มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๕. นักศึกษาผู้ประกอบการ


 

ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

นักศึกษาผู้ประกอบการที่คณะดูงานของสถาบันคลังสมอง ที่สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๓ ก.ย. ๕๖   ไปพบมีที่มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด  มหาวิทยาลัยนอร์ธแทมตัน  และที่ ยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจ ลอนดอน

ที่มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด นศ. ตั้งองค์กร Oxford Student Hub ทำธุรกิจร้านอาหาร ที่ทำธุรกิจแบบ มืออาชีพ มีผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ นศ. (นศ. ไม่มีเวลาทุ่มเท)     เพื่อเอากำไรไป สนับสนุนกิจกรรม อาสาเพื่อสังคมของนักศึกษา

Oxford Hubs มีโครงการ Schools Plus ให้ นศ. อาสาสมัครไปเป็นติวเต้อร์ แก่นักเรียนในโรงเรียน ในละแวกใกล้เคียง    เพื่อสร้างจิตอาสา  เป็นพื้นฐานสำหรับการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม    ที่จริงโครงการ School Plus นี้ มีในหลายมหาวิทยาลัย

มีโครงการ Student Minds จัดการให้มีกิจกรรมที่ นศ. ช่วยเหลือกันเองในด้านสุขภาพจิต   เป็นโอกาส ฝึกฝนจิตอาสาของ นศ.    โครงการนี้จัดทั่วประเทศเช่นเดียวกัน

ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแทมตัน   อธิการบดีอาสารัฐบาล ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็น SE ทั้งมหาวิทยาลัย    และจะตั้งวิทยาเขตใหม่ ที่ออกแบบเพื่อการเป็น SE เต็มรูปแบบ    มีหน่วยงานส่งเสริมจิตอาสาเพื่อสังคม และส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ ให้แก่ นศ.    แต่ยังไม่มีองค์กรที่ นศ. รวมตัวกันดำเนินการ SE เอง อย่างที่ อ็อกซฟอร์ด    มีแต่กรณี นศ. ทำกิจการของตนเอง

โดยนักศึกษาเขียนโครงการทำธุรกิจตามที่ตนถนัด มาขอให้ SE Support Service ของมหาวิทยาลัย ประเมินความเป็นไปได้   และหาผู้ร่วมลงทุนให้    เขาเอากรณีตัวอย่าง มานำเสนอ ๓ กรณี    นศ. คนแรก เป็นผู้หญิง เชื้อชาติอินเดีย อายุ ๒๑ ปี   ทำธุรกิจขายสินค้า ออนไลน์   โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมถือหุ้น แต่จะไม่ได้รับเงิน ปันผล   เพราะกำไรจะนำไปเข้ากองทุน SE ของมหาวิทยาลัย    ตัวสินค้าเป็นกระเป๋า organizer สำหรับใส่ใน กระเป๋าใบโตอีกทีหนึ่ง    โครงการนี้ผมฟังแล้วบอกตัวเองว่า คงจะอยู่ได้ไม่นาน   เพราะตัวสินค้า มีเพียง ๒ ชนิด    และไม่เห็นกิจกรรมสร้างนวัตกรรมต่อเนื่องในตัวสินค้า    ไม่เห็นการเก็บข้อมูลความต้องการ ของลูกค้า

ผมมองว่า การเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) ไปทำโครงงานในสถานการณ์จริง    จะสร้างแรงบันดาลใจ ให้ นศ. เห็นคุณค่า และเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจเพื่อสังคม    เราต้องการคนที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้มแข็ง มากขึ้น    ไม่ใช่ปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ค่อยๆ เขมือบไปหมด อย่างในปัจจุบัน 

นศ. คนที่สองมีสีสันที่สุด ชื่อ Marvin  เพราะเป็นคนดำที่ท่าทางน่าจะมาจากครอบครัวหรือกลุ่มสังคม ที่แปลกแยก    เขาเล่าว่า เขาใช้ชีวิตเสเพลก่อปัญหาสังคม ในมหานครลอนดอน มาหลายปีจนคิดได้    ว่าน่าจะใช้ พรสวรรค์ของตน ด้านศิลปะวาดรูป    ในการเรียนและอาชีพด้านการออกแบบ   จึงมาเรียนปริญญาตรีด้าน การออกแบบ    และเมื่อมาเรียนรู้เรื่อง SE จึงคิดว่าตนน่าจะตั้งบริษัทเป็นผู้ประกอบการทางสังคม เพื่อช่วยให้ เด็กๆ ค้นพบตัวเอง โดยการทำกิจกรรมด้านศิลปะ   ก็จะช่วยลดเยาวชนเกเร ก่อปัญหาสังคมอย่างที่ตนเองเคยเป็น   เขาจึงตั้งบริษัท Ghostdavandal Originals ให้บริการหลายอย่าง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัด Workshop ด้านศิลปะ เพื่อการค้นพบตัวเองของเด็กๆ ที่คิวจองยาวมาก    ผมคิดว่า ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตและพัฒนาได้มาก

    นศ. อีกคู่หนึ่ง เป็นผู้หญิงวัยกลางคนทั้งคู่ อายุระหว่าง ๔๐ - ๕๐ ปี มาเรียนระดับปริญญาตรี เป็นศิลปินทั้งคู่    ทำกิจการธุรกิจนิทรรศการศิลปะเคลื่อนที่ (Pop-up Gallery)    โดยมีเป้าหมายแฝงเพื่อให้ คนมาพบปะพูดคุยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน    ถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมรูปแบบหนึ่ง

เพื่อเป็นช่องทางให้ฝ่ายต่างๆ ในมหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติและเรียนรู้ เรื่อง SE   มหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน ได้เข้าไปถือหุ้นใน SE จำนวน ๒๐ แห่ง    ในจำนวนนี้มีบริษัท Goodwill Solutions ที่เล่าแล้วในตอนที่ ๔ 

ที่ University College London  มี Global Citizenship Office อยู่ในความดูแลของรองอธิการบดี ฝ่ายการศึกษา    ทำหน้าที่ขับเคลื่อนความเป็นพลเมืองโลกให้แก่นักศึกษา    โดยที่ตอนท้ายของแต่ละปีการศึกษา ๒ สัปดาห์สุดท้าย นศ. จะทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อความเป็นพลเมืองโลก

เป้าหมายคือการส่งเสริมให้ นศ. มีหัวธุรกิจ และมีจิตสาธารณะไปพร้อมๆ กัน 

กิจกรรมที่ นศ. ไปทำงานอาสาสมัครมีมากมายหลากหลาย    ร่วมกับความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัย ในด้านนั้นๆ    เช่นใน UCL มีสถาบันสุขภาพเด็ก ที่ Great Ormond Street   ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ชื่อของถนน กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเพราะมีโรงพยาบาลนี้   เขามีโครงการ Trim Tots เพื่อรณรงค์ลดโรคอ้วนในเด็ก    นศ. ได้เข้าร่วมโครงการรณรงค์ด้วย    แต่เราไม่ได้ซักว่า นศ. ไปทำอะไร เกิดการเรียนรู้ด้านการเป็นพลเมืองโลก อย่างเป็นชิ้นเป็นอันแค่ไหน

ที่ลอนดอน เราไปพบ นศ. หรือบัณฑิตใหม่ ที่มีทักษะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมแบบที่มีความ สามารถน่าทึ่งมาก    คือ CEO ของ NACUE ตามที่ได้เล่าแล้วในบันทึกตอนที่ ๔

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ย. ๕๖   ปรับปรุง ๒๘ ก.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 551204เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2013 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2014 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท