ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ รัตนบุรุษของอินเดีย


กระบวนการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย

 

บทเกริ่นนำ

     ดร. บี.อาร์. อัมเบดการ์รัฐบุรุษ ผู้เป็นอัจฉริยะแห่งยุคปัจจุบัน  อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีแรงงานของรัฐบาลอินเดีย  ในสมัยรัฐบาลชุดแรกหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ  ที่มีท่านบัณฑิต ยวาหรลาล เนห์รู เป็นนายกรัฐมนตรี     ดร.อัมเบดการ์อภิชาตบุตรแห่งภารตประเทศได้เป็นผู้หมุนกงล้อแห่งพระธรรมให้กลับคืนสู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง  โดยการนำชาวอินเดียจำนวนหลายแสนคนเข้าสู่พิธีสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา  กลายเป็นผู้นำชาวพุทธจำนวนหลายสิบล้านคนในอินเดียปัจจุบัน  ท่าน ดร.อัมเบดการ์  เป็นผู้มีสติปัญญาสุขุมลุ่มลึก  เป็นนักปราชญ์  เป็นอัจฉริยบุคคล  ผู้มีวิญญาณแห่งการปฏิวัติผลักดัน  ต่อสู้เพื่อคนยากจนเข็ญใจไร้ศักดิ์ศรีและถูกเหยียบย่ำอย่างหนักหน่วงในสังคมอินเดีย  ท่านเป็นทั้งนักการศาสนา  นักการเมืองและนักปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สถานะที่สูงส่งดีงาม

            ว่ากันตามจริงแล้ว ในด้านความรู้ความสามารถและอุปการคุณที่ ดร.อัมเบดการ์ มีต่อประเทศอินเดียนั้นมิได้เป็นสองรองใครเลยแม้กระทั่งทานมหาตมะ คานธี   แต่ท่านมหาตมะ คานธีได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งชาติอินเดีย   เพราะท่านเป็นผู้นำการต่อสู้โดยใช้หลักอหิงสาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ  ส่วนท่านดร.อัมเบดการ์เป็นดังวิศวกรที่รับช่วงมาออกแบบสร้างชาติอินเดียทันทีที่อังกฤษยอมปล่อยให้อินเดียเป็นเอกราช  โดย ดร.อัมเบดการ์ได้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญปกครองอินเดียฉบับแรก  ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของอินเดียที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน  ต่อมาจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของ ดร.อัมเบดการ์ ยืนถือหนังสือรัฐธรรมนูญอยู่หน้ารัฐสภาของอินเดีย

               

 การนำพุทธธรรมกลับคืนสู่พุทธภูมิ

 

                บรรดาสาวกของพระบรมศาสดา ผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา  โดยการนำเอาพุทธศาสนากลับคืนสู่แผ่นดินเกิดนั้น มีเพียง  ๒  ท่านที่โดดเด่นที่สุด  คือ ท่านอนาคาริก  ธัมมปาละ  (2407-2476)  แห่งศรีลังกา  ผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิในอินเดีย  และ  ดร.บี.อาร์. อัมเบดการ์  ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นล่างที่ได้รับการเหยียดหยามประมาณ 300  ล้านคนในอินเดีย  ท่านได้เป็นตัวแทนร่วมประชุมโต๊ะกลมกับผู้ปกครองอังกฤษ  เมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพ  (15 ส.ค. 2490)  เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและเป็นรัฐมนตรียุติธรรมในรัฐบาลชุดแรก

                ดร.อัมเบดการ์ มีชื่อเต็มว่า  ภิมาเรา  รามชิ  อัมเบดการ์ (Bhima Rao Ramji Ambedkar)  ถือกำเนิดเมื่อวันที่  14 เมษายน 2434  ที่จังหวัดรัตนคีรี  รัฐมหาราษฎร์  บิดาชื่อ “รามชิ”  มารดาชื่อ  “ภิมาไบ”  ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่บ้านเกิดและที่บอมเบย์  สำเร็จปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา  (มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย)  ด้านรัฐศาสตร์  และประเทศอังกฤษ  (มหาวิทยาลัยลอนดอน) ด้านเศรษศาสตร์และกฏหมาย

                นักปราชญ์ตะวันตกท่านหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า “การรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียเป็นไปได้ตลอดเวลา  ชีวิตและคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มมีอิทธิพลต่อความคิดทางศาสนาของชาวยุโรปและอเมริกาด้วยอมตธรรมที่ว่า  “หว่านพืชเช่นไรก็ได้รับผลเช่นนั้น”  ประกอบกับพระจริยาวัตรอันบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา  และพระกรุณาต่อมวลมนุษย์  พระองค์ทรงแสดงตัวอย่างชีวิตที่ประเสริฐและงดงาม  ดังนั้นพระพุทธศาสนาจะกลายเป็นศาสนาที่รุ่งเรือง  ข้าพเจ้าขอย้ำว่า “การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่เป็นไปได้ในอินเดียปัจจุบัน”

                ท่าน ดร.อัมเบดการ์ ได้พิสูจน์ข้อความข้างบนนี้  โดยปราศจากความสงสัยอย่างสิ้นเชิง  หลังจากใช้เวลาศึกษาลัทธิการเมืองและศาสนาต่าง ๆ เปรียบเทียบกันโดยละเอียดเป็นเวลากว่า 20  ปี  ท่านได้ตัดสินใจทำพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ  และตั้งใจรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดีย  พร้อมกับบริวารกว่าห้าแสนคน ณ บริเวณ “ทิกษาภูมิ”  กลางเมืองนาคปูร์  เมื่อวันที่  14 ตุลาคม  2449 (2500)  วันนั้นเรียกว่า “วันธรรมจักรประวัตน์”  คือวันที่ธรรมจักรได้หมุนกลับมาสู่อินเดีย

                บุคคลที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของพระพุทธศาสนาในอินเดียมีอยู่อีกหนึ่งท่าน คือ  ท่าน อนาคาริก ธัมมปาละ  ชาวศรีลังกา ผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิในอินเดีย  โดยท่านได้ต่อสู้กับพวกนักบวชฮินดูกลุ่มมหันต์ที่ครองครองพื้นที่พระมหาเจดีย์พุทธคยามาหลายชั่วอายุคน  ท่านได้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ เพื่อรวบรวมสมาชิกและทุนทรัพย์ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์การครอบครองสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ากลับคืนสู่ความดูแลของชาวพุทธ  และท่านได้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหลายประเทศ

                นอกจากนั้น ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่เวทีระดับโลก  โดยเข้าร่วมอย่างมีบทบาทสำคัญในการประชุมสภาศาสนาโลก  (World  Parliament  of  Religion) ที่ชิคาโก  สหรัฐอเมริกา  เมื่อปี  พ.ศ. 2436  และได้จัดพิมพ์นิตยสารมหาโพธิรายเดือน เพื่อเป็นสื่อในการศึกษาพระพุทธศาสนาแก่มหาชนทั่วโลก  กล่าวได้ว่าท่านอนาคาริกธัมมปาละได้สร้างคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาและประชาชนผู้แสวงหาความสงบสุขทั่วโลกในการจาริกแสวงบุญที่สังเวชนียสถานในอินเดีย

 

คุณูปการของพระพุทธศาสนาต่ออินเดีย

 

                ความสำคัญยิ่งใหญ่ของชาติ ๆ หนึ่ง  คงไม่ใช่แค่เรื่องแสนยานุภาพของกองทัพ  ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น  แต่รวมถึงอารยธรรม วัฒนธรรมหรือศาสนา  ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณของคนในชาติ  เพราะแสนยานุภาพของกองทัพหรืออำนาจทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการต่อสู้แก่งแย่งแข่งขัน  และดำรงอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว

                ประชาชนกว่าค่อนโลกยอมรับว่าอินเดียมีความสำคัญก็เพราะอินเดียได้ให้ความเจริญทางจิตวิญญาณแก่พวกเขา  นั่นคืออินเดียได้ให้พระพุทธศาสนาต่อชาวโลก  ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่มีพระพุทธเจ้า  อินเดียจะไร้คุณค่าในสายตาของชาวโลกอย่างแน่นอน

                เมื่อพระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองอยู่ในอินเดียนั้น  การศึกษาของอินเดียเจริญมาก  มีคนอ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 60  ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา  มีนักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ  ทั้งจีน เอเชียกลาง ธิเบตไปศึกษาเล่าเรียนกันอย่างมากมาย  มหาวิทยาลัยนาลันทา มีอาจารย์อยู่ 1,600 ท่าน  มีนิสิตมากกว่า 10,000 ท่าน

                เมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย  การศึกษาของอินเดียก็เข้าสู่ยุคมืด  ทำให้เกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ  มีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างรุนแรง  คนวรรณะต่ำคือศูทรและจัณฑาล  มีสถานภาพไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน  สุดท้ายอินเดียก็ถูกปกครองโดยชาวมุสลิมอาหรับและมองโกลหลายร้อยปี  เมื่อเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก  อินเดียก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่นับร้อยปี  ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นอังกฤษมีพลเมืองอยู่เพียง  30  ล้านคน  ขณะที่อินเดียมีพลเมืองอยู่ถึง  300  ล้านคน

                เมื่ออินเดียจะได้เอกราชจากสหราขอาณาจักรนั้น  ท่านมหาตมะ คานธี ได้ยืนหยัดต่อสู้ด้วยหลักการของพระพุทธศาสนา  นั่นคือหลัก “อหิงสา” (ในศาสนาฮินดูไม่ได้เน้นคำสอนเรื่อง อหิงสา)  และความอดทนอดกลั้นจนสามารถเอาชนะอาวุธปืนของกองทัพอังกฤษได้  ต่อมา ท่านดร.อัมเบดการ์ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่แก่อินเดียด้วยการฟื้นฟูพระพุทธศาสนากลับสู่มาตุภูมิ  ท่านเป็นพลังผลักดันสำคัญให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent  Assembly)  นำเอาตราธรรมจักรมาติดไว้กลางธงชาติอินเดียและเอาหัวสิงห์ของเสาหินพระเจ้าอโศกมาเป็นตราแผ่นดิน

                สรุปได้ว่า เมื่ออินเดียได้รับเอกราชเป็นอิสรภาพ  ก็ได้อาศัยพระพุทธศาสนาทั้งศาสนธรรมและสัญลักษณ์ทางศาสนามาเป็นตัวเชิดชูความยิ่งใหญ่ของอินเดียไว้อิกครั้ง  นอกจากนี้ ท่าน ดร. อัมเบดการ์ในฐานะประธานร่างรัฐธรรมนูญปกครองอินเดีย  ท่านก็ได้เขียนบทบัญญัติว่าด้วยการไม่แบ่งชั้นวรรณะ  ตลอดทั้งอุดมคติอื่น ๆ ของพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 553079เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2013 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณเรื่องราวที่ดีมีประโยชน์นะคะดร. บรรพต ...

ด้วยความยินดียิ่งครับ ที่ได้นำเสนอสิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง  ครับ

อินเดียเป็นชาติที่มีความยิ่งใหญ่ น่าศึกษาเรียนรู้หลายอย่าง แต่ความยิ่งใหญ่ของอินเดียไม่ได้อยู่ที่อำนาจทางการเมืองอย่างสหรัฐอเมริกา  หรือไม่ได้อยู่ที่อำนาจทางเศรษฐกิจอย่างประเทศจีน  แต่อยู่ที่ความร่ำรวยทางวัฒนธรรม  ความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมทางภูมิปัญญา  อินเดียได้ให้กำเนิดศาสนาที่สำคัญหลายศาสนาโดยเฉพาะอย่างคือพระพุทธศาสนา และอินเดียได้ก่อกำเนิดรัตนบุรุษที่โลกต้องคารวะหลายท่าน  หนึ่งในนั้นก็คือท่าน ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ รัฐบุรุษผู้ออกแบบอินเดียยุคใหม่ และผู้ได้รับการยกย่องจากชาวพุทธในอินเดียว่าเป็นประหนึ่งพระโพธิสัตว์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท