เคาะ! งบปี 50 ขาดดุล 1 แสนล. จัดสรรงบรายจ่ายประจำ 70.4% และงบลงทุน 26% ด้าน ครม. ตีกลับทบทวนยุทธศาสตร์เสนอ 14 พ.ย.นี้


เคาะ! งบปี 50 ขาดดุล 1 แสนล. จัดสรรงบรายจ่ายประจำ 70.4% และงบลงทุน 26% ด้าน ครม. ตีกลับทบทวนยุทธศาสตร์เสนอ 14 พ.ย.นี้
ครม. ไฟเขียวกรอบงบประมาณปี 2550 แล้ว เป็นงบขาดดุล 1 แสนล้านบาท งบประมาณรายจ่าย  1.52 ล้านล้านบาท  งบประมาณรายได้ 1.42 ล้านล้านบาท แยกจัดสรรเป็นงบรายจ่ายประจำ 70.4%           งบลงทุน 26% และงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ 3.6% สั่งสำนักงบประมาณทบทวนใส้ในยุทธศาสตร์สอดรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสนอ ครม. อีกครั้ง 14 พ.ย. การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม  ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอกรอบการจัดทำงบประมาณปี 2550 ให้ ครม. พิจารณา แต่ปรากฎว่าที่ประชุมยังไม่ได้มีการอนุมัติการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 เนื่องจากยังคงต้องมีการปรับแก้แนวคิดให้สอดคล้องกันกับนโยบายของรัฐบาลที่วางไว้ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังคงมีระยะเวลาในการจัดทำให้แล้วเสร็จได้ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม 2549 นี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ เสนอทูลเกล้าถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาลงพระปรมาภิไธย เพื่อให้สามรถประกาศใช้ได้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2550 เป็นต้นไปสำหรับกรอบงบประมาณปี 2550 นั้น นางดวงสมร วรฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า  ในที่ประชุม ครม. ได้มีการเสนอกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ให้ที่ประชุมพิจารณาซึ่งเบื้องต้น     ได้เสนอการจัดทำงบประมาณปี 2550 แบบขาดดุล จำนวน 100,000 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณรายจ่าย 1,520,000 ล้านบาท   งบประมาณรายได้ 1,420,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำประมาณ 70% หรือคิดเป็นวงเงินและงบลงทุน 26% ส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ประมาณ 4% งบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,520,000 ล้านบาทนี้ แบ่งเป็น งบประจำ 70.4% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน จำนวน 1,069,450 ล้านบาท   งบลงทุน 26% จำนวน 395,200 ล้านบาท   และงบสำหรับการชำระหนี้ 3.6% จำนวน 55,350 ล้านบาท   จากการคาดการณ์บนพื้นฐานว่า ภาวะเศรษฐกิจในปี 2550 จะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 4.8%   การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 8%   การลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.8%    การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 4.3% การส่งออกขยายตัว 9% หรือมูลค่า 136,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   การนำเข้าขยายตัว 11% หรือมูลค่า 142,400 ล้านดอลลาร์ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 0.4% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3.5%ทั้งนี้ สำหรับปฏิทินการจัดทำงบประมาณปี 2550 ครม.กำหนดให้สำนักงบประมาณเสนอรายละเอียด      ของยุทธศาสตร์อีกครั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549  โดยหลังจากนั้น ครม. จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 28 พ.ย.   ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาวาระแรกในวันที่ 4 ธันวาคม 2549   และพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 28 ธันวาคม 2549  ก่อนที่จะนำทูลเกล้าถวายฯในวันที่ 29 ธันวาคม 2549  นายเอกนิติ นิติธรรมประภาส ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจ มหภาคและระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2550 เป็นแบบขาดดุล จะช่วยให้จีดีพีสามารถเติบโตได้เพิ่มสูงมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ระดับ 3.5-4.5% ประกอบกับขณะนี้มีปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลายส่วน ส่งผลให้แนวโน้มของจีดีพีในปี 2550 น่าจะสามารถเติบโตได้ในช่วงสมมุติฐานขั้นสูง คือ ที่ระดับ 4.5% จึงเชื่อได้ว่า ในการประกาศประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจของ สศค. ในเดือนพฤศจิกายน 2550 นี้ ตัวเลขจีดีพีจะสามารถปรับตัวได้เพิ่มสูงขึ้นอีกจากปัจจัยหลักในเรื่องการทำงบแบบขาดดุล ทาง สศค. ได้มีการประเมินไว้ว่า กรณีที่มีกรขาดดุลในระดับ 50,000 ล้านบาท จะสามารถช่วยให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้นได้อีก 0.2% และเมื่อรัฐบาลประกาศกรอบการจัดทำวงเงินงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวน 100,000 ล้านบาทดังกล่าว ก็จะช่วยให้จีดีพีสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก 0.4% ดังนั้น จึงสามารถที่จะปรับตัวเลขประมาณการจีดีพีในปี 2550 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.9-4.9% จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 3.5-4.5%   "การลงทุนภาครัฐในปี 2550 นั้น คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 2549 เนื่องจากสามารถ       ที่จะจัดทำงบประมาณได้เสร็จและใช้ได้ในมกราคม 2550 และโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2550 จะมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนของปีงบประมาณ 2551 เข้ามาเพิ่มเติมอีกได้ ส่วนเงินเฟ้อนั้น คาดว่าในระยะต่อไปน่าที่จะเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ได้มีการปรับขึ้นสูงเร็วมากอย่างช่วงก่อน และค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2549"  นายเอกนิติ กล่าว

ฐานเศรษฐกิจ  19  ต.ค.  49

คำสำคัญ (Tags): #งบประมาณ
หมายเลขบันทึก: 55125เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท