Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาอ่านข้อคิดของ อ.แหวว ครูสอนกม.ระหว่างปท.แผนกคดีบุคคลถึงการเตรียมความพร้อมของประชาคมอาเซียนไหมคะ


การเตรียมพร้อมเพื่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน

: ข้อเสนอแนะเพื่อทบทวนความคิดจากครูสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บทความเพื่อวารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=10152019883633834  

------------------------

บทนำทางความคิด : เป้าหมายของงานเขียน

----------------------

      เมื่อกำหนดเวลาการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนใกล้เข้ามา  ครูสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลแทบทุกท่านก็มักถูกถามถึงแนวคิดและวิธีการในการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๕๕๘ ผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในครูสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จึงเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเชิญบ่อยครั้งให้มีความเห็นในเรื่องนี้

          ดังนั้น เมื่ออาจารย์ศรีสดา ไพศาลสกุลชัยขอให้เขียนบทความสักเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับอาเซียน ผู้เขียนจึงขอยกประเด็นหนึ่งที่ค้างในใจของผู้เขียนมาพัฒนาเป็นบทความที่ท่านทั้งหลายกำลังอ่านอยู่นี้

------------------------

ทิศทางของงานเตรียมความพร้อมน่าจะคืออะไรบ้าง ?

----------------------

ผู้เขียนเห็นว่า การเตรียมพร้อมเพื่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นนั้น ควรจะเป็นการเตรียมความพร้อมใน ๓ ทิศทางใหญ่ๆ กล่าวคือ (๑) การเตรียมความพร้อมของรัฐและระบบการทำงานของรัฐ (๒) การเตรียมความพร้อมของประชาชน และ (๓) การเตรียมความพร้อมของดินแดน         

------------------------

คนในภาครัฐ ทั้งที่อยู่ในภาคการเมืองและภาคราชการประจำควรมีแนวคิดในการความพร้อมเพื่อการบริหารประเทศในบริบทอาเซียนอย่างไร ?

----------------------

เรื่องของประชาคมอาเซียน ก็คือ เรื่องของการปรับตัวของสถาบันรัฐสมัยใหม่ที่เริ่มต้นในศตวรรษที่ ๑๗ การมาถึงของประชาคมระหว่างรัฐมิได้ทำให้สถาบันรัฐหายไป  รัฐดังกล่าวเพียงแต่มีการปรับตัวให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งมากขึ้น และการขับเคลื่อนตัวของรัฐย่อมหมายถึงการเคลื่อนตัวของคนในภาครัฐ ซึ่งน่าจะประกอบด้วย (๑) ภาคการเมืองที่ไม่ได้ทำงานราชการประจำ ผันแปรตามชัยชนะในการเลือกตั้งทางการเมือง และ (๒) ภาคราชการประจำ ในสถานการณ์ปัจจุบันของรัฐสมัยใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ เราจะเห็นคนในภาครัฐปรากฏตัวใน ๒ ระดับของการทำงานราชการ กล่าวคือ (๑) การทำงานในการบริหารราชการส่วนกลาง และ (๒) การทำงานในส่วนท้องถิ่น

รัฐโดยผ่านคนในภาครัฐน่าจะเรียนรู้ว่า การมีความขัดแย้งระหว่างกันมิได้นำไปสู่ความเจริญสูงสุดของของปัจเจกรัฐ (Individual State) ในทางกลับกัน การรวมตัวของรัฐย่อมนำไปสู่ความเจริญที่มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม รัฐเรียนรู้ว่า การเข้าร่วมทำในประชาคมของรัฐย่อมหมายความถึง “การเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วน” แต่ทั้งนี้ เป็นไปด้วยความยินยอมของรัฐเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นเอง  โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐอธิปไตยย่อมมีอำนาจอธิปไตยอย่างเด็ดขาดและไร้เงื่อนไขเหนือดินแดนและประชาชน/ประชากรของตนเอง ดังนั้น ในทางกลับกัน รัฐอธิปไตยย่อมมีสถานะทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีขนาดประเทศเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่รวยหรือจน ไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยหรือเผด็จการ  แต่อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นของอำนาจอธิปไตยของรัฐในยุคต้นของรัฐสมัยใหม่ก่อน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ก็คงมีเพียงกรณีที่มีความยินยอมของรัฐ แต่เมื่อนานาอารยประเทศในประชาคมโลกต่างยอมรับกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ข้อยกเว้นของอำนาจอธิปไตยของรัฐในยุคปัจจุบัน ก็ย่อมหมายรวมถึง “หลักสิทธิมนุษยชน” อีกด้วย

เมื่อรัฐอธิปไตย ๑๐ รัฐในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ยอมรับที่จะร่วมมือกันในการจัดการอำนาจอธิปไตยร่วมกันในหลายลักษณะในรูป “ประชาคมระหว่างรัฐ (Inter States Community)” จึงหมายความว่า รัฐทั้ง ๑๐ รัฐนี้ยอมรับที่จะสละอำนาจอธิปไตยสูงสุดแต่ละรัฐมีอยู่ที่จะเข้าสู่ “การตัดสินใจร่วมกัน” ในทุกเรื่องที่ตกอยู่ภายใต้ความตกลงที่ทำต่อกัน ซึ่งเรียกว่า “กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)”[1] ซึ่งลงนามกันในทำ ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ ดังนั้น ภารกิจของรัฐอธิปไตยหนึ่งที่จะจัดการอำนาจอธิปไตยบนจุดสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงของชาติและสิทธิมนุษยชนก็ตกเป็นภารกิจของทุกรัฐสมาชิกประชาคมอาเซียน การสร้างประสิทธิภาพในระบบงานของรัฐอธิปไตยรัฐเดียวก็มิใช่ของง่าย และเมื่อเป็นการสร้างประสิทธิภาพในระบบงานของรัฐอธิปไตย ๑๐ รัฐก็ย่อมเป็นสิ่งที่ยากมากกว่า

----------------------

อะไรคือปฏิบัติการที่จำเป็นเพื่อสร้างวิสัยทัศน์แบบ “ประชาคมนิยม” สำหรับคนในประชาคมอาเซียน ?

----------------------

เราตระหนักว่า สิ่งที่ควรเป็นวิสัยทัศน์อาเซียน ก็คือ สิ่งที่ปรากฏในอารัมภบทของกฎบัตรอาเซียนนั่นเอง เมื่อเราสังเกตข้อความทั้งหมด เราก็อาจสรุปเรื่องของประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องระหว่างคนในประชาคมอาเซียนทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคเอกชน  เรื่องของประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องในระดับประชาชนอีกด้วย มิใช่เรื่องในระดับผู้นำประเทศเท่านั้น

ดังจะเห็นจากวรรคแรกของอารัมบทของกฎบัตรอาเซียนที่ว่า “เรา บรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน/WE, THE PEOPLES of the Member States of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN), as represented by the Heads of State or Government of Brunei Darussalam, the Kingdom of Cambodia, the Republic of Indonesia, the Lao People’s Democratic Republic, Malaysia, the Union of Myanmar, the Republic of the Philippines, the Republic of Singapore, the Kingdom of Thailand and the Socialist Republic of Viet Nam.”c  

ด้วยวรรคดังกล่าว เราจึงอาจสรุปได้ว่า กฎบัตรนี้มิได้มุ่งที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่าง ๑๐ รัฐสมาชิกอาเซียนเท่านั้น แต่ยังมุ่งที่จะรับรอง “ประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)” ในสถานะ “ผู้ทรงสิทธิและหน้าที่” ตามกฎบัตรนี้อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม แม้เราพบคำว่า “ประชาชนของประชาคมอาเซียน” เต็มไปหมด  มีคำอ่านย้อนกลับถามกันเหมือนกันว่า พวกเขาเหล่านี้เป็นใคร ? เพียงแค่คนสัญชาติอเมริกันที่ท่องเที่ยว ๗ วัน มีสถานะเป็นประชาชนอาเซียนหรือไม่ ? หรือคนสัญชาติญี่ปุ่นที่มาลงทุนตั้งโรงงานผลิตวิทยุคุณภาพดีในประเทศไทย มีสถานะเป็นประชาชนอาเซียนหรือไม่ ? หรือเป็นคนสัญชาติไนจีเรียที่สมรสตามกฎหมายกับหญิงสัญชาติไทยและมาประกอบธุรกิจนำเข้าส่งออกเสื้อผ้าระหว่างประเทศไทยและประเทศไนจีเรียล่ะ มีสถานะเป็นประชาชนอาเซียนหรือไม่ ? หรือเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติดังคนโรฮิงญาจากรัฐอารากันในประเทศพม่าที่หนีความกดดันทางสังคมออกมาในประเทศไทยและมาเลเซียล่ะ มีสถานะเป็นประชาชนอาเซียนหรือไม่ ?  หากพวกเขาเป็นประชาชนของประชาคมอาเซียน พวกเขาก็จะเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎบัตรอาเซียนซินะ  คงถึงเวลาแล้วล่ะมังที่นักนิติศาสตร์จะต้องมาปุจฉาวิสัชนาในประเด็นความเป็นผู้ทรงสิทธิของปัจเจกชนในกฎบัตรอาเซียนอย่างจริงจัง

ดังนั้น การปรับวิสัยทัศน์ของคนในภาคการเมืองและภาคราชการที่จะยอมรับเปิดโอกาสให้คนในภาคประชาชนมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการทำงานตามกฎบัตรอาเซียนอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นภารกิจแรกของการเตรียมความพร้อมในการผลักดันการปรากฏตัวของประชาคมอาเซียน ขอให้เราตระหนักว่า วิสัยทัศน์ใหม่แบบ “ประชาชนอาเซียนนิยม” นี้ ย่อมเกิดมิได้ในทัศนคติและอคติแบบ “อำนาจรัฐนิยม” ที่ภาคการเมืองและภาคราชการในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก

โดยสรุปที่ชัดเจนสำหรับงานเตรียมความพร้อมเพื่อประชาคมอาเซียนในประการแรก ก็คือ การสร้างวิสัยทัศน์ให้ภาคการเมืองและภาควิชาการที่จะไม่ใช้ “อำนาจรัฐนิยม” และยอมรับ “ประชาชนอาเซียนนิยม” ในทางกลับกัน  ก็คือ การสร้างวิสัยทัศน์ให้ภาคประชาชนที่จะไม่จำนนต่อ “อำนาจรัฐนิยม” และกล้าที่เชื่อใน “ประชาชนอาเซียนนิยม”

------------------------

วิสัยทัศน์อาเซียน : อาเซียนนิยมจะเข้าแทนที่ชาตินิยมในแต่ละประเทศได้จริงหรือ ?

----------------------

สิ่งแรกที่รัฐซึ่งต้องการผลักดันการเกิดขึ้นของประชาคมระหว่าง จะต้องทำ ก็คือ การสร้างวิสัยทัศน์ในคนที่ทำงานในระบบงานของรัฐให้ได้เสียก่อน เพื่อที่คนดังกล่าวจะเข้าทำหน้าที่เป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันการเกิดขึ้นและการทำงานของประชาคมระหว่างรัฐ

เราคงตระหนักว่า “ชาตินิยม” เป็นแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในทุกชาติในทุกรัฐอาเซียน ในลักษณะเดียวกับที่มีในแทบทุกรัฐในประชาคมระหว่างประเทศ และแนวคิดนี้เป็นปรปักษ์ต่อการผลักดันให้มีการเปิดเสรีระหว่างกันเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมระหว่างรัฐ การเปลี่ยนความคิดลึกๆ ในมนุษย์ซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสังคมภายในรัฐอาเซียนจึงต้องเป็นงานแรกๆ ที่จะต้องทำให้ได้ หากเราเชื่อในความถูกต้องของการรวมตัวของ ๑๐ รัฐสมาชิกอาเซียน

การปรับวิสัยทัศน์ของคนในแต่ละรัฐสมาชิกอาเซียนย่อมจะต้องเริ่มต้นจาก “การปรับวิสัยทัศน์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผลักดัน “การปรับวิสัยทัศน์ของประชาชน” ในลำดับต่อไป หากการปรับวิสัยทัศน์ของคนกลุ่มแรกล้มเหลว ก็คงทำให้การปรับวิสัยทัศน์ของคนในกลุ่มที่สองล้มเหลวตามมา

หลายครั้งที่เราได้รับฟังจากสื่อมวลชนว่า คนภาคราชการที่เจรจาในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในที่สุดประชุมอาเซียนมีทัศนคติที่มุ่งจะฉกฉวยผลประโยชน์ที่ดีกว่าจากการเจรจาดังกล่าว เราก็มีสะดุดใจว่า การกระทำเช่นนั้นจะสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียนได้จริงหรือ ? เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งหันมาตระหนักในความไม่จริงใจในการวางแผนเปิดเสรีทางการค้าแล้ว ความขุ่นข้องหมองใจก็จะบังคับเกิดขึ้น และในวันหนึ่ง ก็คงจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศจนได้

นอกจากนั้น เมื่อสื่อมวลชนรายงานข่าวของคนในภาคราชการที่ยังใช้ “ชาตินิยม” และ “ประโยชน์นิยม” ในการจัดการความสัมพันธ์อาเซียน ผลต่อไปที่จะเกิดขึ้น ก็คือ ภาพตัวอย่างที่คนในภาคประชาสังคมอาเซียนจะเห็นเป็นตัวอย่างที่จะมีแนวคิดในลักษณะดังกล่าวในระหว่างกัน “อาเซียนนิยม” จึงมิใช่แนวคิดที่ได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายในประชาคมอาเซียน  คน “ที่มี” ความพร้อมทางเศรษฐกิจที่จะแข่งขันกับคนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ก็มีความเบิกบานที่จะมีสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจด้วยความเชื่อมั่นว่า ตนจะไม่เสียเปรียบคนอื่นที่ข้ามชาติเข้ามา แต่คนที่ “ไม่มี” ความพร้อมทางเศรษฐกิจที่จะแข่งขันกับคนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ก็มีความหดหู่และความหวาดกลัวการเปิดตลาดเสรีที่กว้างมากขึ้นใน ค.ศ.๒๐๑๕/พ.ศ.๒๕๕๘ ในสถานการณ์เช่นนี้ “ประชาคมนิยม” ก็จะเกิดมิได้จริงทั้งในคนกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง

------------------------

วิสัยทัศน์อาเซียน : มีกี่ทิศทาง ?

----------------------

โดยพิจารณาเป้าหมายของประชาคมอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียน การปรับวิสัยทัศน์ดังกล่าวย่อมจะต้องมีขึ้นใน ๓ ทิศทาง กล่าวคือ (๑) วิสัยทัศน์ทางการเมืองและความมั่นคง (๒) วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ และ (๓) วิสัยทัศน์ทางสังคมและวัฒนธรรม

วิสัยทัศน์ประการแรกที่ต้องเกิดโดยทั่วไปในประชาคมอาเซียน ก็คือ วิสัยทัศน์ทางการเมือง และความมั่นคง ซึ่งมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในทุกรัฐสมาชิกประชาคมอาเซียน มุมมองความคิดแบบนี้จะทำให้คนอาเซียนทั้งหมดรู้จักการแสวงหาจุดร่วมทางผลประโยชน์และต้องสงวนจุดต่าง ซึ่งจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงข้อพิพาทระหว่างกัน และเมื่อเกิดข้อพิพาทที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะสามารถปรองดองสมานฉันท์ และไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้ง  นอกจากนั้น ในยามที่เกิดภัยพิบัติใดๆ อาทิ เมื่อมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็จะสามารถให้ความช่วยเหลือกันในการจัดการปัญหาภัยสาธารณะที่เกิดขึ้น

วิสัยทัศน์ประการที่สองที่ต้องเกิดโดยทั่วไปในประชาคมอาเซียน ก็คือ วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นเขตการค้าเสรี หรืออาจจะเป็นตลาดเสรี ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นตลาดร่วมหรือตลาดเดี่ยว  ทั้งนี้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การยอมรับเสรีภาพทางเศรษฐกิจ[2] และ (๒) การสร้างความเป็นธรรม/ความมั่นคง/ความปลอดภัยทางเศรษฐกิจและธุรกิจ

วิสัยทัศน์ประการที่สามที่ต้องเกิดโดยทั่วไปในประชาคมอาเซียน ก็คือ วิสัยทัศน์ทางสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมุ่งพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและทางวัฒนธรรมร่วมกัน 

ดังนั้น การที่ฝ่ายหนึ่งตั้งใจจะกล่าวถึงแต่ประเด็นเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งตั้งใจจะกล่าวถึงเพียงประเด็นสังคมและวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่มีลักษณะเฉพาะเรื่องเฉพาะส่วน (Particularistic) อันทำให้ไม่มีวิสัยทัศน์ต่อประชาคมอาเซียนบนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ครบถ้วน เสมือนการศึกษาที่มองแค่หัวช้างหรือหางช้าง จนทำให้ผู้ศึกษาไม่อาจทราบว่า ช้างหรือประชาคมอาเซียนในความเป็นจริงคืออะไร ? ส่งผลกระทบทั้งในแง่ output และ outcome ต่อใครอย่างไร ? ผลของวิสัยทัศน์ที่แยกส่วนและอัตวิสัย (Subjectivism) จะทำให้ผู้ศึกษาไม่อาจนำทางและสนับสนุนการพัฒนาประชาคมอาเซียนได้ในความเป็นจริง การศึกษาแบบองค์รวม (Globalism) และภาวะวิสัย (Objectivism) ย่อมนำผู้ศึกษาไปสู่ความรอบรู้ในช้าง/ประชาคมอาเซียนที่อาจนำทางและสนับสนุนประชาคมนี้ในความเป็นจริงได้อย่างจริงจัง

------------------------

ย่างก้าวที่จำเป็นที่คนในภาครัฐจะสร้างความพร้อมให้ตนเองและภาคประชาชนในการจัดการดินแดนของประเทศไทยที่จะประกอบเป็นตลาดเสรีอาเซียน

----------------------

คำถามที่ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยก็คือ คนในภาครัฐทั้งที่อยู่ในภาคการเมืองและในภาคราชการประจำมีความเข้าใจในประชาคมอาเซียนเพียงใด ? และวิเคราะห์จุดยืนและจุดก้าวของประเทศไทยในประชาคมอาเซียนที่จะมีความชัดเจนในเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นใน พ.ศ.๒๕๕๘/ค.ศ.๒๐๑๕ อย่างไร ?

หากเราตอบคำถามในเชิงวิธีวิทยาได้ว่า คนในภาครัฐมีย่างก้าวอย่างไรในการสร้างความตระหนักรู้และความเป็นเอกภาพให้กันและกันในการบริหารราชการในประชาคมอาเซียน ? เราก็จะสามารถประเมินได้ว่า คนในภาครัฐของประเทศไทยมีความพร้อมในประเด็นนี้เพียงใด ?

เราอาจจะสบายใจที่พบว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติในเรื่องที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนให้รับรู้มากมาย แต่เราก็คงสบายใจไปไม่ได้ที่เรายังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนและดินแดนของประเทศไทยที่ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีทางเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้น

เราคงตระหนักได้ดีว่า ความพร้อมของภาคประชาชนและดินแดนของประเทศไทยต่อการเปิดตลาดเสรีทางเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนในภาครัฐที่จะเข้านำทางและสนับสนุนคนในภาคประชาชนและจัดการดินแดนให้พร้อมต่อทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีทางกายภาพเพื่อความเคลื่อนไหวอย่างเสรีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

------------------------

โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสันติภาพและสันติสุขอาเซียน : กฎหมายอาเซียน ? นโยบายอาเซียน ? และความยุติธรรมอาเซียน ?

----------------------

หากเราเรียนรู้การเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแถบอื่นบนโลก ตลอดจนย้อนกลับมาพิจารณาบทเรียนของประเทศไทยเองในการเปิดเสรีภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกหรืออาเซียนเดิมในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราก็จะพบว่า สถานการณ์ความแตกต่างทางผลประโยชน์จะก่อให้เกิดความต่างในมุมมองของคนในภาครัฐด้วยกัน หรือคนในภาคประชาชนด้วยกัน หรือระหว่างคนในภาครัฐและคนในภาคประชาชน เมื่อทิศทางการบริหารจัดการตลาดเสรีถูกตีความในทิศทางที่แตกต่างกัน เราจะจัดการความหลากหลายของการตีความดังกล่าวอย่างไร ? เราจะยอมรับความหลากหลายแห่งทิศทางการบริหารจัดการ ? หรือเราจะต้องมีกระบวนการตัดสินใจสาธารณะเพื่อเลือกทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ? หากเราเชื่อในบทเรียนของมวลมนุษยชาติ สันติภาพอันเป็นสภาวะที่มนุษย์ประสบสันติสุขมากที่สุด ก็คือ การยอมรับการใช้ “ประชาธิปไตย” ในการจัดการ “เสรีภาพ” และ “การพัฒนา”

ย้อนกลับมาที่สังคมไทยโดยเฉพาะเจาะลง การปรับวิสัยทัศน์ของภาคราชการให้มีความเชื่อและความมุ่งมั่นใน “ประชาคมนิยม” ย่อมเป็นสิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับประชาคมอาเซียนมิใช่หรือ ? ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์แห่งความหลากหลายทางความคิดย่อมเป็นสิ่งที่คาดเดาว่า จะเกิดขึ้น สำหรับนักนิติศาสตร์แล้ว การเตรียมแนวคิดทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเพื่อระงับข้อพิพาทในอนาคตอันเกิดจากการบริหารจัดการประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน ก็น่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยงต่อการหายไปของสันติภาพและสันติสุข  ในฐานะนักนิติศาสตร์ซึ่งจะต้องสนใจใคร่ครวญเรื่องของความยุติธรรม คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดถึง “มาตรฐานความยุติธรรม” ที่ยอมรับได้ระหว่างทุกคู่พิพาทที่เกิดขึ้นแล้วในประชาคมอาเซียนและจะเกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน

ดังนั้น ประเด็นที่นักนิติศาสตร์อาเซียนจะต้องคิดค้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ มาตรฐานความยุติธรรมอาเซียนน่าจะมีลักษณะอย่างไร ? กระบวนการยุติธรรมอาเซียนควรจะมีขั้นตอนอย่างไร ? ในสถานการณ์ที่ความคิดเชิงทฤษฎีที่ยอมรับกันในกระบวนการยุติธรรมของทั้ง ๑๐ รัฐสมาชิกอาเซียนยังไม่ถูกทำให้ชัดเจน การจัดการการขัดกันของกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมาย หรือการตีความกฎหมาย จะถูกจัดการอย่างไร ?

เราต่างก็ตระหนักได้ใช้ไหมว่า หากกฎหมายอาเซียน นโยบายอาเซียน และความยุติธรรมอาเซียนได้ถูกทำให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนอาเซียน สันติภาพและสันติสุขอาเซียนก็จะเริ่มปรากฏตัวชัดเจนมากขึ้น

----------------------

[1] โปรดดูตัวบทกฎบัตรนี้ ใน http://aseansummit.mfa.go.th/15/thai/PDF/ASEAN_Charter_TH+EN.pdf  กฎบัตรอาเซียนมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑/ค.ศ.๒๐๐๘ กล่าวคือ หลังจากที่ประเทศสมาชิกครบทั้ง ๑๐ ประเทศได้ให้สัตยาบันกฎบัตร

[2] ซึ่งก็คือ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ  ๔ ประการ กล่าวคือ (๑) เสรีภาพของทุน (๒) เสรีภาพของคนทำงาน (๓) เสรีภาพของสินค้า และ (๔) เสรีภาพของบริการ

 

หมายเลขบันทึก: 552672เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2018 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

.....ตามมาอ่านบทความดีดีนี้ค่ะ  ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท