ตู้หนังสือสามัญประจำบ้าน


250 โรค ของ นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ, ตำราพรหมชาติ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

     สืบเนื่องจากการเตรียมประเด็นพัฒนาเป็นโจทย์ตัวอย่าง ที่จะไปใช้ในการดำเนินงาน “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” เช่นให้ทบทวนว่าที่บ้านมีตู้ยาสามัญประจำบ้านหรือไม่ ตอนนี้มียาสามัญประจำบ้านอะไรเหลืออยู่บ้าง ได้ตรวจดูว่าหมดอายุแล้วหรือไม่ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ อะไรหมด อะไรควรจะหาเพิ่มบ้าง ก็ตั้งใจว่าจะเขียนตู้ยาสามัญประจำบ้าน ไฉนไปออกเป็นตู้หนังสือสามัญประจำบ้านก็ไม่ทราบ หนังสือก็หนังสือ เรียกว่านิ้ว (แทนลิ้น) พาไป (เรื่องตู้ยาสามัญประจำบ้าน ไว้ทีหลังจะเขียนถึง) หนังสือประจำบ้านที่ผมว่าจะมีทั้ง 2 บ้านที่เหมือนกัน คือบ้านพ่อ (ที่พูดถึงเฉพาะพ่อเพราะแม่เสียไปตั้งแต่ผมอายุครบ 20 ปี) และบ้านที่ผมอยู่ในทุกวันนี้ ประกอบด้วย
          250 โรค ของ นพ.สุรเกียรติ  อาชานุภาพ อันนี้ทุกคนต้องซื้อเมื่อครั้งไปเรียนเป็นหมออนามัย เป็นการอธิบายเกี่ยวกับโรคไว้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ความหมายของโรค สาเหตุ ระยะฟักตัว อาการ อาการแสดง การติดต่อ การป้องกัน และที่สำคัญการดูแลตนเอง ง่าย ๆ ชาวบ้านก็เข้าใจได้ ผมเคยเห็นมีอยู่ที่บ้านชาวบ้านหลายคนแล้ว เขาบอกว่าลูกซื้อมาฝากบ้าง ลูกสะใภ้หรือลูกเขยที่เป็นหมอ หรือเป็นพยาบาลซื้อมาฝากไว้ ซึ่งอยู่ในตู้อย่างดี ใหม่เอี่ยม ผิดกับของผม ที่ยู่ยี่ หน้าปกพอง จนต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก อันนี้เมื่อผมย้ายบ้านออกไปจากบ้านพ่อ ก็ถ่ายเอกสารและเข้าเล่มใหม่ไว้ให้พ่อ
          ตำราพรหมชาติ เล่มแรกผมได้มา ตั้งแต่สมัยที่บวชเรียน เมื่ออายุ 21 ปี และจำพรรษาที่วัดโตนด (ลาอุปสมบท ประมาณ 4 เดือน) ตาหลวงกล้าย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส และเป็นพระอาจารย์ของผม ก็ได้บอกว่าจะสอนวิธีใช้ วิธีดูให้ ผมก็ต้องไปหามาไว้เป็นส่วนตัว ตอนนั้นมาซื้อเองที่หาดใหญ่ ร้านใกล้ ๆ สถานีรถไฟ ด้วยเหตุผลที่ท่านบอกว่าเห็นผมสนใจ และน่าจะจำได้เร็ว (เวลามีคนมาดู มาหาฤกษ์แต่งงาน หรือจะขึ้นบ้านใหม่ ผมได้ไปฟังอยู่ด้วยหลาย ๆครั้ง ท่านก็เรียกไปหา) สิ่งที่ท่านสอนไว้ เช่น วิธีดูยามอุบากอง วิธีดูฤกษ์ ดูยามตามตำราห่วง การหาฤกษ์แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ การเดินทาง การคำนวณวันลอย วันฟู วันจม ประจำปี รวมถึง การดูดวงแบบเลขฐาน 7 ฐาน 12 เป็นต้น (ยังมีอีกเยอะ จริง ๆ แล้วผมเรียนยังได้ไม่หมด ต้องมาศึกษาต่อเอง แต่บางเรื่องก็ไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีชีวิตเรานัก ก็ไม่ได้ศึกษา) ตอนหลังเมื่อผมย้ายออกจากบ้านพ่อ ก็เอาไปด้วย พ่อก็มาเอากลับไปบ้าง ผมก็แวะไปใช้บ้าง เอาคืนมาบ้างเห็นท่าไม่สะดวกแล้ว ก็เลยซื้อหามาอีกเล่ม ให้พ่อไว้
          รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เล่มเล็ก ๆ อันนี้ได้มานานแล้ว จากที่มีการแจกฟรี ในร้านขายหนังสือที่หาดใหญ่ ขณะที่เราไปเดินชม (ยังไม่ตัดสินใจซื้อ) เมื่อตัดสินใจซื้อ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ของท่านศ.ดร.อภิชัย  พันธเสน ไป 1 เล่ม (หลายบาท) เขาก็เลยให้อีก 1 เล่ม ก็ได้เอาไปฝากพ่อ 1 เล่ม ตอนหลังมานี่ผมเห็นมีพิมพ์ออกมาเยอะแล้ว ทั้งแจกฟรี และขาย เล่มนี้สภาพยังดีครับ (ไม่ค่อยได้ใช้นัก เพราะผมใช้เป็น e-document ในเครื่องฯ มากกว่า)
          นี่คือหนังสือ 3 เล่มที่เป็นหนังสือสามัญประจำบ้านผมครับ ใคร ๆ ก็ยืม ใคร ๆ ก็หยิบอ่านได้เลย (พอไม่อยู่ที่เดิมจะมีคนร้องถามทันทีว่าอยู่ที่ไหน ไม่เกิน 2 วัน) ไม่มีวันหมดอายุด้วย เดี่ยวจะนำรูปมาลงไว้ด้วย เพื่อเป็นภาพแห่งความทรงจำก่อนที่จะชำรุดไปกว่านี้

ผมว่าใครมีหนังสือสามัญประจำบ้านบ้าง เล่ามาฟังกันบ้างนะครับ หรือจะต่อท้ายไว้ก็ได้ ขอเชิญชวนทุกท่านขอรับกระผม...

หมายเลขบันทึก: 5498เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2005 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ตำราทำกับข้าวของแม่บ้านอีกเล่มหนึ่งครับ ที่บ้านบัง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท