ประชาคมอาเซียน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรของภาครัฐ องค์กรหนึ่ง ที่ได้รับนโยบายจากภาครัฐ ในการส่งเสริม และทำความเข้าใจกับประชาชน ในเรื่อง “อาเซียน” ซึ่งในปี 2558 นี้ ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความสัมพันธ์แบบภูมิภาคนิยมใหม่ ที่เรียกว่า ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนไทย หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการดำรงชีวิตทั่วไป เพื่อนบ้าน ภาษา ชุมชน จนถึงการกำหนดนโยบายของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เอกชน และภาครัฐ การเตรียมตัวรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นสำหรับทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

หากจะกล่าวอย่างย่นย่อที่สุด ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิด ขึ้นใน พ.. 2558 คือ การเพิ่มระดับของความใกล้ชิดของประเทศสมาชิกแห่ง  สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Association ofSoutheast Asia Nations –ASEAN) ให้มีความสนิทสนมแนบแน่นกันมากขึ้น  ทั้งในทางด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม

            เมื่ออาเซียนก้าวสู่ความเป็นประชาคมแล้ว จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อประชาชนในภูมิภาค อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยอาเซียนจะเป็นองค์กรที่มีความร่วมมือกันมากขึ้นในทางด้านเป้าหมาย มีกฎเกณฑ์ และข้อบังคับต่างๆ ที่สอดคล้องกันมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 40 ปี อาเซียนได้รับ ความชื่นชมจากนานาประเทศว่า เป็นองค์กรภูมิภาคนิยมตัวอย่าง ที่มีอายุยืนนาน และมีสมาชิกที่เป็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาอาเซียนได้ประสบความสำเร็จในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ ทางการเมือง โดยสามารถป้องกันมิให้เกิดความบาดหมาง หรือข้อขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และสามารถป้องกันไม่ให้ประเทศสมาชิกสะสมอาวุธ และทำให้ชาติมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงในอาเซียนได้น้อยลง

            นอกจากนี้ในทางด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง โดยในอดีตประเทศสมาชิก จะพัฒนาเศรษฐกิจแบบต่างคนต่างทำ แต่มีนโยบายคล้ายคลึงกันคือ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และเพิ่มอัตราความเจริญเติบโต

ให้กับประเทศ ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่สามารถพัฒนาจนอยู่เหนือเส้นความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนได้รับการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้น พื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา รวมทั้งมีสวัสดิการสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น มีอัตราการตายของทารกที่น้อยลง คนได้รับการศึกษามากขึ้น และมีอายุเฉลี่ยมากขึ้นแต่เมื่อเวลาผ่านไป บริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ประเด็นเรื่องความตึงเครียดทางการเมืองได้ถูกลดความสำคัญ ความหวาดระแวงและความตึงเครียดระหว่างกันเริ่มลดลง ในขณะที่ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและการ

เปิดเสรีทางการค้ากลายเป็นประเด็นหลักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยเหตุนี้ อาเซียนที่ประกอบไปด้วยสมาชิกมากขึ้นและหลากหลายมากขึ้น จึงได้ปรับตัวในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อสามารถแข่งขันในเวทีโลก และรักษาผลประโยชน์ของทุกๆ ภาคีในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบต่างคนต่างทำของประเทศในอาเซียนจึงมีการเปลี่ยนแปลง โดยการหันมาพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น และได้เริ่มพูดคุยถึงความร่วมมือกันทางทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จุดเริ่มแรกที่นำไปสู่การกระชับความร่วมมือทาง

เศรษฐกิจของเหล่าสมาชิกอาเซียน อยู่ที่ความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ โดยใน พ.. 2535 ได้เกิดความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN FreeTrade Area หรือ AFTA) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าในกลุ่มอาเซียนให้ขยายตัวและเข้มแข็งมากขึ้น โดยเป็นกรอบความร่วมมือที่เน้นการลดกำแพงภาษีระหว่างกันให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายใน ระยะเวลา 10 ปี

            ความสำเร็จของกลไกข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนนั้นได้ทำให้อาเซียน ได้เพิ่มมูลค่าในการค้าระหว่างกันมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ของวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อประเทศอาเซียนในพ.. 2540 ทำให้อาเซียนตระหนักว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนไม่ได้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่อาเซียนจะสามารถป้องกันตนเองจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนจึงไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าเรื่องการค้าระหว่างประเทศ อาเซียนจึงจำเป็นจะต้องขยายการบูรณาการทางเศรษฐกิจทั้งภายในภาคีและภายนอกอาเซียน จำเป็นที่จะต้องบูรณาการให้

มากกว่าประเด็นเรื่องการค้า แต่ต้องบูรณาการทั้งระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมทั้งการลงทุน การให้บริการ ระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมทั้งการแลกเปลี่ยน ผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน เพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อให้เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นการผนวกระบบเศรษฐกิจของประเทศภาคีเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกให้ได้อย่างมีเสถียรภาพ

การพัฒนาของการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการขับเคลื่อนมากว่าทศวรรษ ภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.. 2540 เป็นต้นมา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการบริหารจัดการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนท้องถิ่น ได้มีความคิดริเริ่มและนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมายในท้องถิ่น มีการพัฒนาความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีนักการเมืองและนักบริหารรุ่นใหม่ที่ทำงานเพื่อท้องถิ่นเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ท้องถิ่น และมีข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีความรู้ มีประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาร่วมมือกับฐานชุมชนที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องพร้อมที่สุดของอาเซียน คือการเสาหลักด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วอาเซียน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ จะเกิดการแลกเปลี่ยนด้านสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้าย ของเงินทุนและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายของการลงทุน ที่มีทั้งขนาดและความหนาแน่นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ข้าราชการ และนักบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่น อาทิเช่น การขยายตัวของการค้า การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ การเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ การผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะเกิดผลกระทบกับการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากภาคท้องถิ่นจะต้องเตรียมรับมือให้เกิดขึ้นแล้ว หน้าที่ของ ภาครัฐที่จะต้องทำคือ การส่งเสริมพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความทันสมัย โดยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถขององค์กรให้สูงขึ้นในทิศทางที่สามารถทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและมีเสรีภาพ ในการเลือกสิ่งหรือบริการสาธารณะใดๆ ในสังคมด้วยการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียน จะเป็นการสร้างทั้งภาระ และโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่กรอบการเป็นรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ก็จะต้องคงอยู่ ดังนั้นเงื่อนไขการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ต้องขึ้นกับนโยบายของภาครัฐ ที่จะต้องมีความยืดหยุ่นและมีช่องทางที่กว้างขึ้นให้กับการบริหารจัดการตนเองของส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้ปรับตัวให้กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

 

บรรณานุกรม

ไชยวัฒน์  ค้ำชู และณัชชาภัทร  อุ่นตรงจิตร. ประชาคมอาเซียนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น.

 

                กรุงเทพฯ : วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น  สถาบันพระปกเกล้า, 2555.

หมายเลขบันทึก: 549129เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2013 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2013 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท