การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น


หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึงหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน หลักสูตรท้องถิ่นจะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผู้เรียนแสวงหาองค์ความรู้ที่ตอบสนองกับวิถีชีวิตของตนเอง ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ผู้เรียนจะเรียนรู้ตามสภาพจริงของตนเอง สามารถนำความรู้ไปใช้การพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 3 ) จึงอาจสรุปได้ว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้กับกลุ่มผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จัดตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนในท้องถิ่นนั้นๆ เป้าหมายหลัก คือ ต้องการให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนให้ดีขึ้น

หลักการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรท้องถิ่น มีหลักในการพัฒนาที่ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายได้เกิดปัญญา หรือเกิดการเรียนรู้ ดังนี้ ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 4)

1. การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้สภาพปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และการปรับปรุงอย่างลึกซึ่ง คือ ให้รู้และเข้าใจอย่างกระจ่างว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเองได้

2. การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติจริง มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ในการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อการปฏิบัติจริง จนเกิดความชำนาญและสามารถปฏิบัติได้ในทุกสถานการณ์

3. การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ เพื่อเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมด้วยการมีความเชื่อ และตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัยกันและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

4. การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพ เป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่งอกงาม ปรับปรุงบุคลิกภาพอย่างมั่นใจ เน้นการมีเหตุผลและมีวิสัยทัศน์

ความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรท้องถิ่น เป็นหลักสูตรบูรณาการที่ผู้เรียน ชุมชนและครูร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียน เรียนจากชีวิต เรียนแล้วเกิดการเรียนรู้สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตอย่างมีคุณภาพและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข การเรียนการสอนจะสอนตามความต้องการของผู้เรียน โดยครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ผู้เรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น หลักสูตรท้องถิ่นจึงมีความสำคัญ ดังต่อไปนี้ ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 5 )
1. เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองการเรียนรู้ของรู้เรียนเฉพาะเนื้อหาสาระของหลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนตามสภาพปัญหาที่เป็นจริง
2. ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้มีความหมายต่อผู้เรียน เพราะผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
3. ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะมาใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของตนเองในวันข้างหน้า รวมทั้งวิธีวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตนเอง
4. ชุมชนและภูมิปัญญาในชุมชน มีโอกาสมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน ซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน

ลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่นลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่น มีลักษณะดังต่อไปนี้ ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 5 )
1. เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความหลากหลายของปัญหามุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับเพศ วัย มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด และทักษะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริงจนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นได้อย่างเหมาะสม
2. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ท้องถิ่นตนเอง เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับชีวิตจริงและการทำงาน รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นของตนมีการส่งเสริมให้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการศึกษา
3. เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริง และมุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ไม่แยกส่วนของกระบวนการเรียนรู้ โดยผู้เรียนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำให้คำปรึกษา และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน อันจะนำไปสู่การคิดเป็น ทำเป็น และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
4. เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
5. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมในด้านศีลธรรม จริยธรรมและการธำรงไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตย การรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดศรัทธาเชื่อมั่นในภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนและของประเทศชาติ

กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน ดังนี้ ( กองพัฒนาการศึกษานอโรงเรียน. 2543 : 13 )
ขั้นที่ 1 การสำรวจสภาพปัญหาของชุมชน
ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชนและความต้องการของผู้เรียน
ขั้นที่ 3 เขียนผังหลักสูตร
ขั้นที่ 4 เขียนหลักสูตร

1. สำรวจสภาพปัญหาของชุมชน คือ การศึกษาข้อมูลเป็นอยู่ของชุมชน เพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ผู้สำรวจได้แก่ ครูการศึกษานอกโรงเรียน ผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้อง โดยสำรวจข้อมูลจากเอกสารซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิ เช่น ข้อมูลจากการวางแผนของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ข้อมูลจาก จปฐ. ข้อมูลจาก กชช.2 ค และจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รวบรวมไว้แล้ว และสำรวจข้อมูลปฐมภูมิที่ผู้สำรวจไปรวบรวมข้อมูลจากชุมชน เป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่แท้จริง และเป็นปัจจุบันของผู้เรียนและชุมชน
ประเด็นในการสำรวจข้อมูล เช่น โครงสร้างด้านกายภาพ และประวัติชุมชนข้อมูลประชากร เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม และวัฒนธรรม การเมือง การปกครองและข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของชุมชน
วิธีการสำรวจสภาพปัญหาของชุมชน อาจใช้หลายๆ วิธีการผสมผสานกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม เช่น การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม การสังเกต หรือการจัดเวทีประชาคม เป็นต้น

2. การวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน เมื่อทำการสำรวจชุมชนเสร็จแล้ว ข้อมูลที่ได้จะมีสภาพปัญหาของชุมชนที่หลากหลาย มีทั้งปัญหาที่เป็นระดับความต้องการ (What) และปัญหาความจำเป็น (Need) ดังนั้น จะต้องนำปัญหานั้นมาวิเคราะห์ จัดหมวดหมู่ของปัญหา เช่น แบ่งตามประเภทความรุนแรงของปัญหา ความยากง่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ความเร่งด่วนของปัญหา และข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และนำทรัพยากรใช้ให้เกิดประโยชน์

3. การเขียนผังหลักสูตร การจัดทำผังหลักสูตรท้องถิ่น ผังหลักสูตร หมายถึง กรอบความคิดหัวข้อของหลักสูตร ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ประกอบด้วยหัวข้อเรื่อง หรือหัวข้อเนื้อหาหลัก และหัวข้อย่อยที่ได้จากความต้องการ ( เป็นผลจากการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา จากการสำรวจมาจากชุมชน ) ให้นำหัวข้อความต้องการมาจัดทำผังหลักสูตรท้องถิ่น โดยโครงสร้างของผังหลักสูตร ประกอบด้วย

หัวเรื่องหลัก (Theme ) หรือหัวข้อเนื้อหาหลักเป็นหัวข้อที่บอกถึงชื่อเรื่องใหญ่ได้จากกลุ่มความต้องการ ( ผลการวิเคราะห์สภาพปัญหา ) ซึ่งจะคลุมความต้องการย่อยๆ ในขอบข่ายเรื่องเดียวกัน

หัวข้อย่อย (Title )เป็นหัวข้อเรื่องที่ตั้งจากความต้องการย่อยที่อยู่ในกลุ่มความต้องการใหญ่ ซึ่งอาจมีหลายเรื่อง ในการพิจารณาหัวข้อย่อย ให้พิจารณาความต้องการย่อยที่วิเคราะห์แล้วก่อน ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องกลุ่มเดียวกัน โดยรวมเป็นหัวข้อเดียวกัน
การสร้างกรอบหัวเรื่องย่อย จะต้องจัดลำดับเนื้อหาจากง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยากขึ้นตามลำดับ หรือจัดลำดับจากความเร่งด่วน ไปสู่เนื้อหาที่เร่งด่วนน้อยกว่าการสร้างกรอบหัวเรื่องย่อยสามารถสร้างเพิ่มเติมได้ ดังนั้น ในแต่ละหัวข้อหลักควรมีกรอบว่างไว้ด้วยเมื่อพบปัญหาใหม่ในเรื่องเดียวกันก็สามารถมาใส่กรอบเพิ่มเติมได้ ดังตัวอย่าง

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
10 เมษายน 2552

กระผมมีความคิดเห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็คือการปรับหลักสูตรการเรียนรู้ที่มีอยู่ให้เข้ากับการเรียนรู้ในท้องถิ่นนั้นๆเพื่อความอยู่รอดของคนในสังคมนั้น และหลักสูตรท้องถิ่นนั้นจำเป็นต้องมีการบูรณาการเข้ากับเนื้อหาของทุกวิชาจึงจะก่อประโยชน์อันสูงสุด

หมายเลขบันทึก: 549840เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2013 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2013 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท