สิ่งที่เคลื่อนไหวในโรงพยาบาล "ขัดถู ขัดถู"


สิ่งที่เคลื่อนไหวในโรงพยาบาล "ขัดถู ขัดถู"

 

 

ถ้าผมจะถามคุณว่า "ในโรงพยาบาลนี้ ใครใหญ่ที่สุด"

"ผู้อำนวยการสิ"

"ไม่ใช่ ถ้าเป็นสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลเป็นของคณะแพทยศาสตร์ ดังนั้นคณบดีสิใหญ่สุด"

"ใครบอก ถ้าเป็นสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของคณะแพทยศาสตร์ ดังนั้นอธิการบดีใหญ่สุด"

แต่ผมว่าคนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผมในวันนี้ก็คือ "แม่บ้าน" งานแม่บ้าน หรือ งานเคหะบริการ

     มีแม่บ้านจำนวนมากอยู่ในหน่วยงานนี้ หน้าที่หลักของพวกเธอก็คือการดูแลความสะอาดเรียบร้อยของโรงพยาบาล ลองคิดดูว่าโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่พื้นที่ใช้สอยกว่าแสนตารางเมตรนั้น จะดูแลความสะอาดยากขนาดไหน ตอบได้เลยว่ายากและยากมากและยากมากๆจริงๆเสียด้วย

     แม่บ้านของโรงพยาบาลผมทำงานหนักมาก ต้องล้างส้วม เช็ดขัดถูพื้นโรงพยาบาล ทำลิฟต์ให้สะอาดพร้อมใช้ (แต่หน้าที่ปิดลิฟต์รอเจ้านายเขาไม่ยุ่งเกี่ยวนะครับ) ทำให้หลังคาไร้หยากไย่ใยแมงมุม เก็บขยะ ขนย้ายขยะ ทำลายขยะติดเชื้อ หมักน้ำจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการดับกลิ่นในพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะส้วม ตัดเย็บผ้าชนิดต่างๆที่โรงพยาบาลมีความต้องการใช้ ซ่อมเตียงที่บุด้วยนวม ปะพื้นกระเบื้อง ซ่อมคิ้วบันได โอย...ยังมีอีกเยอะนะครับ นี่ถ้าแกช่วยฉีดยาได้ล่ะก็ คงได้ช่วยทุ่นแรงคุณพยาบาลไปได้อีกโขเชียวครับ

 

     งานแม่บ้านไม่เคยหยุด วันหยุดโรงพยาบาลก็ยังคงต้องสะอาด สงกรานต์โรงพยาบาลก็ยังสะอาด เทศกาลปีใหม่โรงพยาบาลก็ยังสะอาด เพราะแม่บ้านโรงพยาบาลผมไม่เคยหยุดทำงาน ผมเคยหยุดทักทายทีมมดงานเหล่านี้ ว่าเหนื่อยไหม เขาก็ตอบว่าเหนื่อย ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวก็เคยถามว่าคิดถึงคนที่บ้านไหม เขาก็ตอบว่า "คิดถึงสิอาจารย์ ลูกกลับมาจากกรุงเทพฯ ยังไม่ได้เจอหน้ากันเลย แต่เดี๋ยวพี่ก็ลงเวรแล้ว" มันเป็นคำตอบที่คาดถึง และคิดอยู่แล้วว่าเขาต้องเหนื่อย ต้องอยากกลับไปงานเลี้ยงสังสรรค์ของครอบครัว แต่สิ่งที่ผมต้องแอบชื่นชมทุกครั้งก็คือ แรงใจในการทำงาน

     เคยสังเกตไหมครับ เหล่าบรรดาแม่บ้านของโรงพยาบาลเรานั้นยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกกับการทำงาน แลดูเขามีความสุขมาก เวลาว่างก็จับกลุ่มนั่งคุยกัน หัวเราะกัน เมื่อถึงเวลาก็ออกไปทำงานกัน บางครั้งเวลาทำงานเหนื่อยอ่อน หรือเริ่มรู้สึกเกียจคร้าน ต้องหันมาดูคนกลุ่มนี้ หรือออกมาทักทายกัน จะรู้สึกได้ถึงพลังที่เขาส่งมาให้ ทำให้เราอยากทำงานของเราต่อไป

     งานหนึ่งของเหล่าแม่บ้านที่ผมชอบมากงานหนึ่ง คืองานขัดพื้นลงแว๊กซ์ ทุกครั้งที่มีมหกรรมนี้เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า ต้องมีการล้างพื้น เช็ดพื้น ลงแว๊กซ์ แล้วตามด้วยการขัดเพื่อขึ้นเงา แน่นอนว่าต้องใช้คนมากกว่า ๓ คน ต้องเคลียร์พื้นที่ ต้องปิดการจราจรเดิน ผมเคยมาแซวท่านเหล่านี้เมื่อเสร็จงาน นัยว่าต้องมาตรวจดูว่าสะอาดเรียบร้อยแค่ไหนโดยการเดินเข้ามาแล้วดูความแวววาวของพื้น ทำอย่างไรน่ะเหรอครับ ง่ายนิดเดียว หากมันแวววับก็จะส่องกางเกงในได้น่ะสิ ว๊ากกกกก......พูดเล่น ไม่เค้ยไม่เคย ดูแล้วไม่เคยเห็นหรอกครับ ไม่ต้องระแวงกัน

     และงานนี้แหละที่ผมเข้าใจได้ว่า พวกพี่ๆน้องๆป้าๆทีมนี้นั้นใหญ่ที่สุด จะไม่ให้ใหญ่ได้อย่างไรไหว เพราะต่อให้ผู้อำนวยการ หรือคณบดีเดินมาก็ห้ามผ่าน ห้ามเข้า เพราะกำลังอยู่ระหว่างทำความสะอาด "เข้าไม่ได้ค่าาาาาา อาจารย์ พื้นเปียก มันลื่นค่าาาาาา" ว่าแล้วผู้อำนวยการและคณบดีก็ต้องหลบไป

 

ขอคารวะในความยืดหยัดในหน้าที่ครับ ใครเหนื่อยล้า ผมแนะนำว่ามาคุยกับแม่บ้านผมนะครับ รับรองได้ว่าท่านจะเกิดพลัง

 

หมายเลขบันทึก: 551869เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนคุณหมอ....

ที่ปากพะยูนหลายปีมาแล้ว มีแม่บ้านที่อหังการ มาก พอดู แกทำงานรับใช้ ผอ. ไม่ใช่รับใช้ โรงพยาบาล

แกบอกว่า.....

กวาด  กวาด กวาด ถูถู ถู 

ผอ.ไม่อยู่ไม่ต้องถูต้องกวาด

ถู ถู ถู กวาด กวาด กวาด...

วันนี้ทั้งกวาดทั้งถู

ผอ.ท่านอยู่ต้องสะอาด ทั้งกวาดทั้งถู....

สมัย ทำบัตรผู้ป่วย ถอดระหัสกุฑล รพ.สต. (โรงพยาบาลสิบเตียง) ครับท่าน

ชอบทีมแม่บ้านมหาวิทยาลัยเหมือนกัน

แกกวาดถูทั้งวัน แต่เป็นทีมที่มีความสุข

ผมเคยยืนทำธุระในห้องน้ำอยู่ แม่บ้านมา

เก็บเกือบไม่ทัน 555

 วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- การมีบุคลากรที่ดีเป็นกุศลขององค์กรครับ ผมได้กุศลอันนั้นไป

อาจารย์ขจิต ท่านต้องใส่กางเกงตัวใหญ่ๆหน่อย จะได้เก็บสะดวก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท