Book to Blog และการประชาสัมพันธ์สู่สไตล์การเขียนบันทึก (2)


ความเดิมจากบันทึกที่แล้ว เพราะเทียบเชิญจากน้าอึ่งอ๊อบ ทำให้ต่อมความรู้สึกต้องเขียนต้องทำอะไรสักอย่างขยับค่ะ  แล้วพอได้ลงมือปั่นเขียนปั่นแปะภาพประกอบเล่าเรื่องแทนการพรรณา บันทึกต่อมาก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเขียนบันทึกนี้ค่ะ

ฉันตั้งคำถามให้ตัวเองว่า นอกเหนือจากเรื่องงานเขียนข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์แล้ว ฉันจะสามารถจุดประกายการเขียนบันทึกในบล็อกจัดการความรู้ให้น้องๆทีมงานที่คณะของน้าอึ่งอ๊อบฟังอย่างไรดี


จะเริ่มต้นที่สไตล์การเขียน? ตัวหนังสือดิ้นได้...ดีหรือไม่นะคะ?
พูดเรื่องสไตล์ ฉันสุ่มถามเพื่อนฝูงรอบตัวว่า สไตล์คืออะไรในความคิด น้องคนหนึ่งบอกว่ามันคือบุคลิก อีกคนว่ามันคือวิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินชีวิตในแบบของคนๆ นั้น หลายตำราทางจิตวิทยาบอกว่ามันคือรูปแบบการคิดและรูปแบบการเรียนรู้  ฉันลอง search จากกูลเกิ้ล เจอบทความของ ดร.เอมอร กฤษณะรังสรรค์  เรื่อง
รูปแบบการคิด (Cognitive Style) และ รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Style)   สรุปสั้นๆว่า คือลักษณะเฉพาะตัวของเราเป็นอยู่ หรือเราทำอยู่เป็นประจำ หรือค่อนข้างประจำ

การเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกที่ฉันรักและพอจะถนัดนำเสนอมากกว่าการพูดสดเดี๋ยวนั้น และฉันก็ผูกพันกับการเขียนจนแทรกซึมในสายเลือด แต่บางคนที่ติดตามอ่านงานเขียนของฉัน เมื่อรู้จักพื้นฐานพื้นเพชีวิตของฉันก็ชอบที่จะโต้แย้งเบาๆว่า มันเป็นกรรมพันธุ์ต่างหาก  และงานเขียนของฉันที่กลั่นออกมาจากความคิด ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับงาน เขียนของพี่สาว และมองขึ้นไปถึงบุพการี ก็มีอะไรที่ถอดแบบออกมาอยู่บ้าง และนั่นหมายความว่า "สไตล์การเขียน" ของฉัน ในสายตาการอ่านของเพื่อนฝูงได้ด่วนสรุปว่ามี "ตัวหนังสือดิ้นได้" แบบนี้พอเรียกว่า สไตล์การเขียน ของฉันได้ไหมคะ

ตัวหนังสือดิ้นได้มันเป็นอย่างไร? ฉันถามคนตั้งฉายา คำตอบโดนใจที่สุดบอกว่า เหมือนกำลังนั่งคุยอยู่กับคนเขียนขณะอ่าน ใครจะรู้สึกแบบนี้ไหม ฉันว่าคงไม่ทั้งหมดหรอกค่ะ อีกคำตอบหนึ่งบอกว่า ในตัวอักษรของฉันเหมือนมีโจทย์ให้ครุ่นคิดต่อออกไปอีก สุดแท้แต่ใครจะต่อยอดได้  คือแล้วแต่ที่คนอ่านไปจะนึกอะไรไป แต่ฉันว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกนะคะ  ใครจะซ่อนปริศนาเอาไว้ได้ในประโยคที่ขีดเขียน ก็เพียงเล่าไปเรื่อยๆ ไร้กฎเกณฑ์ตามประสาคนชอบเขียนเท่านี้เองค่ะ

การเขียนบ่อยๆ กอรปกับแรงเชียร์เกินร้อย ก็ทำให้ฉันคิดว่าฉันค้นเจอสไตล์การเขียนของฉันในที่สุด คือ ฉันชอบเขียนเหมือนฉันกำลังคุยอยู่กับตัวเองค่ะ ภาษาเขียนของฉันจึงดูเหมือนภาษาพูดที่มีลายลักษณ์ชัดเจน พอนำมาประมวลกับคำบอกจากหลายคนว่า ฉันกำลังเขียนเรื่องราวหรือฉันกำลังนั่งเล่าเรื่องเร้าพลังให้ฟัง ไม่เห็นแตกต่างกันเลย ดังนั้นฉันจึงรู้สึกซึมลึกว่านี่คงเป็นบุคลิกลักษณะการเขียนหนังสือของฉันแน่แท้แล้วล่ะ แม้ว่าแนวทางการเขียนของฉันจะมาแบบตกหล่น นึกอะไรได้ก็เขียน บ่อยๆ น้ำเยอะ เนื้อน้อย(ไม่มีสาระ) ก็เพราะชอบเขียน เขียนเอาเพลินไว้ก่อนค่ะ

ถ้าจะถามว่าสไตล์การเขียนลอกเลียนกันได้ไหม ฉันว่าลอกเลียนคงยาก แต่ ลอกแล้วเรียน แล้วทดลองทำ ปรับใช้น่าจะได้สไตล์ใหม่ๆ ที่ลงตัวของแต่ละคนค่ะ มีหนังสือหลายเล่ม ที่ทำไมเราจึงรู้สึกอ่านเพลิน ลื่นไหล แทบไม่อยากวาง มีความรู้สึกเหมือนกำลัง “ฟัง” มากกว่ากำลัง “อ่าน”  ฉันคิดว่านั่นแหละค่ะ คือสไตล์การเขียนที่คล้ายคลึงกันค่ะ

แล้วคุณๆ ล่ะคะ มีสไตล์การเขียนเป็นแบบไหนกันบ้าง  หรือคุณๆ ได้แรงบันดาลใจการเขียนบันทึกมาจากไหน ใช้เวลาในการพัฒนาการเขียนอย่างไร เล่าให้ฟังหน่อยสิคะ

อ้าว...ไปไปมามา ฉันก็จบบันทึกด้วยคำถาม 5W+1H สูตรการเขียนข่าวฉบับย่อที่ฉันเตรียมจะไปนำเสนอให้ทีมงานของน้าอึ่งอ๊อบฟัง ได้เหมือนกันนะคะ

หมายเลขบันทึก: 548978เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2013 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2013 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ ยินดีและดีใจที่น้องกลับบ้าน 

พี่รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ บันทึกนี้ช่วยให้พี่หูตาสว่างมากขึ้น

ได้คิดสะกิดใจถึงแนวทางการเขียนอีกครั้ง

เพราะตอนนี้ไปแบบไร้ทิศทาง

ด้วยเขียนตามใจฉัน

ฉันก็ไปเรื่อย บ้างก็ชักแม่น้ำทุกสายมารวมกัน

บ้างก็ฉายเดี่ยวไปดุ่ยๆๆ

คงต้องเพิ่มสีสันให้ตัวเองบ้างในบ้างครั้งแล้วละค่ะ

ขอบคุณค่ะ

คงลอกเลียนการเขียนกันยากครับ

ได้เรียนรู้ทั้งจากพี่ดาวและพี่อึ่งไปด้วยเลย

มาเชียร์งานพี่ทั้งสองท่านครับ

เขียนมาให้อ่านเยอะๆ นะคะ ชอบอ่านมากๆ คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท