รูปแบบที่ดีของการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ กรณีการจัดการศึกษาและการป้องกันการใช้แรงงานเด็ก


รูปแบบที่ดีของการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ กรณีการจัดการศึกษาและการป้องกันการใช้แรงงานเด็ก

 

สมพงค์  สระแก้ว

ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

๓๐ กันยายน  ๒๕๕๖

 

๑.     เกริ่นนำ

การที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ แอลพีเอ็น  ดำเนินการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติเรียนร่วมเด็กไทยเด็กข้ามชาติ  ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติในประเทศไทย

จากปรากฏการณ์ที่พบข้างต้น  จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรต่างด้าวหรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และเด็กข้ามชาติอยู่เป็นจำนวนมาก  ประเด็นที่ท้าทายคือ  เด็กข้ามชาติจะสามารถเข้าไปเรียนหนังสือในระบบโรงเรียนของรัฐได้อย่างไร และให้ได้มากที่สุดและมีคุณภาพอย่างไร  จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทางมูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบ ตัวอย่างที่ดีในการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ

ภายใต้กิจกรรมและโครงการที่ทางมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนระหว่างประเทศ อาทิ  องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)  องค์การช่วยเหลือเด็กแห่งสหราชอาณาจักร (SCUK)  มีส่วนสนับสนุนให้เกิดกระบวนการทำงานในระดับปฏิบัติการและการเชื่อมโยงในประเด็นนโยบายการจัดการศึกษาในภาพรวมตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติ   

หลังปี  ๒๕๔๘  เป็นต้นมา ทางโครงการได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มพี่น้องแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ปกครองเด็กข้ามชาติ และการประสานความร่วมมือ จัดการประชุมระดมความคิดเห็น การศึกษาดูงาน การเปลี่ยนประเด็นปัญหาในเชิงทัศนะกับผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่และส่วนกลาง ดำเนินการไปพร้อมๆ  กับการบริหารจัดการจากเด็กในชุมชน ในโรงงานที่อาศัยหรือทำงานกับผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งเป็น “แรงงานเด็ก”  ให้สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนของรัฐที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน   ทำให้เกิด  “โรงเรียนนำร่อง และโรงเรียนขยาย”  ที่มีเด็กข้ามชาติเรียนร่วมกับเด็กไทยอย่างเป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ที่จัดการศึกษาในรูปแบบของ “ศูนย์การเรียน”  และสถานศึกษาของรัฐที่ยังไม่มีประสบการณ์ แต่มีความตั้งใจดีที่มาจากทั่วทุกภาค ที่พื้นที่นั้นมีแรงงานข้ามชาติ มีเด็กข้ามชาติเป็นจำนวนมาก  มาศึกษาหาความรู้ เทคนิควิธีการทำงานของมูลนิธิฯ และการทำงานเชิงประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนนำร่องได้อย่างไร 

            ปัจจุบัน โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม(วัดกำพร้า) โรงเรียนวัดศิริมงคล โรงเรียนหลวงแพทย์โกศลอุปถัมภ์  โรงเรียนวัดเกาะ ในเขตอำเภอเมือง สมุทรสาคร และโรงเรียนวัดดอนแจง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  จึงเป็นโรงเรียนต้นแบบ หรือโรงเรียนนำร่องที่มีการจัดการที่ดีตอบสนองการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติเรียนร่วมกับเด็กไทย   การบริหารจัดการทีมีผู้นำบริหารและคณะครูมีความพร้อมเพรียงกัน ส่งผลและเผยแพร่สู่วงกว้างในระดับประเทศ และกลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และนานาชาติที่สนใจในกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายที่มีเด็กเป็นองคาพยพหนึ่งที่สำคัญ

            อย่างไรก็ตาม เด็กข้ามชาติส่วนหนึ่งสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถือว่ายังเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนที่มีอยู่แท้จริง

ดังนั้น  ประเทศไทยในภาพรวม ยังมีเด็กข้ามชาติจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสิทธิทางการศึกษา แม้ว่า รัฐจะเปิดโอกาสให้สามารถได้เรียน  แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทั้งที่เกิดขึ้นในส่วนของครอบครัว ผู้ปกครองของเขาเอง  นโยบายขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่ปิดกั้นสาเหตุจากเด็กข้ามชาติไม่เป็นพลเมืองไทย ปัญหาทางการเมืองก็ตามมา  ปัญหาในการบูรณาการเชิงระบบที่มีความเข้าใจตรงกันระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการแรงงาน หน่วยงานให้บริการด้านการศึกษา และหน่วยงานที่ดูแลการเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ

จากผลพวงของการทำงานผ่านประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้มีความเชื่อมั่นว่า  นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เรียนร่วมเด็กไทยเด็กข้ามชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่สมุทรสาคร จะขยายออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่จังหวัดอื่นๆ  ที่มีประเด็นปัญหาเด็กข้ามชาติ

 

๒.     การจัดการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กของภาคองค์กรธุรกิจ

๒.๑  ความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัท หรือ Cooperate Social Responsibility  (CSR)

ภายหลังปี 2553 เป็นมา ประเทศไทยถูกจับตามองเป็นพิเศษ กรณี ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา   ส่งผลให้ประเทศไทยต้องหาหนทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรากเหง้าของปัญหาและแสวงหาภาคีความร่วมมือจัดการแก้ไขปัญหาในระดับชาติ และระดับพื้นที่ประสบปัญหาและถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสมุทรสาคร  สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาแรงงานเด็กข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังคงเป็นที่กล่าวถึง อย่างน่าเป็นห่วง  ซึ่งส่งผลถึงภาพรวมระดับชาติ และนานาชาติ  แม้ว่าวันนี้ ภาครัฐจะเฝ้าดูสถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็ก และจัดตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ในระดับโครงสร้างนโยบาย กระทรวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งแนวปฏิบัติไปสู่ระดับพื้นที่จังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหา แต่การเข้าใจบริบทปัญหาและการเข้าถึงการแก้ไขปัญหาเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญยังไม่เกิดขึ้นมาก

สถานการณ์ที่ปรากฏยังคงมีเด็กข้ามชาติไปทำงานกับครอบครัวในกิจการแปรรูปอาหารทะเล การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ แม้ว่าวันนี้ รัฐบาลไทยอาจจะรับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีการแปรรูปขั้นต้น   แต่ระบบโครงสร้างและกลไกการติดตามตรวจสอบของภาครัฐตามกฎหมาย ตามระเบียบต่างๆ ยังมีปัญหา สืบเนื่องจากการไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากประเด็นปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเลส่งออก ยังพบปัญหาอื่นๆ ของเด็กข้ามชาติ ซึ่งตกอยู่ในสภาวการณ์ที่เสี่ยง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากการรู้ไม่เท่าทันสังคม อาจถูกแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในรูปแบบต่างๆ   เด็กมีโอกาสถูกละเมิดทางเพศจากคนไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง ไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิ   กรณีเด็กโตที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นอายุระหว่าง ๑๓-๑๘   ปี  กลุ่มนี้ขาดความเข้าใจเรื่องสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ (Reproductive Health)  และส่วนหนึ่งอาจถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสภาพการจ้างงาน เป็นต้น 

และเนื่องจากแรงงานข้ามชาติ เด็ก และผู้ติดตามที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก  ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ  เชิงบวกคือ  แรงงานข้ามชาติถือว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสร้างพลังทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และส่งผลต่อการผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะอาหารแช่เยือกแข็งไทย ที่มีรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี 

๒.๒ การมีส่วนร่วมตอบสนองภาคธุรกิจ

การเผชิญปัญหาแรงงานเด็กในประเทศไทยข้างต้น  ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต้องเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือการทำงานเชิงบวกในแง่ “การคุ้มครองทางด้านสังคม”  หรือ  “การคุ้มครองแรงงาน”  มากขึ้น รวมถึงมีการผลักดันจากรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO 

สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย หรือ Thai frozen food association (TFFA)  เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้ง และอาหารทะเลส่งออก  ได้มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ให้บริษัทสมาชิกในส่วนที่เป็นโรงงานผลิต ๑๘๓ ราย และสถานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) ที่อยู่ในสังกัดสมาชิก ๙๗ แห่ง โดยในจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานตั้งอยู่ ๗๕ ราย และสถานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) ๘๕ แห่ง ปฏิบัติตาม โดยมีวัตถุประสงค์คือ สนับสนุนให้สมาชิกมีกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม และการส่งเสริมสภาพการทำงานที่ให้มีความปลอดภัย และสร้างแรงจูงใจในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการเลือกปฏิบัติ และรักษา ส่งเสริมกฎหมายด้านแรงงานของประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

            สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้มีกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ การประชุมสัมมนา และอบรมความรู้เรื่องแรงงานเด็กแก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง และ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาเชิงลึก  การสร้างความตระหนักร่วมและการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเอกชนในการรับผิดชอบร่วมต่อสังคมต่อกรณี  การสนับสนุนช่วยเหลือคุ้มครองทางสังคม และการคุ้มครองด้านแรงงาน แก่แรงงานข้ามชาติ เด็ก และผู้ติดตาม

๒.๓ การมีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติเรียนร่วมกับเด็กไทยในระบบโรงเรียนรัฐ

            ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒  เป็นต้นมา  สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นำโดยคุณอาทร พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ณรงค์ซีฟู้ด จำกัด ได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานที่ได้ดำเนินการร่วมกันกับโรงเรียนวัดศรีสุทธาราม(วัดกำพร้า) ซึ่งมีเด็กข้ามชาติเข้าเรียนในชั้นเตรียมความพร้อมในศูนย์การเรียน และในระบบโรงเรียน  โดยการสนับสนุนอัตรากำลังครูผู้สอนจำนวน ๔ อัตรา แบ่งเป็น การสนับสนุนแก่มูลนิธิฯ จำนวน ๒  อัตรา และแก่โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จำนวน ๒  อัตรา นอกจากนั้น  ในปี ๒๕๕๒  ยังสนับสนุนทุนการศึกษาเด็กข้ามชาติจำนวน ๑๐๐ ทุนละ ๑,๐๐๐ บาท  รวมเป็น ๑๐๐,๐๐๐  บาท และปี ๒๕๕๓ สนับสนุนชุดนักเรียนจำนวน ๕๐๐ ชุดแก่เด็กนักเรียนข้ามชาติใน ๓  โรงเรียนคือ โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม โรงเรียนหลวงแพทย์โกศลอุปถัมภ์ และโรงเรียนวัดบ้านเกาะ 

ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๕  สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้ประสานงานเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการศูนย์ให้คำปรึกษาด้านแรงงาน หรือ Labour Center ซึ่งเป็นศูนย์รับเรื่องปัญหาแรงงานในพื้นที่สมุทรสาครและพื้นที่อื่นๆ  ที่ประสบปัญหาขอรับการช่วยเหลือ โดยเป็นการทำงานร่วมกันอีกทางหนึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานเชิงสิทธิ และในต้นปี ๒๕๕๖  คุณอาทร พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ณรงค์ซีฟู้ด จำกัด ได้สนับสนุนงบประมาณจากการเดินรณรงค์เพื่อการกุศลสนับสนุนชุดนักเรียนแก่เด็กข้ามชาติในระบบโรงเรียนเป็นมูลค่ากว่า ๗๐,๐๐๐  บาท

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖  หนึ่งในสมาชิกของ TFFA คือ  บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด มหาชน (TUF)บริษัทฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านสุขลักษณะ อนามัยและความปลอดภัยของบุตรแรงงานที่เป็นลูกจ้างในบริษัท รวมทั้งลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ติดตามผู้ปกครองแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย บุตรหลานแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยทั้งนี้ การจัดการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาตินั้นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิของตัวเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของเด็กข้ามชาติทางบริษัทจึงได้จัดโครงการการจัดการศึกษาเบื้องต้นเพื่อให้เด็กสามารถสื่อสารภาษาไทยเบื้องต้น การเรียนรู้การปรับตัวเกี่ยวกับวินัยทางสังคม ทำกิจกรรมเกี่ยวสังคม ก่อนที่เด็กกลุ่มนี้ได้สอบจัดระดับเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทยตามความเหมาะสม

บริษัทจึงจัดทำโครงการนำร่องการเตรียมความพร้อมเด็กข้ามชาติเพื่อเข้าระบบการศึกษาไทย เพื่อประโยชน์ต่อเด็กและการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมไทยในระยะ ๕  ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖   เป็นต้นไปโดยนำร่องสนับสนุนการจัดสร้างอาคารเรียนแก่โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม และโรงเรียนวัดศิริมงคล ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง ทั้ง ๓  ฝ่าย  คือ บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด มหาชน  โรงเรียนนำร่อง ๒  โรงเรียนข้างต้น และมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน  โดยตกลงที่จะร่วมมือในการดำเนินงานโครงการการเตรียมความพร้อมแก่เด็กข้ามชาติเพื่อเข้าระบบการศึกษาไทยเพื่อการคุ้มครองและดูแลบุตรหลานของแรงงานต่างด้าวที่ติดตามเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามหลักมนุษยชน ด้วยการจัดตั้ง  ทียูเอฟ แคร์ เซนเตอร์ (TUF CARE Center)” และเตรียมความพร้อมด้านภาษาไทยและปรับพื้นฐานความรู้แก่เด็กข้ามชาติ ก่อนที่จะสอบวัดระดับเข้าระบบการศึกษาไทย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑,๘๐๐,๐๐๐   บาท  

อนึ่งภายใต้การดำเนินการดังกล่าวทางบริษัทไทยยูเนี่ โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด มหาชน  มีเจตนามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและขยายศูนย์การเรียน หรือศูนย์เตรียมความพร้อมแก่เด็กข้ามชาติเข้าเรียนในระบบโรงเรียนต่อไปอีก ๓  ศูนย์ ซึ่งจะมีกระบวนการทำงานร่วมกันต่อไป

๓.     ข้อสรุป

จากการประสานการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจในการส่งเสริมโอกาส และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาประกอบกับการปรับภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัท ถือว่าเป็น  “ต้นแบบที่ดี”   (Good Practice) หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ  ในพื้นที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และเด็กข้ามชาติที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหรือการไม่ได้รับการบริการที่ดีเสมือนเด็กไทยทั่วไป สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน อาจกล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคตที่จะรังสรรค์ประโยชน์แก่เด็กข้ามชาติต่อไป

 

 

คำสำคัญ (Tags): #lpn#TFFA#TUF#GLP
หมายเลขบันทึก: 550776เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท