จากบันทึกภาคสนาม เรื่อง ชุมชนศรัทธา - กำปงตักวา


"เรื่องที่จะเขียนถึงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไปลงพื้นที่เจอมาด้วยตนเอง แต่ได้ฟังต่อมาอีกครั้งจากคนที่ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ เนื้อหาและปรากฎการณ์ที่เขียนถึงอาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากสถานการณ์จริง เนื่องจากตัวบทถูกตีความโดยผู้ให้ข้อมูล ผู้เก็บข้อมูล และผู้รับข้อมูล ซึ่งแต่ช่วงของการส่งต่อข้อมูลจะถูกอัตวิสัยของผู้เล่าเรื่องถอดความและตีความเรื่องราวตามประสบการณ์และโลกทัศน์ของตนเองก่อนเล่าเรื่องออกมาแล้ว"

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะเป็นพื้นที่ที่รับรู้โดยทั่วไปว่าคือพื้่นที่แห่งความขัดแย้งที่นำไปสู่การเกิดเหตุรุนแรงและสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ท่ามกลางการรับรู้จากคนภายนอกว่าที่นี่ดูจะไม่ค่อยน่าอยู่ แต่แท้ที่จริง คนภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างก็ต้องดิ้นรนปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน

หนึ่งในการปรับตัวนั้นคือการฟื้นคืนพลังการจัดการชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง ผ่านกลุ่มคนที่เรียกว่า 4 เสาหลัก ซึ่งประกอบด้วย โต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทน อบต. และคนในชุมชนที่คนยอมรับในฐานะผู้นำธรรมชาติ

ทั้ง 4 คนนี้ ทำหน้าที่ดูแลและประสานคนในชุมชนในทุก ๆ ด้าน และแม้โดยลักษณะจะเป็นการทำงานแบบองค์คณะ 4 คน แต่ในภาคปฏิบัติแล้วยังมีคนในชุมชนที่ช่วยงานในลักษณะ "ออกปาก" "ไหว้วาน" กันอีกหลายต่อหลายคน ทั้ง 4 เหมือนกับเสาที่มีอีกหลายองค์ประกอบที่รวมกันทั้งหมดแล้วกลายเป็นบ้านหนึ่งหลัง

สิ่งที่คิดว่าควรบันทึกไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดและสภาพการทำงานที่เรียกว่าชุมชนศรัทธา (ภาษามลายู - กำปงตักวา) โดย 4 เสาหลัก เช่น

ชุมชนที่หนึ่ง มีความขัดแย้งภายในค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสภาพความไม่สงบและการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ แต่เมื่อมีการขับเคลื่อนโดย 4 เสาหลัก จึงเริ่มมีการต่อรองกับบุคคลภายนอกชุมชน โดยเฉพาะทหารและกลุ่มผู้ก่อเหตุ ในส่วนของทหารนั้น มีลักษณะเป็นการขอให้ทหารที่ต้องการปิดล้อมตรวจค้นบ้านให้ติดต่อ 4 เสาหลักก่อน เพื่อที่ 4 เสาหลักจะรับหน้าที่ในการเอาตัวคนที่ทหารต้องการไปพูดคุยโดยมีพยานซึ่งเป็นคนในชุมชนรู้เห็นและเป็นไปอย่างเปิดเผย ซึ่ง 4 เสาหลักสามารถทำหน้าที่นี้ได้จริง ทำให้การปิดล้อมตรวจค้นลดลงไปด้วย ในส่วนของผู้ก่อเหตุ ไม่ได้สอบว่าลึก ๆ แล้วเป็นอย่างไร แต่คิดว่าน่าจะมีการพูดคุยร้องขอไม่ให้คนในชุมชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงโดยตรง เพราะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ทหารถึงแม้จะได้ตัวคนที่ต้องสงสัยไปสอบสวน และมีหลายคนที่ส่งต่อไปดำเนินการจับกุมด้วย พรก.ฉุกเฉิน แต่โดยมากมักจะถูกปล่อยตัวเนื่องจากข้อมูลทางทหารเองก็ไม่ได้ระบุว่าคนที่ต้องการตัวเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรง แต่มักจะถูกต้องสงสัยว่ารู้จักกับผู้ก่อเหตุในทางใดทางหนึ่งมากกว่า

ชุมชนที่สอง เป็นชุมชนที่ชาวบ้านทำอาชีพขายเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งเป็นงานที่เหนื่อยแต่ก็ได้กำไรดี และมีพ่อค้าเสื้อผ้ามือสองคนหนึ่งซึ่งเป็นคนในชุมชนผันตัวไปเป็นพ่อค้ายาบ้าด้วย โดยทำทั้งสองอาชีพนี้ควบคู่กัน เพราะเสื้อผ้าและยาเสพติดมาจากตลาดโรงเกลือพร้อม ๆ กันด้วย (แหล่งเสื้อผ้าในพื้นที่สามจังหวัดมีทั้งจากภาคกลางและจากมาเลเซีย) สิ่งที่ 4 เสาหลักทำคือ พยายามเจรจาให้คนค้ายารายดังกล่าวไม่ขายยาให้กับคนในชุมชนและช่วยเจรจากับพ่อค้ายาที่อื่น ๆ และเครือข่ายที่ควบคุมอยู่ไม่ให้ขายยาในชุมชนนี้ ซึ่งพ่อค้ายาคนดังกล่าวกล่าวก็รับที่จะทำตาม แม้จะไม่มีอะไรยืนยันว่าการข้อตกลงที่ได้จากการเจรจาดังกล่าวจะยังดำเนินอยู่ไปได้แค่ไหน แต่ตอนนี้ยาบ้าก็ยังเป็นเรื่องหายากสำหรับคนในชุมชนนี้

ชุมชนที่สาม เพื่้อแก้ปัญหาเรื่องปากท้องอย่างง่าย ๆ ทาง 4 เสาหลักได้จัดร้านสหกรณ์ของชุมชนที่ใต้ถุน อบต. สิ่งพิเศษคือ สหกรณ์ที่นี่มีทั้งปันผลและบัตรสะสมคะแนนแลกของแถม ซึ่งได้ผลดีมาก เพราะชาวบ้านชอบแลกของมากกว่าปันผลเสียอีก และยังช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคในพื้นที่ชุมชนดังกล่าวไปได้ในตัวอีกด้่วย

ทั้ง 3 ชุมชนเป็นเพียงปรากฎการณ์ของการปรับตัวของคนในชุมชนที่จำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของมนุษย์ด้วยคนในชุมชนเอง ท่ามกลางสภาพความไม่สงบที่ส่งผลให้กลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาสังคมต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติด้วยองค์กรของรัฐ เราพบว่า รูปแบบการจัดการที่อาศัยการฟื้นคืนพลังการจัดการให้กับชุมชน ดูเหมือนจะช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ความไม่สงบแห่งนี้ ยังคงอดทนใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดของตัวเองท่ามกลางความกดดันต่อชีวิตได้อยู่

 

ยังมีอีกหลายเรื่องราวของ "ชุมชนศรัทธา" หรือ "กำปงตักวา" ซึ่งหากมีโอกาสคงได้ลงไปสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง

หมายเลขบันทึก: 551016เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กำปงตักวา  ...สภาอาซูรอ  ต้นคิดสภาองค์กรชุมคน  เป็นจุดที่คนในหมู่บ้านมาปรึกษานำพาชุมชน

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2557 ได้เข้าร่วมเวทีสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย) สิ่งที่พบคือ ปัจจุบันคนเริ่มสนใจการสร้างพื้นที่กลางเพื่อที่ชาวบ้านธรรมดา ผู้นำชุมชน ผู้นำตามตำแหน่ง ข้าราชการทั้งระดับตำบล องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จะได้มานั่งคุยกันบ้าง

จริง ๆ เรื่องอย่างนี้ในสมัยก่อน ก็คงคุยกันในวัด หรือ มัสยิด

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ที่ทำให้อะไรหลายอย่างเปลี่ยนตาม

ในที่สุด ชุมชน-สังคม ก็ต้องการให้เกิดพื้นที่กลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการพูดคุยกันอีกครั้ง

ดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท