โครงสร้างการสอน (teaching structure)


โครงสร้างการสอน (teaching structure)

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          โลกของเรานี้มีโครงสร้าง ประกอบด้วยสสารและธาตุต่าง ๆ อันมีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นพื้น ร่างกายของเราก็มีโครงสร้าง อย่างน้อยก็คือกระดูกอันเป็นแกนของส่วนต่าง  ๆ และแม้แต่ธาตุที่เล็กที่สุด เมื่อใช้กล้องและการคำนวณทางคณิตศาสตร์  ก็อาจจะมองเห็นซึ่งโครงสร้างทางเคมี อันได้แก่ การวิ่งผันแปรของอิเล็กตรอนและอื่น ๆ  กระไรเลยกับการเรียนการสอน ไยจึงจะไม่มีโครงสร้างเช่นสิ่งที่ว่ามา  ปัญหาคือ เมื่อการเรียน    การสอนมีโครงสร้างแล้ว  ผู้ทำหน้าที่สอนได้ตระหนักถึงโครงสร้างเหล่านั้นหรือไม่ อย่างไร

 

 

          การเลือกใช้วิธีสอนแบบใด ขึ้นอยู่กับว่า ครูยึดถือในปรัชญาใด เชื่อในทฤษฏีการเรียนรู้ใด เพราะเมื่อเชื่อแล้ว ก็จะคิดออกแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับปรัชญาและทฤษฎีนั้น ๆ ขึ้น ดังนั้นจะว่าไปแล้ว  การสอนของครูแต่ละคน ก็ย่อมมีโครงสร้างหรือองค์ประกอบที่แตกต่างกัน  ยิ่งการสอนมิใช่เป็นแต่เพียงศาสตร์ เพราะย่อมต้องมีความเป็นศิลป์ประกอบเข้าไว้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเพิ่มความหลากหลายในเชิงโครงสร้างการสอนมากยิ่งขึ้น  ในที่นี้ ผู้เขียนจึงจะนำเสนอโครงสร้างของการสอนโครงสร้างหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดของนักวิชาการคือ Cottrell (2001: 101) ซึ่งเห็นว่า  ค่อนข้างเป็นโครงสร้างมาตรฐาน และสามารถใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับครูและนักการศึกษาด้านการสอนได้ ซึ่งหากผู้ใดมีปัญญาแห่งความสร้างสรรค์แล้วไซร้ จะคิดแต่งเติมโครงสร้างนี้ให้พิสดารอย่างไร ก็คงจะไม่ใช่เรื่องอะไรที่ยากนัก 

 

 

            สิ่งที่นักวิชาการข้างต้นได้เสนอไว้ เรียกว่าโครงสร้างการสอน 7 ประการ ประกอบด้วย 1)  ก่อตั้ง    2)  เตรียมตัว  3)  แจ้งผลลัพธ์  4)  เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น  5)  ตรวจสอบการเรียนรู้ 6)  เชื่อมโยงสู่อนาคต และ 7)  ตรึงสัมฤทธิผล แต่ละโครงสร้างมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้ 

 

 

          1.  ก่อตั้ง  (settle)  ก่อนที่การเรียนการสอนจะเกิดขึ้น สิ่งที่ผู้สอนหลายคนอาจจะมิได้ให้ความสำคัญก็คือ การก่อตั้งห้องเรียนอันเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ คำว่าก่อตั้งในที่นี้ มิได้หมายถึง การสร้างวัตถุอันเป็นรูปธรรม แต่หมายถึงการทบทวนกฎการเรียน การทำงาน การเข้ากลุ่ม การทำงานร่วมกันกับเพื่อน  หรือ     แบบแผนบางอย่างที่สำคัญต่อการเรียน อาทิ จะทำอย่างไรเมื่อเกิดข้อสงสัย จะลุกจากที่นั่งต้องทำอย่างไร     จะสนทนาหรือจะคุยกับเพื่อนด้วยวิธีการใดได้บ้าง  ครูควรก่อตั้งกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่คาดว่า มีความจำเป็น เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย  และลดสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดอุปสรรคในการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด   

 

 

          2.  เตรียมตัว  (orientateองค์ประกอบนี้ บทบาทของผู้สอนคือ การกระตุ้นความรู้หรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียน ด้วยการใช้คำถาม หรือให้ผู้เรียนระดมสมอง  เพื่อเชื่อมโยงความคิด  หรือทบทวนสิ่งที่ได้เคยเรียนรู้มาแล้วในกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งก่อน ๆ หากพบว่าผู้เรียนมีความรู้เดิมที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจน หรือยังไม่เพียงพอ  ครูควรจะใช้เวลาในช่วงนี้สั้น ๆ เพื่อให้ความรู้ทบทวน หรือให้ผู้เรียนทั้งชั้นช่วยกันทบทวนสิ่งที่เคยเรียนมา สนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนได้ตรวจสอบพื้นความรู้เดิมของตนเองด้วย  เมื่อครูเห็นว่านักเรียนได้ทบทวนความรู้ และมีความรู้ที่จำเป็นเพียงพอแล้ว   จึงดำเนินการในองค์ประกอบต่อไป     

 

          3.  แจ้งผลลัพธ์  (outcomesหลายครั้งที่ผู้สอนมิได้ให้ความสำคัญกับสิ่งอันเป็นผลลัพธ์ คำว่าผลลัพธ์ทางการศึกษาหมายถึง สิ่งที่ผู้เรียนจะต้องรู้ (ความรู้) และปฏิบัติได้ (ทักษะ/สมรรถนะ) หลังจากที่จบการเรียนการสอน  ครูจะต้องแจ้งให้ผู้เรียนทราบว่า  ความคาดหวังที่มีต่อผู้เรียนคืออะไร และผู้เรียนก็จะต้องทราบและเข้าใจว่า เพื่อให้ตนเองไปถึงผลลัพธ์อันเป็นเป้าหมายนั้น พวกเขาควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เรียนรู้อะไร เรียนรู้อย่างไร และจะได้รับการประเมินอย่างไร  การแจ้งผลลัพธ์จึงเป็นโครงสร้างสำคัญของการสอน ที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม และการตระหนักรู้ในเรื่องความรับผิดชอบในการเรียนของผู้เรียนทุกคน 

 

 

 

          4.  จัดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น  (active learningโครงสร้างนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด  ผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมอันเป็นตัวป้อน (input) ที่ให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ ด้วยกระบวนการสืบสอบ  การค้นพบ หรือการแก้ปัญหา มากกว่าจะให้พวกเขาเรียนรู้จากการฟังหรือการจดบันทึก  ผู้สอนควรเลือกใช้วิธีการ รูปแบบ เทคนิคหรือกลยุทธ์การเรียนการสอนที่หลากหลาย มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และเป็นผู้นำตนเองเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง  มีแรงบันดาลใจเป็นพลังสำคัญ อันจะก่อให้เกิดการนำและควบคุมกำกับตนเองไปสู่ผลลัพธ์ที่ผู้สอนได้แจ้งไว้ในที่สุด 

 

 

          5.  ตรวจสอบการเรียนรู้ (check for learningโครงสร้างส่วนนี้ ผู้สอนต้องมีความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการวัดและประเมินผล ที่จะทำให้เกิดความแน่ใจ หรือยอมรับได้ว่า ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะหรือสมรรถนะอันเป็นผลลัพธ์ขึ้นแล้วอย่างแท้จริงแล้ว  และในการวัดประเมินดังกล่าว  มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไรบ้าง  ที่จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตรวจสอบการเรียนรู้ของผู้เรียน   ทั้งนี้ คำว่าเครื่องมือในที่นี้   มีความหมายรวมถึงกิจกรรมการทดสอบ หรือประเมินในลักษณะต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น การจัดสถานการณ์สำหรับให้ผู้เรียนแสดงหรือคิดค้นวิธีแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการให้ผู้เรียนนำความรู้หรือทักษะมาใช้   ดังนั้น จึงมิได้จำกัดไว้แต่เฉพาะการทดสอบโดยใช้แบบทดสอบเพียงอย่างเดียว 

 

 

          6.  เชื่อมโยงสู่อนาคต (futureการเรียนรู้ที่มีสัมฤทธิผลที่แท้จริง มิใช่การเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์เฉพาะในปัจจุบัน แต่ยังจะต้องเป็นการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งเรียกว่าการถ่ายโยงการเรียนรู้  ผู้สอนควรแสดงให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ไปนั้น เป็นประโยชน์ หรือเป็นพื้นฐานสำหรับเรียนในครั้งต่อไปอย่างไร เพื่อให้พวกเขาเห็นและตระหนักถึงความสำคัญ    อันเชื่อมโยงและต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ครั้งใหม่ 

 

          7.  ตรึงสัมฤทธิผล (anchor achievementการจบชั้นเรียน หรือจบการเรียนการสอนโดยที่ผู้เรียนไม่ได้อะไรเลย หรือไม่เหลือความคิดหรือประเด็นใด ๆ ติดตัวเลยนั้น นับเป็นสิ่งที่สูญค่ายิ่ง  ผู้สอนจึงพึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างในส่วนสุดท้าย ซึ่งได้แก่ผลการเรียนรู้ อันพึงติดตัว หรือฝังแน่นอยู่ในโครงสร้างปัญญาของผู้เรียน  อันเป็นสิ่งที่ควรจะอยู่คงทน ซึ่งได้แก่ พวกแก่นของมโนทัศน์สำคัญของเรื่องที่เรียน ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ผู้เรียนจดจำได้ และเข้าใจเมื่อต้องอธิบายซ้ำ หรือนำไปใช้ในการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ต่อไป  การตรึงหรือการทำให้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นฝังแน่นอยู่กับตัวนั้น ก็กระทำได้ด้วยการย้ำและทบทวนซ้ำ ซึ่งผู้สอนก็สามารถใช้โครงสร้างในส่วนของที่ 2 เตรียมตัว (orientate)  ของการสอนในครั้งต่อไป เพื่อย้อนกับมาทบทวนสิ่งที่ได้เรียนในครั้งนี้  ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญ  ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ฝังแน่นและคงทนต่อไป 

 

 

 

          หากจะเทียบโครงสร้างการสอนกับโครงสร้างของร่างกายมนุษย์  โครงสร้างร่างกายจะแข็งแรงก็ต่อเมื่อได้รับการบำรุง และการออกกำลังกาย เพื่อให้โครงสร้างส่วนนั้นได้เคลื่อนไหว ไม่ติดนิ่งอยู่กับที่   อันกลายเป็นลักษณะของโครงสร้างที่ตายแล้ว  โครงสร้างการสอนก็เช่นกัน ผู้สอนต้องรู้จักจัดการบำรุงรักษา ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนรวม  จัดการเรียนการสอนในทุกโครงสร้างให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย  และสอดคล้องกับลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนให้ได้มากที่สุด  ความยืดหยุ่นนี้เอง คือการทำให้โครงสร้างการสอนเคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวา  กระตุ้นให้ทุกฝ่ายเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อันจะกลายเป็นแรงผลักสำคัญ ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในที่สุด 

________________________________________________

           

         

         

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท