สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๗. ช่วยเหลือผู้อื่น (๒) ความเคารพผู้อื่น และเคารพตนเอง


 

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

ตอนที่ ๗นี้ ตีความจากบทที่ ๓ How Can I Help? Figuring Out What’s Needed and Providing Some of It    โดยที่ในบทที่ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๖ได้ตีความตอนที่ ๑ และ ๒ไปแล้ว     ในบันทึกที่ ๗นี้จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔  

ตอนที่ ๓ เป็นเรื่องปัญหาที่แก้ไม่ตก   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหามิตรภาพของวัย tween  คำว่า tween เป็นคำที่ผมเพิ่งพบในหนังสือนี้เป็นครั้งแรก   หมายถึงวัยรุ่นที่อายุยังไม่ถึง ๑๓ (ยังไม่ถึงวัยทีน)   เป็นตัวอย่างของโอกาสที่พ่อแม่/ครู จะช่วยเหลือให้เด็กเรียนรู้ฝึกฝนความเคารพผู้อื่น และเคารพตนเอง    ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy)  และความเมตตากรุณา (compassion)

พ่อแม่มักเอาใจใส่สอนลูกในวัยเด็กเล็ก ให้มีคุณลักษณะความเป็นคนดีเหล่านี้   แต่มักเผลอไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้ในวัยที่ลูกสับสนที่สุด คือวัย tween   ที่ลูกมักมีปัญหากับเรื่องไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเพื่อน   เช่นเพื่อนรักกันมาหลายปี เอาใจออกห่างไปสนิทกับคนอื่น และทำตัวห่างเหิน    ก็รู้สึกสะเทือนใจน้อยใจ   เนื่องจากเด็กยังพัฒนาความเคารพตนเอง มั่นใจในตนเองไม่เต็มที่

นี่คือการจัดการกรณี “เพื่อนทรยศที่เด็กจะต้องรู้ว่ามีวิธีจัดการได้หลายวิธี เช่น ทำเฉยๆ เสีย ทำไม่รู้ไม่ชี้ก็ได้, หรือจะแก้แค้นก็ได้ โดยที่วิธีหลังไม่ใช่วิธีที่ดี   แต่ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วัยมีเพื่อนสนิท พ่อแม่มีโอกาสสอนลูกเกี่ยวกับการคบเพื่อน   ว่ามิตรภาพเป็นเสมือนถนนสองทาง คือต้องมีไมตรีจิตต่อกันทั้งสองฝ่าย   มีพื้นฐานที่ความเชื่อมั่นต่อกันและกัน  ความรัก  เคารพ  ซื่อสัตย์  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  มีความเชื่อในคุณค่าเดียวกัน  สื่อสารกันอย่างเปิดเผย  และรับฟังซึ่งกันและกันหากมิตรภาพมีปัญหา

เมื่อเด็กวัย tween/teen มีปัญหามิตรภาพระหว่างเพื่อนสนิท   หลายครั้งคู่กรณีไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร   ผู้ใหญ่ที่เขาไว้วางใจจะช่วยแนะนำได้   สิ่งที่ควรแนะนำคือ ให้ยืนหยัดมั่นคงในตนเอง (assertive)   แต่ไม่ใช่แสดงความก้าวร้าว (aggressive) ต่อเพื่อน    เด็กต้องเรียนแยกแยะระหว่างพฤติกรรมสองแบบนี้ 

ผู้เขียนแนะนำให้พ่อแม่/ครู ฝึกวิธีคลายความขัดแย้งระหว่างเพื่อน ให้แก่ลูก/ศิษย์ ด้วยยุทธศาสตร์ ๙ ขั้นตอนคือ  () บอกความจริง  () หยุด  () สงบสติอารมณ์  () กำหนดเป้าหมาย  () คิดไตร่ตรอง  () ตรวจสอบทางเลือก  () เลือกแนวทางที่ดีที่สุด  () ดำเนินการ  () ให้คำชมเมื่อเด็กคลายอารมณ์วู่วาม คิดรอบคอบ และลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ปัญหาของหนุ่ม ๑๕  ที่เบื่ออาหาร   ตอนเช้ากิน energy bar ครึ่งชิ้นก่อนไปโรงเรียน   ตอนเที่ยงไม่กินอะไรเลย   ตอนเย็นกิน energy bar ครึ่งชิ้นที่เหลือ กับผลไม้เล็กน้อย   เมื่อไรที่กินอาหาร จะรู้สึกว่าตนทำผิด   ตนรู้สึกไม่ดีเมื่อมีคนมาว่าตนอ้วน หรือชี้จุดอ่อนของตน   แม่บอกว่าตนกินอาหารไม่พอ แต่ตนทำเป็นไม่ได้ยิน    เพื่อนๆ ที่โรงเรียนชวนให้กินอาหารของเขา ตนปฏิเสธ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเพื่อนๆ เป็นห่วง   ตนไม่รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับที่ดีไม่ว่าที่ไหน   ครูหัวหน้าฝ่ายดูแลนักเรียนถามว่าอยากคุยกับครูไหม ตนตอบว่าตนเองสบายดี   ตนรู้ว่าครูเป็นห่วง   ตนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี   มีปัญหาที่แก้ไม่ตก

คำตอบของผู้เขียน  เธอมีปัญหาอย่างแน่นอน   ทุกคนที่รู้จักเธอเป็นห่วง ทั้งแม่ ครู เพื่อนๆ และครูหัวหน้าฝ่ายดูแลนักเรียน   และการที่เธอเขียนมาขอความช่วยเหลือ ก็แสดงว่า เธอเป็นห่วงตัวเองด้วย

ใครๆ ก็มีปัญหาไม่อยากกินอาหารได้   ฟังคล้ายกับว่าเธอไม่อยากกินเพราะกลัวถูกล้อว่าอ้วน   จนกลายเป็นนิสัยไม่อยากกินอาหาร  

ฉันขอเพิ่มตนเองเป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นห่วงเธอ   และขอจับประเด็นที่เธอบอกว่า ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีเพื่อแนะนำดังต่อไปนี้

ให้คุยกับแม่ บอกความจริง หรือความรู้สึกของเธอทั้งหมด ตามที่เขียนมาปรึกษาฉัน   คือเรื่องไม่อยากกิน เรื่องรู้สึกหดหู่   บอกแม่ว่าเธอไม่อยากรู้สึกเช่นนี้อีกต่อไป   บอกแม่ว่าเธออยากคุยกับครูหัวหน้าฝ่ายดูแลนักเรียน และ/หรือที่ปรึกษาประจำโรงเรียน  

ตอนที่ ๔ เป็นคำแนะนำต่อพ่อแม่/ครู เรื่อง ฝึกเป็นคนอดทน อดกลั้น  ไม่แสดงความโกรธโมโหวู่วาม เมื่อลูก/ศิษย์ มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์   อย่ายอมให้เด็กที่ทำตัวไม่ถูกต้องมีอำนาจทำลายบรรยากาศและโอกาสฝึกฝนให้ลูก/ศิษย์ เป็นคนดี    โดยเมื่อเด็กทำตัวไม่ดีและเราเกิดอารมณ์ ก็หาทางระงับด้วยการถามตนเอง ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร”   หลังจากถามคำถามแรกไปแล้ว ก็ตามด้วยคำถามที่สอง    “ทำไมพฤติกรรมนี้ทำให้เราไม่พอใจมากถึงเพียงนี้”    และตามด้วยคำถามที่สาม   “เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว ตามปกติตัวเรามีปฏิกริยาอย่างไร   ปฏิกริยาของเราช่วยลดหรือเพิ่มปัญหา”  

การหยุด และตั้งสติ ด้วยสามคำถามข้างต้น   จะช่วยให้เราได้สติ ที่จะถามคำถามที่สี่ ซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด จริงๆ แล้ว ลูก/ศิษย์ ของเราต้องการอะไร  เท่ากับว่า เราได้สติว่า พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของ ลูก/ศิษย์ เป็นสัญญาณบอกว่า เขากำลังต้องการความสนใจ   ต้องการมีคนมาฟังความต้องการของเขา    

ในสถานการณ์นี้พ่อแม่/ครู จึงควรหาโอกาสคุยกับลูก/ศิษย์ ว่าเขาอยากบอกอะไร   ความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร   พ่อแม่/ครู พร้อมที่จะฟัง   

พฤติกรรมเช่นนี้ของพ่อแม่/ครู จะช่วยให้สติเด็ก ว่าตัวเขาเองต้องพร้อมให้โอกาสคนอื่นบอกความต้องการของเขาด้วย  

ผมคิดว่า สาระที่แท้จริงของตอนที่ ๔ นี้คือ จาคะ หรือการให้   การให้ที่ทรงคุณค่าที่สุดคือให้ความเอาใจใส่ แคร์ต่อความรู้สึกของคนอื่น  

คำถามของครูของลูกผู้เขียน  ลูกชายอายุ ๑๔ มีอาการโวยวายและกล่าววาจาผรุสวาท เมื่อไม่ได้ดังใจ   ต่อมาทะเลาะและมีการลงมือลงไม้กับพ่อ ซึ่งหย่าขาดจากผู้ถามไปแล้ว    จึงหนีมาอยู่กับแม่และสามีใหม่ของแม่   แล้วก็เกิดเหตุอย่างเดิม   โดยมีความรุนแรงกับแม่  แล้วในที่สุดก็ขอโทษแม่   ขอปรึกษาว่าควรให้ไปคุยกับหลวงพ่อที่วัดที่ทำหน้าที่แนะนำเยาวชน   หรือควรนำเรื่องไปขอคำแนะนำจากศาลเยาวชน

คำตอบของผู้เขียน  นี่คือปัญหาทักษะในการจัดการความโกรธ   และไม่รู้วิธีจัดการอารมณ์ของตน   เป็นเรื่องที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้

แต่ก็มีสัญญาณที่ดี ที่ในเหตุการณ์สุดท้ายเขาขอโทษแม่   แสดงว่าเขารู้ตัวว่าทำผิด   คำแนะนำคือควรให้ไปคุยกับหลวงพ่อ (ในศาสนาคริสต์) ที่ให้คำแนะนำเยาวชน   และควรปรึกษานักครอบครัวบำบัด (family therapist) ด้วย  

แนะนำให้คุยกับลูก   บอกลูกว่าแม่รักลูก   และเชื่อว่าลูกเป็นคนดี   แต่บางครั้งลูกก็ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และทำสิ่งที่ไม่สมควร ซึ่งไม่ดี   และแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้น   แต่แม่ก็เข้าใจว่าในสภาพเช่นนั้นสถานการณ์มันคุมไม่อยู่   แม่ต้องการให้ลูกเติบโตเป็นคนดีมีความสำเร็จ   มีพลังภายในจิตใจที่จะควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์เช่นนั้นได้   และเป็นคนที่รู้จักเคารพให้เกียรติคนอื่น

บอกลูกว่า คนที่จะช่วยฝึกการควบคุมอารมณ์ได้คือหลวงพ่อที่ให้คำแนะนำเยาวชน   และนักครอบครัวบำบัด

ผู้เขียนแนะนำว่า สภาพที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาครอบครัว   ดังนั้นทั้งสามีเก่า สามีใหม่ และครูผู้ถาม ต้องร่วมมือกันด้วย    โดยการช่วยเหลือของนักครอบครัวบำบัด  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๕๖

โรงแรมเรือรัษฎา  จังหวัดตรัง

 

 

หมายเลขบันทึก: 550969เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบมากค่ะ วัยtween เพิ่งได้รู้ค่ะ เป็นวัยที่มักเผลอไปจริงๆ พอเด็กขึ้นป.1 พ่อแม่ก็โล่งใจ ไม่เหมือนตอนอยู่อนุบาลที่คอยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี

ช่วง ป.1-ป.6 ก็น่าจะต้องจับตาดู และสอนในเรื่องความอดทนอดกลั้น

ขอบคุณครับ..สำหรับบันทึกดีๆ

เป็นที่ชัดเจนว่า นักจิตวิทยาชาวตะวันตกยังไม่รู้เกี่ยวกับการเรียนรู้จิตของตนเอง คำแนะนำจึงอยู่ในระดับศึกษาคนอื่นและควบคุมตนเอง เรียนรู้เหตุและผลของอารมณ์ คืออยู่ในระดับใช้ความคิดแก้ปัญหา ไม่ได้ชี้แนะให้เรียนรู้ดูอารมณ์ให้รู้จักดาบปัญญา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท