ DO ใกล้กันโดย กำหนดให้ห่างกันครึ่งเสียง ส่วน DO – RE – ME ระยะระหว่างห่างกันต่อหนึ่งเสียงเต็ม ความก็คือ การใช้แนวคิดด้านเสียงวิทยาการดนตรีทางทฤษฎีว่า Diatonic   C   scale มีอยู่ 7 เสียง จะได้ DO – RE – ME FA – SOL – lA – TI DOสังเกตจากเพลง ”สนต้องลม” ในจังหวะ  Quick Walzt เพลงแนวสากลนี้ มอบให้คุณรวงทอง ทองลั่นทม เป็นผู้ขับร้อง ส่วนทำนองเพลงแนวประยุกต์ ทำนองเพลงผสม หรือทำนองเพลงแนวสังคีตสัมพันธ์ ผู้ดำเนินการวิจัยเห็นว่า วงอังกะลุงมี เสียงเท่ากันกับระดับเสียง Piano เพราะผู้วิจัยใช้เทียบกับเสียงลิ้นออร์แกนถีบลมยี่ห้อ Willson ของประเทศอังกฤษ ครูประภาส สวนขวัญ ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่คบกันมานานปีเดี๋ยวนี้เครื่องดนตรีดังกล่าวอยู่ในบ้านของผู้วิจัยอย่างไร้สภาพ

  (ออร์แกนถีบลมยี่ห้อ Willson ของประเทศอังกฤษของ ครูประภาส สวนขวัญ)

พ.ศ.2498 วงกรมประชาสัมพันธ์   เป็นวงดนตรีวงแรกที่ได้รับเชิญให้ไปแสดงเปิดสถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ต่อมาก็ได้แสดงละครเพลง  เรื่องแรกที่ใช้นักดนตรี  นักร้องของกรมประชาสัมพันธ์  คือ  เรื่อง  สุนทรภู่  ของคุณอาจินต์  ปัญจพรรค์ ต่อมาในวันที่1 ตุลาคม  พ.ศ.2514 ทางกรมประชาสัมพันธ์  ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายระวี  พงษ์ประภาส  มารักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกบันเทิงแทนครูเอื้อ  หรือในนาม  “สุนทราภรณ์”   ซึ่งครบเกษียณอายุราชการ  คุณครูเอื้อ  ท่านก็นำชื่อ สุนทราภรณ์  ออกจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์  ไปเก็บไว้ที่บ้านระยะหนึ่ง เมื่อคุณระวี  พงษ์ประภาส  เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าแผนกบันเทิงแล้ว  ก็ได้ระดมเพื่อนเก่า ๆ สมัยเล่นดนตรีด้วยกันให้ช่วยแต่งเพลง  เรียบเรียงเสียงประสาน  แล้วแต่ใครจะถนัดแนวไหน  เพื่อให้วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ทันสมัยขึ้น  ทั้งการบรรเลง  ทั้งการแสดงให้ดีขึ้นเพราะมีงานออกอากาศทางโทรทัศน์ เพิ่มขึ้น  ทั้งในกรุงเทพฯ  และงานภูธร  เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ประสงค์ทุกกรณี

 

 ในปี พ.ศ.2515   ทางกรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายวินัย   จุลละบุษปะ  ซึ่งเป็นนักร้อง ที่มีชื่อเสียง เป็นข้าราชการประจำของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มาแต่ต้น  ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้างานบันเทิงแทนนายระวี  พงษ์ประภาส  ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบมากในฐานะหัวหน้ากองคลัง

 

เมื่อได้หัวหน้างานบันเทิงคนใหม่ที่เป็นลูกหม้อ ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์  ทำให้นักร้องและ นักดนตรีคึกคัก  การบรรเลงก็อยู่ในระดับเดิม  คือทั้งงานแสดง  งานลีลาศ งานทางทีวี  และเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมด้านนี้ทั้งกรุงเทพมหานคร และเกือบทั่วทุกจังหวัด

 

 ในปี 2518 นายรักษ์ศักดิ์  วัฒนะพานิช  ได้เข้ามารับตำแหน่งอธิบดี  กรมประชาสัมพันธ์ ท่านจึงได้ตั้งชื่อวงดนตรีใหม่จาก วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มาเป็นวงดนตรีสังข์สัมพันธ์ ถือสิทธิ ใช้บรรเลงสำหรับงานที่มิใช่ราชการโดยตรง  แทนชื่อวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่หัวหน้าเอื้อ  สุนทรสนาน เอาไปเก็บไว้ที่บ้าน  ถึงตอนนี้วงดนตรีสังข์สัมพันธ์ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว  มากด้วยงานบรรเลงมากด้วย  งานลีลาศ งานราตรีสโมสรและ งานการกุศล  

 

จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม  ปีพ.ศ.2525  คุณดนัย  ศรียาภัย  ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พอถึงวันที่ 1ตุลาคม พ.ศ.2525 กรมประชาสัมพันธ์มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายสมาน  นภายน   ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งหัวหน้างานบันเทิง  กรมประชาสัมพันธ์  แทนคุณวินัย  จุลละบุษปะ  ซึ่งถึงวาระครบเกษียณอายุในวันที่30 กันยายน พ.ศ.2525 ดังนั้นหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์  หรือ สังค์สัมพันธ์ที่แท้จริงในขณะนั้นคือ คุณครูสมาน  นภายน

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยเชิงพรรณา
หมายเลขบันทึก: 553208เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 07:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำไมไม่เอาชื่อคุณจุรีขึ้นก่อนคะ เพราะท่านเป็นนักร้องหญิงคนแรกของกรม ส่วนคุณรุจีเข้าหลังหนึ่งปี

ทำไมไม่เอาชื่อคุณจุรีขึ้นก่อนคะ เพราะท่านเป็นนักร้องหญิงคนแรกของกรม ส่วนคุณรุจีเข้าหลังหนึ่งปี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท