เทคนิค / วิธีการที่ใช้ในการประเมินตามสภาพจริง


เทคนิค / วิธีการที่ใช้ในการประเมินตามสภาพจริง

          การประเมินตามสภาพจริงเป็นการกระทำ การแสดงออกหลาย ๆ ด้าน ของนักเรียนตามสภาพความเป็นจริงทั้งในและนอกห้องเรียน มีวิธีการประเมินโดยสังเขปดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 2542 : 184-193)

          1. การสังเกต  เป็นวิธีการที่ดีมากวิธีหนึ่งในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมด้านการใช้ความคิด การปฏิบัติงาน และโดยเฉพาะด้านอารมณ์ ความรู้สึก และลักษณะนิสัยสามารถทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน หรือในสถานการณ์อื่นนอกโรงเรียน

          วิธีการสังเกตทำได้โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การสังเกตโดยตั้งใจหรือมีโครงการสร้างหมายถึงครูกำหนดพฤติกรรมที่ต้องสังเกต ช่วงเวลาสังเกตและวิธีการสังเกต (เช่น สังเกตคนละ 3-5 นาทีเวียนไปเรื่อย ๆ )อีกวิธีหนึ่ง คือ การสังเกตแบบไม่ตั้งใจ หรือไม่มีโครงสร้าง ซึ่งหมายถึงไม่มีการกำหนดรายการสังเกตไว้ล่วงหน้า ครูอาจมีกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อบันทึกเมื่อพบพฤติกรรมการแสดงออกที่มีความหมาย หรือสะดุดความสนใจของครู การบันทึกอาจทำได้โดยย่อก่อน แล้วขยายความสมบูรณ์ภายหลังวิธีการสังเกตที่ดีควรใช้ทั้งสองวิธี เพราะการสังเกตโดยตั้งใจ อาจทำให้ละเลยมองข้ามพฤติกรรมที่น่าสนใจแต่ไม่มีในรายการที่กำหนด ส่วนการสังเกตโดยไม่ตั้งใจอาจทำให้ครูขาดความชัดเจนว่าพฤติกรรมใด การแสดงออกใด ที่ควรแก่การสนใจและบันทึกไว้ เป็นต้น  ข้อเตือนใจสำหรับการใช้วิธีสังเกต คือ ต้องสังเกตหลาย ๆ ครั้งในหลายๆ สถานการณ์ (การเรียน การทำงานตามลำพัง การทำงานกลุ่ม การเล่น การเข้าสังคมกับเพื่อน การวางตัว ฯลฯ) เมื่อมีเวลาผ่านไประยะหนึ่งๆ (2-3 สัปดาห์) จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อพิจารณาสักครั้งหนึ่ง

          เครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้ประกอบการสังเกต ได้แก่ แบบตรวจสอบรายการ แบบมาตราส่วนประมาณค่า แบบบันทึกระเบียนสะสม เป็นต้น

          2. การสัมภาษณ์  เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมด้านต่างได้ดี เช่น ความคิด (สติปัญญา) ความรู้สึก กระบวนการขั้นตอนในการทำงาน วิธีแก้ปัญหา ฯลฯ อาจใช้ประกอบการสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มั่นใจมากยิ่งขึ้น

          ข้อแนะนำบางประการเกี่ยวกับการสัมภาษณ์

                   (1) ก่อนสัมภาษณ์ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของนักเรียนก่อนเพื่อทำให้การสัมภาษณ์เจาะตรงประเด็นและได้ข้อมูลยิ่งขึ้น

                   (2) เตรียมชุดคำถามล่วงหน้าและจัดลำดับคำถามช่วยให้การตอบไม่วกวน

                   (3) ขณะสัมภาษณ์ครูใช้วาจา ท่าทาง น้ำเสียงที่อบอุ่นเป็นกันเอง ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกปลอดภัย และแนวโน้มให้นักเรียนอยากพูด / เล่า

                   (4) ใช้คำภามที่นักเรียนเข้าใจง่าย

                   (5) อาจใช้วิธีสัมภาษณ์ทางอ้อมคือ สัมภาษณ์จากบุคคลที่ใกล้ชิดนักเรียน เช่น เพื่อนสนิท ผู้ปกครอง เป็นต้น

 

          3. การตรวจงาน เป็นการวัดและประเมินผลที่เน้นการนำผลการประเมินไปใช้ทันทีใน 2 ลักษณะ คือ เพื่อการช่วยเหลือนักเรียนและเพื่อปรับปรุงการสอนของครู จึงเป็นการประเมินที่ควรดำเนินการตลอดเวลา เช่น การตรวจแบบฝึกหัด ผลงานภาคปฏิบัติ โครงการ/โครงงานต่างๆ เป็นต้น งานเหล่านี้ควรมีลักษณะที่ครูสามารถประเมินพฤติกรรมระดับสูงของนักเรียนได้ เช่น แบบฝึกหัดที่เน้นการเขียนตอบ เรียบเรียง สร้างสรรค์ (ไม่ใช้แบบฝึกหัดที่เลียนแบบข้อสอบเลือกตอบซึ่งมักประเมินได้เพียงความรู้ความจำ) งาน โครงการ โครงงาน ที่เน้นความคิดขั้นสูงในการวางแผนจัดการ ดำเนินการและแก้ปัญหาสิ่งที่ควรประเมินควบคู่ไปด้วยเสมอในการตรวจงาน (ทั้งงานเขียนตอบและปฏิบัติ) คือ ลักษณะนิสัยและคุณลักษณะที่ดีในการทำงาน

 

4. การรายงานตนเอง  เป็นการให้นักเรียนเขียนบรรยายหรือตอบคำถามสั้น ๆ หรือ ตอบแบบสอบถามที่ครูสร้างขึ้น เพื่อสะท้อนถึงการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งความรู้ ความเข้าใจ วิธีคิด วิธีทำงานความพอใจในผลงาน ความต้องการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น

5. การใช้บันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง  เป็นการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนผลงานนักเรียน โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น จากเพื่อนครู โดยประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน (ประเมินเดือนละครั้ง)

          จากเพื่อนนักเรียน โดยจัดชั่วโมงสนทนา วิพากษ์ผลงาน (นักเรียนต้องได้รับคำแนะนำมาก่อนเกี่ยวกับหลักการ วิธีวิจารณ์เพื่อการสร้างสรรค์)

 

          จากผู้ปกครอง โดยจดหมาย / สารสัมพันธ์ที่ครู หรือโรงเรียนกับผู้ปกครองมีถึงกันโดยตลอดเวลา โดยการประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนจัดขึ้น หรือโดยการตอบแบบสอบถามสั้น ๆ

 6. การใช้ข้อสอบแบบเน้นการปฏิบัติจริง  ในกรณีที่ครูต้องการใช้แบบทดสอบ ขอเสนอแนะให้ใช้แบบทดสอบภาคปฏิบัติที่เน้นการปฏิบัติจริง ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

 

                    6.1 ปัญหาต้องมีความหมายต่อผู้เรียน และมีความสำคัญเพียงพอที่จะแสดงถึงภูมิความรู้ของนักเรียนในระดับชั้นนั้น ๆ

 

                    6.2 เป็นปัญหาที่เลียนแบบสภาพจริงในชีวิตของนักเรียน

 

                   6.3 แบบสอบต้องครอบคลุมทั้งความสามารถและเนื้อหาตามหลักสูตร

 

                   6.4 นักเรียนต้องใช้ความรู้ความสามารถ ความคิดหลาย ๆ ด้านมาผสมผสาน และแสดงวิธีคิดได้เป็นขั้นตอนที่ชัดเจน

 

                   6.5 ควรมีคำตอบถูกได้หลายคำตอบ และมีวิธีการหาคำตอบได้หลายวิธี

 

                   6.6 มีเกณฑ์การให้คะแนนตามความสมบูรณ์ของคำตอบอย่างชัดเจน

 

          7. การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน  แฟ้มสะสมงานหมายถึง สิ่งที่ใช้สะสมงานของนักเรียนอย่างมีจุดประสงค์ อาจเป็นแฟ้ม กล่อง แผ่นดิสก์ อัลบั้ม ฯลฯ ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายาม ความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ในเรื่องนั้นๆ หรือหลาย ๆ เรื่อง การสะสมนั้นนักเรียนมีส่วนร่วมในการเลือกเนื้อหา เกณฑ์การเลือก เกณฑ์การตัดสิน ความสามารถ / คุณสมบัติ หลักฐานการสะท้อนตนเอง

 

          การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมงานเป็นวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายวิธีหนึ่ง เพราะใช้การประเมินให้ผูกติดอยู่กับการสอนและมีนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนที่ชัดเจน

 

          วิธีการประเมินตามสภาพจริงที่ได้กล่าวแล้วนั้น การที่จะได้มาซึ่งผลการเรียนรู้ที่แท้จริงของนักเรียน ครูควรใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้านและมีจำนวนมากเพียงพอที่จะประเมินผลที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนอย่างมั่นใจหลักเกณฑ์ วิธีการให้คะแนนตามแนวทางการประเมินตามสภาพจริง

 

การให้คะแนน

 

          หลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนตามแนวทางของาการประเมินตามสภาพจริงของนักเรียน ทำได้ใน 2 แนวทาง (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2540 : 12-14) ดังนี้

 

          แนวทางที่ 1

 

          ให้คะแนนในลักษณะภาพรวม เป็นการให้คะแนนในความหมายว่า คะแนนนั้นเป็นตัวแทนความประทับใจในผลงานทั้งหมดรวมทุกด้านแล้ว มักใช้กับเครื่องมือวัดประเมินผลที่เป็น Authentic Test

 

ตัวอย่างการให้คะแนนในลักษณะภาพรวม

 

          ตัวอย่างที่ 1 กำหนดสถานการณ์ให้นักเรียนคิด  แล้วให้ตอบพร้อมอธิบายวิธีการคิด 

 

          เกณฑ์การให้คะแนน

 

          0        =        ไม่ตอบหรือตอบไม่ถูกและอธิบายวิธีคิดไม่ได้

 

          1        =        ไม่ตอบ  แต่แสดงวิธีคิดเล็กน้อย  วิธีคิดมีแนวทางจะนำไปสู่คำตอบได้

 

          2        =        ตอบผิดแต่มีเหตุผลหรือเกิดจากการคำนวณผิดพลาด  แต่มีแนวทางไปสู่

 

                             คำตอบที่ชัดเจน

 

          3        =        คำตอบถูก เหตุผลถูกต้อง อาจมีข้อผิดพลาดบ้าง

 

          4        =        คำตอบถูก แสดงเหตุผลถูกต้อง แนวคิดชัดเจน

 

          ตัวอย่างที่ 2  ใช้แนวคิดคล้ายการประเมินแบบอิงกลุ่ม คือ แบ่งงานนักเรียนออกเป็น 3 กอง

 

                   กองที่  1  งานที่มีคุณภาพพิเศษ

 

                   กองที่  2  งานที่ได้รับการยอมรับ

 

                   กองที่  3  งานที่ไม่ได้รับการยอมรับ

 

                   แบ่งงานแต่ละกองออกเป็น  2  ระดับ  แต่ละกองจะได้ระดับคะแนนเป็น 5-6,  3-4,  และ 1-2  ตามลำดับ  พร้อมทั้งอธิบายลักษณะงานแต่ละกอง  สำหรับงานที่แสดงว่าไม่ได้ใช้ความพยายามเลยให้  0  คะแนน

 

          แนวทางที่  2

 

          ให้คะแนนในลักษณะวิเคราะห์งานเป็นส่วนย่อย เป็นการแตกย่อยผลสัมฤทธิ์ของงานหนึ่งๆ  ออกเป็นหลายๆ ด้าน  เพื่อวิเคราะห์ระดับความสำเร็จแต่ละด้านในงานนั้น  ของนักเรียน  ข้อมูลมีประโยชน์มากต่อการพัฒนาการเรียนการสอน  มักใช้ประเมินแฟ้มสะสม

 

ตัวอย่างข้อสอบและวิธีการให้คะแนนในลักษณะวิเคราะห์งานเป็นส่วนย่อย

 

                   การประเมินภาพวาด  (ศิลปศึกษา)  (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 2540  : 17 อ้างถึง   สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2537)

 

                   การจัดองค์ประกอบ

 

1        คะแนน  องค์ประกอบภาพน้อยหรือมากเกินไป  เนื้อหาไม่ตรงจุดมุ่งหมาย  ระยะภาพมีระยะเดียว

 

2        คะแนน  องค์ประกอบภาพกระจายจนไม่มีจุดเด่น  ระยะภาพผิดขนาดในบางส่วน

 

3        คะแนน  ภาพมีความสมดุล  จุดเด่นภาพชัดเจน  เหมาะสม  มีการใช้ระยะภาพใกล้ ไกล  นำสายตาไปยังจุดเด่น 

 

การผสมสี

1คะแนน  บีบสีจากหลอด  ระบายบนกระดาษเลย  และไม่สามารถผสมสีได้ตามต้องการ

คะแนน  ใช้จานสีในการผสมสี  แต่สีเหลวหรือข้นเกินไป

3 คะแนน  ผสมสีได้เหมาะสมและใช้สีได้ใกล้เคียงความจริง  ฯลฯ

 

กล่าวโดยสรุป  วิธีการให้คะแนนตามแนวประเมินตามสภาพจริง  เน้นที่การให้ข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความรอบรู้ของนักเรียนว่ามีลักษณะอย่างไรและความสำเร็จหรือความรอบรู้ในระดับที่แตกต่างกันนั้น  มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร  ไม่ใช่ให้ความหมายเพียงแค่การได้ / ตก  หรือ  ผ่าน / ไม่ผ่าน  หรือระดับของการผ่านเท่านั้น  นอกจากนี้การนำผลประเมินไปใช้ประโยชน์ด้านการตัดสินผลการเรียนก็มีความสำคัญเป็นอันดับรองจากการนำไปใช้เพื่อพัฒนานักเรียนและตัวครู

 

สรุป

 

การประเมินสภาพจริง เป็นการประเมินที่เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติ  ถ้าสามรถปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริงจะดีมาก  แต่ถ้าไม่ได้  อาจใช้สถานการณ์จำลองที่พยายามให้เหมือนจริงมากที่สุด  หรืออาจจะให้ผู้เรียนไปปฏิบัตินอกห้องเรียน  หรือที่บ้าน  แล้วเก็บผลงานไว้ โดยอาจจะเก็บไว้ในแฟ้มสะสมงาน  แล้วครูเรียกมาประเมินภายหลัง   สถานการณ์ที่ประเมินควรเป็นสถานการณ์ที่ประเมินผู้เรียนได้หลายมิติ  เช่น  ทักษะ  ความรู้  ความสามารถ   การคิด  และคุณลักษณะต่างๆ  วิธีการที่ใช้ประกอบการประเมินตามสภาพจริงควรมีหลากหลายประกอบกัน  สรุปได้ดังนี้

 

                   1. การสังเกต

 

                   2. การสัมภาษณ์

 

                   3. การตรวจงาน

 

                   4. การรายงานตนเองของนักเรียน

 

                   5. การบันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

                   6. การใช้ข้อสอบแบบเน้นการปฏิบัติจริง

 

                   7. การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน

 

          การให้คะแนนการประเมินตามสภาพจริง  มี 2 แนวทาง คือ  การประเมินในลักษณะภาพรวม  และการประเมินในลักษณะการวิเคราะห์ส่วนย่อย

 

          หัวใจสำคัญของการประเมินตามสภาพจริง คือ ต้องสอน  และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพจริง

 

 

 

 15/10/2556

อ้างอิง : ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/4Tiwat.doc

หมายเลขบันทึก: 551020เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2013 00:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2013 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท