การวัดและประเิมินผลตามสภาพจริง


การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assesment)

ผศ.ดร.ทิวัตถ์   มณีโชติ

ธรรมชาติของการวัดทางการศึกษามีหลายประการ  ที่สำคัญ  คือ  เป็นการวัดทางอ้อม  และวัดได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการวัดจึงมีความคลาดเคลื่อน  ค่าที่ได้จากการวัดจึงประกอบด้วยค่าของศักยภาพหรือคุณลักษณะที่แท้จริงรวมกับค่าความคลาดเคลื่อน   ค่าความคลาดเคลื่อนเป็นได้ทั้งค่าบวกและค่าลบ  เขียนให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น  ดังนี้

ค่าที่ได้จากการวัด      =     ค่าของศักยภาพหรือคุณลักษณะที่แท้จริง  ±  

              ค่าความคลาดเคลื่อน

          เช่น  นักเรียนสอบได้คะแนน 35 คะแนน    ถ้าค่าความคลาดเคลื่อนเท่ากับ 3    ค่าความสามารถจริงของนักเรียนคนดังกล่าวอยู่ระหว่าง  35-3  ถึง  35+3  คือ  อยู่ระหว่าง  32  ถึง  38 

จะเห็นว่า  ยิ่งค่าความคลาดเคลื่อนยิ่งมาก   ยิ่งทำให้ค่าศักยภาพหรือคุณลักษณะที่แท้จริงมีช่วงกว้าง  หรืออาจกล่าวได้ว่า   ยิ่งค่าความคลาดเคลื่อนยิ่งมาก   ยิ่งทำให้ค่าหรือคะแนนที่ได้จากการวัด    มีโอกาสห่างจากค่าศักยภาพหรือคุณลักษณะที่แท้จริงมากขึ้น  

แต่หัวใจที่เป็นความต้องการของผู้ที่วัด  คือ  การวัดปราศจากความคลาดเคลื่อน  นั่นคือ  ต้องการให้ผลการวัดตรงกับศักยภาพหรือคุณลักษณะที่แท้จริง   จึงเป็นมูลเหตุให้พยายามหาเครื่องมือและวิธีการวัดที่ให้ได้ค่าของศักยภาพหรือคุณลักษณะที่แท้จริง  นำไปสู่การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment)

ความหมาย

          ได้มีผู้ให้ความหมายการประเมินตามสภาพจริงไว้ดังนี้

          สุวิมล  ว่องวานิช (2546 : 13)  กล่าวว่า  การประเมินตามสภาพจริง เป็นกระบวนการตัดสินความรู้ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียนในสภาพที่สอดคล้องกับชีวิตจริง โดยใช้เรื่องราว เหตุการณ์ สภาพจริงหรือคล้ายจริงที่ประสบในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งเร้าให้ผู้เรียนตอบสนองโดยการแสดงออก ลงมือกระทำ หรือผลิต จากกระบวนการทำงานตามที่คาดหวังและผลผลิตที่มีคุณภาพ จะเป็นการสะท้อนภาพเพื่อลงข้อสรุปถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด น่าพอใจหรือไม่ อยู่ในระดับความสำเร็จใด

          กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2545 : 20) ได้กล่าวว่า การประเมินสภาพจริงเป็นการประเมินจากการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง      โดยงานหรือกิจกรรมที่มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติ จะเป็นงานหรือสถานการณ์ที่เป็นจริง (Real Life) หรือใกล้เคียงกับชีวิตจริง จึงเป็นงานที่มีสถานการณ์ซับซ้อน (Complexity) และเป็นองค์รวม (Holistic)   มากกว่างานปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนทั่วไป

          สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ (2540 : 175) กล่าวว่า การประเมินสภาพจริง เป็นการประเมินการกระทำ การแสดงออกหลาย ๆ ด้าน ของนักเรียนตามสภาพความเป็นจริงทั้งในและนอกห้องเรียน มีลักษณะเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการ การทำงานของผู้เรียน ความสามารถในการแก้ไขปัญหาและการแสดงออก โดยเน้นผู้เรียนเป็นผู้ค้นพบและเป็นผู้ผลิตความรู้  ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงหรือคล้ายจริง ได้แสดงออกอย่างเต็มความสามารถ

 

          สรุป  การประเมินสภาพจริง  เป็นการประเมินจากการวัดโดยให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงในสถานการณ์จริง

15/10/2556

อ้างอิง : ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/4Tiwat.doc

หมายเลขบันทึก: 551017เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท